ธนาคารโลก (World Bank) เปิดตัว ‘รายงานการตามติดเศรษฐกิจไทย (Thailand Economic Monitor) กุมภาพันธ์ 2568: ปลดล็อกการเติบโต-นวัตกรรม SMEs และสตาร์ทอัพข้อค้นพบที่สำคัญ’ โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 2.9% ในปี 2568 (โดยตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมผลกระทบที่อาจเกิดจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ เข้าไป เนื่องจากธนาคารโลกมองว่ายังมีความไม่แน่นอนสูงมาก) โดยประมาณการดังกล่าวนับว่าขยับขึ้นจากประมาณการ 2.6% ในปี 2567
โดยแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมาจากการลงทุนที่ฟื้นตัว โดยได้รับการสนับสนุนจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่สูงขึ้น (จากฐานที่ต่ำในปีก่อน เนื่องจาก พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ. 2567 ล่าช้าไป) และการดำเนินโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ในแผน
นอกจากนี้ การท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนยังคงมีบทบาทสำคัญ โดยคาดว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิดภายในกลางปี 2568 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 40 ล้านคน จาก 35.3 ล้านคนในปี 2567
ธนาคารโลกยังประเมินผลจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะแรกเมื่อปี 2567 โดยจากการประเมินเบื้องต้นคาดว่า มีส่วนช่วยให้ GDP เติบโตขึ้น 0.3% ในปี 2567 อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวมีต้นทุนทางการคลังสูงถึง 145,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.8% ของ GDP
กระนั้น ธนาคารโลกยังย้ำว่าการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจเป็นสิ่ง ‘จำเป็น’ เพื่อกระตุ้นการเติบโตในระยะยาว โดยหากไม่มีการปฏิรูปนโยบายอย่างเร่งด่วน คาดว่าอัตราการเติบโตตามศักยภาพของไทยจะลดลงจากค่าเฉลี่ย 3.2% ในช่วงปี 2554-2564 เหลือ 2.7% ในช่วงปี 2565-2573 ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายการในการเป็นประเทศรายได้สูง
ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ไทยจึงควรใช้นโยบายการเงินและการคลังที่ ‘ผ่อนคลาย’ จึงจะเหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน รวมทั้งการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเจาะจง (Targeted) ก็เป็นเรื่องจำเป็น
ดร.เกียรติพงศ์ ประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ 2.25% ต่อปีนี้ อยู่ใกล้ระดับเป็นกลาง (Neutral) มากแล้ว แต่ย้ำว่าการพิจารณา Neutral Rate ถือว่ายากมาก แต่ระดับปัจจุบันถือว่าใกล้เคียง สะท้อนว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ตลอดทั้งปี ยกเว้นสถานการณ์เศรษฐกิจจะเปลี่ยนไป กล่าวคือหากเศรษฐกิจไทยเจอกับช็อก (Shock) ใหม่ๆ จนทำให้ชะลอลงมากกว่าคาด ในกรณีนั้นๆ กนง. จึงอาจลดดอกเบี้ย
สำหรับนโยบายทางการคลัง ประเทศไทยจำเป็นต้องมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือทางสังคมอย่างตรงเป้าหมาย ผ่านการเพิ่มการระดมรายได้จากภาษี และเร่งการลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และทุนมนุษย์ เพื่อกระตุ้นการเติบโตของภาคเอกชน
ขณะที่ท่าทีทางนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างระมัดระวังถือเป็นสิ่งจำเป็นในการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นการบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือนอย่างตรงเป้าหมายควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน