ทั่วโลกต่างจับตาท่าทีสงครามอิสราเอล-ฮามาสที่มีท่าทีขยายวงกว้างและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งองค์การการค้าโลก (WTO) และเวิลด์แบงก์ ออกมาแสดงความกังวลว่า หากลุกลามบานปลายทั่วตะวันออกกลางจะเกิดผลกระทบเศรษฐกิจโลกย่ำแย่ลง เพราะภูมิภาคนี้เป็นประเทศมหาอำนาจแหล่งพลังงานโลก และอาจสะเทือนถึงไทยที่พึ่งพาการนำเข้าทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ LNG
สำนักข่าว The Guardian รายงานบทวิเคราะห์ ‘Escalation of Israel-Hamas war into Middle East-wide conflict would disrupt oil supplies and stoke food prices’ ว่า ธนาคารโลก (World Bank) เตือนเหตุสงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาสที่กำลังปะทุอีกครั้งในขณะนี้ อาจนำไปสู่การเกิดความขัดแย้งเต็มรูปแบบในตะวันออกกลางซึ่งเป็นเหตุการณ์ซ้ำรอยเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา หรือนับตั้งแต่ทศวรรษ 1979 ซึ่งอาจเกิดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านพลังงาน ที่ราคาน้ำมันดิบอาจพุ่งสูงถึง 157 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และจะลุกลามกระทบราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาอาหาร ตลอดจนเสี่ยงขาดแคลนอาหารในที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘สงครามอิสราเอล-ฮามาส’ เพิ่มความเสี่ยงต่อภาคพลังงานและสะเทือนเศรษฐกิจอาเซียน หากยังพึ่งพาการนำเข้าและไม่เร่งเพิ่มกำลังผลิตพลังงานหมุนเวียน
- จับตาตลาด LNG อาเซียน! เมื่อเวียดนาม ไทย และอินโดนีเซีย ต่างหันมาพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ นักวิเคราะห์เผย อีก 10 ปีอุปสงค์อาจพุ่งสูงถึง 4 เท่า
- รู้จัก ‘อิสราเอล’ ประเทศที่มีประชากรเพียง 9 ล้านคน แต่เต็มไปด้วยคนเก่งสตาร์ทอัพ จนกลายเป็นดินแดนแห่งขุมทรัพย์ Fintech อันดับต้นๆ ของโลก:
Indermit Gill หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก เตือนว่า “ผู้กำหนดนโยบายของแต่ละประเทศจะต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง” หากความขัดแย้งบานปลายหรือรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเผชิญกับภาวะช็อกด้านพลังงานเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ
เขากล่าวย้ำว่า “เนื่องจากแนวโน้มตลาดสินค้าโภคภัณฑ์จะปรับตัวสูง และเศรษฐกิจโลกจะไม่ได้จำกัดอยู่ที่แค่ต้นทุนพลังงาน แต่จะส่งผลให้ผู้คนหลายร้อยล้านคนอดอยากอันเป็นผลมาจากราคาอาหารที่สูงขึ้นด้วย”
อย่างไรก็ตาม แม้สงครามระหว่างอิสราเอล-ฮามาสยังคงมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นประมาณ 6% แต่สินค้าเกษตร อุตสาหกรรมโลหะ และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ แทบไม่ขยับ แต่กำลังกดดันอย่างมีนัยสำคัญ และจะมีผลต่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวในปีหน้า
โดยธนาคารโลกถอดบทเรียน 3 แนวทาง เพื่อรับมือราคาพลังงาน ดังนี้
- หากสถานการณ์ตึงเครียดระดับเล็กน้อย อุปทานน้ำมันทั่วโลกจะลดลง 5 แสน – 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เทียบเท่ากับการลดลงที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามกลางเมืองลิเบียในปี 2011 และราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นเป็นช่วง 93-102 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
- หากสถานการณ์ตึงเครียดระดับปานกลาง จะเทียบเท่ากับสงครามอิรักในปี 2003 โดยปริมาณน้ำมันทั่วโลกจะลดลง 3-5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้น 21-35% อยู่ในกรอบ 109-121 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
- หากราคาน้ำมันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรง ย่อมสะท้อนถึงเงินเฟ้อและราคาอาหารที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ โดยตัวเลข ณ สิ้นปี 2022 มีประชากรมากกว่า 700 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 10 ของประชากรโลก ได้รับอาหารไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ ความขัดแย้งล่าสุดที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นจะยิ่งทวีความรุนแรงต่อความมั่นคงทางอาหาร ไม่เพียงแต่ภายในภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทั่วโลกด้วย
กระทรวงพลังงานเผย Spot LNG โลกพุ่งเหตุสงครามส่อบานปลาย – Chevron ไร้ข้อสรุป
สำหรับประเทศไทย ล่าสุด วัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ระบุว่า ขณะนี้ราคา Spot LNG ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.334 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู มาอยู่ที่ระดับ 15.430 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู เนื่องจากตลาดกังวลสงครามกลุ่มอิสราเอลและฮามาสที่อาจบานปลายจนส่งผลกระทบต่ออุปทานพลังงานของโลก
รวมทั้งการเจรจาของสหภาพแรงงานที่โรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของบริษัท Chevron ประเทศออสเตรเลีย ในโครงการ Gorgon and Wheatstone ยังคงไม่ได้ข้อสรุป อีกทั้งการพยากรณ์อากาศของยุโรปในช่วงสัปดาห์ข้างหน้าที่คาดว่าจะหนาวเย็นกว่าปกติ อาจทำให้มีการดึงก๊าซธรรมชาติใน Storage มาใช้ก่อนเข้าฤดูหนาว จะมีผลต่อราคาที่สูงขึ้น
สงครามมีผลต่อภาคอุตสาหกรรมไทย หดตัว 2.5-3.0%
ขณะที่ วรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ระบุว่า ความขัดแย้งอิสราเอล-ฮามาส รวมถึงค่าเงินบาทอ่อนค่าลงร้อยละ 4.23 หรือประมาณ 1.50 บาท โดยมีเงินทุนไหลออกจากความกังวลการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น
โดย 9 เดือนแรกปี 2023 ดัชนี MPI ลดลง 5.09% ส่งผลให้ สศอ. ปรับประมาณการดัชนี MPI ปี 2023 อยู่ที่ลดลง 4.0-4.5% จากประมาณการเดิมลดลง 2.8-3.8% ส่วนด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ภาคอุตสาหกรรม ปี 2023 คาดหดตัว 2.5-3.0% จากประมาณการเดิมจะหดตัวร้อยละ 1.5-2.5
อุตสาหกรรมไทยที่ขยายตัว
- กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม การแปรรูปและการถนอมผลไม้และผัก ผลิตภัณฑ์นม เบียร์ และเนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็น
- พลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น ขยายตัวจาก Polyethylene Resin, Ethylene และ Polypropylene Resin
- น้ำตาล ขยายตัวจากน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์และน้ำตาลทรายขาว การงดส่งออกน้ำตาลของประเทศอินเดียจะส่งผลให้ไทยได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น
- สายไฟและเคเบิลอื่นๆ ขยายตัวจากการไฟฟ้านครหลวง ส่วนภูมิภาค และฝ่ายผลิต รวมถึงงานโครงการของภาครัฐและเอกชนมากขึ้น
ทั้งนี้ สศอ. ยังเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทย ให้เฝ้าระวังสัญญาณขาลงจากปัจจัยภายในประเทศที่ชะลอตัวตามการลงทุน และความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง 3 เดือนข้างหน้า
อ้างอิง: