×

Youth Work บุกงานเยาวชนมิติใหม่ในประเทศไทย มุ่งส่งเสริมสิทธิเยาวชนเพื่อการพัฒนา

โดย THE STANDARD TEAM
29.04.2022
  • LOADING...
Youth Work บุกงานเยาวชนมิติใหม่ในประเทศไทย มุ่งส่งเสริมสิทธิเยาวชนเพื่อการพัฒนา

สำหรับเด็กหนุ่มอย่าง ชลชาติ พานทอง ประสบการณ์ที่เขาได้รับมาในอดีตในฐานะเยาวชนที่เคยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ช่องว่างระหว่างวัย และโครงสร้างของระบบที่ไม่ยืดหยุ่น สอนให้เขารู้ว่าเยาวชนไทยจำนวนมากไม่ได้รับโอกาสในการตัดสินใจเลือกอนาคตของตัวเองเลย

 

ชลชาติ หรือ แมกซ์ ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวด้านเยาวชน กล่าวว่า สำหรับเยาวชนที่มีภูมิหลังคล้ายคลึงกับเขา การหางานทำและการกลับสู่สังคมหลังออกจากกระบวนการยุติธรรมจะเป็นไปได้ง่ายขึ้น หากระบบเปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็นของเยาวชนเองบ้าง

 

แมกซ์เล่าว่าตนเองอยู่ในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่อายุ 17-24 ปี และต้องพึ่งตัวเองในการศึกษาหาความรู้ด้านวิชาชีพและการดำรงชีวิตในสังคมด้วยตัวเองทั้งหมดเมื่อถูกปล่อยตัวออกมา

 

“ผมเคยนำเสนอว่า จะทำอย่างไรให้เยาวชนสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมภายนอกได้หลังปล่อยตัว แต่หลายความเห็นไม่ได้รับการตอบรับ วิชาชีพที่เรียนอยู่ข้างใน เช่น งานเกษตร หรือศิลปะสานตะกร้า เมื่อถูกปล่อยตัวออกมาแล้วค่อนข้างยากลำบากในการดำรงชีพ เวลาปล่อยตัวเหมือนปล่อยเคว้ง เหมือนปล่อยลอยแพดีๆ นี่เอง” 

 

แมกซ์บอกว่าการเชื่อมโยงช่องว่างที่มีอยู่ในระบบ หรือลดช่องว่างระหว่างวัยระหว่างเยาวชนกับผู้ใหญ่ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และเยาวชนควรรู้สึกว่าเสียงของพวกเขาได้รับการรับฟังอย่างเอาใจใส่ แต่บ่อยครั้งปฏิสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนกับผู้ใหญ่มักเป็นปฏิสัมพันธ์ด้านเดียว คือเยาวชนเป็นผู้รับฟังเท่านั้น

 

ประเทศไทยกับการทำความรู้จัก ‘งานเยาวชน’ (Youth Work)

 

คยองซัน คิม ผู้อำนวยการองค์การ UNICEF ประเทศไทย กล่าวว่า คนหนุ่มสาวในปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน และพวกเขาก็ต้องการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและสร้างความเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเขา 

 

“พวกเขาต้องการให้ผู้ใหญ่รับฟังเขา ยอมรับสิ่งที่เขาทำ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน” 

 

เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การ UNICEF จัดประชุมสัมมนาเพื่อนำเสนอแนวคิด ‘งานเยาวชน’ (Youth Work) ในมิติใหม่ๆ เพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยให้เยาวชนได้มีทักษะและความสามารถในการพัฒนาสังคมและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

 

“เราต้องการนำเสนอ ‘งานเยาวชน’ ในมิติใหม่ๆ เช่น ในการเป็นวิชาชีพซึ่งเป็นแนวคิดใหม่สำหรับประเทศไทย” วิลสา พงศธร เจ้าหน้าที่ฝ่ายงานเยาวชน UNICEF ประเทศไทย กล่าวว่า “จริงๆ แล้วงานเยาวชนก็อยู่ภายใต้ขอบเขตของงานสังคมสงเคราะห์ แต่จะเน้นไปที่การให้โอกาสคนหนุ่มสาวในการตัดสินใจ กำหนดอนาคตตัวเอง และพัฒนาทักษะเพื่อต่อสู้กับความท้าทายทั้งในเรื่องส่วนตัวและทางสังคม ยกตัวอย่างเช่น การให้คำปรึกษา หรือกิจกรรมหลังเลิกเรียนทางด้านกีฬา กิจกรรมสันทนาการ หรือกิจกรรมด้านสังคมล้วนเป็นส่วนหนึ่งของงานเยาวชน ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนสามารถมีส่วนร่วมและพัฒนาตัวเองผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ ‘นอกห้องเรียน’”

 

วิลสากล่าวต่อไปว่า งานเยาวชนไม่ได้มีความสำคัญกับเพียงเยาวชนที่เคยหรือกำลังอยู่ในกระบวนการยุติธรรมอย่างแมกซ์เท่านั้น ความท้าทายจากสถานการณ์โควิด การเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย หรือการพัฒนาของเครื่องจักรกลอัตโนมัติในตลาดแรงงาน ล้วนมีส่วนทำให้งานเยาวชนมีความสำคัญและความเร่งด่วนในระดับประเทศในขณะนี้ 

 

 

ในงานสัมมนา Catalyzing Youth Engagement in Thailand: Knowledge Sharing Seminar with Global Experts on the Concept of Youth Work ซึ่งจัดขึ้นโดย UNICEF ประเทศไทย และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้เชี่ยวชาญด้านงานเยาวชน มีผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายประเทศได้มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ด้านงานเยาวชนในประเทศของตัวเอง และได้ร่วมพูดคุยถึงการปฏิบัติงานเยาวชนภายใต้บริบททางสังคม วัฒนธรรม และการเมืองของประเทศไทย

 

ดร.โฮเวิร์ด วิลเลียมสัน ศาสตราจารย์ด้านนโยบายเยาวชนยุโรป มหาวิทยาลัยเซาท์เวลส์ สหราชอาณาจักร กล่าวว่า งานเยาวชนมีพื้นฐานมาจากการเคารพสิทธิและเสียงของเยาวชน และความเสมอภาค โดยหลักการสำคัญสำหรับบุคลากรที่ทำงานด้านเยาวชน ได้แก่ การให้ความรู้ การส่งเสริมการมีส่วนร่วม การเพิ่มขีดความสามารถ การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิเด็กและเยาวชน การมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่มโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

 

ด้าน ดร.ทิม คอร์นีย์ รองศาสตราจารย์ด้านงานเยาวชน สถาบันเพื่ออุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและเมืองน่าอยู่ มหาวิทยาลัยวิกตอเรีย เมืองเมลเบิร์น ออสเตรเลีย กล่าวว่า การพัฒนาวิชาชีพของงานเยาวชนเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญ เพราะเป็นการส่งเสริมให้งานเยาวชนมีคุณภาพและปลอดภัย และช่วยสร้างกฎเกณฑ์และมาตรฐานทางวิชาชีพให้กับผู้ปฏิบัติงาน และจะส่งผลดีต่อเยาวชนในที่สุด 

 

ซาร่า ซูชาน จากองค์กรภาคประชาสังคมในประเทศโครเอเชีย เสริมอีกว่า การทำให้งานเยาวชนเป็นวิชาชีพจะช่วยสร้างเกณฑ์ด้านคุณภาพและจรรยาบรรณ และสนับสนุนหลักสูตรด้านงานเยาวชนในระดับอุดมศึกษาด้วย สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานเยาวชนในองค์กรภาครัฐ องค์กรการกุศล องค์กรทางศาสนา หรือองค์กรทางสังคม ได้มีการพัฒนาทางอาชีพเพื่อประโยชน์ของเยาวชนในที่สุด

 

งานเยาวชนจะมีหน้าตาอย่างไรในประเทศไทย

 

ดร.วิลเลียมสันให้ความเห็นว่า งานเยาวชนมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ด้วยเหตุนี้การกำหนดบทบาทของการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่ละฝ่ายจึงมีความสำคัญในช่วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังพัฒนางานเยาวชน โดยผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าวิธีการพัฒนาวิชาชีพของงานเยาวชน “ต้องคำนึงถึงบริบทของประเทศไทยและเยาวชนไทยในศตวรรษที่ 21” 

 

ปัจจุบัน UNICEF และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) กำลังร่วมมือกันสร้างความเข้าใจและมาตรฐานทางอาชีพให้กับงานเยาวชน โดยเน้นไปที่การให้ความรู้และเสริมทักษะให้กับผู้ปฏิบัติงานเยาวชน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนเปราะบาง

 

นางสาวโอ๋ นักศึกษาด้านสังคมสงเคราะห์ กล่าวว่า การกำหนดความแตกต่างระหว่างงานเยาวชนกับงานสังคมสงเคราะห์จะช่วยตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของเยาวชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางได้ตรงจุดมากขึ้น

 

“ความแตกต่างของงานเยาวชนและงานสังคมสงเคราะห์ (ที่คนไทยคุ้นชิน) คือ การทำให้เยาวชนเป็นศูนย์กลาง และการเปิดโอกาสให้เยาวชนและผู้ใหญ่ถกเถียงและสร้างสรรค์หาทางออกในประเด็นต่าง ๆ ร่วมกัน นอกจากนี้การทำให้งานเยาวชนเป็นวิชาชีพจะทำให้การทำงานกับเยาวชนมีประสิทธิภาพมากขึ้น” นางสาวโอ๋ ซึ่งมีอีกบทบาทเป็นนักรณรงค์ด้านสิทธิเด็กชายขอบและเด็กไร้สัญชาติกล่าว

 

งานสัมมนาดังกล่าวยังมีการเรียนรู้ตัวอย่างของงานเยาวชนในหลายประเทศด้วย โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ให้ข้อสรุปว่า ภาคส่วนงานเยาวชนของไทยจะสำเร็จได้และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและประชาสังคม เมื่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีความเข้าใจตรงกันในการพัฒนางานเยาวชนให้กลายเป็นวิชาชีพ โดยงานเยาวชนคือการเชื่อมโยงเยาวชนเข้ากับภาคส่วนอื่นๆ เช่น ชุมชน บริการสังคม และภาคการศึกษา

 

ในประเทศสิงคโปร์ งานเยาวชนได้รับการสนับสนุนจากสภาเยาวชนแห่งชาติและภาคประชาสังคม โดยมีกิจกรรมการเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการมากมาย เช่น การฟื้นฟูสมรรถภาพและการบำบัด การเชื่อมโยงกับเยาวชนตามท้องถนน กีฬา ศิลปะ และกิจกรรมอาสาสมัคร

 

สำหรับงานเยาวชนประเทศมาเลเซีย คือการพัฒนาจากเยาวชนที่ต้องพึ่งพาผู้ใหญ่ มาเป็นเยาวชนที่พึ่งพาและให้การพึ่งพาผู้ใหญ่ในขณะเดียวกัน ในขณะที่งานเยาวชนในประเทศฟินแลนด์มีการเชื่อมโยงกับภาคนโยบาย โดยจัดให้งานเยาวชนคู่ขนานไปกับการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียน ตามนโยบายการจัดการเรียนการสอนระดับชาติ

 

ทั้งนี้งานเยาวชนในสามประเทศข้างต้นมีหลักสูตรการเรียนรู้ในระดับอุดมศึกษาและประกาศนียบัตรทั้งหมด

 

ในประเทศออสเตรีย วูล์ฟกัง เราเตอร์ นักปฏิบัติงานเยาวชน กล่าวว่า งานเยาวชนมีที่ทางเป็นของตัวเองในภาคประชาสังคมและมักมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและมีส่วนร่วมในทางการเมือง องค์กรด้านงานเยาวชนในระดับท้องถิ่น ระดับภาค และระดับชาติ มักมีสายงานองค์กรที่เข้มแข็ง พระราชบัญญัติด้านตัวแทนการมีส่วนร่วมของเยาวชนระดับสหภาพ หรือ Federal Youth Representation Act กำหนดให้งานเยาวชนได้รับทุนสนับสนุน และสภาเยาวชนแห่งชาติออสเตรียยังมีส่วนในการตัดสินใจทางการเมืองอีกด้วย 

 

นางสาวโอ๋บอกว่า การเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนกรอบคิดและทัศนคติ  

 

“การให้เกียรติและการเคารพกันมีความสำคัญ ซึ่งเยาวชนถือว่าเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ถ้าเราทำงานในฐานะผู้ใหญ่คนหนึ่งต้องคำนึงถึงการเคารพซึ่งกันและกัน เราถึงจะเข้าใจและดึงศักยภาพของเยาวชนออกมา”

 

นางสาวโอ๋เรียกร้องให้คนสองยุครับฟังและทำความเข้าใจความต่างของยุคสมัย รวมไปถึงปรับวิธีคิดเข้าหากัน ในขณะที่เยาวชนควรทำความเข้าใจทัศนะของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เองควรปรับมุมมองให้เข้ากับยุคสมัย ไม่ตีความว่าความคิดที่แตกต่างของเยาวชนคือการไม่ให้เกียรติ แต่เป็นการเปิดกว้างของสังคม และเปิดโอกาสให้เยาวชนมีบทบาทมากขึ้น เช่นในเรื่องการออกนโยบาย เพราะพวกเขาจะเป็นคนที่ต้องอยู่กับนโยบายเหล่านั้นในอนาคต

 

นางสาวโอ๋กล่าวปิดท้ายว่า สิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือ งานเยาวชนจะช่วยการผลักดันให้เยาวชนได้ตระหนักถึงศักยภาพสูงสุดของตนเอง และค้นพบหนทางการสร้างการมีส่วนร่วมในสังคมอย่างมีความหมาย

 

ภาพ: UNICEF ประเทศไทย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X