×

ครบรอบ 12 ปี โศกนาฏกรรมเวย์ลันด์ท สังเวยชีพระหว่างแข่งจิโร

11.05.2023
  • LOADING...
Giro d'Italia

ระหว่างที่ทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังมีมหกรรมกีฬาอย่างซีเกมส์ให้ลุ้นกันทุกวัน ทางสหรัฐอเมริกาก็มีบาสเกตบอล NBA เพลย์ออฟแข่งกันทุกวัน ข้ามไปยังยุโรปตอนนี้มีหนึ่งในรายการแข่งจักรยานใหญ่สุดของซีซัน นั่นคือ จิโร ดิ ตาเลีย

 

กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา หน้าเพจของทีมจักรยาน Trek-Segafredo ขึ้นรูปของ วูเตอร์ เวย์ลันด์ท พร้อมหมายเลข 108 ทำให้ความทรงจำของผมนึกย้อนกลับไปเมื่อ 12 ปีที่แล้ว

 

เช้าวันที่ 9 พฤษภาคม 2011 ท้องฟ้าปลอดโปร่ง นักปั่นอาชีพร่วม 150 รายกำลังขับเคี่ยวในสเตจ 3 รายการจิโร ดิ ตาเลีย ครั้งที่ 94 ตรงกับวาระการเป็นชาติอิตาลี ปีที่ 150

 

จุดสตาร์ทเริ่มกันที่ เรจโจ เอมีเลีย เมืองซึ่งให้กำเนิดธงชาติอิตาลี หลังจากสู้กันมาได้ 3 ชั่วโมงกว่า พวกเขาอยู่ในช่วงทางลงจากช่องเขาปาสโซ เดล บอกโค ซึ่งสูงร่วมพันเมตร

 

Giro d'Italia

 

สำหรับคนที่เคยดูการแข่งจักรยานคงน่าจะรู้ว่าเอกลักษณ์ของรายการจิโรก็คือทางลงเขาที่เสี่ยงอันตราย นักปั่นบ้าเลือดหลายคนพลิกสถานการณ์จากทางแบบนี้

 

ทางลงปาสโซ เดล บอกโค ต้องอาศัยเทคนิคชั้นสูง แล้วจู่ๆ ภาพจากเฮลิคอปเตอร์ก็ซูมลงไปเห็นร่างของนักปั่นรายหนึ่งกระเด็นออกจากจักรยาน นอนไม่ไหวติงอยู่บนพื้นถนน

 

เวย์ลันด์ท ชาวเบลเยียม อายุเพิ่ง 26 ปี จมกองเลือดขณะที่ยังสวมหมวกกันน็อก ห่างจากเส้นชัย 17 กิโลเมตร

 

ฝ่ายดูแลออกอากาศวันนั้นรีบเปลี่ยนไปยังกล้องตัวอื่นโดยทันที เพื่อตามกลุ่มเบรกอเวย์ การแข่งยังดำเนินต่อไป ไม่มีใครทราบว่าได้เกิดความสูญเสียอย่างน่าเศร้ากับเพื่อนร่วมอาชีพ ทั้งแพทย์ประจำการแข่งกับหน่วยปฐมพยาบาลเข้าถึงตัวนักปั่นจากทีมลีโอพาร์ด เทรค ในเวลารวดเร็ว โดยไม่มีภาพออกอากาศอย่างที่เข้าใจได้

 

อังเค่ล วิซิอิโซ่ สปริ้นเตอร์สแปนิช สยบคู่แข่งอีก 4 รายตรงหน้าเส้น เป็นผู้ชนะในวันนั้น   

 

กลุ่มเปโลตอนก็ตามมาในเวลาไม่นาน

 

เฮลิคอปเตอร์ได้ขนร่างเวย์ลันด์ทไปสู่โรงพยาบาลใกล้เคียง ข่าวลือน่าเศร้าเริ่มกระจายไปทั่ว จนทำให้ประเพณีขึ้นฉลองชัยบนโพเดียมต้องถูกยกเลิก

 

เพียง 1 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ ข่าวลือได้รับการยืนยัน เวย์ลันด์ทเสียชีวิตแล้ว ด้วยอาการบาดเจ็บทางสมองอย่างรุนแรง ก่อนที่หมอจะเข้าถึงตัวด้วยซ้ำ

           

จากปากคำของ มานูเอล อันโตนิโอ คาร์โดโซ่ นักปั่นเรดิโอแช็ค ซึ่งตามหลังเวย์ลันด์ทขณะใช้ความเร็วไล่กลุ่มที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บอกว่าเวย์ลันด์ทเหลียวมาทางซ้ายมองคู่แข่ง แล้วเส้นทางเทซ้ายพอดี ทำให้เขาเสียหลักชนกระแทกรั้วริมทาง กระดอนไปอีกฝั่งถนนอย่างแรง

           

ด็อกเตอร์จิโอวานนี่ เทรดิชี่ หัวหน้าทีมแพทย์ประจำการแข่ง อยู่ในรถเซอร์วิส ไปถึงตัวเวย์ลันด์ทไม่ถึง 20 วินาที “เขาเสียชีวิตแล้ว ฐานของกะโหลกศีรษะแตกและมีบาดแผลใหญ่ที่ใบหน้า ผมไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน คือเสียชีวิตทันที”

 

หมออีกคนจากทีมการ์มิน และรถพยาบาลตามมาช่วย ทั้งเอาเลือดออกจากปอด ใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ และฉีดอะดรีนาลีนกับอะโทรปีนเข้าไป เพื่อทำให้หลอดลมคลายตัว ขยายรูม่านตา และลดสารคัดหลั่งต่างๆ ของร่างกาย พยายามกู้ชีพของเขาอยู่เป็น 40 นาที แต่ก็ไม่สำเร็จ เทรดิชี่วินิจฉัยว่า ถ้าเวย์ลันด์ทไม่เสียชีวิตก็ต้องตัดขาซ้ายทิ้ง เพราะบาดแผลรุนแรงมาก

 

Giro d'Italia

 

ทายเลอร์ ฟาร์ราร์ เพื่อนสนิทซึ่งซ้อมด้วยกันจากทีมการ์มิน ถอนตัวทันทีเมื่อแข่งจบ

 

ลีโอพาร์ด เทรค ประกาศถอนตัวจากการแข่งวันรุ่งขึ้น และฝ่ายจัดการแข่งจิโรให้ยกเลิกเบอร์ 108 ซึ่งเวย์ลันด์ทใส่แข่งวันดังกล่าว จะไม่มีใครได้สวมอีกต่อไป

                       

เวย์ลันด์ทเพิ่งแข่งอาชีพปีที่ 5 เคยชนะสเตจใหญ่ ทั้งจิโร ปี 2010 และทัวร์ออฟสเปน ปี 2008

 

วันนั้น เดวิด มิลล่าร์ นักจักรยานสหราชอาณาจักร เป็นเพียงชาวอังกฤษรายที่ 3 ซึ่งได้สวมเสื้อชมพู หรือเสื้อผู้นำการแข่งจิโร ไม่มีกะจิตกะใจกับเรื่องประวัติศาสตร์

 

“ผมไม่อยากต้องนึกภาพสิ่งที่ครอบครัวของพวกเขาต้องเผชิญ”

 

สื่อถามว่าเหตุดังกล่าวเป็นการสะท้อนว่าวงการจักรยานอันตรายเกินไปหรือไม่?

 

“มันคือหนึ่งในหลายล้านเรื่องที่เราต้องเจอ วงการเราพบกับเรื่องน่าเศร้าหลายครั้งในประวัติศาสตร์ แต่เราก็ยังช่วยผสมเข้าไปกับเรื่องโง่ๆ อีกด้วย”

           

แอน-โซเฟีย ภรรยาของเวย์ลันด์ท ตั้งครรภ์ลูกสาวคนแรกของทั้งคู่ได้ 5 เดือน (อาลิเซ่คลอดเมื่อ 1 กันยายน 2011)

 

ช่วงเวลาดังกล่าววงการจักรยานกำลังอยู่ในช่วงกู้ภาพพจน์คดีสารกระตุ้นจากนักปั่นหลายต่อหลายราย เมื่อมีข่าวนี้ออกมา มันทำให้ทุกคนนึกสะท้อนใจทันทีว่าบรรดาผู้เข้าแข่งต่างทุ่มเทต่อสู้กันถึงขนาดเอาชีวิตเข้าเดิมพัน

           

ใครก็ตามที่จบฤดูกาลโดยไม่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงต้องถือเป็นความโชคดี

 

จังหวะการสปรินต์เข้าเส้นชัยที่ความเร็วร่วม 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ละคนต่างเบียดกระแทกชิงตำแหน่งกันอย่างอลหม่าน ในบางครั้งแม้แต่บนถนนที่เปียกลื่น พวกเขาก็ไม่ได้หวั่นกับอันตราย ทั้งที่ร่างกายมีแค่เสื้อผ้าไลคร่าบางๆ ปกคลุมเอาไว้ พร้อมกับหมวกกันน็อกคาร์บอนใบเดียว

 

ยิ่งทางลงเขาจิโรบางช่วงยิ่งน่ากลัว หลายคนทำความเร็วแตะ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สาดโค้งอย่างท้ามฤตยู

 

2 ปีก่อนเวย์ลันด์ทเสียชีวิต การแข่งสเตจ 8 ของจิโร เส้นทางลงจากซานปิเอโตร ปรากฏว่า เปโดร ฮอร์ริลโล่ จากราโบแบ้งค์ ชนใส่รั้วขอบทางและพลัดตกเหวลึกถึง 60 เมตร

 

กว่าหน่วยปฐมพยาบาลจนลงไปถึงตัวเขาอย่างลำบาก ก็พบว่าฮอร์ริลโล่เจ็บสาหัส กระดูกหน้าแข้งหัก หัวเข่าพัง กระดูกคอแตก ปอดแตก สมองได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง อาการของเขาโคม่าอยู่หลายวัน ต้องนอนโรงพยาบาล 5 สัปดาห์ เมื่อออกมาได้ก็ไม่สามารถแข่งขันจักรยานอาชีพอีกต่อไป

           

อันที่จริงก่อนการแข่งปีนั้นจะเริ่ม อัลเบอร์โต้ คอนตาดอร์ นักปั่นชื่อดังศึกษาเส้นทางจิโรแล้วแสดงความวิตกอย่างมาก โดยเฉพาะทางลงเขาสเตจ 14

 

“ผมไม่รู้ว่าเราจะลงมาได้อย่างไร พวกเขาน่าจะขึงพลาสติกหรือตาข่ายตรงทางโค้งเหมือนการแข่งสกีเอาไว้ เพราะทางลงชันมาก ผมหวังว่าวันนั้นคงไม่เกิดเหตุร้ายขึ้น”

           

สิ่งที่คอนตาดอร์กังวลกลับเกิดขึ้นล่วงหน้าเกือบครึ่งเดือน

 

แม้การบาดเจ็บเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้เข้าแข่งจักรยาน แต่การเสียชีวิตของเวย์ลันด์ทถือว่าเป็นครั้งแรกของรายการจักรยานเมเจอร์ นับจาก ตูร์ เดอ ฟรองซ์ 1995

 

ตอนนั้น ฟาบิโอ คาซาร์เตลญี่ ชาวอิตาลี เพื่อนสนิทของ แลนซ์ อาร์มสตรอง ในทีมโมโตโรลล่า พลาดท่าขณะลงจากเขากอล เดอ ปอร์เตดาสเปต์ ในเทือกเขาปีเรนิส ระหว่างสเตจ 15  

 

Giro d'Italia

 

เขาเสียหลักหัวฟาดบล็อกคอนกรีตข้างทางจนหมดสติ แม้ว่าหมอจะไปถึงที่เกิดเหตุภายใน 10 วินาที และใช้เฮลิคอปเตอร์พาส่งโรงพยาบาล แต่น่าเศร้า คาร์ซาเตลญี่หยุดหายใจ แม้จะพยายามปั๊มชีพจรก็ไม่อาจทำให้เขากลับมาได้ตลอดกาล

                       

ตอนนั้นก็มีการถกเถียงกันแล้วว่าถ้ามีกฎให้นักปั่นสวมหมวกกันน็อกจะช่วยป้องกันเหตุได้

 

แพทย์อาวุโสของตูร์กลับอ้างว่า บริเวณหัวที่กระแทกคอนกรีตไม่ใช้บริเวณที่ใส่หมวกกันน็อกจะป้องกันอยู่ ซึ่งขัดแย้งกับ มิเชล ดิสเทลดอร์ฟ แพทย์ชันสูตรศพของคาร์ซาเตลญี่ยืนยันว่าจุดกระแทกอยู่ด้านบนกะโหลก ซึ่งถ้าสวมหมวกกันน็อกเอาไว้ก็จะช่วยป้องกันระดับหนึ่ง

           

มีการสร้างอนุสรณ์สถานให้คาซาร์เตลญี่ตรงจุดที่เขาเสียชีวิต เป็นรูปนาฬิกาแดด เมื่อแสงตกกระทบจะมีเงาสะท้อนวันที่เขาเกิด เสียชีวิต และวันที่ได้เหรียญทองโอลิมปิก ปี 1992

 

แต่วงการจักรยานกลับยังไม่คงออกกฎบังคับว่านักปั่นต้องใส่หมวกกันน็อก กระทั่ง 8 ปีต่อมา 11 มีนาคม 2003 ใกล้กับเมืองแซงต์ เอเตียง ระหว่างแข่งสเตจ 2 ปารีส-นีซ

 

อันเดร คิวิเลฟ ล้มฟาดพื้นขณะที่ไม่ได้ใช้ความเร็วสูงแต่อย่างใด ราว 35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพราะบริเวณดังกล่าวเป็นเนินชันเล็กน้อย แต่มันคือการล้มลักษณะหัวทิ่มลงพื้น ทำให้กะโหลกของเขาร้าวและสมองบวม

 

Giro d'Italia

 

แพทย์ผ่าตัดตั้งแต่คืนดังกล่าว เพื่อพยายามเอาสมองส่วนที่บวมอันตรายออกมา แต่ก็ไม่สำเร็จ คิวิเลฟเสียชีวิตเช้ารุ่งขึ้น

           

การเสียชีวิตของคิวิเลฟยิ่งน่าสลด เพราะห่างจากบ้านใหม่ตัวเองแถบซอร์กบิเยร์สไม่กี่กิโลเมตร ถนนแถวนั้นเขาก็ซ้อมปั่นมาก่อน

 

นาตาเลีย เมียของเขา กับ ลีโอนาร์ด ลูกชาย กำลังรอคอยอยู่ตรงเส้นชัย หวังจะเห็นคิวิเลฟกลายเป็นผู้ชนะ แต่กลายเป็นว่าทั้งสองคนกลับต้องไปงานศพของเขาซึ่งจัดขึ้นวันที่ 17 มีนาคมแทน

 

หมอประจำทีมโคฟิดิส ต้นสังกัดบอกว่า ถ้าตอนนั้นคิวิเลฟใส่หมวกกันน็อกก็จะป้องกันเอาไว้ได้

 

เพียง 2 เดือน UCI ถึงสำนึกออกกฎบังคับว่านักจักรยานทุกคนต้องใส่หมวกกันน็อกแข่ง

 

คิวิเลฟจากไปขณะวัย 29 ปี ผลงานดีสุดคืออันดับ 4 ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ปี 2001

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising