×

‘สงครามอิสราเอล-ฮามาส’ เพิ่มความเสี่ยงต่อภาคพลังงานและสะเทือนเศรษฐกิจอาเซียน หากยังพึ่งพาการนำเข้าและไม่เร่งเพิ่มกำลังผลิตพลังงานหมุนเวียน

23.10.2023
  • LOADING...

เป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์ เหตุการณ์ช็อกโลก ‘สงครามอิสราเอลและกลุ่มฮามาส’ สร้างความสูญเสียทุกมิติ ทั้งชีวิตและวิถีความเป็นอยู่ของผู้คนตะวันออกกลาง ขณะที่ในแง่ของเศรษฐกิจ เมื่อสงครามเกิดขึ้นในพื้นที่ตะวันออกกลาง ทำให้ทั่วโลกต่างเฝ้าติดตามภาคพลังงาน ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศผู้ผลิตและส่งออกมากที่สุดในโลก

 

สำนักข่าว CNBC รายงานว่า ข้อมูลจากศูนย์พลังงานอาเซียน ระบุว่า แม้ประเทศในอาเซียนต่างผลักดันนโยบายการผลิตและใช้พลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน แต่ปัจจุบันเชื้อเพลิงฟอสซิลยังเป็นเชื้อเพลิงที่จำเป็น และยังครองสัดส่วนพลังงานของภูมิภาคอาเซียน ด้วยสัดส่วนที่มากถึง 83% หากเทียบกับสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนที่มีกำลังการผลิตเพียง 14.2% เท่านั้น โดยความต้องการพลังงานภูมิภาคอาเซียนเองก็เพิ่มขึ้นทุกปีเฉลี่ย 3% 

 

ดังนั้น การพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลและหากนำเข้าจากประเทศผู้ผลิตจากตะวันออกกลางที่มากเกินไป อาจกำลังเพิ่มความเสี่ยงต่อความมั่นคงด้านพลังงานอาเซียน และท้ายที่สุดก็จะส่งผลต่อค่าครองชีพประชาชนหรือไม่ เนื่องจากไม่อาจคาดเดาความผันผวนของราคาพลังงานที่เกิดขึ้นจากตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นผู้ควบคุมตลาดได้

 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาแต่ละประเทศต่างเผชิญวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของโรคโควิด โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยิ่งสะท้อนชัดเจนว่าวิกฤตดังกล่าวทำให้ราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ และราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในรอบกว่าทศวรรษ

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 


 

เช่นเดียวกับสงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่กำลังปะทุในขณะนี้ ก็ยังทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นถึง 6% ซึ่งสถานการณ์ยังคงตึงเครียด ภายหลังมีการโจมตีทางอากาศ ทางทะเล และทางบก 

 

อาเซียน ขึ้นแท่นตลาดที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก

 

น่าสนใจว่าเมื่ออาเซียนกำลังเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในโลก หากพึ่งพาเชื้อเพลิงตะวันออกกลางมากเกินไปอาจไม่เป็นผลดีมากนัก และปัจจัยส่วนหนึ่ง อาเซียนเองก็มีความสามารถทางการเงินแตกต่างจากยุโรป ที่ไม่สามารถเสนอราคาก๊าซให้สูงมากไปกว่านี้ได้

 

“เมื่อเศรษฐกิจโต ความต้องการพลังงานก็เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงความเสี่ยงด้านพลังงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจกำลังกดดันให้ภูมิภาคนี้ต้องหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจังเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน”

 

นอกจากนี้ ศูนย์พลังงานอาเซียนประเมินอีกว่า หากประเทศในภูมิภาคอาเซียนไม่แสวงหาแหล่งพลังงานที่มีอยู่ หรือเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการผลิตเป็นของตัวเอง ภูมิภาคนี้จะกลายเป็นตลาดผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติ (LNG) ที่ใหญ่ที่สุดในโลกภายในระยะเวลา 2 ปี หรือปี 2568 รวมถึงมีการใช้ถ่านหินมากสุดในปี 2582  

 

ซึ่งคาดการณ์ว่าราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลจะยิ่งแข่งขันสูงขึ้น ท้ายที่สุดจะยิ่งสะท้อนไปถึงค่าครองชีพของผู้บริโภคยิ่งสูงและตึงเครียดมากขึ้นไปอีกด้วย 

 

ส่องนโยบายพลังงานหมุนเวียนเพื่อนบ้าน 

 

สำหรับเวียดนาม เมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลประกาศแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าฉบับที่ 8  (PDP8) โดยมุ่งไปที่การเพิ่มพลังงานลม แสงอาทิตย์ และก๊าซธรรมชาติ โดยต้องมีสัดส่วนการใช้อย่างน้อย 31% ของความต้องการพลังงานของประเทศภายในปี 2573 ในขณะเดียวกันก็ลดการพึ่งพาถ่านหินลงด้วย

 

สิงคโปร์

 

หลังจากเปิดแผนพิมพ์เขียวปี 2566 รัฐบาลมุ่งผลักดันพลังงานหมุนเวียนเช่นเดียวกัน โดยตั้งเป้าเพิ่มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้ได้อย่างน้อย 2 กิกะวัตต์ภายในปี 2573 ซึ่งจะตอบสนองความต้องการไฟฟ้าประมาณ 3% ของความต้องการไฟฟ้า จากปัจจุบันมากกว่า 95% ของไฟฟ้าในสิงคโปร์ เป็นการผลิตจากก๊าซธรรมชาติ  

 

“แม้สิงคโปร์มีข้อจำกัดเรื่องที่ตั้ง ภูมิศาสตร์ แต่รัฐบาลก็ผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียนในทุกๆ มาตรการ เช่น ติดโซลาร์รูฟ รวมถึงนำเข้าไฟฟ้าและไฮโดรเจนจากเพื่อนบ้านเพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล”

 

นอกจากนี้ เมื่อเร็วๆ นี้สิงคโปร์นำเข้าพลังงานหมุนเวียนจาก สปป.ลาว 100 เมกะวัตต์ ผ่านประเทศไทยและมาเลเซีย ถือเป็นการนำเข้าพลังงานหมุนเวียนครั้งแรกของสิงคโปร์ รวมไปถึงซื้อขายไฟฟ้าข้ามพรมแดนแบบพหุภาคีครั้งแรกกับสมาชิกชาติอาเซียน 

 

ฟิลิปปินส์

 

ปีที่ผ่านมาฟิลิปปินส์ยกเลิกข้อกำหนดผู้ถือครองในแหล่งพลังงานหมุนเวียนบางประเภท โดยอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ลม พลังน้ำ หรือพลังงานในมหาสมุทรได้อย่างเต็มที่ 

 

เนื่องจากฟิลิปปินส์มองว่า การที่ต่างชาติเป็นเจ้าของจะสามารถอำนวยความสะดวกต่อการผลิตพลังงานลมที่มีศักยภาพในการติดตั้งนอกชายฝั่งได้ 21 กิกะวัตต์ภายในปี 2583 เพราะที่ผ่านมาฟิลิปปินส์พึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างมาก ทำให้เกิดความเสี่ยงจากข้อจำกัดด้านอุปทานและราคาที่สูงขึ้นและไม่สามารถควบคุมได้

 

อินโดนีเซีย

 

อินโดนีเซียเริ่มผ่อนคลายข้อจำกัดการเป็นเจ้าของของต่างชาติเพื่อสร้างแรงผลักดันในการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนเช่นกัน ซึ่งอนุญาตให้ชาวต่างชาติเป็นเจ้าของโครงการสายส่งไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายไฟฟ้าและผลิตไฟฟ้า (ที่มีกำลังการผลิตมากกว่า 1 เมกะวัตต์) ได้ 100% 

 

ในส่วนนี้อินโดนีเซียมองว่าหากมีการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะมีโครงการพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นในภูมิภาค และสามารถลดความเสี่ยงความมั่นคงภาคพลังงานในประเทศอีกทางด้วย

 

สำหรับประเทศไทย ตามที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้แถลงต่อรัฐสภาล่าสุดนั้น นอกจากนโยบายเร่งด่วนลดภาระค่าใช้ค่าไฟฟ้าและน้ำมัน รัฐบาลจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ โดยส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน

 

ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเร่งเจรจาการใช้พลังงานในพื้นที่อ้างสิทธิกับประเทศข้างเคียงและสำรวจแหล่งพลังงานเพิ่มเติม และจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ ภายใต้กลไกตลาดต่อไปด้วย

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising