ข่าวการล้มของธนาคารในสหรัฐฯ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาสร้างความตื่นตระหนกให้กับตลาดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกรณีของ Silicon Valley Bank ซึ่งถือเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่อันดับที่ 16 ของสหรัฐฯ มีทรัพย์สิน 209,000 ล้านดอลลาร์ และมีเงินฝาก 175,000 ล้านดอลลาร์
แต่รู้กันหรือไม่ว่า ในรอบ 23 ปีที่ผ่านมา หรือระหว่างปี 2001-2023 มีธนาคารในสหรัฐฯ มากถึง 563 แห่ง ที่ถูกทางการสั่งปิดกิจการไปจากการประสบปัญหาต่างๆ แม้ว่าธนาคารที่ถูกสั่งปิดไปส่วนใหญ่จะเป็นธนาคารท้องถิ่นที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก แต่เมื่อนำมารวมกันจะพบว่าทั้งหมดนี้มีมูลค่าสินทรัพย์รวมกันสูงถึง 1.04 ล้านล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ จากการรวบรวมสถิติของสถาบันคุ้มครองเงินฝากของสหรัฐฯ (FDIC) พบว่า ในรอบ 23 ปีที่ผ่านมา มีเพียง 4 ปีเท่านั้นที่ไม่เกิดเหตุการณ์แบงก์ล้มในสหรัฐฯ ได้แก่ ปี 2005, 2006, 2021 และ 2022
ขณะที่ช่วงที่เหตุการณ์แบงก์ล้มเกิดขึ้นค่อนข้างมาก คือช่วงระหว่างปี 2008-2014 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตซับไพรม์นั่นเอง โดยในปี 2008 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ดังกล่าว มีธนาคารในสหรัฐฯ ปิดตัวไป 25 แห่ง ก่อนที่ตัวเลขจะกระโดดขึ้นเป็น 140 แห่ง และ 157 แห่งในปี 2009 และ 2010 ตามลำดับ
แม้ว่าวิกฤตในภาคธนาคารของสหรัฐฯ ในเวลานี้จะเริ่มคลี่คลายได้แล้ว หลังจาก Fed และ FDIC ออกมาการันตีเงินฝากของธนาคารที่มีปัญหาทั้ง 2 แห่ง พร้อมประกาศเพิ่มช่องทางใหม่ในการให้สภาพคล่องกับธนาคารอื่นๆ ที่เรียกว่า Bank Term Funding Program (BTFP)
แต่หากมองย้อนกลับไปดูสถิติ FDIC ในช่วงที่ผ่านมาจะพบว่า การปิดกิจการของแบงก์ในสหรัฐฯ ก็ไม่ใช่เหตุการณ์ประเภทที่นานๆ ทีจะได้เห็นเช่นกัน
จึงอาจกล่าวได้ว่าสถานการณ์ในระยะข้างหน้าของภาคการธนาคารสหรัฐฯ ยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและไม่อาจวางใจได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- สตาร์ทอัพเครียด! อาจจ่ายเงินให้กับพนักงานไม่ได้ เหตุ Silicon Valley Bank ถูกสั่งปิด หลังกลายเป็นแบงก์ที่ล้มหนักสุด ตั้งแต่ปี 2008
- ‘Silicon Valley Bank’ ประสบเหตุ Bank Run และถูกสั่งปิดชั่วคราว พร้อมหาคำตอบว่าวิกฤตนี้จะลุกลามแค่ไหน?
- สิ้นยุคเทคสหรัฐ? กระแสเลย์ออฟใน ‘Silicon Valley’ มีทิศทางเลวร้ายมากขึ้นเรื่อยๆ
ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร