×

ภาพรวมวงการวาย 2022 ตกลงตลาดวายไทยขายอะไรอยู่?

20.12.2022
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 MIN READ
  • ปีนี้อุตสาหกรรมวายขยายอาณาเขตไปอย่างกว้างขวาง โดยมีคอนเทนต์วายที่เข้าฉายทั้งหมด 70 เรื่อง เพิ่มจากปีที่แล้วที่มีประมาณ 30 เรื่อง หรือมีการสร้างสรรค์ซีรีส์วายมากขึ้นกว่าหนึ่งเท่าตัว
  • แม้ปีนี้ค่าย GMMTV จะยังเป็นเจ้าตลาด แต่ก็มีค่ายเล็กๆ อย่าง DoMunDi และ MeMindY ที่เฉิดฉายขึ้นมาอย่างน่าตกใจ รวมถึงทีวีช่องหลักอย่างช่อง 3 และช่อง one31 ก็กระโจนเข้ามาแข่งขันในตลาดนี้ด้วย
  • เทรนด์ของเนื้อหาวายในปีนี้คือเนื้อหาประเภทแฟนตาซี ที่หยิบทั้งมุกการสลับร่าง การย้อนเวลา มิติคู่ขนาน ผีในบ้านต่างๆ มาเล่นได้หลากหลาย เพิ่มสีสันให้วงการ
  • ฉากร่วมเพศ หรือ NC (No Children) ถูกใส่เข้ามาเพื่อเพิ่มความนิยม ไม่ต่างจากวัฒนธรรมการขายคู่จิ้นที่มีมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง
  • วงการวายปีนี้มีวัตถุดิบใหม่ๆ มาช่วยสร้างความสัมพันธ์กับแฟนคลับทั่วโลกมากขึ้น เช่น การจัดแฟนมีตติ้ง คอนเสิร์ต และกิจกรรมปิดโรงหนัง เป็นต้น

คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในปี 2022 วงการคอนเทนต์วายได้กลายเป็นอีกหนึ่งส่วนใหญ่ๆ ของภาคอุตสาหกรรมบันเทิงไทยอย่างเต็มตัว ด้วยความสามารถในการสร้างรายได้มหาศาลและความนิยมที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ค่อนข้างดุเดือด ซึ่งข้อดีของมันก็คือก้าวที่พัฒนาขึ้นในหลายด้าน ในขณะเดียวกันก็ทำให้เราเห็นปัญหาของวงการที่ชัดเจนขึ้น 

 

จนต้องตั้งคำถามขึ้นมาว่า ตกลงแล้ววงการวายไทยกำลังขายอะไรอยู่?

 

เพื่อให้ผู้อ่านทุกท่านเห็นเป็นภาพเดียวกัน ผู้เขียนจึงขอนิยามคำว่า ‘คอนเทนต์วาย’ หรือ ‘วาย’ ที่จะถูกพูดถึงในบทความนี้ให้หมายรวมถึงละคร ซีรีส์ และภาพยนตร์ใดๆ ก็ตามที่มีตัวละครคู่หลักหรือผู้ดำเนินเรื่องหลักเป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

 

 

ภาพรวมในปีนี้อุตสาหกรรมวายขยายอาณาเขตไปอย่างกว้างขวาง หากนับจำนวนแล้วมีคอนเทนต์วายที่เริ่มออกอากาศตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมาทั้งหมด 70 เรื่อง เพิ่มจากปีที่แล้วที่มีเพียง 30 เรื่อง หรือเรียกได้ว่าบ้านเราผลิตคอนเทนต์วายมากขึ้นกว่าหนึ่งเท่าตัว หรือประมาณ 130% เลยทีเดียว

 

ทำให้ปีนี้มีค่ายซีรีส์ค่ายใหม่ๆ ผุดขึ้นมาแย่งชิงพื้นที่ในตลาดมากมาย ในขณะเดียวกันผู้ผลิตเจ้าเก่าก็ยังเก๋าเกม ไม่ได้ถูกลดความนิยมไปมากนัก อย่าง GMMTV เจ้าตลาดซีรีส์วายก็ยังมีซีรีส์กระแสแรงออกมาบ้าง ส่วนค่ายเล็กที่ดูจะเป็นมวยรองในปีที่ผ่านมาอย่าง Mandee Work และ MeMindY ก็เฉิดฉายขึ้นอย่างน่าตกใจ

 

นอกจากนี้ปี 2022 ยังเป็นปีแรกที่เราเห็นสื่อกระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็นช่อง 3 และช่อง one31 ก็ลงทุนทำละครวายมาฉายบนจอแก้วในช่วงไพรม์ไทม์ให้ได้ดูกัน เช่น คุณหมีปาฏิหาริย์, คุณชาย และ รากแก้ว ซึ่งก็เป็นพื้นที่สำคัญและน่าจับตามอง ทั้งในมุมของเนื้อหา ผลตอบรับ และกระแส 

 

ยิ่งไปกว่านั้นจำนวนเงินลงทุนที่หมุนอยู่ในวงการนี้ก็เพิ่มมากขึ้นด้วย เห็นได้จากการร่วมมือกันระหว่างผู้ผลิตและสตรีมมิงหลายๆ ราย ที่ช่วยกันผลักดันและพัฒนาคุณภาพของคอนเทนต์ ทั้งด้านเนื้อหา การแสดง และโปรดักชัน 

 

ภาพจากละคร คุณชาย

 

เทรนด์เนื้อหาวายที่หลากหลายและขายดี

ภาพรวมของเนื้อหาวายโดยเฉพาะฝั่งของ Boy’s Love ในปีนี้กว่า 50% ยังคงหนีไม่พ้นเรื่องรักวัยเรียนเหมือนที่ผ่านๆ มา ซึ่งก็เป็นท่าประจำของวงการที่ทำงานกับผู้ชมได้ค่อนข้างดี ส่วนอีกครึ่งหนึ่งของคอนเทนต์ทั้งหมดนั้นก็เรียกได้ว่าหลากหลายและมีสีสันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

 

สิ่งที่เป็นเทรนด์ของปีนี้เลยก็ว่าได้คือเนื้อหาประเภทแฟนตาซี ที่หยิบทั้งมุกการสลับร่าง การย้อนเวลา มิติคู่ขนาน ผีในบ้านต่างๆ มาเล่นได้หลากหลาย เช่น ผมกับผีในห้อง SOMETHING IN MY ROOM, Vice Versa รักสลับโลก, พินัยกรรมกามเทพ Cupid’s Last Wish และ ทริอาช Triage เป็นต้น แม้ว่ายอดการเข้าชมและกระแสของซีรีส์แนวนี้ยังไม่โดดเด่นเท่าที่ควร แต่ก็สามารถเพิ่มความหลากหลายไม่จำเจให้กับวงการได้ดี

 

ภาพจากซีรีส์ ทริอาช Triage

 

ส่วนเนื้อหาที่เป็นกระแสสุดๆ ของปีนี้คงหนีไม่พ้นซีรีส์มาเฟียอย่าง KinnPorsche The Series ของค่าย Be On Cloud ที่สามารถขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ไทยได้ถึง 12 ตอน ขึ้นเทรนด์โลกได้ทั้งหมด 9 ตอน และยังขึ้นเทรนด์ได้มากที่สุดถึง 29 พื้นที่พร้อมกัน จนทำให้ Be On Cloud ก้าวขึ้นมาเป็นค่ายซีรีส์วายเบอร์ต้นๆ เลยก็ว่าได้

 

ส่วนคอนเทนต์ฝั่ง Girl’s Love แม้จะไม่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้จัดมากนัก แต่ก็ทำออกมาให้เห็นประปรายในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นละคร รากแก้ว, ซีรีส์ ทฤษฎีสีชมพู GAP The series, ซีรีส์ อากงจ๋า…ป๊าไม่รู้ Love of Secret หรือภาพยนตร์ The Cheese Sisters 

 

ตั้งแต่กระแสวายปะทุขึ้นมา คอนเทนต์วายก็ถูกครหาในฐานะสื่อที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมและกดทับผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในปีหลังๆ มาเราจึงเห็นผู้ผลิตหลายคนตื่นรู้และพยายามลบคำวิจารณ์เหล่านั้น โดยการหยิบเอาประเด็นสังคมในแง่ต่างๆ มาสอดแทรกในเนื้อมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับ LGBTQIA+, สิทธิเสรีภาพ, นายทุน, ยาเสพติด หรือการศึกษา เพื่อให้ผลงานที่ออกมาเป็นส่วนหนึ่งในการโน้มน้าวให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนสังคมอีกแรง

 

จริงๆ ซีรีส์วายหลายเรื่องเขาอาจกำลังพูดเรื่องสังคมอยู่ก็ได้ แต่คุณลองเปิดใจฟังเขาหรือยัง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันมีพื้นที่ของมันอยู่ บางเรื่องมันอาจเป็นงานโรแมนซ์ ที่เมื่อขายได้แล้วก็สามารถทำให้คนจำนวนมากยอมรับ LGBTQ+ ไปทั่วเอเชีย หรือทั่วทั้งโลก – ซึ่งถือเป็นความสำเร็จในการเปิดประตูให้คนยอมรับความแตกต่างได้เหมือนกัน โดยไม่ต้องเอาแต่พูดเรื่องสังคมการเมือง

  • มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับ

 

ตัวดัน ‘ยอดขาย’ ของวายไทย

คอนเทนต์วายก็ไม่ต่างจากสื่ออื่นๆ ที่อยู่ได้เพราะเม็ดเงินจากงานโฆษณา ทำให้ความนิยมและฐานแฟนคลับเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ในวงการนี้ ซึ่งการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นตลอดปีที่ผ่านมา ทำให้บรรดาผู้จัดต้องดิ้นรนแย่งชิงความสนใจจากผู้ชมด้วยวิธีการต่างๆ 

 

หนึ่งในวิธีนั้นก็คือการที่คอนเทนต์วายมีปริมาณฉากร่วมเพศ (Sex Scene) หรือที่หลายคนเรียกว่า ฉาก NC (No Children) เพิ่มขึ้นในปีนี้อย่างเห็นได้ชัด จนแทบจะกลายเป็นขนบที่คอนเทนต์วายทุกเรื่องต้องใส่ลงไป แม้ว่าในหลายๆ ครั้งการกระทำของตัวละครจะสมเหตุสมผลมากพอ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยเลยที่ผู้จัดหรือผู้กำกับพยามยัดฉากประเภทนี้เข้าไป เพราะคิดว่ามันจะช่วยเพิ่มความนิยมในหมู่แฟนคลับได้

 

มีหลากหลายคอมเมนต์จากผู้ชมคอนเทนต์วายที่พยายามพูดว่าพวกเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับฉากจำพวกนี้ และความจำเป็นของฉากเหล่านี้ควรขึ้นอยู่กับเนื้อหาหรือเหตุผลของตัวละครเป็นหลัก แต่ในขณะเดียวกันหากนำชื่อของซีรีส์ยอดนิยมหลายๆ เรื่องไปลองค้นหาในทวิตเตอร์ ก็จะพบว่ามีแฟนๆ จำนวนไม่น้อยเลยที่ชอบและคลั่งไคล้เนื้อหาประเภทนี้ แสดงให้เห็นว่าฉาก NC ยังคงทำงานกับคนดูได้ดี เป็นผลให้ผู้จัดไม่เคยคิดจะตัดมันออก รังแต่จะเพิ่มความหวือหวาเข้าไปเพื่อเอาใจผู้ชม

 

ถ้าสังเกตจากคัตซีนส่วนใหญ่ที่ถูกแชร์ไป ก็จะเป็นซีนอย่างว่าหมดเลย ซึ่งมันก็เข้าใจได้ว่ามันเป็นซีนไฮไลต์ของคนที่ดูซีรีส์ประเภทนี้ แต่ว่าเวลาแชร์จริงก็อยากให้แชร์เต็มๆ มากกว่า เพราะส่วนใหญ่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันมีที่มาที่ไป

  • นิว-ศิวัจน์ สวัสดิ์มณีกุล ผู้กำกับ และเจ้าของ Studio Wabi Sabi

 

ซึ่งการมีอยู่ของฉาก NC ที่หวือหวา ก็ทำให้ผู้ชมและคนทั่วไปจดจำอะไรแบบนี้ได้มากกว่าเนื้อหาโดยรวมของเรื่อง จนภาพรวมของวงการดูเป็น ‘การขายโป๊’ มากกว่าคุณภาพ เนื้อเรื่อง และความสามารถของนักแสดง 

 

ส่วนอีกวิธีการเพิ่มยอดขายที่อยู่คู่กับการแข่งขันในตลาดวายอย่าง ‘การขายจิ้น’ ก็มีมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าวิธีนี้ช่วยต่อกระแสให้กับทั้งนักแสดงและคอนเทนต์ได้อย่างดี จนอาจเรียกได้ว่ายิ่งชีวิตนอกจอของคู่นักแสดงมีโมเมนต์หวานชื่นให้เสพมากเท่าไร ความนิยมและกระแสของนักแสดงคู่นั้นก็จะมากขึ้นและนานขึ้นตาม

 

ก่อนหน้านี้การขายจิ้นมักจะมาในรูปแบบของการทำรายการคู่ การรับงานคู่ หรือการโพสต์โมเมนต์ผ่านค่ายหรือสื่อต่างๆ ซึ่งเกิดจากการชงของทีมงาน พิธีกร และการตัดต่อเป็นหลัก แต่หลังๆ มาโมเมนต์สุดจิ้นก็มาจากการตอบคำถามที่คลุมเครือและการวางตัวบนสื่อของนักแสดงร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการจัดผมให้กัน ซับเหงื่อให้กัน หรือคำตอบพวก “เราเป็นมากกว่าเพื่อน/พี่น้อง” เป็นต้น จนนักแสดงหลายๆ คนถูกมองว่าสร้างโมเมนต์เหล่านี้เพื่อทดแทนทักษะการแสดงที่ไม่ดีพอ กลับกลายเป็นว่าความพยายามและความสามารถของพวกเขาถูกลดค่าลงไปเพียงเพราะต้องการให้ผู้ชมคลั่งไคล้

 

วิธีการเหล่านี้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่เรื่อยๆ ในฐานะของ Queerbaiting กลยุทธ์การตลาดที่ดึงเอาอัตลักษณ์ทางเพศของกลุ่ม LGBTQIA+ มาเป็นจุดขาย ที่นอกจากจะทำให้สังคมมีความเข้าใจผิดและมุมมองทางลบกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศแล้ว ยังทำให้คำว่า ‘วาย’ กลายเป็นกำแพงสูงลิบลิ่วที่คนทั่วไปไม่อยากเข้าถึง แม้ว่าคอนเทนต์วายหลายๆ เรื่องจะถูกสร้างอย่างประณีตเพื่อสะท้อนสังคมก็ตาม

 

ปรากฏการณ์ตลาดวาย 2022

ปีนี้เป็นอีกปีที่ตลาดวายขยายตัวและมีปรากฏการณ์พีคๆ มาให้พูดถึงมากมาย ตั้งแต่การที่สินค้าหลายๆ ตัวเริ่มหันมาหยิบจับคู่จิ้นวายไปใช้ในเชิงการตลาดมากขึ้น เห็นได้ชัดจากการจ้างคู่จิ้นไปเข้าร่วมงานเปิดตัวสินค้า หรือทำกิจกรรม Top Spender มากขึ้น ซึ่งยอดซื้อสูงสุดของบางคู่ก็พุ่งสูงไปถึงกว่า 6 หลักเลยทีเดียว 

 

กลุ่มคนดูกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความ Loyalty สูงมาก เมื่อเขาชอบอะไรแล้ว แรงผลักดัน แรงสนับสนุน หรือแรงเชียร์มันสะท้อนออกมาในทุกมิติ โดยเฉพาะทางโซเชียลเป็นหลัก ทำให้เราเห็นว่าตลาดต่างประเทศเติบโตสูงมาก

  • ออฟ-นพณัช ชัยวิมล ผู้กำกับ

 

นอกจากงานโฆษณาแล้ว ปีนี้เป็นปีแรกหลังจากการแพร่ระบาดของโควิดที่หลายๆ กิจกรรมกลับมาจัดได้อีกครั้ง ทำให้วงการวายมีวัตถุดิบเพิ่มเติมในการสร้างความสัมพันธ์กับแฟนคลับทั่วโลกมากขึ้น 

 

อย่างอีเวนต์ดูซีรีส์กับแฟนๆ ในโรงภาพยนตร์ ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่นิยมทำกันในปีนี้ โดยนิยมจัดกันในตอนที่ 1, ตอนที่ 7 และตอนจบของเรื่อง เช่น ซีรีส์ กลรักรุ่นพี่ Love Mechanics ที่ปิดโรงภาพยนตร์พร้อมกันถึง 6 โรง, ซีรีส์ KinnPorsche The Series ที่ก็จัดอีเวนต์นี้ในอีพีที่ 7 รวมถึง ซีรีส์ นิ่งเฮียก็หาว่าซื่อ Cutie Pie Series และซีรีส์เรื่องอื่นๆ ที่ก็มีการจัดอีเวนต์นี้ในตอนแรกและตอนจบเช่นกัน

 

ภาพบรรยากาศงานวันศุกร์แห่งคาธ จากซีรีส์เรื่อง คาธ The Eclipse

 

ส่วนของงานแสดงรูปแบบคอนเสิร์ตและแฟนมีตติ้งที่เคยอยู่แค่ในบ้านเราก็ถูกส่งออกนอกประเทศมากขึ้นในปีนี้ อย่าง GMMTV ที่จัดแฟนมีตติ้งจากคู่จิ้นกระแสแรงไปถึง 10 งานทั่วเอเชีย และยังสามารถจัดคอนเสิร์ต Love Out Loud Fan Fest 2022 ที่รวบรวม 4 คู่ในตำนานของค่ายมาแสดงที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี ได้อีก ส่วน Be On Cloud เองที่ก็จัด KINNPORSCHE THE SERIES WORLD TOUR ไปแล้ว 5 เมือง รวมถึงซีรีส์ชื่อดังอย่าง นิ่งเฮียก็หาว่าซื่อ Cutie Pie Series จากบ้าน Mandee Work ก็มีแฟนมีตติ้งไปในหลายเมือง ในขณะที่แฟนมีตติ้งของศิลปินในประเทศก็ยังได้รับผลตอบรับอย่างล้นหลาม

 

นอกจากนี้ความนิยมของวงการวายยังแผ่ไปยังอุตสาหกรรมดนตรีและหนังสือด้วย มีเพลงประกอบคอนเทนต์วายหลายเรื่องที่ได้รับความนิยมติดชาร์ตเพลงไทย เช่น เพลงของ นุนิว-ชวรินทร์ เพริศพิริยะวงศ์ อย่าง How You Feel จากซีรีส์นิ่งเฮียก็หาว่าซื่อ Cutie Pie Series ที่มียอดชมใน YouTube กว่า 6 ล้านครั้ง ส่วนอีกเพลงอย่าง รักแท้ ที่ประกอบละคร คุณชาย ก็มียอดฟังไปแล้วกว่า 37 ล้านครั้ง นอกจากนี้ยังมีเพลง เพียงไว้ใจ ของ Slot Machine จาก KinnPorsche The Series ที่มียอดชมราวๆ 4.5 ล้านครั้ง และเพลง แค่เธอ (Why Don’t You Stay) ของ Jeff Satur จากเรื่องเดียวกัน ก็มียอดฟังไปไม่น้อยกว่า 33 ล้านครั้งเลยทีเดียว 

 

ภาพบรรยากาศงาน KINNPORSCHE THE SERIES WORLD TOUR 2022 เมืองไทเป

 

ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้น หมุนวน และดำเนินอยู่ในอุตสาหกรรมวายของปี 2022 ที่น่าจะเติบโตขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งในปีถัดไป แม้ว่าวายไทยจะพยายามสร้างจุดขายในด้านเนื้อหา และมีคุณภาพมากแค่ไหน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอีกมุมหนึ่งวงการนี้ก็กำลังเสนอขายสิ่งที่ส่งผลกระทบทางลบให้กับสังคม วงการ และศิลปินอยู่

 

สุดท้ายประเด็นสำคัญที่เราอยากขับเคลื่อนผ่านบทความนี้ คือการพัฒนาวงการอย่างมีคุณภาพท่ามกลางการแข่งขันจากทั้งในและนอกประเทศ ทั้งในแง่ของงานโปรดักชัน การสร้างความเข้าใจ ผลักดันความเท่าเทียมทางเพศในสังคม รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาคนทั่วไป เพื่อให้อุตสาหกรรมวายไทยถูกยอมรับในฐานะของคอนเทนต์รูปแบบหนึ่ง โดนไม่มีป้ายอคติมาแปะไว้

 

ขอบคุณข้อมูลทางสถิติจาก https://getdaytrends.com/ 

 

ขอบคุณภาพจาก GMMTV, Dee Hup House, TV Thunder, Be On Cloud, Vibie Gen และ WeTV 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising