×

เงินเยนดิ่งหนักทะลุระดับ 140 เยนต่อดอลลาร์แล้ว ทำสถิติสูงสุดในรอบ 24 ปี

02.09.2022
  • LOADING...

เงินเยนทำสถิติอ่อนค่าในรอบ 24 ปีอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดอ่อนค่าหลุดจากระดับจิตวิทยาที่ 140 เยนต่อดอลลาร์ ขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่ 140.23 เยนต่อดอลลาร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

ความกังวลเรื่องส่วนต่างดอกเบี้ยของญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มจะถ่างกว้างมากขึ้นจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยแรง ในขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังยืนกรานจะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป ทำให้มีแรงเทขายเงินเยนแล้วเข้าถือเงินดอลลาร์ของนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง

 

Naohiko Baba นักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs ระบุว่า ในอดีตการอ่อนค่าของเงินเยนถือเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยให้บริษัทผู้ผลิตสินค้าของญี่ปุ่นส่งออกได้มากขึ้น แต่ปัจจุบันสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยบริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีการย้ายฐานการผลิตออกไปยังต่างประเทศเพื่อลดต้นทุน ทำให้การอ่อนค่าของเงินเยนอาจไม่ได้ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นเหมือนเก่า

 

“บริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่ได้ย้ายส่วนที่เป็นการผลิตออกไปยังต่างประเทศแล้ว โดยเหลือเพียงฝ่ายวิจัยและพัฒนาไว้ในญี่ปุ่น ทำให้เงินเยนที่อ่อนค่าจะมีส่วนช่วยผลักดันตัวเลขส่งออกได้ไม่มากนัก” Naohiko กล่าว

 

Benjamin Shatil นักกลยุทธ์ของ JPMorgan Chase & Co. ระบุว่า เงินเยนมีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้อีกหากท่าทีสายเหยี่ยวของ Fed ที่สวนทางกับท่าทีสายพิราบของ BOJ ยังคงดำเนินต่อไป ขณะที่ Steven Englander หัวหน้าฝ่ายวิจัยค่าเงินของ Standard Chartered กล่าวว่า BOJ จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยอย่างมีนัยสำคัญหากต้องการให้เงินเยนกลับมามีเสถียรภาพอย่างยั่งยืน

 

บรรดานักวิเคราะห์ในตลาดคาดการณ์ว่า การอ่อนค่าทะลุระดับ 140 เยนต่อดอลลาร์ จะสร้างแรงกดดันให้ BOJ ต้องเริ่มทบทวนกรอบนโยบายการเงิน จากเดิมที่มุ่งอัดสภาพคล่อง ตรึงดอกเบี้ยพันธบัตรของรัฐบาลญี่ปุ่นเอาไว้เพื่อช่วยรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีหนี้ภาครัฐสูงสุดในโลกมากกว่า 200% ของ GDP

 

อย่างไรก็ดี Haruhiko Kuroda ผู้ว่าการ BOJ ได้ให้สัมภาษณ์ระหว่างเข้าร่วมประชุมที่ Jackson Hole ว่าญี่ปุ่นจะยังยึดมั่นกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising