×

ยิ่งลักษณ์รำลึก 10 ปี รัฐประหาร ระบุเริ่มมีความหวัง ได้เห็นประเทศคืนสู่หนทางประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เขียนโดยประชาชน เพื่อประชาชน

โดย THE STANDARD TEAM
22.05.2024
  • LOADING...

วันนี้ (22 พฤษภาคม) ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ โดยระบุว่า นับเป็นเวลา 10 ปีแล้วจากวันที่เกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 

 

“จนมาถึงวันนี้เป็นเวลาที่ยาวนาน แต่ดิฉันเริ่มมีความหวังค่ะ ก็คือการที่เห็นประเทศกลับคืนสู่หนทางแห่งประชาธิปไตย โดยจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เขียนโดยประชาชน เพื่อประชาชน ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศได้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ พร้อมยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนไปพร้อมๆ กัน รอความหวังที่จะเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่นำพาประเทศไปสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงค่ะ”

 

สำหรับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นั้นนำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อรัฐประหารและยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ซึ่งรักษาการแทน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 

คสช. ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 สิ้นสุดลง และต่อมาได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แทน

 

รัฐประหารโดย คสช. นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย เกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์การเมืองซึ่งเริ่มเมื่อเดือนตุลาคม 2556 เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

 

ก่อนหน้านั้น 2 วันคือ วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 พล.อ. ประยุทธ์ ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่เวลา 03.00 น. กองทัพบกตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) และให้ยกเลิกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ตั้งขึ้น กอ.รส. ใช้วิธีการปิดและควบคุมสื่อ ตรวจพิจารณาเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต และจัดประชุมเพื่อหาทางออกวิกฤตการณ์การเมืองของประเทศ

 

วันที่ 21-22 พฤษภาคม 2557 พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ผอ.รส.) เรียกประชุมผู้แทนรัฐบาล, วุฒิสภา, คณะกรรมการการเลือกตั้ง, พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาธิปัตย์, นปช. และ กปปส. ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อหาข้อสรุปในการก้าวผ่านวิกฤตการณ์ทางการเมือง แต่ไม่อาจหาข้อสรุปได้

 

พล.อ. ประยุทธ์ และผู้บัญชาการเหล่าทัพ จึงประกาศกระทำการรัฐประหารในที่ประชุมและควบคุมตัวผู้เข้าร่วมประชุม ยกเว้นตัวแทนวุฒิสภาและคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยนำตัวไปยังกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ซึ่งใช้เป็นกองบัญชาการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

 

คสช. ยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ตั้งแต่เวลา 16.30 น. หลังรัฐประหารมีประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 สิ้นสุดลง ยกเว้นหมวด 2 คณะรัฐมนตรีรักษาการหมดอำนาจ ตลอดจนให้ยุบวุฒิสภา

 

จนเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ซึ่งให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา วันที่ 21 สิงหาคม 2557 สภามีมติเลือก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

 

นอกจากนี้ คสช. ยังได้ดำเนินการภารกิจด้านการปฏิรูป โดยการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งต่อมาถูกยุบและตั้งเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) รวมถึงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นั่นคือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในปัจจุบัน ก่อนคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่ในอีก 5 ปีต่อมา คือวันที่ 24 มีนาคม 2562

 

กว่า 10 ปีหลังการยึดอำนาจโดย คสช. ประเทศไทยอยู่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ กว่า 9 ปี และอยู่ภายใต้กลไก กติกา และ สว. แต่งตั้ง 250 คน ซึ่งมีอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาล 5 ปีแรกนับแต่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 หลังการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising