×

จับตาความท้าทายปี 2023 เมื่อภูมิทัศน์ประชากรโลกเปลี่ยน ญี่ปุ่นเจอปัญหาสังคมผู้สูงอายุ อินเดียจ่อมีพลเมืองพุ่งสูงกว่าจีน!

09.01.2023
  • LOADING...
ภูมิทัศน์ประชากรโลกเปลี่ยน

ปี 2023 ถือเป็นปีที่ภูมิทัศน์ด้านประชากรเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2022 ว่า ขณะนี้โลกของเรามีประชากรทะลุ 8 พันล้านคนแล้ว หรือเพิ่มขึ้นมา 1 พันล้านคนในระยะเวลาเพียงแค่ 11 ปีเท่านั้น และหากเจาะดูที่เฉพาะภูมิภาคเอเชียของเราจะพบว่า กว่าครึ่งของประชากรโลก 8 พันล้านคนอัดแน่นอยู่ในพื้นที่แห่งนี้!

 

หนึ่งในประเทศที่น่าจับตาคืออินเดีย เพราะนับตั้งแต่ปี 2011 อินเดียมีประชากรเพิ่มขึ้นถึง 180 ล้านคน จนมีการคาดการณ์ว่าอินเดียจะแซงหน้าจีนขึ้นเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกในปีนี้

 

แม้การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรจะหมายถึงโอกาสในการพัฒนาประเทศ แต่ในขณะเดียวกันมันก็มาพร้อมกับปัญหาหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือแรงกดดันจากปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือพลังงาน รวมไปถึงตำแหน่งงานที่ไม่มากพอจะรองรับให้ทุกคนมีงานทำและอยู่ดีกินดี

 

และไม่ใช่ว่าทุกประเทศจะมีประชากรพุ่งทะลุเช่นนี้ เพราะในขณะเดียวกัน หลายชาติก็กำลังปวดหัวกับภาวะการเกิดใหม่ต่ำ ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอนาคต และกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและสังคมในที่สุด ซึ่งประเทศที่สะท้อนภาพเหล่านี้ให้เห็นชัดคงหนีไม่พ้นญี่ปุ่น

 

THE STANDARD หยิบยกข้อมูลที่น่าสนใจจาก Nikkei Asia มาเรียบเรียงให้ทุกคนฟังถึงความเสี่ยงที่อินเดีย ญี่ปุ่น และโลกของเราที่มีประชากรกว่า 8 พันล้านคนต้องเผชิญต่อจากนี้

 

ภาพรวมประชากรในเอเชียเป็นอย่างไร

 

  • ปัจจุบันจีนยังครองแชมป์ประเทศที่มีประชากรสูงสุดในโลกที่ระดับ 1.426 พันล้านคน ตามมาด้วยอินเดีย (หรือว่าที่แชมป์ใหม่) ที่ระดับ 1.417 พันล้านคน

 

  • นอกเหนือจากสองประเทศนี้ ยังมีชาติเอเชียอีก 5 ประเทศที่มียอดประชากรทะลุ 100 ล้านคน ได้แก่ อินโดนีเซีย (276 ล้านคน) ปากีสถาน (236 ล้านคน) บังกลาเทศ (171 ล้านคน) ญี่ปุ่น (124 ล้านคน) และฟิลิปปินส์ (116 ล้านคน) ส่วนประเทศที่คาดว่าอีกไม่นานจะเข้ามาจอยกรุ๊ปด้วยคือเวียดนาม เพราะตอนนี้มีประชากรที่ระดับ 98 ล้านคนแล้ว

 

  • การที่ประชากรโลกจ่อพุ่งขึ้นแตะระดับ 8 พันล้านคนนั้น ถือเป็นสัญญาณหนึ่งที่ชี้ว่า ระบบสาธารณสุขของโลกเรานั้นพัฒนาขึ้นก้าวไกลอย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้อายุขัยของมนุษย์เพิ่มขึ้น 

 

  • อย่างไรก็ตาม UN เตือนว่า “ปัจจุบันโลกของเรามีความหลากหลายทางประชากรมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา” โดยประเทศต่างๆ เจอกับปัญหาภูมิทัศน์ด้านประชากรที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง บ้างก็เจอกับประชากรที่พุ่งทะยานขึ้นอย่างมากจนต้องหาทางรับมือ สวนทางกับอีกหลายประเทศที่กุมขมับเพราะยอดเกิดต่ำ ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น

 

  • จากปัญหาข้างต้น แน่นอนว่าคงไม่มีภูมิภาคใดที่จะฉายภาพปัญหาให้เห็นชัดเจนสุดเท่ากับเอเชียอีกแล้ว โดยมีหลายประเทศที่มีประชากรอายุน้อย หรือมีอายุมัธยฐาน (Median Age) ของประชากรเฉลี่ยที่ช่วง 20 ปี เช่น อินเดีย (27.9 ปี) ปากีสถาน (20.4 ปี) และฟิลิปปินส์ (24.7) ส่วนประเทศที่มีอายุเฉลี่ยของประชากรสูงในช่วง 40 ปี ได้แก่ ญี่ปุ่น (48.7 ปี) และเกาหลีใต้ (43.9 ปี)

 

  • โดยอายุเฉลี่ยของประชากรโลกนั้น ถ้ามากกว่า 30 ปีก็ถือว่าสูงแล้ว ซึ่งช่องว่างระหว่างช่วงอายุที่แตกต่างกันนี้ได้ถูกถ่างให้กว้างขึ้นกว่าเดิมในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา 

 

อินเดียจ่อแซงจีนขึ้นเป็นชาติที่มีประชากรสูงสุดในโลก

 

  • มาเจาะที่เฉพาะอินเดีย ว่าที่แชมป์ใหม่ของประเทศที่มีประชากรสูงสุดในโลก

 

  • แม้การที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นและมีอายุน้อยนั้นจะทำให้อินเดียมีกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ แต่มันก็มีความท้าทายหลากหลายมิติซ่อนอยู่ ตั้งแต่การลดวงจรความยากจน ไปจนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่เป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนาน 

 

  • ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เมื่อประชากรมากขึ้น ดีมานด์อาหารก็จะทะยานขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของอินเดียไปยังประเทศอื่นๆ 

 

  • นอกจากนี้ การรองรับคนจำนวนมากก็จำเป็นที่จะต้องมีการขยายโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ ในประเทศ โดยธนาคารโลกประเมินว่า อินเดียจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 8.4 แสนล้านดอลลาร์ในโครงสร้างพื้นฐานของเมืองตลอดช่วง 15 ปีข้างหน้า เพื่อให้สอดรับกับประชากรที่เพิ่มขึ้น

 

  • ด้วยเหตุนี้ การเพิ่มขึ้นของประชากรจึงไม่ได้มีแต่ผลพลอยได้ในแง่บวกอย่างเดียว แต่ยังสร้างแรงกดดันต่อระบบโครงสร้างพื้นฐานและบริการในเมืองต่างๆ ที่ตึงตัวอยู่ก่อนแล้ว ทำให้ต่อจากนี้ อินเดียจะต้องเพิ่มการจัดหาน้ำสะอาด แหล่งพลังงานที่มีเสถียรภาพ ตลอดจนการขนส่งที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยสูงให้กับประชาชนมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งถือเป็นความท้าทายของรัฐบาลที่จะต้องรับมือกับประชากรปริมาณมหาศาลให้ได้

 

  • จากการคาดการณ์ของ UN ประชากรอินเดียจะเพิ่มขึ้นประมาณ 11 ล้านคนในปี 2022-2023 สู่ระดับ 1.43 พันล้านคน หรือคิดเป็นจำนวน 17% ของประชากรโลก! 

 

  • แต่หากดูในแง่ของภูมิศาสตร์แล้ว อินเดียมีพื้นที่ดินเพียง 2.4% และแหล่งน้ำเพียงแค่ 4% ทำให้อินเดียมีทั้ง ‘โอกาส’ และ ‘ความท้าทาย’ ที่รออยู่ภายภาคหน้า

 

  • สอดคล้องกับที่รายงาน Youth in India 2022 ของรัฐบาล ระบุไว้ว่า “ในขณะที่อินเดียประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางประชากร ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ประชากรวัยหนุ่มสาวจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม เยาวชนจำนวนมากยังคงเผชิญกับความท้าทายในแง่ของการพัฒนาด้านต่างๆ เช่น การเข้าถึงการศึกษา การจ้างงานที่มีรายได้สูง ความไม่เท่าเทียมทางเพศ การแต่งงานในวัยเด็ก บริการสุขภาพที่เป็นมิตรต่อเยาวชน และการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร

 

  • แม้ตัวเลขจากนักวิเคราะห์จะออกมาว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอินเดียจะขยายตัวที่ประมาณ 7% ในปี 2023 ซึ่งถือว่าสูงสุดในบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก แต่อินเดียยังคงเผชิญกับอัตราการว่างงานที่สูงถึง 8% เท่ากับว่า ประเทศนี้ไม่ได้สร้างตำแหน่งงานเพียงพอเพื่อรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น

 

  • โชทาโระ คุมะกาอิ (Shotaro Kumagai) นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยแห่งประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ประชากรวัยทำงานที่มีอายุ 15-64 ปีในอินเดียเพิ่มขึ้นกว่า 10 ล้านคนต่อปี แต่อินเดียยังไม่ได้พัฒนาประเทศให้สามารถมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตอย่างเหมาะสมได้ ขณะเดียวกันยังมีประเด็นเรื่องของอาหารที่ต้องเพิ่มปริมาณขึ้นเพื่อให้พอกับปากท้องคนในประเทศ 

 

  • โดยตอนนี้ สิ่งที่น่ากังวลคือพืชผลทางการเกษตรนั้นเสียหายจากสภาพอากาศได้ง่ายมาก ฉะนั้น ด้วยความที่ความต้องการภายในประเทศสูงมาก หากอินเดียผลิตอาหารได้น้อยลง ก็จะต้องโฟกัสไปที่การหมุนเวียนในประเทศก่อน สิ่งที่จะตามมาคือการส่งออกที่ลดน้อยลง ยกตัวอย่างเช่นเมื่อปี 2022 อินเดียเคยออกข้อกำหนดด้านการจำกัดการส่งออกข้าวสาลี ซึ่งก็จะทำให้ประเทศอื่นๆ ได้รับผลกระทบตามไปด้วย

 

  • ในอินเดีย การสำรวจสุขภาพล่าสุดซึ่งจัดทำขึ้นในช่วงปี 2019-2021 แสดงให้เห็นว่า อัตราการมีลูกทั้งหมดในประเทศลดลงเหลือที่ลูก 2 คนต่อผู้หญิง 1 คน จากระดับ 2.2 คนในการสำรวจเมื่อปี 2015-2016 ส่งสัญญาณว่าประชากรกำลังคงที่ ในทางเดียวกันก็ตอกย้ำว่า อินเดียมีเวลากอบโกยผลประโยชน์ในการสร้างประเทศจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ในระยะเวลาที่จำกัด

 

  • วี. อุปัธยา (V. Upadhyay) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แห่งสถาบัน Indian Institute of Technology Delhi กล่าวว่า อินเดียโชคดีที่มีประชากรวัยทำงานจำนวนมาก แต่ทรัพยากรของชาติจะเป็นประโยชน์ ก็ต่อเมื่อมีการสร้างงานเพิ่มขึ้นเพื่อดึงพวกเขาเข้าสู่ตลาด ‘แต่สิ่งเหล่านั้นยังไม่เกิดขึ้นในอินเดีย’ และในที่สุดนั้น จำนวนประชากรที่อายุน้อยก็จะเริ่มลดลง ขณะที่อายุขัยเฉลี่ยของประชาชนในประเทศก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 

ญี่ปุ่นกุมขมับปัญหาประชากรสูงอายุ

 

  • ในขณะที่อินเดียประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเจอปัญหาไม่มีตำแหน่งงานว่างและโครงสร้างพื้นฐานเพียงพอที่จะรองรับความต้องการ ตัดภาพกลับมาที่ญี่ปุ่น ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาอัตราการเกิดต่ำลงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของโควิด จนรัฐบาลถึงกับกล่าวว่า ‘นี่เป็นสถานการณ์คับขัน’ 

 

  • แต่ไม่ว่าจะอินเดียหรือญี่ปุ่น เทรนด์การขยายตัว (หรือลดลง) ของประชากรก็ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างมากหากไม่มีการวางแผนรองรับอย่างเป็นระบบตั้งแต่เนิ่นๆ

 

  • หนึ่งในปัญหาที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ คือจำนวนประชากรในชนบทที่ลดลงอย่างมากจนทำให้หลายพื้นที่เสื่อมโทรมลง

 

  • รายงานจากกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ในปี 2018 ญี่ปุ่นมีบ้านร้างมากถึง 3.49 ล้านหลังทั่วประเทศ หรือเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าในช่วงสองทศวรรษ ซึ่งบ้านเหล่านั้นทำให้ทัศนียภาพของเมืองหรือจังหวัดดูไม่เจริญหูเจริญตานัก อีกทั้งทำให้มีปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น การก่ออาชญากรรม เหตุไฟไหม้ หรือทำให้ประชาชนแห่ไปทิ้งขยะในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมายในญี่ปุ่น

 

  • ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงได้ออกนโยบายจูงใจให้ประชาชนไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในเมืองที่ไม่เป็นที่นิยมในประเทศ ยกตัวอย่างเช่นกรุงโตเกียวที่เตรียมมอบเงินสูงสุด 1 ล้านเยนต่อบุตร 1 คนให้กับครอบครัวที่ตัดสินใจย้ายบ้านออกจากเขตเมืองหลวง (แม้เหตุผลหลักๆ จะเป็นการลดความแออัดในเมืองใหญ่ก็ตาม)

 

  • สถิติล่าสุดของรัฐบาลระบุว่า จำนวนเด็กเกิดใหม่ในญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลงต่ำกว่า 800,000 คนเป็นครั้งแรกในปี 2022 ซึ่งเป็นอัตราการลดลงที่หนักกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้มาก เพราะในปี 2017 สถาบันวิจัยประชากรและประกันสังคมแห่งชาติของญี่ปุ่นเคยประมาณการไว้ว่า จำนวนเด็กเกิดใหม่ต่อปีจะไม่ร่วงต่ำกว่า 800,000 คนจนถึงปี 2030

 

  • สำหรับปัจจัยทำให้อัตราการเกิดน้อยลงนั้น เป็นเพราะคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่เริ่มไม่อยากแต่งงานกันมากขึ้น โดยผลการสำรวจจากหน่วยงานรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อปี 2021 เปิดเผยว่า ผู้ชายโสด 17.3% และผู้หญิงโสด 14.6% ที่มีอายุ 18-34 ปีไม่คิดที่จะแต่งงาน ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ทำผลสำรวจมาในปี 1982 

 

  • แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่เพราะความบังเอิญ แต่มีเหตุปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน ซึ่งรวมถึงแนวคิดของผู้หญิงยุคใหม่ที่ชื่นชอบการทำงานหาเลี้ยงตนเอง ซึ่งมีอิสระกว่าการพึ่งพาสามี โดยพวกเธอเน้นแสวงหาการงานอาชีพที่มั่นคงมากกว่า ส่วนผู้ชายระบุว่าพวกเขาพึงพอใจกับชีวิตโสดเช่นกัน แต่ยอมรับว่าส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ไม่อยากแต่งงานนั้น เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงในหน้าที่การงาน และภาระอันหนักอึ้งในการหาเลี้ยงครอบครัว

 

  • สถานการณ์เกิดขึ้นถือเป็นแนวโน้มที่น่าวิตก เพราะจะยิ่งทำให้อัตราของเด็กเกิดใหม่น้อยลงอย่างมาก ท่ามกลางปัญหาสังคมผู้สูงอายุและการขาดแคลนแรงงานของญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้ ผู้เชี่ยวชาญจึงเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายหรือนโยบายที่เอื้อให้ผู้หญิงสามารถกลับไปทำงานได้อย่างสะดวกหลังจากที่คลอดบุตรแล้ว รวมถึงแก้ปัญหาชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมญี่ปุ่น

 

  • นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิดยังกดดันให้อัตราการเกิดของญี่ปุ่นลดลงอีก เนื่องจากโรคระบาดทำให้คู่รักต้องเลื่อนการแต่งงานออกไป บางคู่ต้องเลื่อนการมีลูกเพราะกังวลเรื่องของสุขภาพ รวมถึงสถานะทางการเงินที่ไม่มั่นคงเนื่องจากโควิดทำให้หลายคนต้องตกงาน 

 

โลกควรทำอย่างไร

 

  • ถอยออกมามองภาพรวมของประเทศอื่นๆ กันบ้าง เริ่มต้นจากประเทศใหญ่ในเอเชียอย่างจีน โดยรายงานระบุว่า ประชากรสูงอายุในจีนนั้นได้มาถึงระดับอิ่มตัวแล้ว และมีแนวโน้มที่จะลดลงก่อนปี 2025 

 

  • ขณะที่หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เผชิญกับปัญหาประชากรสูงวัยอย่างรวดเร็วไม่ต่างกับญี่ปุ่น เช่น สิงคโปร์ และไทย 

 

  • แต่เมื่อดูในระยะยาวแล้ว ข้อมูลการคาดการณ์จาก UN เปิดเผยว่า อัตราการขยายตัวของประชากรโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงหลายสิบปีข้างหน้า โดยประชากรจะเพิ่มขึ้นแตะที่ 9 พันล้านคนในปี 2037 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานกว่าในช่วงที่ประชากรพุ่งจาก 7 พันล้านเป็น 8 พันล้านคน และจะแตะจุดพีคที่ระดับ 1.04 หมื่นล้านคนในปี 2086

 

  • คุมะกาอิกล่าวว่า ประชาคมโลกสามารถร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาด้านประชากรที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของอาหารหรือพลังงาน อีกทั้งยังสามารถแบ่งปันความรู้เพื่อถอดบทเรียนที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศได้

 

  • ยกตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่นเป็นชาติที่สร้างระบบประกันการดูแลระยะยาวมานานแล้ว เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งในส่วนนี้ประเทศในเอเชียอื่นๆ ที่มีอัตราการเกิดลดลง และมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นก็สามารถร่วมมือกับญี่ปุ่นในการออกแบบระบบประกันสังคมในระดับรัฐบาลได้

 

  • นอกจากนี้ ประเทศต่างๆ ในเอเชียสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลเกี่ยวกับโครงการริเริ่มด้านประชากรที่เคยล้มเหลวในอดีต ตลอดจนแนวทางในการปรับปรุงผ่านการยกตัวอย่างเคสที่เคยประสบมาทั้งในระดับรัฐบาลและภาคธุรกิจ เพื่อร่วมกันพัฒนากลยุทธ์การดูแลประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ทั้งนี้ UN เคยกล่าวไว้ว่า “การที่ประชากรโลกทะลุ 8 พันล้านคนนั้นไม่ใช่หายนะ อันที่จริงแล้วมันคือความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของโลก ผู้คนมีชีวิตรอดมากขึ้น อายุขัยเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ระบบสาธารณสุขก็พัฒนาขึ้น และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนก็ดีขึ้นกว่าเดิม

 

“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นหายนะ ก็ต่อเมื่อรัฐบาลประเทศต่างๆ ไม่สามารถเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะตามมาในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า”

 

แฟ้มภาพ: Cavan-Images Via Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising