×

วัคซีน mRNA กับผลข้างเคียงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ น่ากังวลหรือไม่

28.07.2021
  • LOADING...
วัคซีนโควิด-19

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • วัคซีน Pfizer-BioNTech และ Moderna เป็นวัคซีนป้องกันโควิดชนิด mRNA ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไทยให้ใช้ในผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป และ 18 ปีขึ้นไป ตามลำดับ เช่นเดียวกับองค์การอาหารและยา (FDA) สหรัฐอเมริกา
  • เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564 FDA ได้เพิ่มคำเตือนเกี่ยวกับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเส ลงในเอกสารกำกับยา แต่ผลข้างเคียงนี้พบไม่บ่อย โดยพบมากหลังได้รับวัคซีนโดสที่ 2 ในผู้ชายอายุน้อย (12-29 ปี) ด้วยความเสี่ยงประมาณ 40 ราย ต่อ 1 ล้านโดส
  • คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค (ACIP) สหรัฐฯ สรุปว่าการได้รับวัคซีนกลุ่ม mRNA มีประโยชน์ในการป้องกันโรคมากกว่าผลข้างเคียงของวัคซีน ซึ่งรวมถึงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ แต่ยังต้องติดตามผลข้างเคียงนี้ต่อ

ถ้าวัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ เช่น AstraZeneca หรือ Johnson & Johnson มาคู่กับผลข้างเคียงอย่างภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ (TTS) วัคซีนชนิด mRNA เช่น Pfizer-BioNTech หรือ Moderna จะคู่กับโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ กล่าวคือผลข้างเคียงดังกล่าวมีรายงานว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนชนิดนั้นๆ แต่พบไม่บ่อย และประโยชน์ของวัคซีนมีมากกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น

 

วัคซีน Pfizer-BioNTech และ Moderna เป็นวัคซีนป้องกันโควิด ชนิด mRNA ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไทยแล้ว โดยวัคซีน Moderna ได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 ให้ใช้ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป ส่วนวัคซีน Pfizer-BioNTech ได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ให้ใช้ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป

 

เช่นเดียวกับองค์การอาหารและยา (FDA) สหรัฐอเมริกา ที่ขึ้นทะเบียนวัคซีนทั้งคู่มาก่อนหน้านั้น และได้ปรับปรุงเกณฑ์อายุของวัคซีน Pfizer-BioNTech จาก 16 ปี เป็น 12 ปีขึ้นไป หลังจากมีงานวิจัยรองรับประสิทธิภาพและความปลอดภัยในกลุ่มวัยรุ่น และล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน FDA ได้เพิ่มคำเตือนเกี่ยวกับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบลงในเอกสารกำกับยาของวัคซีนทั้งคู่

 

ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบคืออะไร

 

หัวใจมี 4 ห้อง แต่ผนังหัวใจมี 3 ชั้น ได้แก่ ชั้นในเป็นเยื่อบุหัวใจและลิ้นหัวใจ ชั้นกลางเป็นกล้ามเนื้อ และชั้นนอกเป็นเยื่อหุ้มหัวใจ ถ้ามีการอักเสบของผนังหัวใจชั้นกลางเรียกว่า ภาวะ ‘กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ’ (Myocarditis) ส่วนการอักเสบของชั้นนอกเรียกว่า ภาวะ ‘เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ’ (Pericarditis) เกิดจากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส

 

สำหรับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนชนิด mRNA ยังไม่ทราบกลไกแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าเป็นภูมิคุ้มกันของร่างกายที่สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการติดเชื้อหรือกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ

 

อาการของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ได้แก่ 

  • เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก
  • หายใจเหนื่อยหรือเจ็บเวลาหายใจ
  • ใจสั่น
  • เป็นลม

 

การวินิจฉัยภาวะนี้ต้องอาศัยการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับโปรตีนที่จำเพาะกับกล้ามเนื้อหัวใจ การตรวจอัลตราซาวด์หัวใจ (Echocardiogram) หรือการสแกนคลื่นไฟฟ้าแม่เหล็กหัวใจ (cMRI) ร่วมด้วย ส่วนอาการของภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจะมีอาการเจ็บหน้าอกที่มีลักษณะเฉพาะและต้องอาศัยการตรวจร่างกายและการตรวจเพิ่มเติมเช่นกัน

 

ความเสี่ยงของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

 

ถึงแม้ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบพบได้หลังจากฉีดวัคซีน แต่เป็นผลข้างเคียงที่พบไม่บ่อย โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) สหรัฐฯ รายงานว่า พบมากหลังได้รับวัคซีนชนิด mRNA โดสที่ 2 ภายใน 1 สัปดาห์ (ส่วนใหญ่ภายใน 4 วัน) และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง อายุน้อยกว่า 30 ปี ด้วยความเสี่ยงประมาณ 40 รายต่อ 1 ล้านโดส

 

  • ผู้ชาย อายุ 12-29 ปี มีความเสี่ยง 39-47 ราย ต่อการฉีดวัคซีน 1 ล้านโดส
  • ผู้หญิง อายุ 12-29 ปี มีความเสี่ยง 4-5 ราย ต่อการฉีดวัคซีน 1 ล้านโดส
  • ความเสี่ยงจะลดลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น

 

แต่วัยรุ่นและผู้ใหญ่อายุน้อยเป็นกลุ่มที่มีอัตราป่วยสูงที่สุด ดังนั้นการตัดสินใจฉีดวัคซีนของแต่ละคน (ระดับบุคคล) และของรัฐ (ระดับประชากร) จึงต้องชั่งน้ำหนักระหว่าง ‘ความเสี่ยง’ และ ‘ประโยชน์’ ที่จะได้รับจากการฉีดวัคซีน โดยวัคซีนชนิด mRNA มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อ 64-99% ป้องกันอาการป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาล 87-97% และป้องกันสายพันธุ์กลายพันธุ์ได้

 

และยังมีประโยชน์เพิ่มเติมจากการป้องกันภาวะลองโควิด (Long COVID) รวมทั้งกลุ่มอาการอักเสบของอวัยวะหลายระบบในเด็ก (Multisystem Inflammatory Syndrome in Children: MIS-C) ที่อาจเกิดขึ้นหลังการติดเชื้อด้วย ส่วนในระดับประชากร ในสหรัฐฯ ยังไม่มีวัคซีนที่ทดแทนวัคซีนชนิด mRNA การฉีดวัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดการระบาดในชุมชนและการกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

 

วัคซีนโควิด-19

ภาพการเปรียบเทียบระหว่างประโยชน์ (สีน้ำเงิน) จากการป้องกันการนอนโรงพยาบาลด้วยโควิด และความเสี่ยง (สีแดง) จากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในแต่ละกลุ่มอายุ (อ้างอิง: CDC)

 

คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค (ACIP) สหรัฐฯ จึงสรุปว่าการได้รับวัคซีนกลุ่ม mRNA มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงจากผลข้างเคียงในทุกเพศและทุกกลุ่มอายุ แต่ยังคงต้องมีการติดตามผลข้างเคียงของวัคซีนต่อไป สำหรับผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบก่อนการฉีดวัคซีนสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ตามปกติ

 

ในขณะที่คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยของวัคซีน (GACVS) องค์การอนามัยโลกออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 มีความเห็นไปในทางเดียวกัน โดยระบุว่าภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบภายหลังการฉีดวัคซีนชนิด mRNA พบได้ยาก และเป็นอาการเล็กน้อยที่ตอบสนองต่อการรักษาแบบปกติ (เช่น นอนพักหรือยาต้านการอักเสบชนิด NSAIDs)

 

ผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดนี้ควรไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการที่บ่งชี้ว่าเป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เช่น เจ็บหน้าอกที่เกิดขึ้นใหม่และเป็นต่อเนื่อง หายใจลำบาก หรือใจสั่นหลังฉีดวัคซีน ส่วนแพทย์ต้องตระหนักถึงภาวะนี้ โดยเฉพาะในวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่อายุน้อย เพศชาย ผู้ป่วยที่สงสัยควรได้รับการตรวจเพิ่มเติม ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจ และต้องแยกสาเหตุจากโรคติดเชื้อ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising