×

จำนำข้าว ยิ่งลักษณ์ กับมรดกและบทเรียนที่ถูกทิ้งไว้ให้กับสังคมไทย

22.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

15 Mins. Read
  • นพ. วรงค์ เดชกิจวิกรม มองว่าจุดอ่อนสำคัญของโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คือการตั้งราคารับจำนำที่สูงกว่าราคาตลาดถึง 50% จูงใจให้เกิดการทุจริตในทุกขั้นตอน และมองว่าต่อให้ใครมาทำโครงการเดียวกันนี้ “เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เกิดการทุจริต”
  • รศ.ดร. สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ระบุว่าจุดผิดพลาดของโครงการรับจำนำข้าวมาจากความพยายามจะผูกขาดตลาดข้าว และสร้างอำนาจการต่อรองในตลาดโลก ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นหายนะที่ทำให้สต๊อกข้าวล้น และก่อให้เกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก
  • รศ. สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองต่างมุมว่า โครงการรับจำนำข้าวคือความผิดพลาดทางการเมือง เพราะเมื่อรัฐบาลทุ่มเททรัพยากรจำนวนมหาศาลลงไปถึงชาวนา ชนชั้นกลางจึงรู้สึกเหมือนกำลังสูญเสียอำนาจ และเป็นเดือดเป็นร้อนกับโครงการนี้

     ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายรับจำนำข้าวทุกเมล็ดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เริ่มต้นครั้งแรกในปี 2554 คือหนึ่งในนโยบายที่มีข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางถึงช่องโหว่ และจุดอ่อนมากมาย จนสุดท้ายกลายเป็นจุดตายที่อาจทำให้ชะตากรรมทางการเมืองของยิ่งลักษณ์ ต้องปิดฉากลง

สมมติว่าราคาตลาด 10,000 บาท แต่คุณรับซื้อ 15,000 บาท พอตั้งราคาแบบนี้ถ้าผมเป็นคนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมข้าว เห็นราคาก็น้ำลายไหล

Photo: LILIAN SUWANRUMPHA/AFP

 

     6 ปีผ่านไปแม้โครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดจะสิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่ คสช. เข้ามายึดอำนาจ แต่ถึงอย่างนั้นมรดกและบทเรียนที่โครงการนี้ทิ้งไว้ให้กับคนไทยกลับยังคงอยู่ไม่หายไปไหน

 

Photo: PORNCHAI HITTIWONGSAKUL/AFP

 

     ก่อนจะถึงวันตัดสินคดีชี้ชะตา ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย THE STANDARD ชวนคุณมาสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นจากนโยบายนี้อีกครั้ง เพื่อให้คุณเห็นภาพรวมของคดีนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ข้าวไม่เหมือนน้ำมัน พอเก็บไว้ข้ามปีราคามันจะทอนลงมาเรื่อยๆ แล้วยังเกิดข้าวเน่าเสียต่างๆ และนำมาสู่เรื่องของการทุจริตคอร์รัปชันที่ตามมา

 

ชี้จุดตายจำนำข้าว ราคาสูงลิ่ว เอื้อทุจริต

     หนึ่งในคนที่พูดเรื่องนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บ่อยที่สุดในช่วงเวลา 6 ปีที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้น นพ. วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส. จังหวัดพิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นคนแรกๆ ที่ออกมาเปิดโปงกลโกงทุจริตจำนำข้าวในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ปี 2556 ซึ่งหมอวรงค์เผยจุดอ่อนสำคัญของนโยบายนี้กับ THE STANDARD ว่า

     จุดอ่อนสำคัญของนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คือกำหนดราคารับจำนำไว้สูงกว่าราคาตลาดถึง 50% ซึ่งนอกจากจะทำให้ประเทศเสียหายเกินกว่า 6 แสนล้านบาทแล้ว ราคารับจำนำที่สูงยังเอื้อให้เกิดการทุจริตที่สร้างความเสียหายไม่แพ้กัน

     “เป็นไปไม่ได้ที่โครงการนี้จะไม่เกิดการทุจริต สมมติว่าราคาตลาด 10,000 บาท แต่คุณรับซื้อ 15,000 บาท พอตั้งราคาแบบนี้ถ้าผมเป็นคนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมข้าว เห็นราคาก็น้ำลายไหล อยากจะหาข้าวเยอะๆ มาขายให้รัฐบาล ก็ไปเอาข้าวกัมพูชา ข้าวลาวเข้ามา หรือแม้แต่เอาข้าวเก่ามาขายเวียนเทียนให้รัฐบาล เพราะราคามันดึงดูดมาก

     “ที่สำคัญคือรัฐบาลไม่สามารถทำโครงการนี้เองได้ ต้องให้คนอื่นๆ มาช่วยทำ ให้โรงสีช่วยซื้อข้าว ให้เซอร์เวเยอร์มาตรวจสอบคุณภาพข้าว ให้โกดังมาช่วยเก็บข้าวให้รัฐบาล ด้วยห่วงโซ่ของโครงการที่ยาว และเกี่ยวข้องกับคนหลายๆ ฝ่าย มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เกิดการทุจริต ขนาดก่อนหน้านี้ที่รับจำนำด้วยราคา 80-90% ของราคาตลาด ยังเลี่ยงการทุจริตได้ยากเลย เพราะฉะนั้นเมื่อมาเจอราคาขนาดนี้ มันมีการทุจริตเกิดขึ้นแน่นอน ต่อให้ใครมาทำก็ตาม ไม่มีเทวดาคนไหนจะมาป้องกันการทุจริตที่เกิดขึ้นได้ ป.ป.ช. ทีดีอาร์ไอ หรือแม้แต่ สตง. จึงต้องออกมาเตือนตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ

     “ถามว่าโครงการนี้พลาดตรงไหน บอกเลยว่าแค่กำหนดราคา 15,000 บาทก็พลาดแล้ว” นพ. วรงค์สรุปบทเรียนสำคัญของโครงการนี้

พอมีงบประมาณของรัฐไปลงกับคนจน คุณด่าว่าขาดทุน แล้วนโยบายที่ลงกับชนชั้นกลางล่ะ พวกระบบสาธารณูปโภคในเขตเมือง นโยบายที่เอื้ออำนวยความสะดวกในเขตเมืองเพียงอย่างเดียว แบบนี้ชนชั้นกลางกลับไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเอาเปรียบคนอื่น

Photo: PORNCHAI HITTIWONGSAKUL/AFP

 

     ด้าน รศ.ดร. สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ผู้มีประสบการณ์ทำวิจัยเรื่องข้าวมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี ถือเป็นอีกเสียงของนักวิชาการที่ออกมาส่งเสียงคัดค้านโครงการดังกล่าวในช่วงเวลานั้น มองไม่ต่างจาก นพ. วรงค์ว่า จุดที่ผิดพลาดที่สุดของโครงการคือการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด และให้ราคาสูงกว่าราคาตลาดถึง 50%

     “เมื่อรัฐบาลประกาศว่าจะรับจำนำข้าวทุกเมล็ด แถมยังให้ราคาสูงกว่าราคาตลาดทั่วๆ ไป นั่นเท่ากับว่ารัฐกำลังรวบอำนาจของตลาดมาไว้ในมือของตัวเองทั้งหมด ทั้งตลาดข้าวเปลือก และตลาดข้าวสารส่งออก และการให้ราคาสูงในลักษณะนี้มันยากมากที่จะระบายข้าวส่งออกไปแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ ส่งผลให้มีข้าวตกค้างอยู่ในสต๊อกเป็นจำนวนมาก

     “ถ้าจะระบายออกก็ต้องระบายในราคาที่ใกล้เคียงกับราคาตลาดต่างประเทศ คือประมาณ 400 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในขณะนั้น ในขณะที่เราซื้อมาประมาณ 700 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เพราะฉะนั้นถ้าจะไม่ให้ขาดทุนเลยคงเป็นไปไม่ได้สำหรับโครงการนี้ เพียงแต่จะขาดทุนมากน้อยแค่ไหน”

ที่สำคัญคือเกณฑ์แบบไหนที่บอกว่าสร้างความเสียหาย ไม่ฟังข้อท้วงติง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ต้องตีความกันอีกที ถ้าเป็นรัฐบาลนี้อาจจะไม่เป็นไร แต่เป็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ถึงเป็นหรือเปล่า

Photo: PORNCHAI HITTIWONGSAKUL/AFP

 

     นอกจากนี้อีกหนึ่งจุดอ่อนสำคัญของโครงการรับจำนำข้าว คือความพยายามผูกขาดตลาด โดยรัฐบาลตั้งใจจะกักตุนข้าวไว้ในสต๊อกปริมาณมาก เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองในตลาดโลก คล้ายกับกลุ่มประเทศส่งออกน้ำมัน หรือ OPEC ที่มีอำนาจกำหนดราคาตลาดน้ำมันได้ แต่สุดท้ายความพยายามนี้กลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

     “ความผิดพลาดคือการที่รัฐบาลคิดว่าจะสามารถไปสร้างอำนาจกับตลาดได้ เพราะคิดว่าข้าวไทยสามารถขายได้ในราคาสูง ถ้าเก็บข้าวไว้นานๆ เมื่อข้าวขาดตลาดก็จะกำหนดราคาเองได้ แต่ในความเป็นจริงไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ เพราะการตอบสนองต่อราคาข้าวในตลาดโลกมันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ภายในช่วง 4 เดือนก็จะมีผลผลิตลอตใหม่ออกมาแล้ว ดังนั้นแทนที่จะขายได้ในราคาสูง กลับทำให้การส่งออกข้าวของไทยลดลง ก่อนหน้าโครงการรับจำนำข้าวเราเคยส่งออกได้ 9 ล้านตันกว่าๆ พอมีโครงการก็ลดมาเป็น 6 ล้านตันกว่าๆ เท่ากับว่าเราต้องเก็บผลผลิตไว้ในประเทศในเวลาที่นานขึ้น กลายเป็นความหายนะ เพราะข้าวไม่เหมือนน้ำมัน พอเก็บไว้ข้ามปีราคามันจะทอนลงมาเรื่อยๆ แล้วยังเกิดข้าวเน่าเสียต่างๆ และนำมาสู่เรื่องของการทุจริตคอร์รัปชันที่ตามมา ซึ่งรัฐบาลไม่ได้คำนึงถึงผลที่จะตามมา เพียงแต่คิดว่าทำนโยบายนี้แล้วจะได้เสียงจากประชาชนจำนวนมากเท่านั้นเอง”

 

 

จำนำข้าว คือความผิดพลาดทางการเมือง

     ตรงกันข้ามกับ รศ. สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย ในฐานะผู้ติดตามคดีความของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาโดยตลอด ที่มองต่างมุมว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นนโยบายทางการเมืองที่นำทรัพยากรลงไปสู่ชาวนา ส่วนตัวมองว่าไม่ว่ารัฐบาลไหนทำถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ทั้งหมด เนื่องจากที่ผ่านมาชาวนาถูกเอารัดเอาเปรียบมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นโครงการนี้น่าจะช่วยให้ชาวนาสามารถลืมตาอ้าปากได้

     แต่ปัญหาที่ทำให้โครงการรับจำนำข้าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จนนำมาสู่คดีความที่จะชี้ชะตาอนาคตทางการเมืองของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คือความผิดพลาดทางการเมืองที่จุดชนวนให้เกิดความไม่พอใจของชนชั้นกลางที่กำลังกุมอำนาจในสังคม

     “ความผิดพลาดของนโยบายนี้ผมมองว่าเป็นความผิดพลาดทางการเมืองมากกว่า รวมถึงกระแสทางการเมืองตอนนั้นดันเป็นกระแสที่อิงกับชนชั้นกลาง แถมยังเป็นชนชั้นกลางที่เห็นแก่ตัวเชิงนโยบาย

     “คือพอมีงบประมาณของรัฐไปลงกับคนจน คุณด่าว่าขาดทุน แล้วนโยบายที่ลงกับชนชั้นกลางล่ะ พวกระบบสาธารณูปโภคในเขตเมือง นโยบายที่เอื้ออำนวยความสะดวกในเขตเมืองเพียงอย่างเดียว แบบนี้ชนชั้นกลางกลับไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเอาเปรียบคนอื่น มันไม่เคยถูกคิดเรื่องกำไร-ขาดทุนเลย

     “ตัวอย่างที่ง่ายที่สุดคือคนกรุงเทพฯ ใช้น้ำมันราคาถูกที่สุดในประเทศไทย ผมเป็นคนเชียงใหม่ผมต้องใช้น้ำมันแพงกว่าคนกรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่กรุงเทพฯ ก็ไม่ได้มีบ่อน้ำมัน เพราะฉะนั้นนี่คือนโยบายทางการเมือง แต่คนกรุงเทพฯ ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเอาเปรียบคนอื่นอยู่ ผมคิดว่าชนชั้นกลางในเมืองเป็นกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการศึกษา สาธารณูปโภค สวัสดิการทางสังคม โรงพยาบาล ทั้งหมดนี้กระจุกตัวอยู่ในเมือง พลันพอเจอนโยบายที่มันกระจายไปหาคนอื่นบ้าง ก็เลยรู้สึกว่าตัวเองกำลังสูญเสียอำนาจทางการเมือง จึงไม่แปลกที่ชนชั้นกลางจะรู้สึกเป็นเดือดเป็นร้อนมากกับเรื่องนี้ นั่นคือจุดอ่อนสำคัญของโครงการรับจำนำข้าว”

 

Photo: NICOLAS ASFOURI/AFP

 

     นอกจากนี้ รศ. สมชาย ยังขยายความเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เป็นปัญหาอย่างมากสำหรับการวิพากษ์วิจารณ์โครงการรับจำนำข้าวในช่วงเวลาที่ผ่านมา คือการนำตัวเลขมาคำนวณถึงผลกำไร-ขาดทุน ซึ่งไม่ควรนำมาใช้กับนโยบายของรัฐบาล เพราะหากเป็นเช่นนั้นโครงการจำนำยุ้งฉางของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือโครงการประกันราคาข้าวของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ตกอยู่ในสภาพที่สร้างภาวะการขาดทุนไม่แพ้กัน

     “ผมไม่แน่ใจว่ามันจะสามารถคำนวณกำไร-ขาดทุนได้ เพราะต้องมองมิติอื่นๆ ที่โครงการนี้สร้างประโยชน์ให้กับชาวนาด้วย ดังนั้นการนำตัวเลขมาหักลบกันอย่างเดียวผมคิดว่ามันจะเป็นปัญหาแน่ๆ”

โครงการนี้เป็นอุทาหรณ์ในการทุจริตเชิงนโยบายผสมกับประชานิยมที่ใช้เงิน 15,000 บาทซื้อใจชาวบ้าน แต่กระบวนการต่างๆ กลับเอื้อให้เกิดการทุจริตในทุกขั้นตอน

 

     ด้าน รศ.ดร. ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีสายเลือดชาวนามาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย และใช้เวลาในวันว่างผันตัวจากนักวิชาการไปเป็นเกษตรกร มองจุดอ่อนของโครงการรับจำนำข้าวว่า หากจะประเมินความล้มเหลวของโครงการดังกล่าว จำเป็นต้องย้อนไปดูคำประกาศนโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ระบุเป้าหมายว่า

     ต้องการยกระดับราคาสินค้าเกษตรกร และให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยดูแลราคาสินค้าเกษตรให้มีเสถียรภาพที่เหมาะสม คำนึงถึงกลไกตลาดโลก โดยใช้วิธีบริหารจัดการทางการตลาด และกลไกตลาดซื้อขายล่วงหน้า โดยการให้เกษตรกรสามารถขายสินค้าเกษตรได้ในราคาสูงเพียงพอเมื่อเทียบกับต้นทุน และนำระบบจำนำสินค้ามาใช้เพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้กับเกษตรกร

     “ถ้าเราย้อนไปดูสิ่งที่รัฐบาลประกาศเอาไว้ หลักๆ ก็คือรัฐบาลหวังว่าจะยกระดับราคาข้าวได้ แต่เมื่อทำไม่ได้ก็ถือว่าผิดพลาดในแง่ของการบริหารจัดการ ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าในเชิงความรับผิดชอบต่อประชาชน ต่อสังคม ได้เกิดขึ้นไปแล้ว คือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ถูกตรวจสอบอย่างหนัก จนกระทั่งแทบจะล้มเลิกโครงการไป แต่การต้องรับผิดทางกฎหมายผมมองว่ามันยังมีข้อถกเถียงอีกมากมายที่อาจจะเกิดขึ้น

     “เรากำลังพูดถึงการข้ามเขตแดนอำนาจของศาลที่รุกคืบเข้ามาในพื้นที่ของฝ่ายบริหาร หรือนโยบายสาธารณะ ที่สำคัญคือเกณฑ์แบบไหนที่บอกว่าสร้างความเสียหาย ไม่ฟังข้อท้วงติง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ต้องตีความกันอีกที ถ้าเป็นรัฐบาลนี้อาจจะไม่เป็นไร แต่เป็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ถึงเป็นหรือเปล่า เมื่อกฎเกณฑ์ไม่ชัดเจน เรื่องนี้จะกลายเป็นปัญหาระยะยาวที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงในอนาคต”

เรื่องไหนเป็นเรื่องเชิงนโยบายที่ผิดพลาด ก็อาจจะถูกตั้งกระทู้ถาม ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือถูกลงโทษทางการเมืองคือไม่ได้รับการเลือกตั้งในสมัยหน้า แต่พอตอนหลังมีความพยายามจะทำให้ความผิดทางการเมืองกลายเป็นความรับผิดชอบทางกฎหมาย ซึ่งปัญหามันคือการตีความที่กว้างมาก

 

มรดกจำนำข้าวที่ยิ่งลักษณ์ทิ้งเอาไว้ให้กับสังคมไทย

     แม้เวลาจะผ่านมานานถึง 6 ปี แต่สิ่งที่โครงการรับจำนำข้าวสร้างเอาไว้ดูเหมือนจะยังตกค้างอยู่ในสังคมไทยหลากหลายเรื่อง ซึ่งสำหรับ นพ. วรงค์ มรดกตกค้างที่สำคัญที่สุดคือสต๊อกข้าวจำนวน 17.76 ล้านตันที่ตกค้างอยู่ในโกดังทั่วประเทศ

     “ที่เลวร้ายที่สุดคือข้าวเกือบ 18 ล้านตัน หรือตัวเลขเป๊ะๆ คือ 17.76 ล้านตันยังค้างอยู่ในประเทศ ซึ่งวงการข้าวทั่วโลกเขารับรู้ มันจึงทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกไม่ขยับตัวสูงขึ้นจนถึงทุกวันนี้ ส่งต่อมรดกให้กับชาวนาที่ทำให้ข้าวเปลือกราคาตกต่ำ เพราะถ้าข้าวสารราคาไม่ขึ้น ข้าวเปลือกก็ไม่ขึ้น จนกระทั่งไม่นานมานี้มีข่าวว่ารัฐบาลระบายข้าวหมดแล้ว ราคาข้าวถึงเริ่มขยับตัวสูงขึ้น และสูงที่สุดในรอบ 3 ปี

     “ที่เลวร้ายกว่านั้นคือข้าวเกือบ 18 ล้านตันกลายเป็นข้าวดีถูกมาตรฐานแค่ 2.2 ล้านตัน ส่วนที่เหลือเป็นข้าวผิดประเภท ผิดมาตรฐาน เสื่อมคุณภาพ รวมถึงข้าวเหลืองหรือข้าวเน่าที่ปะปนกันไป นี่คือสิ่งที่โครงการรับจำนำข้าวทิ้งมรดกเอาไว้

     “โครงการนี้เป็นอุทาหรณ์ในการทุจริตเชิงนโยบายผสมกับประชานิยมที่ใช้เงิน 15,000 บาทซื้อใจชาวบ้าน แต่กระบวนการต่างๆ กลับเอื้อให้เกิดการทุจริตในทุกขั้นตอน และเป็นการสร้างเครือข่ายทางการเมือง”

     นอกจากนี้ นพ. วรงค์ ยังชี้ว่าโครงการรับจำนำข้าวก่อให้เกิดการบิดเบือนกลไกตลาดอย่างรุนแรง จากที่ตลาดมีกลไกการทำงานด้วยตัวเอง แต่เมื่อรัฐเข้ามาควบคุมและผูกขาดตลาดข้าว ก็กลายเป็นว่าข้าวไทยเสียแชมป์การส่งออกให้กับประเทศอื่นๆ ที่ปลูกข้าวเช่นเดียวกัน

     “โครงการนี้ก็เหมือนกับยาพิษอาบน้ำผึ้ง ตอนแรกดูดี แต่ในระยะยาวมันสร้างปัญหามากมายตามมา”

     ด้าน รศ.ดร. สมพร จากสถาบันคลังสมองของชาติ มองว่า มรดกชิ้นสำคัญที่โครงการรับจำนำข้าวทิ้งไว้คืออุปทานการปลูกข้าวที่เกินความต้องการของตลาด

     “ผมเคยทำวิจัย แต่เดิมผลผลิตข้าวแต่ละปีตกอยู่ที่ 27-28 ล้านตัน มันมากอยู่แล้ว แต่พอมีโครงการรับจำนำข้าว ผลผลิตข้าวขึ้นมาที่ 38 ล้านตัน สีเป็นข้าวสารจะเหลือ 24 ล้านตัน ใช้บริโภคภายในประเทศ 10 ล้านตัน ที่เหลือต้องผลักไปสู่ตลาดส่งออกอีก 14 ล้านตัน ทั้งที่เคยส่งออกได้มากที่สุด 10 ล้านตัน ดังนั้นที่ผ่านมาจึงสะท้อนให้เห็นว่าเราใช้ทรัพยากรในประเทศอย่างเบี่ยงเบน เพราะไปแทรกแซงกลไกตลาด นำมาสู่การใช้ทรัพยากรมหาศาลเพื่อผลิตข้าวอย่างเกินสมดุล หรือเกินความต้องการจริงที่มีอยู่”

 

Photo: PORNCHAI HITTIWONGSAKUL/AFP

Photo: PORNCHAI HITTIWONGSAKUL/AFP

 

     นอกจากนี้ผลจากการที่รัฐบาลสวมบทเป็นพ่อค้าข้าวยังส่งผลให้กลไกตลาดกลางข้าว ซึ่งเคยเป็นทางเลือกในการระบายข้าวของชาวนาสูญหายไปด้วย ยังไม่นับรวมเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เพราะเมื่อเกิดโครงการรับจำนำข้าว ทำให้ชาวนาจำนวนมากพยายามใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงมากขึ้น เพื่อทำให้แปลงนาของตัวเองได้ผลผลิตมากที่สุด เมื่อต้นทุนสูง สุดท้ายจึงทำให้ข้าวไทยแข่งขันในตลาดโลกได้ลดลง

     ต่างจากมุมมองของ รศ. สมชาย ที่มองถึงการดำเนินคดี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ที่นำไปสู่ปัญหาการนำเสนอนโยบายของรัฐบาลในอนาคต

     “ผมไม่คิดว่าการทุจริตที่เกิดขึ้นทั้งหมดคุณยิ่งลักษณ์ต้องรับผิดชอบ นอกจากมองเห็นได้ประจักษ์ชัดว่านโยบายนี้ทั้งหมดมีการปล่อยปละละเลยอย่างกว้างขวาง นายกฯ ไม่ทำอะไรเลย แบบนั้นคงต้องรับผิดชอบในความเสียหายอยู่ด้วย แต่ในกรณีที่นายกฯ ได้สั่งการแล้ว ดำเนินการแล้ว ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาติดตามตรวจสอบ มีการรายงาน แบบนี้ไม่น่าจะเป็นความผิดได้

     “สิ่งที่เป็นปัญหาของสังคมไทยในช่วงหลังคือ สิ่งที่เรียกว่าความรับผิดทางการเมืองกับการรับผิดทางกฎหมายที่มันเริ่มจะแยกกันไม่ออก คือเดิมทีมันพอจะแยกได้ว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องเชิงนโยบายที่ผิดพลาด ก็อาจจะถูกตั้งกระทู้ถาม ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือถูกลงโทษทางการเมืองคือไม่ได้รับการเลือกตั้งในสมัยหน้า แต่พอตอนหลังมีความพยายามจะทำให้ความผิดทางการเมืองกลายเป็นความรับผิดชอบทางกฎหมาย ซึ่งปัญหามันคือการตีความที่กว้างมาก ผมคิดว่าที่ชอบเรียกกันว่าทุจริตเชิงนโยบายคือสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง เพราะทุจริตคือทุจริต ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามันเป็นการคอร์รัปชัน ไม่อย่างนั้นพออ้างว่าเป็นการทุจริตเชิงนโยบายมันจะกินความค่อนข้างกว้างขวาง

     “ถ้ากรณีของคุณยิ่งลักษณ์ออกมาเป็นความผิดที่ต้องถูกลงโทษ ต่อไปนโยบายของนักการเมืองต่างๆ ก็จะให้ความสำคัญกับชนชั้นกลาง ส่วนนโยบายที่กระจายทรัพยากรออกไปเป็นจำนวนมากให้กับชาวบ้านก็จะไม่เกิดขึ้น เลิกคิดถึงความเสมอภาคในสังคมไปได้เลย”

 

 

     น่าสนใจว่าคดีความของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่จะถูกตัดสินในวันที่ 25 สิงหาคมนี้จะออกมาในรูปแบบไหน แต่ที่แน่ๆ สิ่งที่โครงการรับจำนำข้าวทิ้งไว้ให้กับคนไทย คือบทเรียนมากมายที่น่าจะส่งผลต่อนโยบายช่วยเหลือชาวนาในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

Photo: NICOLAS ASFOURI/AFP

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X