สถานีโทรทัศน์ BBC ของอังกฤษรายงานว่า David Malpass ประธานเวิลด์แบงก์ หรือธนาคารโลก ได้ออกมาเตือนบรรดาผู้นำทั้งหลายที่เห็นชอบกับแกนนำอย่างสหรัฐฯ ในการออกมาตรการกำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำทั่วโลก โดยมองว่าอัตราภาษีที่เสนอที่ 21% นี้อยู่ในระดับที่สูงเกินไป
ผลลัพธ์ข้างต้นทำให้ Malpass กังวลว่า กฎระเบียบใหม่ตัวนี้จะกลายเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงต่อความสามารถในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศของบรรดาประเทศยากจน
สำหรับความเห็นครั้งนี้มีขึ้นหลังจากเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ออกมาเปิดเผยว่า รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังดำเนินการร่วมกับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ 20 ประเทศ หรือ G20 เพื่อบรรลุข้อตกลงในการกำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำสำหรับภาคธุรกิจในระดับโลก หวังแก้ปัญหาการที่หลายประเทศทั่วโลกพยายามแข่งขันกันกำหนดอัตราภาษีสำหรับภาคธุรกิจในระดับต่ำที่สุด เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เยลเลนตั้งเป้าให้ที่ประชุมสนับสนุนมาตรการกำหนดภาษีขั้นต่ำทั่วโลกไว้ที่ 21% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกซึ่งอยู่ที่ 24%
สำหรับการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมนอกรอบการประชุมประจำปีทางออนไลน์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกในสัปดาห์นี้ โดยกฎเกณฑ์ใหม่ด้านภาษีระหว่างประเทศ รวมถึงอัตราภาษีขั้นต่ำสำหรับบริษัทที่ดำเนินงานทั่วโลก โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีทางอ้อมโดยใช้ประโยชน์จากดินแดนที่เก็บภาษีต่ำถือเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญ
โดยการหารือเกี่ยวกับอัตราภาษีโลกจะเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาระหว่างประเทศที่นำโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และ G20 พร้อมประเทศที่เกี่ยวข้องเกือบ 140 ประเทศ เพื่อหวังแก้ปัญหา ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่า บริษัทดิจิทัลยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Google และ Apple ไม่ได้จ่ายภาษีอย่างยุติธรรม โดย OECD เสนอให้จัดเก็บภาษีขั้นต่ำที่ 12.5%
ประเทศที่เข้าร่วมนั้นตั้งเป้าที่จะบรรลุข้อสรุปที่ประสบความสำเร็จให้ได้ภายในกลางปีนี้ โดยสหรัฐฯ ย้ำชัดเจนว่า ความสำเร็จของแผนปฏิรูปภาษีขั้นต่ำนี้จะช่วยให้การดำเนินการเจรจาการค้าและการทำธุรกิจระหว่างประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ประธานเวิลด์แบงก์ย้ำปิดท้ายว่า สิ่งสำคัญที่สุดในเวลานี้ก็คือการทำให้นานาประเทศทั่วโลกเดินหน้าเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งมั่นคง ซึ่งแน่นอนว่าการจัดเก็บภาษีเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ก็จำเป็นต้องมีกรอบปัจจัยทางกฎหมายที่จะเข้ามาช่วยดึงดูดนักลงทุนให้เข้าไปลงทุนในประเทศยากจน
ทั้งนี้ กลุ่ม G20 ประกอบด้วย อาร์เจนตินา, ออสเตรเลีย, บราซิล, สหราชอาณาจักร, แคนาดา, จีน, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อินเดีย, อินโดนีเซีย, อิตาลี, ญี่ปุ่น, เม็กซิโก, รัสเซีย, ซาอุดีอาระเบีย, แอฟริกาใต้, เกาหลีใต้, ตุรกี, สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง:
- https://www.bbc.com/news/business-56666001