×

แนวโน้มคอนเทนต์วาย 2023 กระโดดออกจากรั้วโรงเรียน สู่งานพีเรียดและมนุษย์ออฟฟิศ

29.12.2022
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • แม้เนื้อหาส่วนใหญ่ยังเป็นแนว Coming of Age ในรั้วโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย แต่ถ้าสังเกตจากระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าสัดส่วนของเรื่องราวในรั้วการศึกษาลดลงเรื่อยๆ
  • คอนเทนต์วายย้ายสถานะจากนักเรียนสู่พนักงานออฟฟิศ โดยมีค่ายใหญ่อย่าง GMMTV, Mandee Work และ Dee Hup House เป็นแกนนำ
  • ส่วนคอนเทนต์พีเรียดก็เป็นเทรนด์ในหมู่ผู้จัดไม่แพ้กัน เพราะในปี 2023 ที่จะถึงนี้มีไลน์อัพคอนเทนต์แนวพีเรียดออกมาแล้ว 4 เรื่องจากทั้งค่ายใหญ่และค่ายเล็ก

ถ้าเริ่มนับจากการออนแอร์ของ Love Sick The Series รักวุ่น วัยรุ่นแสบ ในปี 2023 ที่จะถึงนี้ก็จะนับเป็นปีที่ 9 ของคอนเทนต์วายอย่างเป็นทางการ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาวิธีการและเนื้อหาของคอนเทนต์วายก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามแรงผลักดัน กระแสนิยม และความสนใจของผู้คน

 

พัฒนาการในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหา โปรดักชัน รวมถึงการตลาดที่มีประสิทธิภาพ ก็ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นครัวโลกของคอนเทนต์แนวๆ นี้ไปโดยปริยาย อย่างปีที่ผ่านมาก็มีคอนเทนต์วายเพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัว ซึ่งคาดการณ์ว่าในปีหน้า (2023) เราอาจะได้เห็นจำนวนคอนเทนต์วายมากกว่า 100 ผลงานเลยทีเดียว 

 


บทความที่เกี่ยวข้อง:


 

ส่วนด้านเนื้อหา วายไทยค่อนข้างขึ้นชื่อเรื่องความหลากหลายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ในความหลากหลายนั้นเทรนด์ของเนื้อหาก็เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละปีเช่นกัน แม้เนื้อหาส่วนใหญ่ยังเป็นแนว Coming of Age ในรั้วโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ซึ่งก็เป็นเรื่องราวที่ขายได้ขายดีมาตลอด แต่ถ้าสังเกตจากระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าสัดส่วนของเรื่องราวในรั้วการศึกษาลดลงเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะผู้จัดกล้าได้กล้าเสียมากพอกับการมองหาคอนเทนต์แนวใหม่ๆ เข้ามาในตลาด อีกส่วนหนึ่งก็คือจำนวนของผู้ชมที่เพิ่มขึ้นและมีความสนใจในประเด็นที่หลากหลายมากขึ้น

 

ซีรีส์ แฟนผมเป็นประธานนักเรียน (2022)

 

อย่างในปี 2021 เนื้อหาวายก็จะเน้นไปที่เรื่องราวของอาชีพต่างๆ เป็นหลัก เช่น เจ้าหน้าที่ป่าไม้ใน นิทานพันดาว A Tale of Thousand Stars, นักเขียนและนักแสดงใน นับสิบจะจูบ หรือเชฟ ใน ส่งร้อนเสิร์ฟรัก BITE ME เป็นต้น ส่วนในปีถัดมา (2022) คอนเทนต์ที่ค่อนข้างเป็นเทรนด์ในหมู่ผู้จัดเลยก็คือเนื้อหาเชิงแฟนตาซีที่รวมไว้ทุกความเหนือจินตนาการ ทั้งสลับร่าง ย้อนเวลา มิติคู่ขนาน ไปยันผีในบ้าน เช่น ผมกับผีในห้อง SOMETHING IN MY ROOM, Vice Versa รักสลับโลก, พินัยกรรมกามเทพ Cupid’s Last Wish และ คุณหมีปาฏิหาริย์ The Miracle of Teddy Bear เป็นต้น

 

คอนเทนต์วายในปี 2023 คือนิยามของการกระโดดออกจากรั้วการศึกษาอย่างปฏิเสธไม่ได้ เนื่องจากค่ายผู้ผลิตหลายบ้านเริ่มหันไปสนใจเรื่องราวของมนุษย์ออฟฟิศ ชีวิตการทำงาน ไปจนถึงพีเรียดย้อนเวลามากกว่าเรื่องรักวัยเรียนที่เคยทำกันมา ในขณะที่เนื้อหาแนวโรแมนติกคอเมดี้ ดราม่า และสืบสวนสอบสวน ก็ยังคงอยู่ในความสนใจ

 

คอนเทนต์แรกที่ผู้ชมน่าจะได้เลือกชมกันมากที่สุดก็คือเรื่องราวชีวิตรักชาวออฟฟิศ โดยค่ายเจ้าตลาดอย่าง GMMTV มีแผนจะถ่ายทำในปีหน้าถึง 2 เรื่องด้วยกันคือ ชอกะเชร์คู่กันต์ A Boss and a Babe ที่ดัดแปลงมาจากนิยายเรื่อง คบวันนี้เลิกกันปีใหม่ และ Cherry Magic 30 ยังซิง ที่รีเมกมาจากซีรีส์วายสัญชาติญี่ปุ่นยอดฮิต Cherry Magic The Movie ถ้า 30 ยังซิงจะมีพลังวิเศษ ในขณะที่ค่ายกระแสแรงอย่าง Mandee Work ก็มีแผนจะปล่อย พี่เจตคนกลาง Middleman’s Love Series และ อย่าเล่นกับอนล Bed Friend Series ซีรีส์สองเรื่องต่อกันที่เล่าเรื่องราวความรักของสองเพื่อนร่วมชะตากรรมในตำแหน่งกราฟิกดีไซเนอร์มาลงสนาม

 

 

ส่วนค่ายไฟแรงอย่าง Dee Hup House ก็ไม่น้อยหน้า จับมือ JustUp บริษัทใหม่แกะกล่องของ อัพ-ภูมิพัฒน์ เอี่ยมสำอาง เพื่อสร้างสรรค์ซีรีส์ Coming of Age ในโหมดพนักงานออฟฟิศอย่าง ค่อยๆ รัก Step By Step ร่วมกัน นอกจากนี้ทาง Dee Hup House ก็ยังมีอีกหนึ่งโปรเจกต์น่าจับตาที่เตรียมออกอากาศให้ได้ชมกันเร็วๆ นี้อย่าง หอมกลิ่นความรัก Feel You Linger In The Air ซีรีส์แนวพีเรียดแฟนตาซี เล่าเรื่องราวความรักของคนที่ย้อนเวลาไปพบกันในปี 1927 ซึ่งโปรเจกต์นี้ก็ได้นักแสดงมากฝีมืออย่าง นนกุล-ชานน สันตินธรกุล มารับบทนำร่วมกับ ไบร์ท-รพีพงศ์ ทับสุวรรณ อีกด้วย

 

คอนเทนต์แนวพีเรียดอย่าง หอมกลิ่นความรัก ก็เป็นคอนเทนต์อีกรูปแบบหนึ่งที่เราน่าจะได้เห็นเพิ่มขึ้นในปีหน้า เพราะนอกจากเรื่องนี้แล้วก็ยังมี ภพเธอ Love Upon a Time Series จากค่าย Mandee Work ที่ก็มีส่วนผสมของความแฟนตาซีเข้าไปเช่นกัน ส่วนโปรเจกต์ภาพยนตร์พีเรียดเรื่องใหม่ของสองนักแสดงนำ KinnPorsche The Series อย่าง มาย-ภาคภูมิ ร่มไทรทอง และ อาโป-ณัฐวิญญ์ วัฒนกิติพัฒน์ ที่นำเสนอเรื่องราวของนายรำและมือตะโพนนั้น ทาง Be On Cloud และนักแสดงทุกคนก็กำลังซุ่มเตรียมตัวกันอย่างหนักเพื่อเตรียมเข้าฉายภายในปีหน้า และยังมีซีรีส์ ฟ้ากั้นแดน Wall of Dawn จากบ้านเล็กอย่าง Mind Trio มาลงสนามด้วยเช่นกัน

 

อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจในปีหน้าก็คือคอนเทนต์แนวสืบสวนสอบสวนที่น่าจะมีมาให้เห็นมากขึ้น อย่างนิยายเรื่อง การุณยฆาต (Euthanasia) ที่เขียนโดย Sammon นักเขียนเจ้าของผลงาน พฤติการณ์ที่ตาย นิยายแนวสืบสวนสอบสวนชื่อดังที่เคยถูกหยิบมาทำเป็นซีรีส์ไปแล้วเมื่อปี 2020 ซึ่งล่าสุด Sammon ก็ได้ทวีตผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่านิยายเรื่อง การุณยฆาต (Euthanasia) กำลังจะถูกหยิบไปสร้างสรรค์เป็นเวอร์ชันคนแสดงโดยช่อง one31 เจ้าของผลงานละครกระแสแรงอย่าง คุณชาย และอีกเรื่องที่เพิ่งฟิตติ้งไปก็คือเรื่อง ใครในกระจก นิยายแนวทริลเลอร์จากนักเขียนนามปากกา รังสิมันต์ ที่ได้ ตั้ว-เสฎฐวุฒิ อนุสิทธิ์ ผู้เคยรับบท ธีร์ จากซีรีส์วัยรุ่นเรื่อง Hormones วัยว้าวุ่น มารับบทนำคู่กับ เป็นต่อ-จีรภัทร พิมานพรหม สมาชิกวง LAZ1 ด้วย 

 

ตัวอย่างซีรีส์ หอมกลิ่นความรัก 

 

ส่วนฝั่ง Girl’s Love เองก็น่าจะมีคอนเทนต์แนวๆ โรแมนติกคอเมดี้มาให้ได้ดูกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ แค่อยากบอกรัก Show Me Love จากค่าย Miss Grand ที่ดึงเอาเจ้าของมงกุฎ Miss Grand Thailand คนล่าสุดอย่าง อิงฟ้า วราหะ มารับบทนำคู่กับ ชาล็อต ออสติน และยังได้ทีมงานจากบ้าน Dee Hup House มาร่วมสร้างสรรค์ผลงานอีกแรง ในขณะที่ GMMTV ก็ไม่น้อยหน้า เดินหน้าต่อกระแสของ มิ้ลค์-พรรษา วอสเบียน และ เลิฟ-ภัทรานิษฐ์ ลิ้มปติยากร คู่นักแสดงจาก แค่เพื่อนครับเพื่อน ​มารับบทนำครั้งแรกในซีรีส์ 23.5 องศาที่โลกเอียง ที่มีแพลนจะถ่ายทำและออกอากาศในปีหน้าเช่นกัน

 

นอกจากเนื้อหาที่พูดถึงไปแล้วนั้น GMMTV, Mandee Work และ Dee Hup House ก็ยังมีไลน์อัพคอนเทนต์แนวโรแมนติกคอเมดี้ และดราม่า ออกมาให้เราเห็นอีกมากมาย เช่น ภาพนายไม่เคยลืม, อาหารเป็นยังไงครับหมอ, วาระซ่อนเร้น, ดื้อเฮียก็หาว่าซน, องศาสูญ, ข้ามฟ้าเคียงเธอ ฯลฯ ส่วนบ้านเล็กกระแสแรงอย่าง MeMindY และ Studio Wabi Sabi ก็มีไลน์อัพซีรีส์เพิ่มเติมอีกคนละ 2 เรื่องที่น่าจะประกาศให้ได้ทราบกันเร็วๆ นี้ สิริรวมแล้วปี 2023 น่าจะมีคอนเทนต์วายมาให้ได้ดูกันไม่ต่ำกว่า 30 เรื่องเลยทีเดียว

 

ภาพงานเปิดตัวซีรีส์ แค่อยากบอกรัก Show Me Love

 

ทั้งหมดนี้คือแนวโน้มความน่าสนใจของคอนเทนต์วายในปี 2023 ที่น่าจะมีลูกเล่นใหม่ๆ มาให้เราได้ตื่นตาและจับตาอยู่ไม่น้อย ซึ่งแน่นอนว่านอกจากคุณภาพของคอนเทนต์แล้ว เราน่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างในเนื้อหามากขึ้น อย่างการวางโพสิชันให้กับตัวแสดงก็น่าจะมีให้เห็นน้อยลง เพื่อลดความเข้าใจผิดที่คนส่วนมากมีกับกลุ่ม LGBTQIA+ ส่วนการนิยามตัวเองเป็นคอนเทนต์วายก็น่าจะลดลงไปเช่นกัน ส่วนหนึ่งก็เพื่อแก้ปัญหาอคติ และเพิ่มการยอมรับในวงกว้าง อีกส่วนหนึ่งก็เพื่อกันผลงานนั้นๆ ออกจากความหมายดั้งเดิมของวายที่มาจาก Yuri และ Yaoi ในภาษาญี่ปุ่น ที่ยังคงมีข้อถกเถียงในเรื่องการไม่ยอมรับตัวตนทางเพศของกลุ่ม LGBTQIA+ อยู่มาก 

 

แม้ส่วนตัวผู้เขียนจะเชื่อว่าวงการนี้จะยังเติบโตอย่างก้าวกระโดดและได้รับสปอตไลต์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากสื่อและผู้ชม แต่อย่างไรก็ตามเราก็ต้องจับตาดูกันไปยาวๆ ว่าวงการวายไทยในปีหน้าเดินทางไปในเส้นทางไหน การเติบโตของวงการนี้จะเป็นกราฟพุ่งขึ้นในรูปแบบใด และความสามารถของวายไทยจะดันประตูหรือเพดานใดออกไปได้บ้าง 

 

หมายเหตุ: ข้อมูลของวันที่ 22 ธันวาคม 2022

 

ภาพ: GMMTV, Mandee Work และ Dee Hup House 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X