อีกไม่กี่อึดใจการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซียจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว ในครั้งนี้ถือเป็นฟุตบอลโลกที่น่าจับตามองไม่น้อย เพราะนอกจากบรรดาทีมยักษ์ใหญ่จะขนกันมาเกือบครบ ไม่ว่าจะเป็น เยอรมนี แชมป์เก่า, อาร์เจนตินา รองแชมป์เก่า, บราซิล, สเปน, ฝรั่งเศส, อังกฤษ (ขาดเพียงอิตาลีและเนเธอร์แลนด์ที่ไม่มาตามนัด)
ยังมีทีมม้ามืด ทีมไม้ประดับ และทีมน้องใหม่ ซึ่งล้วนมีความโดดเด่นน่าสนใจอีกมากมายหลายทีม ไม่ว่าจะเป็น โปรตุเกส, เบลเยียม, โครเอเชีย, ไอซ์แลนด์, ปานามา
THE STANDARD ขอแนะนำทีมเหล่านี้ให้ได้รู้จักกันแบบสังเขปครบทั้ง 32 ทีม จะได้ติดตามชมฟุตบอลโลก 2018 ได้อย่างเข้าใจและสนุกยิ่งขึ้น 🙂
Group A: รัสเซีย, ซาอุดีอาระเบีย, อียิปต์, อุรุกวัย
รัสเซีย
ฟีฟ่า แรงกิ้ง: 66
โค้ช: สตานิสลาฟ เชอร์เชซอฟ
ตอนที่รัสเซียได้ตัดสินใจเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก พวกเขาเพิ่งจะผ่านจุดสูงสุดไปโดยเข้าถึงรอบรองชนะเลิศฟุตบอลยูโร 2008 แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาทีม ‘หมีขาว’ กลับตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย ซูเปอร์สตาร์หน้าเก่าโรยรา ขณะที่สตาร์หน้าใหม่ก็แทบไม่มีขึ้นมาประดับวงการอีก ทำให้ต้องใช้ตัวเก่าๆ อย่าง อิกอร์ อคินเฟเยฟ, เซอร์เก อิกนาเชวิช, ยูริ เชียร์คอฟ มารวมกับดาวรุ่งอย่าง อเล็กซานเดอร์ โกโลวิน
สภาพนี้อาจทำให้รัสเซียกลายเป็นทีมเจ้าภาพที่ดูไม่มีความหวังอะไรเลย แต่ด้วยความเป็นเจ้าภาพ รัสเซียอาจจะทำได้ดีกว่าที่หลายคนคาดไว้
ดาวเด่น: อเล็กซานเดอร์ โกโลวิน
เพชรเม็ดงามจากไซบีเรีย เคยเป็นดาวรุ่งอายุน้อยที่สุดในฟุตบอลยูโร 2016 และเป็นดาวรุ่งพรสวรรค์สูงสุดของรัสเซียในยุคนี้ ความสามารถหลากหลาย ขยัน และผ่านบอลได้ดีเยี่ยม
ซาอุดีอาระเบีย
ฟีฟ่า แรงกิ้ง: 67
โค้ช: ฮวน อันโตนิโอ ปิซซี
เหยี่ยวทะเลทราย วุ่นวายไม่น้อยหลังผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายฟุตบอลโลกด้วยการจบอันดับที่ 2 ของทวีปเอเชีย โดยมีการเปลี่ยนแปลงโค้ชหลายรายตั้งแต่ เบิร์ต ฟาน มาร์ไวค์ มาถึง เอ็ดการ์โด เบาซา และมาจบที่ ฮวน อันโตนิโอ ปิซซี อดีตโค้ชผู้พาชิลี ตะลุยโคปาอเมริกา 2016
จุดเด่นของซาอุดีอาระเบีย อยู่ที่ 3 ประสานกองกลางตัวทำเเกม ซาเลม อัล-ดอวซารี, ยาห์ยา อัล-เชห์รี และ ฟาฮัด อัล-มูวัลลัด ที่ล้วนเปี่ยมด้วยพรสวรรค์ แต่มีจุดอ่อนที่เกมรับซึ่งยังไม่เคยเจอบททดสอบของจริงมาก่อน
ดาวเด่น: ฟาฮัด อัล-มูวัลลัด
ปีกที่มีสไตล์การเล่นน่าตื่นตาตื่นใจ ชอบการดวลกับผู้เล่นฝั่งตรงข้าม แม้บางครั้งอาจจะฟอร์มไม่สม่ำเสมอแต่ถ้าจะมีใครสักคนที่สร้างความแตกต่างให้กับซาอุดีอาระเบียได้ต้องเป็น อัล-มูวัลลัด เท่านั้น
อียิปต์
ฟีฟ่า แรงกิ้ง: 46
โค้ช: เฮคเตอร์ คูเปอร์
ทีมจากลุ่มแม่น้ำไนล์ไม่ได้ผ่านเข้ามาถึงรอบสุดท้ายเป็นเวลากว่า 28 ปีแล้ว หลังโชว์ฟอร์มในฟุตบอลโลกครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1990 ที่อิตาลี ซึ่งครั้งนี้กว่าจะผ่านเข้ามาได้ก็ต้องลุ้นกันระทึกจน โมฮัมเหม็ด ซาลาห์ ทำประตูชัยจากลูกจุดโทษให้ชนะ คองโก ในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ
อียิปต์ ปัจจุบันอยู่ใต้การนำของ เฮคตอร์ คูเปอร์ ยอดโค้ชขรัวเฒ่าชาวอาร์เจนตินา ซึ่งมีสไตล์การเล่นที่ชัดเจนด้วยการเน้นความเหนียวแน่น แพ้ยาก และอาศัยทีเด็ดจากเกมโต้กลับ โดยมีความหวังอยู่ที่ซาลาห์
ดาวเด่น: โมฮัมเหม็ด ซาลาห์
นักฟุตบอลที่เด่นที่สุดในรอบปี 2018 ทำผลงานในระดับปรากฏการณ์กับ ลิเวอร์พูล จนได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเตะที่อาจเขย่าบัลลังก์ของ ลิโอเนล เมสซี และ คริสเตียโน โรนัลโด ได้ แม้จะทำให้แฟนใจหายใจคว่ำเมื่อบาดเจ็บบริเวณไหล่ในเกมนัดชิงแชมเปียนส์ลีก แต่ล่าสุดก็กลับมาฟิตเต็มร้อย และพร้อมลงสนามช่วยทีมในฟุตบอลโลกครั้งนี้แน่นอน
อุรุกวัย
ฟีฟ่า แรงกิ้ง: 17
โค้ช: ออสการ์ วอชิงตัน ตาบาเรซ
อดีตแชมป์โลก 2 สมัย เป็นทีมที่มีสตาร์ระดับเวิลด์คลาสหลายคน โดยเฉพาะแนวรุกที่มีทั้ง หลุยส์ ซัวเรซ และ เอดินสัน คาวานี ขณะที่เกมรับก็มีปราการเหล็กกล้าอย่าง ดีเอโก โกดิน คอยประคับประคองอยู่
อุรุกวัยใต้การนำของ ออสการ์ วอชิงตัน ตาบาเรซ ไม่มีจุดอ่อนที่ชัดเจนยกเว้นทางกราบซ้าย คริสเตียน โรดริเกวซ ที่เคยเป็นจอมเลื้อยซ้ายผ่านตลอด ตอนนี้เริ่มผ่านไม่ตลอดเพราะอายุมากถึง 32 ปีแล้ว ทำให้อาจเป็นภาระของ มาร์ติน กาเซเรส ที่ทำให้โดนจู่โจมได้ง่ายขึ้น
ดาวเด่น: เอดินสัน คาวานี
เมื่อฟอร์มของ ‘เอล ปิสโตเลโร’ หลุยส์ ซัวเรซ เริ่มดรอปลงในช่วงที่ผ่านมา แต่ฟอร์มของคาวานียังคงร้อนแรงกับปารีส แซงต์ แชร์กแมง และเป็นคนที่ทีมพึ่งพาได้เสมอ
Group B: โปรตุเกส, สเปน, โมร็อกโก, อิหร่าน
โปรตุเกส
ฟีฟ่า แรงกิ้ง: 4
โค้ช: เฟร์นานโด ซานโตส
แชมป์ฟุตบอลยูโร 2016 และตัวเลขฟีฟ่า แรงกิ้ง ในปัจจุบันทำให้ไม่มีใครกล้ามองข้ามโปรตุเกสอีกต่อไป แม้เฟร์นานโด ซานโตส ยอดโค้ชจะประเมินว่าพวกเขาเป็นทีมในกลุ่มรองลงมาจาก บราซิล, อาร์เจนตินา, สเปน, เยอรมนี และฝรั่งเศส
สำหรับโปรตุเกส ในเวลานี้ไม่ได้มีเพียงแค่ คริสเตียโน โรนัลโด เป็นความหวัง แต่ยังมีตัวดีๆ อย่าง แบร์นาโด ซิลวา เพลย์เมกเกอร์ของทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ รวมถึง อังเดร ซิลวา, เจา มูตินโญ, เจา มาริโอ จอมโหดอย่าง เปเป้ และปีกลายกนกอย่าง ริคาร์โด กวาเรสมา อยู่ด้วย เรียกว่าแกร่งใช้ได้เลย
ดาวเด่น: คริสเตียโน โรนัลโด
CR7 อายุเข้าหลัก 33 ปีแล้ว ถึงจะออกปากว่าจะเล่นฟุตบอลต่อไปถึงอายุ 40 แต่สำหรับฟุตบอลโลกนี่คือโอกาสสุดท้ายที่เขาจะสร้างตำนานให้เหนือกว่า ลิโอเนล เมสซี ด้วยการคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก ซึ่งด้วยฟอร์มในช่วงปี 2018 และความมุ่งมั่นจะพาทีมชนะในนัดชิงชนะเลิศให้ได้เพื่อลบแผลเป็นที่เจ็บในนัดชิงยูโร 2016 โรนัลโด น่าจะแสดงทีเด็ดให้เราได้ดูในครั้งนี้
สเปน
ฟีฟ่า แรงกิ้ง: 8
โค้ช: ยูเลน โลเปเตกี
หลังความตกต่ำในฟุตบอลโลก 2014 และฟุตบอลยูโร 2016 ‘ลา โรฮา’ กลับมาเป็นทีมที่แข็งแกร่งอีกครั้งภายใต้การนำของ ยูเลน โลเปเตกี ซึ่งสร้างทีมด้วยการเติมขุมกำลังรุ่นใหม่เข้ามาโดยยังมีตัวเก่าเก๋าเกมประคับประคอง และสามารถผสมผสานส่วนผสมได้อย่างค่อนข้างลงตัว
สเปน วันนี้อาจไม่ดูแข็งแกร่งจนใกล้เคียงกับคำว่าไร้เทียมทานได้เหมือนในช่วงยุคทอง 2008-2012 ที่คว้าแชมป์เมเจอร์ของโลก 3 รายการติด แชมป์โลก (2010) และแชมป์ยูโร 2 สมัย (2008 และ 2012) แต่ด้วยนักเตะอย่าง ดาบิด ซิลวา, อิสโก, ติอาโก อัลคันทารา, เซร์คิโอ บุสเกตส์, ดีเอโก คอสตา, เซร์คิโอ รามอส, เคราร์ด ปิเก้, ดาวิด เด แฮ และจอมทัพอมตะที่จะลงเล่นในรายการนี้เป็นครั้งสุดท้ายอย่าง อันเดรส อีเนียสตา พวกเขาดีพอที่จะเป็นแชมป์โลกสมัยที่ 2 ได้ ขอเพียงเป็นวันของพวกเขาเท่านั้น
ดาวเด่น: ดาบิด ซิลบา
อันเดรส อิเนียสตา อาจได้รับความสนใจมากกว่า แต่ ดาบิด ซิลวา คือมันสมองที่ สเปนต้องพึ่งพาสำหรับฟุตบอลโลกครั้งนี้ ซิลวาแม้ในวันนี้อาจไม่สดแต่ยังเก๋าและฉลาดพอจะเอาชนะทุกทีมได้อย่างไม่ยากเย็น
โมร็อกโก
ฟีฟ่า แรงกิ้ง: 42
โค้ช: เอร์เว เรนาร์ด
‘สิงโตแอตลาส’ คือสมญาสุดเท่ของ โมร็อกโก ที่หายหน้าหายตาไปจากฟุตบอลโลกมากว่า 20 ปี โดยปรากฏตัวครั้งสุดท้ายในฟุตบอลโลก 1998 ในยุคของมุสตาฟา ฮัดจิ ซูเปอร์สตาร์ในตำนานของชาวโมร็อกกัน
ในฟุตบอลโลกครั้งนี้พวกเขาเน้นสไตล์เกมรับแข็งแกร่งและเกมรุกสวนกลับวูบวาบ มีสตาร์ดาวรุ่งที่น่าจับตามองหลายราย นำโดย ฮาคิม ซิเยค และ ยูเนส เบลฮันดา สองสตาร์จากทีมไอแอ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม ซึ่งก็ทำให้แฟนบอลกังวลเหมือนกันเพราะ ซิเยค มีปัญหากับโค้ชเรนาร์ด จนทำให้เกือบโดนตัดจากทีมแต่ยังดีที่เคลียร์ใจกันได้ทัน
ดาวเด่น: ฮาคิม ซิเยค
“แกเลือกเล่นให้โมร็อกโกทำไม ทั้งที่แกเล่นให้เนเธอร์แลนด์ได้?” มาร์โก ฟาน บาสเทน อดีตโค้ชทีมชาติฮอลแลนด์ ถึงกับบันดาลโทสะใส่ ฮาคิม ซิเยค ที่เคยเล่นให้ทีมอัศวินสีส้มในระดับเยาวชน แต่เปลี่ยนใจเล่นให้โมร็อกโกบ้านเกิดของครอบครัว
ซิเยค เป็นตัวทำเกมในแบบที่ทุกคนรัก และฟุตบอลโลกครั้งนี้คือเวทีที่ชาวโมร็อกโกเชื่อว่าเขาจะแจ้งเกิดได้ไม่แพ้สตาร์คนอื่น
อิหร่าน
ฟีฟ่า แรงกิ้ง: 36
โค้ช: คาร์ลอส เคยรอซ
การไม่ใช่ทีมที่ได้รับการจับตามองมากเป็นข้อดีสำหรับอิหร่าน เพราะเท่ากับพวกเขาจะลงสนามโดยไร้ความกดดันแม้จะอยู่ในกลุ่มที่ยากก็ตาม สำหรับฟุตบอลโลกครั้งนี้ คาร์ลอส เคยรอซ มั่นใจว่าอิหร่านที่ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายฟุตบอลโลกได้ 2 สมัยติดต่อกันเป็นทีมที่ดีกว่าทีมชุด 4 ปีที่แล้วที่บราซิล
จุดเด่นของอิหร่านอยู่ที่พลังทำลายล้างในเกมรุกที่นำโดย ซาร์ดาร์ อัซมูน, อลิเรซา ยาฮันบาคช์, คาริม อันซาริฟาร์ด และ ซามาน ก็อดดอส ซึ่งถึงจะชื่อเรียกยาก แต่หากได้เห็นฟอร์มของพวกเขาในฟุตบอลโลกครั้งนี้ เราอาจจะจำชื่อพวกเขาได้โดยไม่รู้ตัว
ดาวเด่น: ซาร์ดาร์ อัซมูน
‘เมสซี อิหร่าน’ สตาร์วัย 22 ปีที่เล่นให้กับ รูบิน คาซาน ในรัสเซีย ไม่ได้เป็นเพียงกำลังสำคัญในแนวรุกของอิหร่านชุดปัจจุบัน หากแต่ยังเป็นความหวังของชาติอีกด้วย
Group C: ฝรั่งเศส, ออสเตรเลีย, เปรู, เดนมาร์ก
ฝรั่งเศส
ฟีฟ่า แรงกิ้ง: 7
โค้ช: ดิดิเยร์ เดส์ชองส์
นับจากยุคทองที่เคยคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกในปี 1998 และฟุตบอลยูโรในปี 2000 ฝรั่งเศสไม่เคยมีขุมกำลังที่ดีเพียบพร้อมขนาดนี้อีกเลย จนกลายเป็นปัญหาของ เลอ เซอเลคซิยอเนอร์ (โค้ชทีมชาติฝรั่งเศส) ดิดิเยร์ เดส์ชองส์ ที่จัดทีมกันไม่ถูก และกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในช่วงที่ผ่านมา
ในความเห็นใจต่ออดีตกัปตันทีมชุดแชมป์โลกอย่าง เดส์ชองส์ การจัดทีมที่มีนักเตะอย่าง อองตวน กรีซมันน์, คีเลียน เอ็มบัปเป้, อุสมาน เดมเบเล, นาบิล เฟกีร์, โธมัส เลอมาร์, พอล ป็อกบา ฯลฯ อยู่ในทีมเดียวกันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยแม้แต่น้อย
แต่ก็น่าจะเป็นปัญหาที่น่ายินดีกว่าทีมอื่น และไม่ใช่ข้ออ้างหากพลพรรค ‘เลส์ เบลอส์’ จะไปไม่ถึงฝันในฟุตบอลโลกครั้งนี้
ดาวเด่น: อองตวน กรีซมันน์
ท่ามกลางเหล่านักเตะพรสวรรค์มากมายในทีม ความหวังสูงสุดของฝรั่งเศสยังคงอยู่กับ อองตวน กรีซมันน์ ดาวยิงที่ไม่เพียงแต่มีจมูกของนักล่า หากแต่ยังล่าประตูได้ชาญฉลาดเหมือนสุนัขจิ้งจอกจอมเจ้าเล่ห์ ฟุตบอลโลกครั้งนี้คือเวทีที่เขารอคอย กับโอกาสจะได้ก้าวไปสู่การเป็นนักเตะระดับโลกที่แท้จริง
ออสเตรเลีย
ฟีฟ่า แรงกิ้ง: 40
โค้ช: แบร์ต ฟาน มาร์ไวจก์
แบร์ต ฟาน มาร์ไวจก์ ต้องเข้ารับตำแหน่งต่อจาก แองจี ปอสเตโคกลู ที่ประกาศลาออกเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ไม่ใช่ปัญหาสำหรับกุนซือชาวดัตช์ที่มีประสบการณ์สูง โดยฟุตบอลโลกครั้งนี้ ออสเตรเลียไม่ได้มีขุมกำลังที่แข็งแกร่งมากนักจึงต้องเน้นหนักในเรื่องของวินัยในทีม ซึ่งเป็นทางรอดทางเดียวของพวกเขาในฟุตบอลโลกครั้งนี้
ดาวเด่น: อารอน มอย
นักเตะที่ดีที่สุดของทีม ‘จิงโจ้’ ในเวลานี้ มอย สตาร์จากทีมฮัดเดอร์สฟิลด์ ทาวน์ เป็นกำลังสำคัญช่วยพาทีมเข้าถึงรอบสุดท้ายได้ เป็นนักเตะสไตล์ deep-lying playmaker ที่มีจุดเด่นที่การเปิดบอลยาวที่แม่นยำ ซึ่งจะเป็นอาวุธเด็ดของเขาและออสเตรเลีย ขณะที่ยังมีจอมเก๋าอย่าง ทิม เคฮิลล์ พร้อมโฉบหาโอกาสทำประตูในแดนหน้า
เปรู
ฟีฟ่า แรงกิ้ง: 11
โค้ช: ริคาร์โด กาเรกา
ทีมสุดท้ายที่ได้ผ่านเข้าสู่ฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย ด้วยการเอาชนะนิวซีแลนด์ ในเกมเพลย์ออฟ (โดยมีการเล่นของสาปแช่งกันเล็กน้อย) แต่ฮีโร่ของทีมอย่างกัปตัน เปาโล เกร์เรโร ดาวเตะวัย 34 ปีที่เป็นกำลังสำคัญและเป็นขวัญกำลังใจของทีมเกือบจะไม่ได้มาเล่นด้วยหลังโดนคดีตรวจพบว่าใช้โคเคน จนต้องมีการสู้คดีกันอย่างยกใหญ่ ถึงขั้นมีจดหมายเปิดผนึกจากชาติคู่แข่งวิงวอนให้มีการลดโทษแบนให้ ซึ่งสุดท้ายก็สำเร็จ
การกลับมาของ เกร์เรโร แม้จะขาดความฟิตเพราะไม่ได้ลงสนามมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน แต่ก็ส่งผลดีต่อเปรูในแง่ของกำลังใจ ซึ่งยังมีสตาร์รายอื่นๆ ที่พร้อมช่วยทีมอย่าง เจฟเฟอร์สัน ฟาร์ฟาน และนักเตะแนวรับที่แข็งแกร่งเป็นรากฐานของทีมเช่นกัน
ดาวเด่น: เปาโล เกร์เรโร
‘เป็นทุกอย่างให้เปรู’ คือคำจำกัดความที่ดีที่สุดสำหรับ เปาโล เกร์เรโร นักเตะที่เป็นขวัญใจของคนทั้งชาติ แม้อายุอานามจะมากถึง 34 ปีแล้ว และไม่มีใครมั่นใจเรื่องสภาพร่างกาย แต่เกร์เรโรคือนักเตะพิเศษ และสำหรับฟุตบอลโลก ไม่มีอะไรที่ดีไปกว่าการมีนักเตะที่พิเศษแบบนี้ในทีม
เดนมาร์ก
ฟีฟ่า แรงกิ้ง: 12
โค้ช: อาเก ฮารีส
อาเก ฮารีส รับสืบทอดทีมเดนมาร์ก ต่อจากจอมเก๋าอย่าง มอร์เทน โอลเซน และปรับสไตล์ของทีม ‘โคนม’ ใหม่ให้เล่นฟุตบอลไดเรกต์ หรือบอลโยนมากขึ้น แต่ก็มอบอิสระและการสนับสนุนทุกอย่างให้แก่ คริสเตียน อีริคเซน จอมทัพคนสำคัญของทีม
เรื่องที่น่าเสียดายเพียงอย่างเดียวสำหรับเดนมาร์ก คือการที่ นิคลาส เบนท์เนอร์ ได้รับบาดเจ็บก่อนรายการเริ่มไม่นาน และคำเรียกร้องจากแฟนบอลทั่วโลกที่อยากให้ #DelayWorldCup หรือเลื่อนฟุตบอลโลกไปก่อนจนกว่า ‘ท่านลอร์ด’ จะกลับมาไม่เป็นผล….
ดาวเด่น: คริสเตียน อีริคเซน
เพลย์เมกเกอร์ที่เก่งลำดับต้นๆ ของยุโรปเวลานี้ ด้วยพรสวรรค์และเซนส์ฟุตบอลที่ล้นเหลือ หากเดนมาร์กไม่อ่อนปวกเปียกกันเกินไป อีริคเซนก็พร้อมจะสร้างความแตกต่างให้กับทีมได้เสมอ ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งแล้วแต่เขาจะตัดสินใจ
Group D: อาร์เจนตินา, ไอซ์แลนด์, โครเอเชีย, ไนจีเรีย
อาร์เจนตินา
ฟีฟ่า แรงกิ้ง: 5
โค้ช: ฮอร์เก ซัมเปาลี
เลือดตาแทบกระเด็นกว่าจะผ่านเข้ารอบสุดท้ายได้ชนิดต้องลุ้นกันจนถึงช่วงท้ายของรอบคัดเลือก แต่ในที่สุด ลิโอเนล เมสซี ก็พา ‘ฟ้าขาว’ กลับมาฟุตบอลโลกได้อีกครั้ง ครั้งนี้แม้ขุมกำลังและฟอร์มโดยรวมของอาร์เจนตินาจะไม่ถึงกับเข้าตามากนัก และเต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถาม
แต่เมื่อพวกเขามีคำตอบที่ชื่อ เมสซี โจทย์ยากแค่ไหนก็สามารถตอบได้ทั้งนั้น
ดาวเด่น: ลิโอเนล เมสซี
นักฟุตบอลที่ได้รับการยอมรับว่าเก่งที่สุดแห่งยุค แต่ยังขาดเกียรติยศเพียงหนึ่งเดียวที่จะทำให้เขาเข้าใกล้ เปเล และ มาราโดนา ได้คือการคว้าแชมป์โลก ซึ่งหลังอกหักทำได้เพียงรองแชมป์เมื่อ 4 ปีก่อน นี่คือโอกาสสุดท้ายของเมสซีที่จะพิสูจน์สถานะ ‘ราชาลูกหนัง’ ของเขา
ไอซ์แลนด์
ฟีฟ่า แรงกิ้ง: 22
โค้ช: ไฮเมียร์ ฮัลล์กริมส์สัน
ไอซ์แลนด์ และเสียงปรบมือกัมปนาท ‘Thunder Clap’ สร้างความประทับใจให้ทั้งโลกในฟุตบอลยูโร 2016 ส่วนครั้งนี้พวกเขาพร้อมจะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในเวทีที่ใหญ่กว่าเดิมอย่างฟุตบอลโลก ซึ่งจะเป็นการลงเล่นสมัยแรกของพวกเขาด้วย
ประเทศที่มีประชากรเพียงแค่ 330,000 คน เป็นชาติที่เล็กที่สุดในฟุตบอลโลกครั้งนี้ แต่ในเวลาเดียวกันกลับเป็นชาติที่ใจใหญ่ที่สุดด้วยสไตล์การเล่นแบบนักสู้ไวกิ้ง ไม่บู๊เลือดพล่านแต่รบอย่างมีหลักการ และการเล่นเป็นทีมคือหัวใจของพวกเขา
ดาวเด่น: กิลฟี ซิเกิร์ดส์สัน
ผู้กำหนดทิศทางของไอซ์แลนด์คือเพลย์เมกเกอร์ของทีมเอฟเวอร์ตัน ที่มีคุณสมบัติของยอดตัวทำเกมชั้นดี ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคที่ยอดเยี่ยม สายตาที่แหลมคม การอ่านเกมที่ฉลาด และทีเด็ดทีขาดจากลูกยิงไกลและลูกตั้งเตะ
ปัญหาคือซิเกิร์ดส์สันไม่ฟิตเต็มร้อย และสภาพความฟิตของเขาคือตัวแปรผกผันที่สำคัญที่สุดสำหรับไอซ์แลนด์เลยทีเดียว
โครเอเชีย
ฟีฟ่า แรงกิ้ง: 18
โค้ช: ซลัตโก ดาลิช
เป็นทีมที่มีขุมกำลังไม่น้อยหน้ากว่าชาติอื่น เมื่อไล่เรียงชื่อนักเตะอย่าง ลูกา โมดริช, มาริโอ มานด์ซูคิช, อิวาน เปริซิช, อิวาน ราคิติช และอีกหลายสกุลสระ ‘อิช’ ซึ่งหากสู้กันบนหน้ากระดาษโครเอเชียเป็นทีมที่ล้มได้ยากมาก
แต่ฟุตบอลไม่ได้สู้กันบนหน้ากระดาษ ทีมขุนพลตราหมากรุกชุดนี้มี ‘เควสต์’ ที่ต้องทำให้ได้เหมือนรุ่นพี่ที่สร้างปรากฏการณ์เมื่อ 20 ปีก่อนที่ฝรั่งเศสซึ่งสามารถคว้าอันดับ 3 มาครองได้ และนั่นคือความท้าทายสูงสุดของนักเตะโกลเดนเจเนอเรชันของโครเอเชียที่หลายคนเริ่มโรยรา
ดาวเด่น: ลูก้า โมดริช
กองกลางตัวเชื่อมเกมที่ดีที่สุดในโลก หัวใจสำคัญในพื้นที่กลางสนามของโครเอเชีย ที่จะทั้งคอยสอดประสานและสร้างสรรค์เกม สำหรับกองกลางวัย 32 ปี นี่คือโอกาสเดียวที่เขาจะได้มีชื่อจารึกในประวัติศาสตร์ชาติโครแอตเทียบเท่า ซโวนิเมียร์ โบบัน และ ดาวอร์ ซูเคอร์
ไนจีเรีย
ฟีฟ่า แรงกิ้ง: 47
โค้ช: เกร์โนต์ โรร์
ทีมที่ถูกกล่าวถึงอย่างมากในช่วงก่อนฟุตบอลโลกจะเริ่มต้น แต่ไม่ใช่เรื่องของฟอร์มการเล่นซึ่งไม่น่าประทับใจเอาเสียเลย หากแต่เป็นเรื่องของชุดแข่งขันที่ได้รับการยอมรับว่าสวยและ ‘คูล’ ที่สุดในฟุตบอลโลกครั้งนี้ ชนิดที่ยอดสั่งจองในไนจีเรียสูงถึง 3 ล้านตัว (ไม่นับที่พ่อค้าหัวใสมาเหมาเสื้อทำเหมือนจากประเทศไทยไปชิงขายก่อนเสื้อของจริงจะวางจำหน่ายอีกไม่รู้เท่าไร!)
ในฟุตบอลโลกครั้งนี้ ‘ซูเปอร์ อีเกิลส์’ คาดหวังว่าพวกเขาจะกลับมาเป็นทีมจากแอฟริกาที่ได้รับการยอมรับในเวทีโลกอีกครั้งเหมือนเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ซึ่งด้วยขุนพลนักเตะอย่าง จอห์น โอบี มิเกล, โอเกนยี โอนาซี, วิลเฟร็ด เอ็นดิดี, อเล็กซ์ อิโวบี, อาห์เหม็ด มูซา พวกเขาก็มีโอกาสทะลุเข้ารอบได้เหมือนกัน
ดาวเด่น: วิคเตอร์ โมเสส
นักเตะที่เคยเกือบ ‘แจ้งดับ’ ในพรีเมียร์ลีก แต่กลับมา ‘แจ้งเกิด’ ได้อย่างเหลือเชื่อเป็นกำลังสำคัญในทีมเชลซีชุดแชมป์พรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2016-17 วันนี้กับ ไนจีเรีย โมเสสคือสตาร์ที่ทีมฝากความหวังได้กับการลากเลื้อยริมเส้น และพลังขับเคลื่อนที่ไม่มีวันหมด
Group E: บราซิล, สวิตเซอร์แลนด์, คอสตาริกา, เซอร์เบีย
บราซิล
ฟีฟ่า แรงกิ้ง: 2
โค้ช: ติเต้
หลังโดนฆาตกรรมคาบ้านด้วยการแพ้เยอรมนีถึง 7-1 ในรอบรองชนะเลิศเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ติเต้โค้ชคนใหม่สามารถชุบชีวิต ‘ลา เซเลเซา’ ให้กลับมาเป็นสุดยอดทีมได้อีกครั้ง และในครั้งนี้พวกเขาแข็งแกร่งและเติบโตขึ้นจากเดิมอีกมาก
บราซิล ไม่ได้มีแค่พลังในแนวรุกที่มหัศจรรย์อย่าง เนย์มาร์, กาเบรียล เฆซุส, โรแบร์โต้ เฟียร์มิโน และ คูตินโญ เท่านั้น แต่ยังมี แฟร์นันดินโญ, คาเซมิโร, ติอาโก ซิลวา, มาร์ควินญอส และตัวริมเส้นที่เก่งที่สุดในโลกอย่าง มาร์เซโล รวมถึงประตูระดับท็อปอย่าง อลิสซอน และเอแดร์สันอยู่ด้วย
ตามสายตาสื่อ บราซิลคือเต็งสอง แต่ตามความรู้สึกของแฟนบอลเวลานี้ พวกเขาคือเต็งหนึ่ง เหมือนที่เคยเป็นตลอดมา
ดาวเด่น: เนย์มาร์
ถูกปรามาสมากมายเมื่อย้ายหนีบาร์เซโลนาไปอยู่กับปารีส แซงต์ แชร์กแมง ด้วยค่าตัวสถิติโลก แต่เนย์มาร์ไม่ได้ตกต่ำแบบที่หลายคนคาด ตรงกันข้ามเขากลับพัฒนาการเล่นของตัวเองไปอีกระดับในฐานะนักเตะหมายเลข 10 ของทีมที่ทำได้ทุกอย่างไม่ว่าจะสร้างสรรค์เกมด้วยจินตนาการที่คู่แข่งไม่มีทางตามทัน หรือความสามารถในการจบสกอร์ที่ทั้งเหนือชั้นและเฉียบขาดในเวลาเดียวกัน
ถึงจะเจ็บหนักจนต้องลุ้นว่าจะหายทันฟุตบอลโลกหรือไม่ แต่จากฟอร์มที่ได้เห็นใน 2 เกมหลังสุด เนย์มาร์พร้อมยิ่งกว่าพร้อมสำหรับฟุตบอลโลกครั้งนี้ และเขาไม่ต้องการอย่างอื่นนอกจากถ้วยแชมป์สีทองใบนั้น
สวิตเซอร์แลนด์
ฟีฟ่า แรงกิ้ง: 6
โค้ช: วลาดิเมียร์ เพ็ตโควิช
สวิตเซอร์แลนด์ แทบไม่เปลี่ยนแปลงจากชุดยูโร 2016 เลยแม้แต่น้อย แต่ก็เป็นข้อดีที่ วลาดิเมียร์ เพ็ตโควิช โค้ชของทีมพอใจเนื่องจากทีมเติบโตไปพร้อมกัน ทุ่มเทเพื่อกันและกัน และในความเป็นจริงแล้ว แกนหลักของทีมจากแดนนาฬิกาในวันนี้ก็เป็นชุดที่เคยคว้าแชมป์ฟุตบอลเยาวชนโลกรุ่นอายุตำ่กว่า 17 ปี เมื่อปี 2009
ไม่ใช่ทีมในสายตา แต่การจะละสายตาจากสวิตเซอร์แลนด์ ไม่ใช่คำแนะนำที่ดีนัก
ดาวเด่น: เซอร์ดาน ชากิรี
นักเตะพรสวรรค์สูงสุดของทีมนาฬิกา การเล่นให้กับทีมระดับกลางอย่างสโต๊ค ซิตี้ ทำให้เขาไม่ได้รับการยกย่องมากนัก แต่ในทีมสวิตเซอร์แลนด์แล้ว ชาคิรีคือทุกสิ่งทุกอย่าง และเขาพร้อมทำอะไรให้เกิดขึ้นก็ได้ในสนามไม่ว่าจะยิงไกลสุดสนั่นหรือตีลังกายิงแบบน่าอัศจรรย์
คอสตาริกา
ฟีฟ่า แรงกิ้ง: 25
โค้ช: ออสการ์ รามิเรซ
เกมรับที่แข็งแกร่งและเกมสวนกลับที่รวดเร็วคือสิ่งที่ ออสการ์ รามิเรซ โค้ชคนปัจจุบันรับสืบทอดมาจาก ฮอร์เก หลุยส์ ปินโต้ โค้ชคนก่อน ซึ่งพาทีม ‘กล้วยหอม’ (ชื่อฉายาที่น่ารักที่สุดในฟุตบอลโลก) ทะลุเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายมาแล้ว และครั้งนี้คอสตาริกาก็หวังที่จะทำให้ได้ดีไม่แพ้เดิมอีก
ดาวเด่น: เคย์เลอร์ นาวาส
สุดยอดนายทวารที่แจ้งเกิดเมื่อ 4 ปีก่อนจนได้ไปเล่นให้กับทีมระดับสุดยอดของโลกอย่าง เรอัล มาดริด และคว้าแชมป์มากมายทั้งลาลีกา และยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกถึง 3 สมัย แม้จะมีข่าวว่าอาจจะโดน ‘ราชันชุดขาว’ โละทิ้ง แต่ในความเป็นจริงฟอร์มของนาวาสไม่ได้ด้อยไปกว่าเมื่อ 4 ปีก่อนเลย
เซอร์เบีย
ฟีฟ่า แรงกิ้ง: 35
โค้ช: มลาเดน เคิร์สตายิช
อดีตมหาอำนาจของยุโรปตะวันออกได้กลับมาปรากฏตัวในฟุตบอลโลกอีกครั้งหลังพลาดไปเมื่อ 4 ปีก่อน ซึ่งครั้งนี้ถึงแม้ว่าขุมกำลังจะไม่โดดเด่นมากนัก แต่อย่างน้อยพวกเขาก็มีนักเตะอย่าง เนมันยา มาติช, ดูซาน ทาดิช, อเล็กซานเดอร์ มิโตรวิช และนักเตะที่จะถูกทีมยักษ์ใหญ่ไล่ล่าหลังจบฟุตบอลโลกอย่าง เซอร์เกย์ มิลินโควิช-ซาวิช (หรือเรียกกันย่อๆ ว่า SMS) นั่นทำให้เซอร์เบียเป็นทีมที่อาจจะสร้างความประหลาดใจในฟุตบอลโลกครั้งนี้
ดาวเด่น: เนมันยา มาติช
เนมันยา มาติช คือกองกลางตัวรับที่ดีที่สุดคนหนึ่งของโลก และเป็นเสาหลักของเซอร์เบีย ด้วยความแข็งแกร่งของร่างกาย การเข้าสกัดที่แม่นยำและความเยือกเย็นราวกับน้ำแข็ง ซึ่งทำให้เป็นคนสำคัญที่ทีมขาดไม่ได้เลยทีเดียว สิ่งที่หลายคนอาจไม่เคยรู้คือ มาติช นอกจากเก่งในสนามแล้ว นอกสนามยังเป็นฮีโร่ตัวจริงของคนในบ้านเกิดที่เมืองเวนโลด้วย เพราะนอกจากจะช่วยออกเงินให้ทั้งค่าของใช้ ยังเคลียร์หนี้สินการพนัน หรือจ่ายค่าไฟฟ้าแทนชาวเมืองที่ชีวิตประสบปัญหา ซึ่งด้วยความดีของเขาทำให้แฟนๆจะเอาใจช่วยกันสุดพลังแน่นอน
Group F: เยอรมนี, เม็กซิโก, สวีเดน, เกาหลีใต้
เยอรมนี
ฟีฟ่า แรงกิ้ง: 1
โค้ช: โยอาคิม เลิฟ
แชมป์เก่าและเต็งหนึ่งของการแข่งขันในปีนี้ แม้จะมีการผลัดใบของนักเตะรุ่นเก่าที่อำลาไปอย่างกัปตันทีม ฟิลิปป์ ลาห์ม, บาสเตียน ชไวน์สไตเกอร์, แพร์ แมร์เตซัคเกอร์ มาสู่ยุคของนักเตะสายเลือดใหม่ที่นำมาโดย โจชัว คิมมิช, เลออน โกเร็ตซ์กา, ยูเลียน บรันด์ท หรือติโม แวร์เนอร์ แต่อินทรีเหล็กก็ยังมีจอมเก๋าอย่าง โธมัส มุลเลอร์, โทนี โครส, เมซุต โอซิล, ซามี เคดิรา และมานูเอล นอยเออร์ อยู่
ด้วยมันสมองของ โยอาคิม เลิฟ และระดับฝีเท้าของนักเตะเยอรมนี รวมถึงความเป็นทีมที่ชำนาญการด้านการเล่นฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ พวกเขายังคงเป็นตัวเต็งของการแข่งขัน ที่มีโอกาสจะคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 5 เทียบเท่าบราซิล
ดาวเด่น: โทนี โครส
กองกลางที่นิ่งและเหนือที่สุดคนหนึ่งของโลก วันนี้ โทนี โครส คือเสาหลักที่เยอรมนีขาดไม่ได้ แม้ฟอร์มการเล่นอาจไม่โดดเด่นเท่า 4 ปีก่อน แต่นักเตะอย่าง โครส เมื่อถึงเวลาที่ต้องเปล่งประกาย เขาไม่เคยพลาดที่จะฉายแสงเลยสักครั้ง
เม็กซิโก
ฟีฟ่า แรงกิ้ง: 15
โค้ช: ฮวน คาร์ลอส โอโซริโอ
ขาประจำของฟุตบอลโลกโดยผ่านเข้ารอบสุดท้ายและทะลุถึงรอบ 16 ทีมสุดท้ายได้ 6 สมัยติดต่อกัน ซึ่งครั้งนี้ทุกคนในเม็กซิโก ก็คาดหวังว่าทีมเอล ตรีหรือที่คนไทยคุ้นกันในชื่อ ‘จังโก้’ จะทำได้ตามมาตรฐานเก่า
จังโก้อันตรายที่แนวรุกซึ่งมีตัวอย่าง อันเดรส กวาร์ดาโด, คาร์ลอส เวลา, โอริเบ เปรัลตา, เฮอร์วิง โลซาโน และเจ้าถั่วน้อย ฮาเวียร์ ชิชาริโต้ เอร์นานเดซ ซึ่งทุกคนที่กล่าวมาทีมคู่แข่งห้ามประมาทเลยแม้แต่รายเดียว
ดาวเด่น: เฮอร์วิง โลซาโน
ขวัญใจหมายเลขหนึ่งของชาวเม็กซิโกเวลานี้ โลซาโนเป็นปีกที่มีความเร็วจัดจ้าน เปิดบอลได้คม และยากที่คู่แข่งจะตามประกบได้ทันเพราะสามารถเปลี่ยนสปีดการวิ่งได้ตลอดเวลา ในฟุตบอลโลกครั้งนี้ ‘ชัคกี้’ (ฉายาที่เพื่อนตั้งให้ตามชื่อของตุ๊กตานรก เพราะโลซาโนชอบแกล้งเป็นผีใส่เพื่อนๆ) ถูกคาดหมายว่าจะแจ้งเกิดได้อย่างแน่นอน
สวีเดน
ฟีฟ่า แรงกิ้ง: 23
โค้ช: ยานน์ อันเดอร์สัน
นี่คือฟุตบอลโลกครั้งแรกในรอบหลายปีที่พวกเขาจะไม่มี ซลาตัน อิบราฮิโมวิช และนี่คือโอกาสที่ ยานน์ อันเดอร์สัน จะพิสูจน์ให้เห็นว่าทีมของพวกเขาต่อให้ไม่มี ซลาตัน ก็ Dare to Dream ได้
ทีมเวิร์กคือจุดแข็ง ในขณะเดียวกันพวกเขาก็มีเพลย์เมกเกอร์ดีๆ อย่าง เอมิล ฟอร์สเบิร์ก สตาร์จากทีม ไลป์ซิก ในบุนเดสลีกา ที่ทีมยักษ์ใหญ่ทั่วยุโรปจับจ้องกันตาเป็นมัน รวมถึงมาร์คุส เบิร์ก ดาวยิงตัวเก๋าที่ยิงกระจาย 8 ประตูในรอบคัดเลือก
ดาวเด่น: เอมิล ฟอร์สเบิร์ก
เพลย์เมกเกอร์พรสวรรค์ ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลฟอร์สเบิร์ก ที่เส้นทางชีวิตไปได้ไกลกว่าปู่และพ่อ จุดเด่นของเขานอกจากความเร็วคือไหวพริบและการสร้างสรรค์เกมที่ทำให้เขาเป็นจอมแอสซิสต์สูงสุดของลีกระดับท็อปของยุโรปเมื่อฤดูกาล 2016-17
เกาหลีใต้
ฟีฟ่า แรงกิ้ง: 61
โค้ช: ชินแทยอง
ไม่ใช่ยุคทองของโสมขาว เหมือนช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ทีมของชินแทยองก็พกความหวังและความตั้งใจที่ไม่เคยทำร้ายใครมาด้วยเสมอ ประสบการณ์จากการผ่านเข้ามาเล่นในรอบสุดท้ายได้ถึง 9 สมัยติดต่อกันนับตั้งแต่ปี 1986 ทำให้เกาหลีใต้รู้ว่าพวกเขาต้องเจอกับอะไรและต้องทำอะไรเพื่อทำผลงานให้ดีที่สุด
ดาวเด่น: ซอนเฮืองมิน
หนึ่งในสามประสานจากพรีเมียร์ลีก ร่วมกับคีซุงยองและลีชุงยอง แต่ซอนเฮืองมิน เป็นทั้งกองหน้าที่เล่นได้ทุกตำแหน่งในแนวรุกและความหวังสูงสุด ด้วยความเร็วปานกามนิตหนุ่ม ความแข็งแกร่ง และการหาพื้นที่ที่ยอดเยี่ยมทำให้เขาคือนักเตะที่อันตรายที่สุดของเกาหลีใต้ที่คู่แข่งห้ามกระพริบตา
Group G: เบลเยียม, ปานามา, ตูนิเซีย, อังกฤษ
เบลเยียม
ฟีฟ่า แรงกิ้ง: 3
โค้ช: โรแบร์โต มาร์ติเนซ
‘ม้ามืดตลอดกาล’ คือสมญาที่เบลเยียมไม่ได้ชอบนัก และฟุตบอลโลกครั้งนี้พวกเขาหวังจะสลัดภาพจำนี้ไปเสียที เพราะทีมปีศาจแดงแห่งยุโรปในเวลานี้มีขุมกำลังที่แข็งแกร่งและดีไม่แพ้ทีมเต็งรายอื่นๆ เลย ไม่ว่าจะ เอเดน อาซาร์, โรเมลู ลูกากู, ดรีส์ เมอร์เทนส์, เควิน เดอ บรอยน์, มูซา เดมเบเล, ยูริ ติเลอม็องส์ ไปจนถึงแนวรับอย่าง แยน แฟร์ตองเกน, แว็งซองต์ กอมปานี หรือ ติโบต์ กูร์ตัวส์
นี่คือยุคทองของวงการฟุตบอลเบลเยียม และเป็นหนึ่งในทีมที่มีแฟนบอลแอบเอาใจช่วยมากที่สุดของฟุตบอลโลกครั้งนี้
ดาวเด่น: เควิน เดอ บรอยน์
จากดาวรุ่งที่ถูกเชลซีเมิน สู่การเป็นคีย์แมนในการพาแมนเชสเตอร์ ซิตี้คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก วันนี้เควิน เดอ บรอยน์ คือกองกลางที่ครบเครื่องที่สุดคนหนึ่งของโลกสามารถทำได้ทุกอย่าง และจะเป็นทุกสิ่งในแดนกลางของเบลเยียมในฟุตบอลโลกหนนี้
ปานามา
ฟีฟ่า แรงกิ้ง: 55
โค้ช: เฮอร์นัน ดาริโอ โกเมซ
ไม่มีใครคิดว่าปานามาจะผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกได้ แต่พวกเขาก็ทำได้ด้วยการเขี่ยสหรัฐอเมริกาให้ร่วงตกรอบไปแบบแทบไม่มีใครเชื่อและได้เข้ารอบฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรก ถึงแม้ว่าทีมที่ฟังชื่อแล้วคิดถึงเพลงติดหูชื่อดังช่วงก่อนหน้านี้อาจจะไม่มีอะไรดีเด่นเหมือนทีมอื่นเขา แถมน่าเสียดายอยู่ที่ โรมัน ตอร์เรส ดาวยิงเบอร์หนึ่งของทีมเกิดบาดเจ็บ แต่สิ่งที่เราจะได้เห็นจากปานามา คือความเป็นนักสู้ที่ทุ่มเทจนหยดสุดท้ายตั้งแต่เสียงนกหวีดแรกจนถึงเสียงนกหวีดสุดท้าย
ดาวเด่น: หลุยส์ เตยาดา
อายุเป็นเพียงตัวเลขสำหรับ หลุยส์ เตยาดา ดาวยิงวัย 36 ปีเจ้าของสมยามาทาดอร์ที่จะเป็นความหวังในแนวรุกของปานามาในฟุตบอลโลกครั้งนี้ ซึ่งเขาตั้งใจที่จะลงเล่นรายการนี้เป็นรายการสุดท้ายในชีวิตก่อนจะอำลาทีมชาติ
ตูนิเซีย
ฟีฟ่า แรงกิ้ง: 14
โค้ช: นาบิล มาลูล
ไม่เด่นไม่ดังแต่ดีสม่ำเสมอสำหรับตูนิเซีย ชาติจากแอฟริกาที่ผ่านเข้ามาถึงฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้เป็นสมัยที่ 5 แล้ว และเป็นการกลับมาครั้งแรกในรอบ 12 ปี ซึ่งครั้งนี้พวกเขาเข้ารอบโดยไม่แพ้ใครเลย
ตูนิเซียชุดนี้เน้นสายเลือดใหม่ที่นำมาโดยวาห์บิ คาซรี และตัวทำเกมอย่าง ยูสเซฟ เอ็มซาคนี โดยเป้าหมายครั้งนี้พวกเขาหวังแค่ชนะให้ได้สักนัดก็เพียงพอ
ดาวเด่น: วาห์บิ คาซรี
อาจเป็นนักเตะส่วนเกินของทีมที่ย่ำแย่อย่างซันเดอร์แลนด์ ที่ส่งเขาให้แรนส์ สโมสรในฝรั่งเศสยืมตัวใช้งาน แต่กับทีมชาติแล้วคาซรีสำคัญเสมอ เพราะเป็นนักเตะที่เล่นได้ทั้งตัวริมเส้นหรือศูนย์หน้า มีความแข็งแกร่ง ฉลาด เคลื่อนที่ดี และยิงได้หนักหน่วง ทำให้เขาคือความหวังของชาวตูนิเซีย
อังกฤษ
ฟีฟ่า แรงกิ้ง: 13
โค้ช: แกเร็ธ เซาธ์เกต
สิงโตคำรามกลายเป็นทีมที่ไม่มีใครให้ราคาในยุคนี้ ซึ่งเป็นผลจากผลงานในฟุตบอลรายการใหญ่ที่ทำให้ทุกคนผิดหวังทั้งๆ ที่มีลีกอาชีพที่ดีที่สุดในโลก
แต่การที่ไม่เป็นที่คาดหวังของใครก็อาจเป็นข้อดีสำหรับอังกฤษ ซึ่งความจริงก็มีขุมกำลังที่ไม่ขี้เหร่นัก ไม่ว่าจะ แกรี เคฮิลล์, ไคล์ วอล์กเกอร์, จอห์น สโตนส์, เอริค ดายเออร์, จอร์แดน เฮนเดอร์สัน, เดเล อัลลี, เจสซี ลินการ์ด, ราฮีม สเตอร์ลิง, เดนนี เวลเบ็ก, มาร์คัส แรชฟอร์ด และแฮร์รี เคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสายเลือดใหม่ เป็นนักเตะแห่งอนาคตที่ถูกคาดหมายว่าจะเติบโตและนำทีมลุ้นความสำเร็จในวันข้างหน้า
ดาวเด่น: แฮร์รี เคน
เสียหน้าและโดนถล่มไม่น้อยกับกรณี ‘เคลม’ ประตูในพรีเมียร์ลีก แต่แฮร์รี เคนก็พิสูจน์จิตใจแข็งแกร่งของเขาให้เห็นและตอกหน้าทุกคนด้วยการถล่มประตู ในฟุตบอลโลกครั้งนี้ เคนคือความหวังสูงสุดของทีมอังกฤษ ส่วนจะไปได้ไกลแค่ไหนก็อยู่ที่กัปตันทีมคนใหม่ว่าจะทำได้ดีแค่ไหน
Group H: โปแลนด์, เซเนกัล, โคลอมเบีย, ญี่ปุ่น
โปแลนด์
ฟีฟ่า แรงกิ้ง: 10
โค้ช: อดัม นาวาลก้า
เชื่อหรือไม่หากบอกว่านี่คือทีมอันดับ 10 ในฟีฟ่าเวิลด์แรงกิ้ง และทำผลงานชนะ 8 จาก 10 นัดในรอบคัดเลือก โดยเฉลี่ยแล้วยิงได้นัดละ 2.8 ประตูต่อเกม
โปแลนด์กลับมาเล่นฟุตบอลโลกได้อีกครั้งหลังห่างหายไปกว่า 12 ปีได้อย่างเต็มภาคภูมิ ซึ่งทีมภายใต้การนำของ อดัม นาวาลก้า หวังสานต่อผลงานที่น่าประทับใจหลังทะลุเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายในฟุตบอลยูโร 2016 เมื่อ 2 ปีก่อน ด้วยสไตล์เกมรุกที่น่าตื่นตาตื่นใจ แม้จะแลกมาด้วยเกมรับที่อ่อนแอก็ตาม
ดาวเด่น: โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้
ดาวยิงฉบับ ‘หมายเลข 9’ ที่ครบเครื่องที่สุดคนหนึ่งของโลก ฟุตบอลโลกหนนี้คือโอกาสสุดท้ายที่เลวานดอฟสกี้จะแสดงความสามารถของเขาให้เห็น (ฟุตบอลโลกครั้งหน้าจะอายุ 34 ปี) ซึ่งถ้าวัดจากผลงาน 16 ประตูในรอบคัดเลือกแล้ว ดาวยิงจากบาเยิร์น มิวนิค ก็น่าจะทำได้ดีไม่น้อยในรัสเซีย
เซเนกัล
ฟีฟ่า แรงกิ้ง: 28
โค้ช: อาลิยู ซิสเซ
เคยสร้างความฮือฮาในฟุตบอลโลก 2002 ที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ด้วยขุนพลตัวแสบอย่าง เอล ฮัดจิ ดิยุฟ และ ซาลิฟ ดิเยา วันนี้เซเนกัล ไอ้เสือร้ายแห่งแอฟริกากลับมาสู่ฟุตบอลโลกอีกครั้ง ซึ่งก็ยังนำมาโดยสตาร์จากทีมลิเวอร์พูลอย่าง ซาดิโอ มาเน อยู่ดี
แต่นอกจากมาเน พวกเขายังมีดาวเด่นที่กระจายในทีมระดับท็อปของยุโรปอีกหลายราย ไม่ว่าจะ คาลิดู คูลิบาลี, ปาเป้ เอ็นดิอาย, อิดริสซา กานา เกย์, ชีคคู คูยาเต้, มาเม บิราม ดิยุฟ หรือเกอิตา บัลเด เรียกว่าน่าจะแกร่งที่สุดในบรรดาทีมจากทวีปแอฟริกาในฟุตบอลโลกครั้งนี้เลย
ดาวเด่น: ซาดิโอ มาเน
ฤดูกาลที่ผ่านมา ซาดิโอ มาเน อาจจะถูกโม ซาลาห์กลบรัศมีซะมิด แต่เขาก็ยังเป็นหนึ่งในกองหน้าที่อันตรายที่สุด ด้วยความปราดเปรียวเหมือนเสือดำ แถมยังแข็งแกร่งและมีเขี้ยวเล็บที่เฉียบคม มาเนเป็นหนึ่งในนักเตะไม่กี่คนในโลกที่เหมือนมีพลังพิเศษที่สร้างความแตกต่างให้ทีมได้ด้วยตัวเอง
โคลอมเบีย
ฟีฟ่า แรงกิ้ง: 16
โค้ช: โฮเซ เปเกร์มัน
หลังสร้างความเซอร์ไพรส์ไว้ในฟุตบอลโลกเมื่อ 4 ปีก่อน ครั้งนี้โคลอมเบียกลับมาใหม่โดยยังมีซูเปอร์สตาร์หน้าเก่าอย่าง ฮาเมส โรดริเกวซ และ ราดาเมล ฟัลเกา นำทัพ ซึ่งมีขุมกำลังที่แข็งแกร่งและดีไม่ดีแอบมีลุ้นเป็นม้ามืดกับเขาได้เหมือนกัน
ดาวเด่น: ฮาเมส โรดริเกวซ
มิดฟิลด์หน้าหยกที่มีอีซ้ายฟ้าสั่ง ฮาเมส กลับมาคืนฟอร์มเก่งได้ทันเวลาในฤดูกาลที่ผ่านมากับบาเยิร์น มิวนิค หลังโดนดองจนเค็มในทีมเรอัล มาดริด ด้วยเท้าซ้ายที่เฉียบขาด จบสกอร์ได้หนักหน่วง และเปิดบอลได้แม่นยำ ฮาเมส คือขีปนาวุธที่พร้อมทำลายล้างทุกทีมไม่ว่าจะทีมไหนก็ตาม
ญี่ปุ่น
ฟีฟ่า แรงกิ้ง: 60
โค้ช: อากิระ นิชิโนะ
ญี่ปุ่น ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อปลด วาฮิด ฮาลิลฮอดซิช โค้ชที่พาทีมเข้ารอบสุดท้ายได้เมื่อเดือนเมาายน และตั้ง อากิระ นิชิโนะ โค้ชขรัวเฒ่าเข้ามาทำทีมแทน เพียงแต่ทีมจากแดนซามูไรในวันนี้ก็ไม่ต่างจากเกาหลีใต้ที่ขุมกำลังไม่ได้ดูแกร่งเหมือนยุคก่อนเพราะไม่มีตัวชูโรงเหมือนเก่า
แต่อย่างน้อยญี่ปุ่นยังมี ชินจิ คางาวะ, เคสุเกะ ฮอนดะ และ ชินจิ โอคาซากิ ซึ่งนอกจากมีฝีเท้าที่ดียังมีประสบการณ์ในลีกยุโรปสูงด้วย และอาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นเข้ารอบลึกๆ ได้ในครั้งนี้
ดาวเด่น: ชินจิ คางาวะ
ซูเปอร์สตาร์ของญี่ปุ่น มีแฟนๆ ติดตามในทวิตเตอร์สูงกว่าคนอื่น และเป็นความหวังของทีม คางาวะเคยถูกตัดจากทีมในยุคของฮาลิลฮอดซิช แต่ได้โอกาสกลับมาหลัง นิชิโนะ เข้ามาคุมทีมแทน ซึ่งด้วยพรสวรรค์ในการสร้างสรรค์เกม และทีเด็ดทีขาดไม่ว่าจะลูกเปิดหรือลูกยิง เขาคือ ‘กัปตันซึบาสะ’ ในชีวิตจริงของชาวเมืองอาทิตย์อุทัยเลย