หลังโควิดคลี่คลายทำตลาดน้ำดื่มเพื่อสุขภาพชะลอการเติบโตลง จากที่เคยมีมูลค่าพุ่งขึ้นไปเกือบ 2 พันล้านบาท ลดเหลือเพียง 1.9 พันล้านบาท ไม่เว้นแม้แต่น้ำกัญชาผสมวิตามินของผู้นำตลาดอย่าง ‘ยันฮี’ ก็ต้องชะลอการผลิต หลังกระแสแผ่ว ไม่บูมเหมือนปีที่ผ่านมา
ถึงกระนั้น ‘ยันฮี’ ก็ยังไม่หยุดเคลื่อนไหวในตลาดน้ำดื่มวิตามิน โดยล่าสุดได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ยันฮีแคลเซียมวอเตอร์ เพื่อตอบโจทย์คนที่ต้องการเสริมแคลเซียม วางจำหน่ายราคา 17 บาท เน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายครอบครัวและวัยรุ่น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
พร้อมวางงบ 90 ล้านบาท ทำตลาดให้ความรู้และชี้ให้เห็นความสำคัญทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ พร้อมกับเปิดรับอาสาสมัครที่มีความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน จำนวน 100 คน และมีช่วงอายุ 30-60 ปี เพื่อทดลองดื่มน้ำยันฮีแคลเซียมติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน พร้อมวัดผลค่ามวลกระดูกหลังดื่มต่อเนื่อง หลังจากนั้นจะทำให้ผู้บริโภคเห็นผลลัพธ์จากการดื่มน้ำแคลเซียม ซึ่งจะทำให้สินค้าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
นพ.สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ยันฮี วิตามิน วอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า น้ำยันฮีแคลเซียมนับเป็นผลิตภัณฑ์ที่ 2 รองจากกัญชาผสมวิตามิน ที่พัฒนาร่วมกันกับโอสถสภา ภายใต้บริษัท โอสถสภา ยันฮี เบฟเวอเรจ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกัน ถือหุ้นในสัดส่วน 50% เท่ากัน ปัจจุบันเปิดดำเนินงานมาประมาณ 2 ปี มีทิศทางการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับกลยุทธ์การดำเนินงานนั้น เป็นการทำงานร่วมกันด้วยการผสานจุดแข็งของทั้ง 2 บริษัทมาร่วมกันพัฒนาโปรดักต์ ซึ่งยันฮีมีความเชี่ยวชาญด้านการแพทย์เพื่อสุขภาพและความงาม ส่วนโอสถสภามีจุดแข็งเรื่องการกระจายสินค้าและการทำตลาดที่ครอบคลุมทั่วประเทศ
“จากนี้จะมีโปรดักต์ใหม่ๆ เข้ามาสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ที่สำคัญในช่วงที่เราคิดค้นโปรดักต์ใหม่ๆ ก็จะให้ความสำคัญในแง่ของประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ จากนั้นนำไปปรึกษากับโอสถสภา และถ้ามันซ้ำกันกับไลน์สินค้าของโอสถสภา เราก็จะนำออกมาทำเอง ถ้าตัวไหนไม่ซ้ำ เราก็ร่วมกัน” นพ.สุพจน์กล่าว
ขณะที่กลุ่มเครื่องดื่มยันฮี วิตามิน วอเตอร์ ที่บริษัทผลิตและกระจายสินค้าเอง ปัจจุบันมีสินค้าหลากหลาย เช่น ยันฮี วิตามิน ซี วอเตอร์ ตามด้วย ยันฮี วิตามิน วอเตอร์ กระชายขาว กลิ่นน้ำผึ้งมะนาว, ยันฮี วิตามิน วอเตอร์ รสสตรอว์เบอร์รีและลิ้นจี่ ทั้งหมดมียอดขายเติบโตขึ้น
เรียกได้ว่ายันฮีนั้นเป็นบริษัทแรกที่บุกเบิกตลาดน้ำผสมวิตามินในไทย แต่หลังจากนั้นก็มีผู้เล่นรายใหม่ๆ กระโดดเข้ามาต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น แบรนด์วิตอะเดย์ของบริษัท เจนเนอรัล เบฟเวอร์เรจ จำกัด ตามด้วยอควาวิทซ์ บาย เจเล่ จากบริษัท ศรีนานาพรฯ รวมถึงน้ำ PH PLUS 8.5 เครื่องดื่มน้ำ PH ผสมวิตามินบีรวม จากอิชิตัน กรุ๊ป แน่นอนว่าทำให้สมรภูมิการแข่งขันในตลาดนี้ดุเดือดอย่างมาก
ซึ่งผู้บริหารยันฮีเองก็ยืนยันว่า ปัจจุบันแบรนด์น้ำดื่มยันฮี วิตามิน วอเตอร์ ยังคงมีสัดส่วนอยู่ในอันดับต้นๆ ของตลาดน้ำดื่มเพื่อสุขภาพ
ทั้งนี้ ยันฮี ยังมีหลากหลายธุรกิจ นั่นก็คือโรงพยาบาล โรงงานผลิตยา ศูนย์รักษาผู้สูงอายุ และธุรกิจพลังงาน โดยการมีธุรกิจหลายขาจะช่วยรองรับความเสี่ยงในช่วงที่เกิดวิกฤตได้
“วันนี้ธุรกิจโรงพยาบาลกลับมาฟื้นตัวเกือบ 100% เห็นได้จากต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นถึง 15% โดยจากนี้ยันฮียังให้ความสำคัญกับเรื่องศูนย์ความงามที่โรงพยาบาลมีชื่อเสียงด้านนี้มานานกว่า 36 ปี รวมถึงการให้ความสำคัญกับการรักษาโรคทั่วไป โดยสิ้นปีนี้ เราตั้งเป้าการเติบโตอยู่ที่ 10% ซึ่งสัดส่วนรายได้จะมาจากการศัลยกรรมความงาม 70% และการรักษาโรคทั่วไป 30%” นพ.สุพจน์ย้ำ