งานรำลึกครบรอบ 100 ปี แห่งการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือวันสงบศึก (Armistice Day) จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวานนี้ (11 พ.ย.) โดยมีผู้นำจากกว่า 70 ประเทศ เดินทางไปร่วมพิธีการต่างๆ อย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ซึ่งรวมถึงประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย, นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด แห่งแคนาดา, นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ
ขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย เดินทางไปฝรั่งเศส เพื่อร่วมประชุมสันติภาพ ซึ่งจัดขึ้นหลังพิธีการดังกล่าวด้วย
ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส ซึ่งริเริ่มจัดงานนี้เพื่อให้ทั่วโลกตระหนักถึงพิษภัยสงคราม ได้ใช้เวทีนี้ในการแสดงจุดยืนต่อต้านลัทธิชาตินิยม (Nationalism) โดยเรียกร้องให้ผู้นำทั่วโลกปฏิเสธนโยบายและมุมมองทางการเมืองที่เป็นปรปักษ์ต่อกัน ท่ามกลางการขยายตัวของกระแสต่อต้านผู้อพยพ และมาตรการกีดกันทางการค้า เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ
ในการกล่าวสุนทรพจน์นานเกือบ 20 นาที มาครงระบุว่า ลัทธิชาตินิยม คือการทรยศความรักชาติ พร้อมเรียกร้องให้ผู้นำประเทศต่างๆ ต่อสู้เพื่อสันติภาพ
“การทำลายความหวังนี้ด้วยความลุ่มหลงในความรุนแรงหรือการครอบงำ ถือเป็นความผิดพลาดที่คนรุ่นหลังมีสิทธิ์ที่จะทวงถามความรับผิดชอบจากเรา” มาครงกล่าว
“การบอกว่าผลประโยชน์ของเราควรมาเป็นอันดับแรก และไม่สนคนอื่นๆ หมายความว่าคุณกำลังเหยียบย่ำสิ่งมีค่าที่สุดที่ประเทศชาติมี นั่นก็คือ ค่านิยมทางจริยธรรม” มาครงกล่าว ถึงแม้เขาไม่เอ่ยชื่อผู้นำหรือประเทศใดแบบเจาะจง แต่ผู้สันทัดกรณีมองว่าเป็นสารถึงทรัมป์ ซึ่งให้ความสำคัญกับนโยบายที่เห็นแก่ผลประโยชน์ของอเมริกาเป็นลำดับแรก
นอกจากสปีชอันจับใจแล้ว มาครงยังเดินนำผู้นำประเทศต่างๆ พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูง ไปยังสุสานทหารนิรนาม (Tomb of the Unknown Soldier) ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปราย โดยอนุสรณ์วีรชนดังกล่าวตั้งอยู่ในบริเวณฐานของอาร์กเดอทรียงฟ์เดอเลตวล หรือประตูชัยฝรั่งเศส
ในโอกาสนี้ ผู้นำของหลายประเทศยังได้พบปะหารือกันแบบทวิภาคีด้วย โดยปูตินเปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า เขาได้หารือกับทรัมป์เป็นเวลาสั้นๆ ซึ่งการสนทนาดำเนินไปด้วยดี
นอกจากฝรั่งเศสแล้ว กิจกรรมครบรอบ 100 ปี แห่งการยุติสงครามโลกครั้งที่ 1 ยังจัดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก เพื่อรำลึกถึงผู้ที่เสียชีวิตจากสงครามโลกครั้งนั้น โดยข้อมูลทางการระบุว่า มีทหารราว 9.7 ล้านราย และพลเรือนอีก 10 ล้านราย ที่เสียชีวิตในช่วงระหว่างปี 1914-1918
อ้างอิง: