ทุกวันนี้ยังมีคนคิดว่าชาวนาคือสัญลักษณ์ของคนจนที่รอพึ่งพาแต่ความช่วยเหลือจากภาครัฐ แม้จะเป็นมุมมองที่มีอคติ แต่ก็ต้องยอมรับว่าชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาไทยยังคงยากลำบากจริงๆ และห่างจากวันที่จะได้ลืมตาอ้าปากอยู่ไกลโข
กระนั้นภาคการเกษตรก็ไม่เคยห่างไกลไปจากชีวิตของเราเลย
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พบว่าเริ่มมีคนหนุ่มสาวหันมาทำเกษตรกรรมมากยิ่งขึ้น เป็นชาวไร่ชาวนา เป็นนายทุนให้กับเกษตรกร บ้างก็อยากหลีกหนีจากชีวิตที่วุ่นวายของโลกทุนนิยมในเมือง บ้างก็มองว่าการเพาะปลูกในยุคนี้เป็นเรื่องเท่ของคนมีความคิดและได้ใช้ชีวิต Slow Life
แต่ไม่ใช่กับ วาว-ศุภิสรา อารยะพงษ์ เจ้าของเพจ FarmerDo ชาวนารุ่นใหม่ที่มีแพสชันในผืนดิน พันธุ์ข้าว และเชื่อในศักยภาพชาวนาไทย
และนี่คือสิ่งที่เธอเล่าให้สำนักข่าว THE STANDARD ฟัง
เริ่มต้นจากความสงสัย จนเข้าใจวิถีของชาวนา
ที่งาน AIS D.C. Talk: Transforming to the Future #5 วาวเล่าเรื่องราวของเธอได้อย่างน่าสนใจ จากเด็กสาวที่ใช้ชีวิตในเมือง เศรษฐศาสตร์บัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาบัณฑิตจากสวีเดน สู่การเป็นชาวนาหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน ทั้งที่เธอไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับเกษตรกรรมเลย
“ตอนที่เรียนปริญญาโทที่สวีเดน วาวเรียนด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ตอนนั้นเจองานวิจัยชิ้นหนึ่งเป็นของธนาคารโลก ที่ให้ทุนกับมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ไปศึกษาการปลูกข้าวในเอเชียเมื่อ 40 ปีก่อน เป็นช่วงที่ทั่วโลกกังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) กลัวว่าอาหารจะหมดโลกไม่พอกับประชากรที่เพิ่มอย่างรวดเร็ว
“ตอนนั้นประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกข้าวมากที่สุด แต่ผลงานวิจัยชิ้นนั้นกลับกลายเป็นว่าเราเป็นประเทศเดียวที่ล้มเหลวในการทดลอง
“พอเราอ่านวิธีการทดลอง เรารู้สึกว่ามันไม่มีทางที่จะล้มเหลว มันเป็นที่การทำนาดำในบ้านเรา ก็เลยอีเมลไปหาอาจารย์ที่เป็นเจ้าของการศึกษาว่า ทำไมมันถึงเป็นแบบนั้น จึงรู้ว่าปัญหาหลักคือการสื่อสาร คณะทำงานเป็นชาวต่างชาติที่มาทำงานกับชาวนาไทย ทำให้มีการไม่เข้าใจกันในเรื่องของภาษา จึงทำให้ไม่ได้ผลผลิตที่ต้องการ และมีปัจจัยรอบด้านอีกหลายๆ อย่างด้วย เราก็เลยบอกอาจารย์ไปว่า เราจะพิสูจน์ว่ามันทำได้จริงๆ” เธอเล่า
แม้จะมีแรงบันดาลใจที่เข้มแข็ง แต่ก็ใช่ว่าเส้นทางสายเกษตรของเธอจะราบรื่น เมื่อบอกกับครอบครัว ทุกคนคิดว่าเธอบ้าไปแล้ว
“ที่บ้านไม่สนับสนุนค่ะ คิดว่าเราบ้า ตอนแรกเขานึกว่าเราอยากไปขายข้าวเป็น trader เขาก็บอกให้ไปคุยกับญาติที่ทำโรงสีอยู่สุรินทร์ เราบอกว่าไม่ใช่ เราอยากทำนา เขาก็บอกว่าลองปลูกที่บ้านไหม เราก็บอกว่าไม่ได้ อย่างในงานวิจัย เราปลูกในห้องทดลองผิดพลาดแค่ 5-10% แต่พอลงแปลงจริงผิดพลาดเยอะมาก จึงต้องทำจริง”
เมื่อไม่ได้รับการสนับสนุน เธอจึงเริ่มต้นชีวิตเกษตรกรด้วยการกู้เงินมาทำนา เริ่มต้นจากภาระหนี้เหมือนที่ชาวนาทุกวันนี้ทำ เพื่อพิสูจน์ว่าแนวทางที่เธอเชื่อจะเปลี่ยนชีวิตชาวนาได้จริงหรือไม่
เธอใช้วิธีเข้าไปอยู่ในเครือข่ายของชาวนา และพบว่ามีคนที่นำแนวคิดของทีมวิจัยจากคอร์เนลล์มาทำต่อและประสบความสำเร็จ จากนั้นก็รวมกลุ่มกันเกิดเป็นเครือข่ายที่เธอได้พบกับคนที่สนใจเหมือนกัน และโชคดีที่มีคนยกที่ดินให้เธอทำมาไร่หนึ่งไปปลูกข้าวในที่สุด
“เราทำตั้งแต่คัดเมล็ดพันธุ์ไปจนถึงเพาะปลูก ทำเองตั้งแต่ต้นจนจบ สำหรับชาวนาหรือเกษตรกร ถ้าเราไปสอนพวกเขาเลย เขาไม่ฟังหรอก วิธีที่เราทำคือ เราทำให้เขาเห็น ช่วงแรกอาจจะมีแรงต้าน ไม่มีใครมาช่วย ครอบครัวก็ไม่สนับสนุน เพื่อนฝูงก็ไม่ได้บอกใคร ชาวนาในพื้นที่ก็จะคิดว่าเราแปลก เป็นใครก็ไม่รู้ หน้าหมวยๆ แล้วยังมาทำนา ระหว่างที่ทำเราก็จะให้พวกเขามาช่วยดู ช่วยเสนอไอเดียให้เราฟัง มามีส่วนร่วมกับเรา
“ซึ่งเทคนิคคือให้เขามาร่วมเห็นความสำเร็จของเรา เป็นช่วงการเก็บเกี่ยว เขาจะมาเห็นว่าผลผลิตที่มันได้มันดี น้ำหนักได้เยอะ กอมันใหญ่จริงๆ พวกเขาก็จะรู้สึกว่าวิธีมันดี แล้วก็จะเป็นฝ่ายเดินเข้ามาหาเราเอง บอกกับเราว่าเขาอยากจะทำแบบนี้บ้าง”
หลังจากที่ได้รับการยอมรับจากพี่น้องชาวนาแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการหาคำตอบที่ว่า ทำไมชาวนาถึงยังจน?
“ชาวนาไทยมีศักยภาพมาก พวกเขาเองก็พร้อมที่จะเปลี่ยน แต่สิ่งที่ทำให้ยังเปลี่ยนไม่ได้มีหลายปัจจัยมาก ทั้งปัจจัยภายในเรื่องหนี้สิน ที่ดินทำกิน ภาระครอบครัว หรือปัจจัยภายนอกอย่างดินฟ้าอากาศ กลไกการตลาด บางทีก็ถูกแทรกแซงทางราคาและปริมาณการผลิต การทำการเกษตรมันมีปัจจัยแวดล้อมหลายๆ อย่าง เริ่มตั้งแต่ผลิตจนขาย เพราะฉะนั้นความผันผวนพวกนี้จะทำให้เกษตรยังคงตกอยู่ในวังวนนั้น
“ประเทศเราส่วนใหญ่มักจะปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งเสี่ยงมาก ถ้ามันพังคือพังหมดเลย ปลูกพืชเชิงเดี่ยวแล้วยังปลูกพันธุ์เดียวอีก ควรจะปลูกหลายๆ อย่าง หลายๆ พันธุ์ยังจะดีกว่า”
ความจริงที่วาวค้นพบคือ พ่อค้าคนกลางไม่ได้เป็นตัวร้ายเหมือนอย่างที่เราเข้าใจเหมือนที่พบเห็นในแบบเรียนว่า คนกลาง (Middle Man) คือปีศาจที่กดราคาและขูดรีดเกษตรกร
“แต่ก่อนเราจะมองว่าพ่อค้าคนกลางคือคนเลว ที่ผ่านมาก็มักจะเอาเปรียบจริงๆ ก็เลยมีภาพลักษณ์แบบนั้นมาตลอด แต่ภายใน 2 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีผู้ค้าที่ดี (Fair Trader) เยอะขึ้น เข้ามาช่วยทำตลาดโดยใช้สิ่งที่ถนัดมาช่วยภาคการเกษตร บางคนเป็นวิศวกร เขาก็พัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมาเพื่อให้เกษตรกรสามารถสื่อถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น
“เราคิดว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันในวงจรการทำงานอยู่แล้ว มันไม่ใช่การดึงคนใดคนหนึ่งออกไป อย่างกระแสที่ว่าให้ตัดพ่อค้าคนกลางออกไปเลย แล้วให้ชาวนาปลูกข้าวขายเอง ถ้าคนที่ทำเองจริงๆ จะรู้ว่ามันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น ในกระบวนการมันมีค่าสีข้าว ค่าบรรจุ ค่าเดินทางเพื่อนำมาขาย อะไรอย่างนี้ ซึ่งมันก็ไม่คุ้มแล้วที่ชาวนาจะทำเอง มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น”
เหมือนกับการเรียนรู้ใดๆ ในโลก หากต้องการรู้ลึกถึงแก่นแท้ ผู้เรียนต้องลงมือทำจึงจะเห็นความจริงที่ครบมุมด้วยตัวเอง และยิ่งทำให้เธอมุ่งมั่นในการเป็นเกษตรกรมากกว่าเดิม
เกษตรกรรมคือคำตอบ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่ท้าทาย
“การเกษตรเป็นทั้งเรื่องของอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพราะว่าอาหารเป็นสิ่งที่ยังไงคนก็ต้องบริโภคอยู่แล้ว ประชากรโลกก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ การเกษตรในอนาคตไม่ใช่แค่เรื่องความมั่นคงทางอาหาร แต่เป็นอาหารที่มีประโยชน์และปลอดภัยต่อทั้งคนบริโภค ผู้ผลิต และสิ่งแวดล้อมโดยรวมด้วย”
วาวยังมองกระแสที่ตอนนี้ผู้คนในเมืองอยากกลับสู่ธรรมชาติ ละจากวิถีชีวิตที่ยุ่งเหยิงสู่ผืนไร่ท้องนา กระนั้น เธอก็ไม่เห็นด้วยที่ทุกคนจะหันมาเป็นเกษตรกรกันหมดประเทศ
“เรามองว่าตอนนี้มันเกิดกระแส ทุกคนอยากอยู่บ้านดิน ปลูกผัก ปลูกหญ้า ทำการเกษตร มันทำให้คนในสังคมมองภาคเกษตรมีความสำคัญมากขึ้น แต่เราอาจไม่รู้จริงๆ ว่าควรจะเป็นในทิศทางไหน เราไม่แนะนำให้ใครลาออกแล้วไปทำภาคการเกษตร คุณต้องถามตัวเองก่อนว่าสิ่งที่คุณทำ คุณต้องการอะไรกันแน่
“คุณอยากจะใช้ชีวิตแบบนั้น (วิถีเกษตร) อยากจะกลับไปพัฒนาบ้านเกิด ชุมชนของคุณ แล้วในความจริงคุณทำอะไรได้บ้าง ทุกคนไม่จำเป็นต้องไปทำการเกษตรหรอก คุณอาจจะเป็นหมอ เป็นวิศวกร เป็นครู เป็นพนักงานออฟฟิศที่ทำประโยชน์ให้ส่วนรวมได้ด้วยหน้าที่การงานของคุณ หรือคุณอาจช่วยชาวนาได้ผ่านช่องทางอื่นโดยไม่ต้องลาออกมาทำนาเองจริงๆ”
สิ่งที่เธอกังวลคือ แรงงานในภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลง และถึงเวลาที่เกษตรกรต้องปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงได้แล้ว
“เราเชื่อว่าไม่เกิน 2 ปี แรงงานภาคเกษตรจะน้อยลง ต้องใช้เครื่องจักรมากขึ้น นี่คือการเปลี่ยนผ่านด้านการผลิต ส่วนการเปลี่ยนผ่านด้านที่สองคือด้านข้อมูลข่าวสาร ทั้งเรื่องการผลิต การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ ก็เริ่มมีเยอะมากขึ้น จะมีข้อมูลด้านสื่อทั้งฝั่งผู้บริโภคเข้ามาเชื่อมโยงด้วย
“เพราะฉะนั้นเราหนีเทคโนโลยีไม่พ้นหรอก เพียงแต่ว่าเราต้องตามมันให้ทัน แล้วก็พยายามใช้ให้มันเกิดประโยชน์มากที่สุด”
ก้าวต่อไปของชาวนาที่ชื่อ วาว ศุภิสรา อาจจะไม่ได้ไกลไปกว่าจุดที่เธอยืนอยู่ในปัจจุบันเลย สิ่งที่สำคัญยังเป็นการส่งต่อองค์ความรู้และแรงบันดาลใจไปให้คนอื่นๆ เหมือนที่ตั้งใจ
“มีคนถามเราเยอะมากว่าทำไมไม่คิดขยายที่นาออกไป เราบอกว่าเราไม่อยากขยาย เพราะเราจะควบคุมไม่ไหว ดูแลไม่ไหว มันเหนื่อยนะ แต่ถ้าคุณอยากให้เราช่วยในชุมชนคุณ เรายินดี หรือถ้าคุณจะเอาโมเดลของเราไปใช้ เราก็ยินดี มีคนถามเหมือนกันว่าโมเดลของเราจดลิขสิทธิ์ไหม เราบอกไม่มี เพราะจริงๆ มันก็ไม่ใช่ของเรา มันเป็นของทีมที่เขาเคยศึกษามาก่อนแล้วต่างหาก
ทุกครั้งเวลาเราบรรยายหรือไปพูดที่ไหน เราไม่อยากแค่ให้มันเป็นแรงบันดาลใจ หรือให้มองว่า ดีจัง จบปริญญาโท 2 ใบยังออกมาทำนา เราไม่ได้อยากให้มองแค่นั้น เราเริ่มด้วยแพสชันไง มันจึงไม่ใช่ความเหนื่อย แต่มันเป็นความท้าทาย”
เธอเล่าทิ้งท้ายให้ THE STANDARD ฟังว่า หลังจากที่เธอเริ่มทำและปลูกข้าวเองได้เกือบ 2 ปี เธอเก็บข้อมูล สรุปผลการศึกษาแล้วส่งไปให้คณะทำงานที่ศึกษาเรื่องการปลูกข้าวเมื่อกว่า 40 ปีก่อน ซึ่งเป็นตัวจุดประกายให้กับวิถีชาวนาของเธอได้ดู
ไม่นานจากนั้น ศาสตราจารย์เจ้าของผลงานจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์เดินทางมาที่ประเทศไทยเพื่อพบเธอ วาวพาเขาไปดูผลงานบนผืนนาไทย ผืนดินที่เริ่มจากแรงปรารถนาอันแรงกล้าของเด็กสาวคนหนึ่งสู่เมล็ดพันธุ์ของรวงข้าวจากสองมือของเธอเอง
และเธอพิสูจน์แล้วว่ามันทำได้จริง