ในรอบปีที่ผ่านมา โลกถูกขับเคลื่อนไปด้วยประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง พลาสติกที่ครั้งหนึ่งถูกคิดค้นมาช่วยรักษ์โลกจากการตัดต้นไม้เพื่อมาทำกระดาษ ในวันนี้กลับกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาชาวโลก หลายประเทศสั่งแบนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ขณะที่ประเทศไทยกำลังจะเดินหน้าไปถึงจุดนั้นในปี 2020 ที่กำลังจะมาถึง
แม้ทิศทางของทั้งโลกจะเซย์โนกับการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง และพยายามมองหาวัสดุอื่นๆ มาทดแทน แต่เมื่อวัดจากปริมาณขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นหลักร้อยล้านตันในแต่ละปี ระยะเวลาที่พลาสติกจะหายไปจากโลกยังคงเป็นอนาคตที่รออยู่ไกลลิบ และนอกจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง รอบตัวเรายังคงรายล้อมไปด้วยพลาสติกจำนวนมหาศาลที่เข้ามามีส่วนในชีวิตเราตั้งแต่ตื่นนอนไปจนถึงเข้านอน
นอกจากฝั่งผู้บริโภคที่จะต้องปรับตัวให้ลดการใช้พลาสติกให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อเยียวยาโลกใบนี้ร่วมกันแล้ว ถ้ามองไปอีกฟากผู้ผลิตพลาสติกเองก็จำเป็นต้องเปลี่ยนทิศทางเพื่อรองรับความกังวลที่มาขึ้นของคนทั้งโลกเช่นกัน แต่คำถามคือทิศทางของอุตสาหกรรมพลาสติกจะมุ่งไปทางไหน คงไม่มีคำตอบไหนจะชัดเท่ากับสิ่งที่เกิดขึ้นภายในงาน K 2019 งานแสดงสินค้าและนวัตกรรมพลาสติกและยางที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่จัดขึ้นเป็นประจำทุก 3 ปี ซึ่งครั้งนี้ THE STANDARD มีโอกาสเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงาน ภายใต้การสนับสนุนจากธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี
ผู้ผลิตพลาสติกทั่วโลกพร้อมใจโชว์นวัตกรรมยั่งยืน ตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน
งาน K 2019 ที่จัดในเมือง Dusseldorf ประเทศเยอรมนี ถือเป็นจุดชี้วัดทิศทางของอุตสาหกรรมพลาสติกโลกในช่วงที่กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทาย เพราะนอกจากจะมีผู้คนกว่า 2 แสนคนจาก 168 ประเทศทั่วโลกหลั่งไหลเข้ามาร่วมชมงานตลอด 8 วันแล้ว งานนี้ยังถือเป็นงานที่รวบรวมบริษัทผู้ผลิตพลาสติกและยางเอาไว้มากที่สุดในโลกกว่า 3,300 ราย จาก 63 ประเทศ
แม้จะเดินได้ไม่ครอบคลุมพื้นที่จัดงานที่มีมากถึง 19 ฮอลล์ แต่สำหรับฮอลล์ 6 ที่รวบรวมบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลาสติกระดับโลกเอาไว้ในฮอลล์เดียวกัน ทิศทางที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากผู้นำอุตสาหกรรมนี้คือการเดินหน้าไปสู่ความยั่งยืน และตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ที่เป็นธีมใหญ่ในการจัดงานของปีนี้
ตลอดทั้งงานเราเห็นความพยายามของบรรดาผู้ผลิตพลาสติกทั้งรายย่อยและรายใหญ่ ในการคิดค้นนวัตกรรมที่จะผลิตพลาสติกด้วยการใช้เม็ดพลาสติกให้น้อยที่สุด แต่คงทนมากขึ้น หรือความพยายามในการนำพลาสติกใช้แล้วหมุนเวียนกลับมาผลิตซ้ำในระบบ โดยที่คุณสมบัติของพลาสติกไม่ได้ด้อยลงหรือทำให้มีคุณภาพมากขึ้น
ขณะที่วัสดุทดแทนพลาสติกที่เคยมาแรงในงาน K เมื่อ 3 ปีก่อนอย่างไบโอพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติกลับมีให้เห็นประปราย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อถกเถียงในการนำมาใช้อย่างแพร่หลาย เพราะแม้จะมีจุดเด่นในการสามารถย่อยสลายได้ แต่ก็มีเงื่อนไขและใช้เวลาค่อนข้างนาน ขณะเดียวกันไบโอพลาสติกยังอาจสร้างปัญหาต่อกระบวนการรีไซเคิล เพราะไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้เหมือนพลาสติก แต่กลับมีรูปลักษณ์เหมือนพลาสติก การแยกขยะจึงอาจเป็นเรื่องยากสำหรับผู้บริโภค
หนึ่งในโฟกัสสำคัญที่บริษัทผู้ผลิตพลาสติกชั้นนำระดับโลกต่างพยายามแข่งขันกันคือ การคิดค้นบรรจุภัณฑ์แบบ mono-material ที่ใช้วัสดุแบบเดียวกัน 100% เพื่อให้สามารถนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้โดยง่าย โดยเฉพาะในบรรจุภัณฑ์อาหาร ที่แม้จะฟังดูไม่น่ายุ่งยาก แต่แท้จริงแล้วความท้าทายนี้ยังไม่มีบริษัทใดที่ทำสำเร็จในระดับที่นำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้
หลายคนอาจไม่ทันสังเกตว่าบรรจุภัณฑ์ในชีวิตประจำวันของเราไล่ตั้งแต่ซองมันฝรั่ง ซองใส่กาแฟ ถุงน้ำยาปรับผ้านุ่ม ไปจนถึงถุงใส่ลูกอม และอีกหลากหลายบรรจุภัณฑ์ส่วนใหญ่ล้วนเป็นการผสมวัสดุหลายๆ ชนิดเข้าด้วยกันแล้วนำมาซ้อนเป็นเลเยอร์หลายๆ ชั้น เพื่อคงคุณสมบัติให้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นสามารถวางขายบนเชลฟ์ได้นานที่สุดโดยไม่รั่วซึมหรือเสื่อมคุณภาพ ยกตัวอย่างซองมันฝรั่งที่เป็นส่วนผสมระหว่างพลาสติกกับโลหะมันวาวด้านในที่เคลือบอยู่บางๆ เพื่อทำให้มันฝรั่งในซองสามารถคงความกรอบอยู่ในร้านสะดวกซื้อได้เป็นระยะเวลานาน
แต่เมื่อมีหลายวัสดุในชิ้นเดียวกัน และบางจนแยกออกจากกันได้ยาก การนำบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ไปรีไซเคิลจึงแทบเป็นไปไม่ได้ แนวคิด mono-material จึงเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของผู้ผลิตและผู้บริโภคในการทำให้สินค้าเหล่านั้นยังคงคุณภาพได้ดีในขณะที่นำไปสามารถเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ตามปกติ ซึ่งหากทำสำเร็จก็จะทำให้ขยะพลาสติกมหาศาลหายไป แต่ก็อยู่ในเงื่อนไขของการแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพด้วย
เมื่อมองภาพรวมของงาน K 2019 จะเห็นว่าทิศทางที่ผู้ผลิตพลาสติกจากทั่วโลกพยายามเดินไปให้ถึงคือการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อทำให้พลาสติกกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนได้แบบไม่ทำร้ายโลก โดยจุดหมายปลายทางที่ทุกคนมองตรงกันคือการทำให้พลาสติกที่ถูกทิ้งลงกองขยะเหลือจำนวนน้อยที่สุด และมีการนำกลับมาใช้ใหม่ให้มากที่สุด เพื่อลดมลพิษที่เกิดจากขยะพลาสติกทั้งในแง่การกำจัดอย่างไม่ถูกวิธี และการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ
เอสซีจีกับนวัตกรรมพลาสติกเพื่อความยั่งยืน
ท่ามกลางบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่ขนนวัตกรรมมาออกบูธภายในงาน ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ถือเป็นตัวแทนผู้ผลิตพลาสติกจากประเทศไทยที่เตรียมความพร้อมกับโจทย์ความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน และนำนวัตกรรมที่คิดค้นได้มาอวดสายตาชาวโลก ภายใต้แนวคิด ‘Passion fo a Better World’
ในภาพรวมของธุรกิจเอสซีจี ได้ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนากว่า 4,600 ล้านบาท ถ้านับเฉพาะธุรกิจเคมิคอลส์ มีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนากว่า 2,400 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 53% ของทั้งบริษัท และถือครองสิทธิบัตรรวมทั้งสิ้นกว่า 1,200 ฉบับ สะท้อนความมุ่งมั่นในการเดินหน้าไปสู่ผู้ผลิตพลาสติกระดับโลกที่อาศัยแรงส่งจากนวัตกรรม
ทิศทางที่น่าสนใจของธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี คือการตั้งเป้าลดสัดส่วนการผลิตเม็ดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งให้เหลือเพียง 20% ภายในปีหน้า และหันมาโฟกัสเพิ่มสัดส่วนเม็ดพลาสติกแบบคงทน (Durable Plastic) เพื่อเพิ่มยอดขายในกลุ่มสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม หรือ HVA (High Value Added) ให้มากขึ้น ตอบโจทย์ทิศทางโลกที่มุ่งหน้าไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเต็มตัว
นวัตกรรมไฮไลต์ของเอสซีจี ในงาน K 2019 คงหนีไม่พ้น CIERRA ® – Barrier บรรจุภัณฑ์แบบ mono-material ที่ใช้สารเพิ่มประสิทธิภาพของพลาสติกทำให้ใช้ทดแทนการเคลือบชั้นฟิล์มด้วยโลหะได้ โดยยังคงคุณสมบัติในการป้องกันอากาศและความชื้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างคิดค้นและพัฒนาก่อนจะผลักดันสู่การใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ในอนาคต
อีกหนึ่งนวัตกรรมที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน คือเม็ดพลาสติกสำหรับการผลิตสินค้าประเภทถุง ขวดบรรจุภัณฑ์สินค้าอุปโภค และขวดฝาน้ำอัดลม โดยผสมผสานระหว่างพลาสติกใหม่ กับพลาสติกที่ผ่านการรีไซเคิลมาแล้ว หรือ Post-Cunsumer Recycled Resin (PCR) เพื่อลดปริมาณการผลิตเม็ดพลาสติกใหม่ และนำสิ่งที่ไร้ค่ากลับมาเป็นวัสดุที่มีคุณค่าอีกครั้ง
ทั้งหมดนี้คือทิศทางของอุตสาหกรรมพลาสติกโลกและไทย ที่จะเปลี่ยนแปลงภาพพลาสติกที่เคยเป็นผู้ร้ายให้กลายเป็นมิตรกับมนุษย์โลกและสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า