×

‘เติมน้ำมันช่วงเช้าได้ปริมาณมากกว่าเวลาอื่นจริงหรือ?’ นี่คือ 5 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับน้ำมันรถที่ควรรู้

15.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • การเติมน้ำมันช่วงเช้า จริงๆ แล้วไม่ได้ได้ปริมาณมากกว่าช่วงเวลาอื่น
  • จริงอยู่ที่ว่าน้ำมันเกรดพรีเมียมนั้นเผาไหม้ได้ยากกว่า ส่งผลดีต่อสมรรถนะของเครื่องยนต์ แต่ไม่ได้ก่อประโยชน์แก่การขับขี่ในชีวิตประจำวันเท่าไรนัก

     เชื่อไหมว่ากว่า 60% ของผู้ขับขี่บนท้องถนนในปัจจุบันขับรถเป็นอย่างเดียว และรู้เรื่องเกี่ยวกับเครื่องยนต์น้อยมาก (เสียงสูง) และมีเพียงหนึ่งในสามของส่วนที่เหลือเท่านั้นที่รู้เรื่องและรักษาเครื่องยนต์เป็นอย่างจริงจัง บางทีคุณอาจเคยได้ยินว่า ‘การเติมน้ำมันในตอนเช้าคุ้มและได้ปริมาณมากกว่า’ หรือแม้กระทั่ง ‘เติมน้ำมันที่ใช้กับเครื่องบินแล้วรถจะวิ่งไวขึ้น’ แต่เคยสงสัยไหมว่าสิ่งเหล่านั้นถูกต้องแล้วจริงหรือ?

     คอลลิน ฮาร์ดิง (Collin Harding) วิศวกรอาวุโสจาก Ford แบรนด์รถยนต์ชั้นนำระดับโลกผู้ออกแบบแผงหน้าปัดจากมิเตอร์วัดความเร็วรถ ทั้งยังเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเลขไมล์รถยนต์มือหนึ่ง หลังจากการศึกษาและทำงานหนักอย่างยาวนาน ฮาร์ดิงได้พบว่ามีหลายความเชื่อเกี่ยวกับน้ำมันรถที่คนยังเข้าใจผิด โดยเขาบอกว่าหลักๆ มีอยู่ 5 ประการ 

 

 

1. เติมน้ำมันช่วงเช้าได้ปริมาณมากกว่า

     เคยสังเกตไหมว่าในช่วงเช้า ตามปั๊มน้ำมันจะมีรถหนาแน่นเป็นพิเศษ เบื้องหลังของความเชื่อนี้มาจากทฤษฎีที่ว่า ‘น้ำมันขยายตัวเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น’ มนุษย์นักขับทั้งหลายจึงพากันไปเติมน้ำมันยามเช้า เพราะเชื่อว่าอุณหภูมิต่ำๆ ในช่วงเช้าจะทำให้ได้น้ำมันในถังมากกว่าช่วงเวลาอื่น ซึ่งความจริงแล้วผิด! เติมเวลาไหนก็เหมือนกัน เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะถังกักเก็บน้ำมันอยู่ใต้ดินในอุณหภูมิต่ำ ดังนั้นการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอุณหภูมิในแต่ช่วงเวลาของวันไม่อาจส่งผลต่อปริมาณน้ำมัน เติมเวลาไหนก็ได้เท่ากันทุกช่วงเวลา

 

 

2. การปล่อยให้น้ำมันในถังเหลือน้อยจะส่งผลเสียต่อเครื่องยนต์

     คนส่วนใหญ่เชื่อว่าที่ก้นถังน้ำมันมักมีตะกอนน้ำมันอยู่เพียบ ฉะนั้นเมื่อสตาร์ทรถหรือขับขี่ในช่วงเวลาที่ถังน้ำมันเหลือน้อย เครื่องยนต์จะสูบเอา ‘ขยะ’ และตะกอนจากด้านล่างขึ้นมาใช้ในการเผาไหม้ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องยนต์ในระยะยาว

     ทว่าในความเป็นจริง ท่อจ่ายน้ำมันในทุกบริษัทจะติดตั้งอยู่บริเวณด้านล่างของตัวถัง นั่นหมายความว่าท่อจ่ายสามารถดึงน้ำมันจากก้นถังมาใช้ได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว ไม่ว่าน้ำมันจะเหลือน้อยแค่ไหนก็ตาม

 

 

3. น้ำมันเกรดพรีเมียมช่วยให้รถยนต์ธรรมดามีประสิทธิภาพดีขึ้น

     ทุกครั้งที่แวะจอดปั๊มน้ำมัน เรามักเจอคำโฆษณาชวนเชื่อของประเภทน้ำมันรถและน้ำมันหล่อลื่นต่างๆ มากมายจนคุณต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินให้กับสิ่งเหล่านี้ โดยเฉพาะน้ำมันเกรดพรีเมียมที่ช่วยให้รถยนต์มีประสิทธิภาพดี กรณีนี้ฮาร์ดิงบอกกับเราว่า ‘ไม่จำเป็นเลย’

     จริงอยู่ที่ว่าน้ำมันเกรดพรีเมียมนั้นเผาไหม้ได้ยากกว่าและส่งผลดีต่อสมรรถนะของเครื่องยนต์ แต่ไม่ได้ก่อประโยชน์แก่การขับขี่ในชีวิตประจำวันเท่าไรนัก เนื่องจากน้ำมันทุกชนิดต่างต้องมีมาตรฐานระดับเดียวกัน

 

 

4. มาตรวัดอัตราสิ้นเปลืองในรถบอกค่าไม่ตรงกับความจริง

     เรื่องนี้ไม่จริงเสียทีเดียว แม้ว่าเกจวัดน้ำมันจะบอกผู้ขับขี่ถึงปริมาณน้ำมันที่เหลืออยู่ในถัง แต่มาตรวัดอัตราสิ้นเปลืองคำนวณค่าจากรูปแบบการขับขี่ในระยะยาว

     ยกตัวอย่างเช่น หากคุณขับรถบนทางด่วนเป็นเวลา 2 ชั่วโมง โดยใช้น้ำมัน 6 ลิตรต่อระยะทาง 100 กิโลเมตร และออกจากทางด่วนมุ่งเข้าสู่เมืองโดยใช้น้ำมัน 12 ลิตรต่อระยะทาง 100 กิโลเมตร แผงหน้าปัดจะใช้เวลาเล็กน้อยในการปรับสู่สภาพการขับขี่ใหม่ ดังนั้นในช่วงที่ระบบกำลังปรับสภาพอาจทำให้มีการอ่านระยะทางผิดพลาดชั่วคราว เช่น ขับจริง 1 กิโลเมตร แต่ระบบจะแสดงระยะทางเกินกว่านั้น เป็นต้น

 

 

5. น้ำมันเครื่องบินช่วยให้รถวิ่งได้ไวขึ้น

     ไม่รู้ความเชื่อนี้เกิดขึ้นจากใครเป็นคนแรก แต่ฮาร์ดิงแจงว่าไม่มีทางเป็นอย่างนั้นแน่นอน… เครื่องยนต์ทั่วไปไม่สามารถเผาไหม้น้ำมันก๊าดซึ่งเป็นเชื้อเพลิงเครื่องบินได้ ดังนั้นหากคุณคิดจะลอง ขอให้หยุดความคิดนั้นไว้ แล้วหันกลับไปใช้น้ำมันรถปกติก่อนที่จะต้องเสียเงินและเสียเวลาโดยใช่เหตุ แถมอาจต้องเสียอารมณ์เพราะรถสุดที่รักเสียอีกต่างหาก

 

     ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าความเชื่อเหล่านี้มาจากไหน และทำไมความเชื่อผิดๆ เหล่านี้จึงกระจายในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม รถยนต์ในปัจจุบันได้รับการออกแบบมาอย่างแม่นยำเพื่อมอบประสบการณ์การขับขี่พร้อมประสิทธิภาพการประหยัดน้ำมันแข่งกันอยู่แล้ว หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับการใช้น้ำมันรถไม่ว่ายี่ห้อไหน THE STANDARD ขอแนะนำให้ปรึกษาผู้แทนจำหน่าย หรือไปที่ศูนย์บริการที่ได้รับอนุญาตจะดีที่สุด

 

ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X