×

World Bank ประเมินความเสียหายด้านสุขภาพจาก PM2.5 ทุบเศรษฐกิจไทยถึง 6% ของ GDP แนะใช้กลไก Carbon Pricing แก้ปัญหา

14.12.2023
  • LOADING...

World Bank เผยความเสียหายต่อสุขภาพจาก PM2.5 ทำให้ ‘ไทย’ เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 6% ของ GDP พร้อมระบุอีกว่าไทยควรใช้กลไก Carbon Pricing มากขึ้น และจำเป็นต้องมีความทะเยอทะยานเชิงนโยบายมากกว่านี้ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้

 

ธนาคารโลก (World Bank) เปิดตัวรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย (Thailand Economic Monior) ฉบับธันวาคม 2566 เส้นทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย: บทบาทของการกำหนดราคาคาร์บอน โดยระบุว่า มลพิษทางอากาศเป็นปัญหาสำคัญทางเศรษฐกิจและสาธารณสุขของประเทศไทย โดยในปี 2562 ความเสียหายต่อสุขภาพที่มาจากการสัมผัสมลพิษ PM2.5 ทำให้ประเทศไทยเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 6% ของ GDP ดังนั้นการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและการกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) จะช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศในเมือง ส่งผลให้อัตราการเจ็บป่วยลดลงได้

 

โดยในบทความพิเศษของรายงานพบว่าการกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) ไม่ว่าจะผ่านภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) หรือระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emissions Trading Systems: ETS) มีความสำคัญอย่างยิ่งในการบรรลุเป้าหมายอันทะเยอทะยานในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30% ภายในปี 2573

 

อย่างไรก็ตาม เป้าหมาย Net Zero ของไทยยังช้ากว่าเป้าหมายที่ประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่กำหนดไว้ เช่น กัมพูชา (2593), เวียดนาม (2593), สปป.ลาว (2593), มาเลเซีย (2593), สิงคโปร์ (2593) และอินโดนีเซีย (2603)

 

แนะไทยใช้กลไกกำหนดราคาคาร์บอนมากขึ้น

 

World Bank ระบุว่า ประเทศไทยอาจใช้การกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) มากขึ้น เพื่อรักษาระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่จะต้องมีมาตรการเพิ่มเติม หรือตั้งราคาคาร์บอนที่สูงมากขึ้น

 

สำหรับตัวอย่างมาตรการเพิ่มเติม เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐานของรถยนต์ไฟฟ้าหรือการฝึกอบรมการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ สามารถเร่งการนำเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำมาใช้ได้

 

“ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายหลายประการเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และได้ดำเนินการขั้นแรกเพื่อให้การกำหนดราคาคาร์บอนอย่างครอบคลุม การซื้อ-ขายการปล่อยก๊าซภาคสมัครใจได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 นโยบายเหล่านี้แม้จะช่วยจำกัดการเติบโตของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคต แต่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีความทะเยอทะยานเชิงนโยบายเพิ่มขึ้นเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายในปัจจุบัน” รายงานระบุ

 

ไทยควรมุ่งทางไหน Carbon Tax vs. ETS?

 

รายงานระบุว่า ทั้งภาษีคาร์บอนและระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ETSs) แต่ละรูปแบบมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป

 

โดยภาษีคาร์บอนนั้นดำเนินการได้ง่ายและไม่ต้องมีการพัฒนาเชิงสถาบันมากนัก

 

อย่างไรก็ตาม ETS มีความเป็นไปได้ทางการเมืองมากกว่าในบางประเทศ และประเทศไทยสามารถต่อยอดจาก ETS ภาคสมัครใจที่มีการดำเนินการอยู่แล้วได้

 

หรือจะใช้นโยบายแบบผสมผสานก็อาจเป็นไปได้เช่นกัน ทางเลือกใดจะเหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุดนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ เช่น ความครอบคลุมรายสาขาของนโยบายและศักยภาพในการใช้รายได้ที่สร้างขึ้น

 

World Bank แนะรัฐบาลไทยเลิกสร้างความสับสนทางนโยบาย

 

อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า ความเป็นไปได้และประสิทธิภาพของภาษีคาร์บอนและ ETS อาจลดลงตามผลของนโยบายมหภาคและนโยบายรายภาคการผลิตที่มีอยู่ในปัจจุบัน

 

ยกตัวอย่างเช่น หากมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานฟอสซิล (เช่น น้ำมันดีเซลและก๊าซธรรมชาติ) ยังคงอยู่ จะทำให้เกิดความสับสนในการส่งสัญญาณด้านราคา และทำให้ประสิทธิภาพของการกำหนดราคาคาร์บอนลดลง

 

ดังนั้นการยกเลิกเพดานราคาและการอุดหนุนราคาจะเป็นหนึ่งในมาตรการแรกเริ่มสำหรับการสร้างตลาดคาร์บอน

 

ไทยสามารถนำรายได้จากการกำหนดราคาคาร์บอนไปสร้างประโยชน์อย่างไร?

 

World Bank ระบุว่า รายได้ที่เกิดจากการกำหนดราคาคาร์บอนสามารถนำไปใช้เป็นเงินทุนสนับสนุนนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศอื่นๆ หรือเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายสาธารณะ ตัวอย่างเช่น ราคาคาร์บอนอาจช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้งบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ

 

World Bank กล่าวอีกว่า ไม่ใช่แค่ภาษีคาร์บอนที่สร้างรายได้ให้กับรัฐบาล แต่ ETS ก็อาจสร้างรายได้ด้วยเช่นกัน หากรัฐบาลมีการประมูลส่วนลดทางการค้าในขั้นต้น

 

โดยรายได้จากเครื่องมือเหล่านี้สามารถนำไปใช้เป็นทุนสำหรับนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศอื่นๆ ได้ หรืออาจใช้เพื่อชดเชยผลกระทบเชิงลบบางประการของการกำหนดราคาคาร์บอน เช่น ช่วยเหลือครัวเรือนเปราะบางหรืออุตสาหกรรมที่เปิดกว้างทางการค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising