×
SCB Omnibus Fund 2024

อย่าเพิ่งวางใจเศรษฐกิจโลก

28.02.2023
  • LOADING...
เศรษฐกิจโลก

นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา หน่วยงานวิจัยเศรษฐกิจหลายแห่งทั้งระดับโลกและระดับประเทศปรับมุมมองทิศทางเศรษฐกิจโลกขึ้น จากภาพเศรษฐกิจที่เหมือนจะดูดีขึ้น ตั้งแต่จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่มีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจโลกมากกว่าเมื่อเดือนตุลาคม เนื่องจากปัจจัยภายในประเทศต่างๆ ที่ดีเกินคาด เช่น ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง การจัดการวิกฤตพลังงานในยุโรป และการเปิดประเทศของจีน ทำให้ IMF ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกขึ้นจาก 2.7% เป็น 2.9%  

 

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจเร็วที่วัดจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเบื้องต้น (Flash PMI) เดือนกุมภาพันธ์ ของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ดูดีขึ้นต่อเนื่อง โดยดัชนีรวม (Composite PMI) ของสหรัฐฯ อยู่ที่ 50.2 สูงสุดในรอบ 8 เดือน ผลจากการฟื้นของดัชนีภาคบริการที่ 50.5 จาก 46.8 ขณะที่ดัชนีภาคการผลิตยังคงหดตัวที่ 48.4 จาก 46.9 ด้านดัชนีรวมยุโรปอยู่ที่ 52.3 จาก 50.3 โดยเป็นการฟื้นของภาคบริการเป็นหลัก ขณะที่ของอังกฤษก็ฟื้นตัวขึ้นจาก 48.5 เป็น 53.0 เช่นกัน 

 

ข้ามมาในฝั่งสหรัฐฯ ตัวเลขสำคัญๆ ก็ดูดีขึ้นจนน่าประหลาดใจ เช่น ยอดค้าปลีกฟื้นตัวขึ้นเป็นบวก โดยขยายตัวดีทั้งเทียบกับเดือนก่อนที่ +3% จากหดตัวในสองเดือนก่อน และเทียบกับปีก่อนที่กลับมาฟื้นตัวที่ 6.4% จาก 5.9% ในเดือนธันวาคม

 

ด้านตลาดแรงงานก็ดีขึ้นมากเช่นกัน การจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ ออกมาดีเกินคาดมาก โดยเพิ่มขึ้น 5.17 แสนตำแหน่งในเดือนมกราคม สูงกว่าที่ตลาดคาดว่าจะอยู่ที่ 1.85 แสนตำแหน่ง อัตราว่างงานลดลงเหลือ 3.4% ต่ำสุดในรอบ 53 ปี ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงเพิ่มขึ้น 4.4% ในเดือนมกราคมจากปีก่อนหน้า ลดลงจาก 4.8% ในเดือนธันวาคม แต่รายได้เฉลี่ยต่อสัปดาห์พุ่งสูงขึ้นรุนแรงที่ 4.7% สูงสุดในรอบ 10 เดือน  

 

ภาพต่างๆ ที่ดูดีขึ้น ทำให้เริ่มมีการพูดถึง ‘No Landing’ หรือเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ไปต่อได้โดยไม่ชะลอตัวหรือเกิด Recession 

 

ในอีกด้านหนึ่ง เงินเฟ้อสหรัฐฯ แม้จะชะลอลงตามคาด โดยขยายตัว 6.4% ในเดือนมกราคมใกล้เคียงตลาดคาดที่ 6.2% แต่องค์ประกอบภายในน่ากังวลมากขึ้น โดยเงินเฟ้อจากอาหาร พลังงาน และที่อยู่อาศัยเริ่มกลับมา ทำให้ความกังวล Fed ขึ้นดอกเบี้ยยาวมีมากขึ้น โดยในรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (Fed Minute) ที่ประชุม ณ เดือนกุมภาพันธ์ยังคงส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย โดยเสียงส่วนใหญ่ให้ขึ้นในระดับ 0.25% ต่อเนื่องเพื่อคุมเงินเฟ้อ และยังส่งสัญญาณกังวลในความเสี่ยงเงินเฟ้อ และมองว่านโยบายยังไม่ตึงตัวเพียงพอ (Insufficient Restrictive) เพื่อจะลดทอนเงินเฟ้อลง 

 

นอกจากนั้น ประเด็นที่ เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed เคยกล่าวหลังการประชุมว่า เริ่มเห็นถึง ‘กระบวนการเงินเฟ้อเริ่มลดลง’ (Disinflationary process) นั้น ถูกตัดออกไปในรายงานฉบับนี้ บ่งชี้ว่า Fed อาจส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยยาวนานขึ้น  

 

ในมุมมองของเรา ภาพเศรษฐกิจการลงทุนในปัจจุบันมีความเสี่ยงมากขึ้นใน 3 จุด อันได้แก่ 

 

  1. ภาพเศรษฐกิจโลก ที่ในภาพรวมดูเหมือนจะดูดีขึ้นจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Flash Composite PMI) ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่หากในรายละเอียดจะพบว่าเป็นการฟื้นตัวของภาคบริการเป็นหลัก ขณะที่ภาคการผลิตยังคงหดตัว ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index) ซึ่งจากการติดตามของเราพบว่า 30 ใน 42 ประเทศ ดัชนีมีทิศทางชะลอลงหรือหดตัวมากขึ้น 

 

  1. เงินเฟ้อเริ่มมีทิศทางสูงขึ้น และ/หรือชะลอลงน้อยกว่าคาด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นในเดือนมกราคม และส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าจ้างที่ปรับตัวสูงขึ้นเพื่อตอบสนองต่อราคาที่เพิ่มขึ้น (Wage-Price Spiral) และบางส่วนอาจเป็นเพราะความคาดหวังนโยบายการเงินที่จะผ่อนคลายขึ้น ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรผ่อนคลายลง ซึ่งเป็นการเพิ่มสภาพคล่องทางอ้อม ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางต่างๆ อาจต้องขึ้นดอกเบี้ยสูงยาวนานขึ้น (Higher for Longer) และนำไปสู่ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในระยะถัดไป และ 

 

  1. ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์เริ่มสูงขึ้น หลังประธานาธิบดีโจ ไบเดน เยือนยูเครนโดยไม่บอกล่วงหน้า ในโอกาสครบรอบ 1 ปีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศยกเลิกสนธิสัญญานิวเคลียร์ที่ทำกับสหรัฐฯ ด้านที่ปรึกษาการต่างประเทศประธานาธิบดีสีจิ้นผิงประกาศพร้อมยกระดับความร่วมมือกับรัสเซีย หลังเข้าพบประธานาธิบดีปูติน บ่งชี้จีนเริ่มเพิ่มน้ำหนักในประเด็นการต่างประเทศมากขึ้น หลังจากมีประเด็นเรื่องบอลลูนสอดแนมกับสหรัฐฯ ไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น และกดดันการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงในระยะต่อไป

 

จากการศึกษาพลวัตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปัจจุบัน เทียบเคียงกับช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นในอดีตสองช่วงของเรา พบว่าในปัจจุบันเศรษฐกิจสหรัฐฯ (รวมถึงเศรษฐกิจโลกในภาพใหญ่) กำลังแบ่งเป็น 2 ขั้ว โดยการจ้างงานภาคบริการยังขยายตัวได้ดี โดยยังมีตำแหน่งงานเหลือ แต่การจ้างงานภาคเทคโนโลยีและภาคธุรกิจอื่นๆ มีแนวโน้มที่จะแย่ลงมากขึ้น เช่นเดียวกับตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรม (วัดจากดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมและดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ) และการลงทุนด้านเครื่องมือเครื่องจักรของภาคเอกชนจะแย่ลง แต่เศรษฐกิจภาคบริการจะยังโตได้อีกพักหนึ่ง 

 

นอกจากนั้น เรายังมีข้อสังเกตที่น่าสนใจอีก 3 ประการสำหรับวัฏจักรเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปัจจุบัน กล่าวคือ

 

  1. ดอกเบี้ยขาขึ้นครั้งนี้ขึ้นเร็วและแรงกว่าครั้งก่อนๆ มาก โดยครั้งนี้จะใช้เวลาเพียง 1.25 ปี และขึ้นถึง 5.00% ขณะที่ในช่วงปี 2000 (วิกฤตดอทคอม) และปี 2008 (วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์) นั้น Fed ขึ้นดอกเบี้ยยาวนานกว่า แต่อัตราการขึ้นโดยรวมน้อยกว่าครั้งนี้ 

 

  1. ก่อนดอกเบี้ยจะถึงจุดสูงสุด (Peak) ตลาดแรงงานจะดีมาก แต่หลังจากดอกเบี้ยขึ้นขั้นสุดแล้ว ตลาดแรงงานจะแย่ลงอย่างรวดเร็ว โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตรจะเข้าสู่แดนลบ บ่งชี้ว่าการจ้างงานจะหดตัว และ 

 

  1. ภาพความแข็งแกร่งของภาคการผลิตกับภาคบริการไม่แตกต่างกันระหว่างครั้งนี้กับครั้งก่อนๆ โดยในช่วงดอกเบี้ยถึงจุดสูงสุด จนถึงก่อนลดดอกเบี้ย ภาคการผลิตจะชะลอลง/หดตัวก่อน แต่ภาคบริการจะยังไปได้ แต่เมื่อเศรษฐกิจแย่ Fed จะต้องลดดอกเบี้ย ภาคการผลิตจะฟื้นตัวเร็วกว่าภาคบริการที่จะยังซึมยาว ทำให้กระทบต่อการบริโภคในระยะต่อไป 

 

ด้วยภาพเช่นนี้ เราจึงยังคงเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยภาพที่สำคัญคือ การจ้างงานใหม่จะต้องติดลบ ซึ่งจาก Momentum ณ ขณะนี้ เราเชื่อว่าเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งจะทำให้ Fed ต้องลดดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในวัฏจักรนี้ โดยตัวแปรสำคัญที่ต้องจับตาคือ เงินออมส่วนเกินของชาวอเมริกัน ที่ล่าสุดทางสำนักวิจัย Bloomberg Economics ได้คำนวณว่าอยู่ประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จากจุดสูงสุดที่ประมาณ 2-2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าเงินออมส่วนเกินน่าจะหมดในไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งจะทำให้การใช้จ่ายลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 

 

ภาพดังกล่าวสอดคล้องกับการสำรวจของ Fed สาขานิวยอร์ก ที่พบว่าการก่อหนี้ของชาวอเมริกันเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสที่ 4/22 โดยเพิ่มขึ้น 3.94 แสนล้านดอลลาร์ จากสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อบัตรเครดิตเป็นหลัก ขณะที่อัตราการผิดนัดชำระหนี้ในปัจจุบันกลับมาเท่ากับช่วงก่อนโควิดแล้ว โดยกลุ่มหนุ่มสาวอายุระหว่าง 20-40 ปี (ที่เป็นกำลังซื้อสำคัญ) มีอัตราการผิดนัดชำระหนี้สูงสุดที่ 3-3.5% และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาพเช่นนี้ ท่ามกลางดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้นอย่างรวดเร็วจะกดดันการบริโภค กระทบต่อผลประกอบการบริษัท และการปลดคนงานในระยะต่อไป 

 

กล่าวโดยสรุป เราจึงยังกังวลในภาพเศรษฐกิจโลก ที่จะมีความเสี่ยงมากขึ้นทั้งจาก 1. ทิศทางนโยบายการเงินที่จะยังตึงตัวต่อเนื่องตามความเสี่ยงเงินเฟ้อ 2. เศรษฐกิจภาคการผลิตที่มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง และ 3. ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่มากขึ้น 

 

นักธุรกิจและนักลงทุนทั้งหลาย อย่าเพิ่งวางใจเศรษฐกิจโลก

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

FYI

รวมทุกช่องทาง InnovestX Official ให้คุณได้ติดตามข้อมูลข่าวสารการลงทุนรอบโลก คลิก https://linktr.ee/InnovestX #innovestxresearch

 

เปิดบัญชีลงทุน InnovestX วันนี้!

เปิดครั้งเดียว ลงทุนได้ครบทั้งจักรวาลการลงทุน

 

โหลดเลย

 

#InnovestXapp #จักรวาลการลงทุนในมือคุณ

 

*ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง

 

โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising