×

ส่องโครงสร้างประชากรโลกในอีก 3 ทศวรรษข้างหน้า เอเชียใต้จ่อโค่นบังลังก์ เอเชียตะวันออก-อาเซียนมีนัยต่อเศรษฐกิจโลกอย่างไร?

17.03.2023
  • LOADING...

องค์การสหประชาชาติ (UN) คาดการณ์ว่าใน 3 ทศวรรษข้างหน้า โครงสร้างประชากรโลกและแต่ละภูมิภาคจะ ‘แตกต่าง’ จากปัจจุบันอย่างมาก โดยภูมิภาคเอเชียกลางและเอเชียใต้จะกลายเป็นภูมิภาคที่มีประชากรมากที่สุดในโลกภายในปี 2037 แซงหน้าแชมป์ปัจจุบันอย่างเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปได้

 

ขณะที่อินเดียก็คาดว่าจะแซงหน้าจีนขึ้นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกตั้งแต่ปี 2023

 

รายงานใน World Population Prospects 2022 ยังคาดว่าจำนวนประชากรในเอเชียตะวันออก-ตะวันออกเฉียงใต้จะแตะจุดสูงสุดภายในกลางปี 2030 ก่อนจะค่อยๆ ลดลง

 

ขณะที่ยุโรปและอเมริกาเหนือคาดว่าจะมีขนาดประชากรถึงจุดสูงสุดและจะเริ่มประสบกับจำนวนประชากรที่ลดลงตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 2030 เนื่องจากระดับการเจริญพันธุ์ที่ต่ำอย่างต่อเนื่อง

 

สวนทางกับหลายประเทศบริเวณตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา ทวีปแอฟริกา ที่คาดว่าจะมีจำนวนประชากรขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่ 46 ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) ก็กลายเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่มีจำนวนประชากรขยายตัวเร็วที่สุดในโลก โดยคาดว่าจำนวนประชากรจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าระหว่างปี 2022-2050 ท่ามกลางทรัพยากรที่มีจำกัด และก่อให้เกิดความท้าทายต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ด้วย

 

การเปลี่ยนแปลงทางประชากรส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างไร

 

ตามข้อมูลจากรายงานยังระบุว่า ในปี 2020 นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1950 ที่อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรลดลงต่ำกว่า 1% ต่อปี และคาดว่าจะชะลอตัวต่อไปตลอดสิ้นศตวรรษนี้ แม้ว่าจำนวนประชากรโลกอาจเพิ่มขึ้นแตะประมาณ 8.5 พันล้านคนในปี 2030 และแตะเป็น 9.7 พันล้านคนในปี 2050 ก็ตาม

 

อย่างไรก็ตามประมาณการดังกล่าวสะท้อนว่า ยุคของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยประชากรกำลังจะสิ้นสุดลง เพราะประชากรวัยทำงานจะเติบโตช้ากว่าหรืออาจลดลงในประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก

 

การเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ยังมีผลกระทบต่อมิติทางภูมิรัฐศาสตร์ด้วย เนื่องจากประเทศตะวันตกหลายแห่งต่างระแวดระวังอิทธิพลของจีนอยู่แล้ว โดยเฉพาะอิทธิพลทางเศรษฐกิจ 

 

ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงทางประชากรดังกล่าวอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับภูมิภาค ‘ครั้งใหญ่’ ท่ามกลางการเติบโตระดับปานกลางในอเมริกาและโอเชียเนีย และการเติบโตในระดับสูงในเอเชียใต้ เอเชียตะวันตก เอเชียกลาง ตลอดจนส่วนใหญ่ของแอฟริกา

 

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องการปันผลทางประชากร ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อประชากรทำงานมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับจำนวนผู้บริโภคในประเทศ ที่จะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อหัวในประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ แต่จะชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศรายได้สูงและปานกลางต่อนไปทางสูงด้วย

 

จากประมาณการเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความท้าทายที่ประเทศเอเชียตะวันออกไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น หรือจีน รวมไปถึงประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังเผชิญ เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทำให้สัดส่วนกำลังแรงงานที่ภาคผลิตต้องการอาจลดลง ผู้ผลิตต่างๆ อาจหันไปให้ความสนใจกับภูมิภาคที่มีกำลังแรงงานขยายตัวมากขึ้นแทนได้

 

นอกจากนี้อัตราการเติบโตของประชากรที่ชะลอตัวในประเทศเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังอาจส่งผลต่อการบริโภค ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์และปัจจัยดึงดูดการลงทุนสำคัญของเศรษฐกิจหลายประเทศด้วย

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X