พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) เปิดเผย รายงานความเสี่ยงระดับภูมิภาคในการทำธุรกิจทั่วโลก ในส่วนของประเทศไทยมีการจัด 5 อันดับแรก ได้แก่
- เศรษฐกิจฟองสบู่
- ความล้มเหลวของรัฐบาล
- การโจมตีทางไซเบอร์
- ภัยพิบัติทางธรรมชาติและโดยมนุษย์
- ความไม่มั่นคงทางสังคม
ทั้งนี้ถือว่าสอดคล้องไปกับการจัดความเสี่ยงในการทำธุรกิจสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ซึ่งมี 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเทคโนโลยี ด้านภูมิรัฐศาสตร์ และด้านเศรษฐกิจ
โดยจากรายงานการศึกษาดังกล่าว พบว่า เศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบางอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด 7 อันดับแรกของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, จีน, ญี่ปุ่น, เยอรมนี, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศสและอินเดีย (ซึ่งมีสัดส่วนการผลิตรวมคิดเป็น 60% ของการผลิตโลก) มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 รวมทั้งหนี้สาธารณะโดยรวมเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดที่ 225% ของ GDP โลก
ปัจจัยดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของภาคการเงินสาธารณะในทุกภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลเกี่ยวเนื่องต่อความเสี่ยงในด้านอื่น อาทิ การจ้างงาน การจัดสวัสดิการของภาครัฐแก่ประชาชน และราคาพลังงาน เป็นต้น
“ในปี 2562 คาดการณ์ว่าโลกจะมีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกันมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับการพัฒนาในระดับภูมิภาคและระดับโลกในวงกว้าง ความผันผวนทางเศรษฐกิจ ภัยคุกคามที่มีความหลากหลาย และความเสี่ยงต่างๆ จะทำให้แต่ละภูมิภาคมีความจำเป็นต้องร่วมมือกันเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ซึ่งการแก้ปัญหาด้วยความร่วมมือกันในระดับภูมิภาคจะสามารถดำเนินการในมุมมองที่แตกต่างและเติมเต็มการแก้ปัญหาที่เดิมไม่สามารถแก้ไขได้” พิมพ์ชนกกล่าว
โดยสภาเศรษฐกิจโลกได้จัดอันดับความเสี่ยงในการทำธุรกิจทั่วโลกปี 2562 นี้ 10 อันดับแรก ได้แก่
- วิกฤตทางการเงิน
- การโจมตีทางไซเบอร์
- ภาวะการว่างงาน
- วิกฤตราคาพลังงาน
- ความล้มเหลวของรัฐบาล
- ความวุ่นวายทางสังคม
- การโจรกรรมข้อมูล
- ความขัดแย้งระหว่างรัฐ
- การขาดโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ
- เศรษฐกิจฟองสบู่
ทั้งนี้ทางสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้ามองว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการศึกษาเชิงลึกเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการด้านการค้าและการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการต่างประเทศ รวมทั้งหาแนวทางและมาตรการป้องกันและรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมด้วย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า