ดานา สมอล (Dana Small) หนึ่งในทีมนักทดลองจากมหาวิทยาลัยเยล 1 ใน 8 มหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดังในกลุ่ม Ivy League ของสหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาการตอบสนองของระบบสมองต่ออาหารประเภทต่างๆ โดยเฉพาะอาหารประเภทที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง (แป้ง, น้ำตาล) หรือมีไขมันสูง และอาหารที่มีทั้งคาร์บและไขมันสูงอยู่ในเมนูเดียวกัน ซึ่งจะสแกนสมองอาสาสมัครที่กำลังรู้สึกหิว โดยจะให้แต่ละคนแข่งกันประมูลรูปภาพอาหารว่างที่ตนเองอยากกินมากที่สุดในเวลานั้น
เมื่อเปรียบเทียบเมนูอาหารแต่ละชนิดแล้วพบว่า เมนูอาหารให้พลังงานสูงที่มีคาร์บและไขมันในปริมาณมากอย่างโดนัท ถูกประมูลไปในราคาที่สูงกว่าเมนูอาหารที่มีเพียงแค่คาร์บสูง (อาทิ ลูกอม) หรือไขมันสูง (อาทิ ชีส) อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น โดยสมองจะมีการหลั่งสารโดปามีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทออกมา ซึ่งจะทำให้ยิ่งส่งผลต่ออารมณ์ให้มีความตื่นตัว กระฉับกระเฉง ไวต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆ รอบตัวและมีสมาธิมากขึ้น อีกทั้งยังพบว่า พวกอาสาสมัครยังยินดีที่จะประมูลขอซื้ออาหารที่มีคาร์บสูงและไขมันสูงมากกว่าเดิม แม้จะมีการปรับเพิ่มปริมาณพลังงานในอาหารที่มีคาร์บสูงหรือโปรตีนสูงให้เท่ากันแล้วก็ตาม
สมอลคาดว่า สมองจะมีระบบในการตอบสนองอาหารประเภทที่มีคาร์บสูงหรือไขมันสูงแยกกัน แต่ในกรณีที่มีสารอาหารดังกล่าวในปริมาณมากทั้งคู่ จะยิ่งทำให้ระบบสมองนั้นตอบสนองพร้อมกันและจะยิ่งทำให้มีการหลั่งสารสื่อประสาทชนิดอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเธอยังแสดงความคิดเห็นอีกว่า นี่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งในการวิวัฒนาการของสมองมนุษย์ที่บรรพบุรุษส่วนใหญ่บริโภคแต่พืชและเนื้อสัตว์ (โปรตีน) เท่านั้น แต่อาหารจำพวกที่มีคาร์บและไขมันสูงนั้นทำให้สมองมนุษย์ตอบสนองแตกต่างออกไป และมีความต้องการที่อยากจะลอง อยากจะกินมากกว่า ซึ่งจะส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นตามมา
อ้างอิง: