×

โลกแห่งความอลหม่าน มอง 7 ประเด็นใหญ่ที่ต้องจับตาในเวทีโลกปี 2018 กับ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

30.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

14 Mins. Read
  • ความพ่ายแพ้ของกระแสประชานิยมปีกขวาใน 3 จุดสำคัญของปีที่ผ่านมา อาจเป็นความโชคดีในสายตาของหลายฝ่าย ที่ยุโรปยังไม่ถึงกับเฉียดเข้าใกล้ยุโรปแบบปี 1933 ที่ฮิตเลอร์ก้าวขึ้นสู่อำนาจและปะทุออกมากลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะพวกเขามองว่าที่ผ่านมาฮิตเลอร์ก็คือต้นแบบของกระแสประชานิยมปีกขวาชุดเดิม ทำให้กระแสของปีกขวานี้น่าจับตาไม่น้อยในเกมการเมืองโลกปี 2018
  • การจะให้เกาหลีเหนือละทิ้งโครงการอาวุธนิวเคลียร์แต่โดยดีเป็นไปได้ยาก เนื่องจากอาวุธนิวเคลียร์เป็นเพียงหลักประกันเดียวที่จะช่วยปกป้องผลประโยชน์สูงสุดของเกาหลีเหนือไว้ได้ ด้วยบุคลิกลักษณะของผู้นำทั้งสองประเทศที่คาดเดาได้ยาก และสงครามน้ำลายที่เกิดขึ้นบนเวทีโลกทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าสหรัฐฯ อาจเลือกใช้มาตรการชิงโจมตีก่อน
  • การเข้าใกล้ความสำเร็จของกาตาลุญญากำลังจะเป็นแรงกระตุ้นคนทั่วโลกที่ฝันอยากจะมีรัฐที่เป็นอัตลักษณ์ของตนเอง ถ้าท้ายที่สุดกาตาลุญญากลายเป็นรัฐเกิดใหม่ได้สำเร็จก็อาจเกิดการแยกตัวเป็นรัฐเกิดใหม่ในอีกหลายพื้นที่ตามมา โดยเฉพาะยุโรป หรือแม้แต่พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
  • หากเรายังมีความคิดชุดเดิม เราจะอยู่ในโลกสมัยใหม่ด้วยความกลัว จะถวิลหาโลกเก่าที่ไม่เป็นจริง สุดท้ายความกลัวชุดนี้จะกลายเป็นความกลัวทางการเมือง ทำให้การเมืองไทยในระบบเปิดเดินต่อไปไม่ได้ ในโลกที่เกิดเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเช่นนี้ ‘จงอยู่บนโลกด้วยความเข้าใจโลก เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลก และอย่ากลัวความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น’

หากเรามองย้อนกลับไปตั้งแต่ต้นปี 2017 จะพบว่ามีเหตุโกลาหลวุ่นวายและความเปลี่ยนแปลงมากมายเกิดขึ้นตลอดทั้งปี นับตั้งแต่การเข้ารับตำแหน่งของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในฐานะผู้นำประเทศมหาอำนาจแถวหน้าของเวทีโลกอย่างสหรัฐฯ ที่พร้อมจะพัดพากระแสการเมืองโลกให้หันขวามากยิ่งขึ้น ตลอดจนวิกฤตการณ์ต่างๆ ทั้งจากภัยก่อการร้าย ปัญหาผู้อพยพ สงคราม ความรุนแรง ค่านิยมสุดโต่ง หรือแม้แต่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม


สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนกำลังท้าทายและตั้งคำถามกับระเบียบโลกเสรีนิยมชุดเดิม คำถามสำคัญคือท่ามกลางกระแสการเมืองโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่งเช่นนี้ มีประเด็นใดบ้างที่น่าจับตามองที่สุด แล้วเราในฐานะคนไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลกจะเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในปี 2018 นี้อย่างไร

 


THE STANDARD ตั้งวงสนทนากับ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อหาคำตอบ…

 

“ช่วงปี 2017-2018 โลกจะมีอาการเดียวกันคือ ‘ความอลหม่าน’ หรืออาจจะเรียกว่าเป็น The Turbulent Year ถ้ามองจากปี 2017 เราจะเห็นแนวโน้มของสถานการณ์หลายอย่างอยู่พอสมควร เพราะฉะนั้นปีหน้าจะเป็นปีหัวเลี้ยวหัวต่อใหญ่อีกครั้งหนึ่งของโลก”

 

ศ.ดร.สุรชาติ ชี้ว่า กระแสการเมืองโลกในปี 2018 มี 7 ประเด็นใหญ่ที่ต้องจับตา

เส้นทางสู่อำนาจทางการเมือง มาจากรถหาเสียง ไม่ใช่รถถัง ไม่มีใครเกาะรถถังเข้าสภาอีกแล้ว แต่จินตนาการในบ้านเรา เรายังเชื่อว่าวิธีที่ดีที่สุดคือต้องให้ทหารคุม และคุมให้ได้ทุกอย่าง

 

1. กระแสลมฝ่ายขวายังคงพัดแรงในการเมืองโลก

การเกิดขึ้นของ ‘ประชานิยมปีกขวา’ (Right-wing Populism) ส่วนหนึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้นจากกระแสโลกาภิวัตน์ เพราะกระแสดังกล่าวไปกระทบกับชนชั้นล่างและบรรดาคนงานในสังคมตะวันตก เราจะเริ่มเห็นการย้ายฐานผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงราคาถูก เกิดเหตุก่อการร้าย และการเริ่มไหลทะลักของบรรดาผู้อพยพเข้าไปในยุโรป พร้อมๆ กับกระแสประชานิยมปีกขวาที่ค่อยๆ เริ่มก่อตัวขึ้นราวปี 2011


ก่อนที่จะเกิดแรงปะทุครั้งใหญ่จากเหตุก่อการร้ายที่กรุงปารีส และวิกฤตผู้อพยพและผู้ลี้ภัยจำนวนมหาศาลที่ไหลทะลักเข้าสู่ยุโรปเมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา จนทำให้ยุโรปกลายเป็นเหมือน ‘หน้าด่าน’ ที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาชุดใหม่อย่างหนักหน่วงเอาการ ส่งผลให้กลุ่มประชานิยมปีกขวาในยุโรปเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และก่อตัวเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า ‘ชุดความคิดชาตินิยมใหม่’ (New Nationalism)


“ปีกขวาที่ว่านี้เป็นประชานิยม และเวลาพูดถึงประชานิยม คนส่วนใหญ่ก็มักจะคิดว่าต้องเป็นแต่ปีกซ้าย แต่ลืมไปว่าประชานิยมก็มีทั้งซ้ายและขวา ปีกขวายุโรปชุดนี้เริ่มต่อต้านชุดความคิดแบบเสรีนิยม ต่อต้านโลกาภิวัตน์ ต่อต้านผู้อพยพ คนมุสลิม รวมถึงความหลากหลายทางเพศ”

 


การลงประชามติของอังกฤษในกรณี Brexit และผลชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2016 เป็นตัวแบบที่เห็นได้ชัดถึงชัยชนะของกลุ่มปีกขวาที่นักวิชาการและสื่อหลายสำนักต่างคาดการณ์ว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นในโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่กระแสเสรีนิยมกำลังไหลเชี่ยว ความสำเร็จดังกล่าวยิ่งทำให้กลุ่มปีกขวาแข็งแกร่งและขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

 


“แต่อย่างไรก็ตาม ในปี 2017 ประชานิยมปีกขวาก็ขับเคลื่อนไม่ได้อย่างเต็มที่ ผู้นำฝ่ายขวาในฝรั่งเศสอย่างมารีน เลอ แปน เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งทั่วไป ตามมาด้วยเนเธอร์แลนด์ ที่ผู้นำฝ่ายขวาอย่างกีรต์ ไวล์เดอร์ส ก็ต้องพบกับความพ่ายแพ้เช่นกัน จนถึงการเลือกตั้งในเยอรมนี ที่แม้ว่าพรรคฝ่ายขวาชิดขอบอย่าง AfD (Alternative for Deutsches) จะแพ้การเลือกตั้ง แต่พวกเขาก็ได้รับคะแนนเสียงเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่พรรคของอังเกลา แมร์เคิล กลับมีคะแนนเสียงลดน้อยลง และดูเหมือนว่ากำลังพบกับอุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาลอยู่ไม่น้อย”

 


ความพ่ายแพ้ใน 3 จุดสำคัญก็ไม่ทำให้กระแสลมของฝ่ายขวาหยุดพัดลงได้ ก่อนที่จะส่งท้ายปี 2017 ด้วยชัยชนะของปีกขวาอีกครั้งในออสเตรีย เซบาสเตียน คูร์ซ ตัวแทนของกลุ่มคนรุ่นใหม่หัวเอียงขวา ผู้เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศที่อายุน้อยที่สุดด้วยวัยเพียง 26 ปี ได้รับเลือกให้เป็นผู้นำประเทศคนต่อไป โดยจะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในช่วงต้นปี 2018 นี้


จนหลายฝ่ายต่างเปรียบการเมืองโลกในช่วงปีที่ผ่านมาว่ามีลักษณะคล้ายกับลูกตุ้มนาฬิกาที่แกว่งไปมา และทำให้การเลือกตั้งทั่วไปของอิตาลีในปี 2018 น่าจับตามองเป็นอย่างมาก เพราะถ้าหากกลุ่มปีกขวาเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะอีกก็อาจเดินหน้าผลักดันให้อิตาลีลาออกจากสหภาพยุโรปตามอังกฤษไปอีกประเทศก็เป็นได้


“ในปี 2018 ถ้าโลกโดยเฉพาะยุโรปยังต้องเผชิญหน้ากับเหตุก่อการร้ายและวิกฤตผู้อพยพที่ร้ายแรงมากยิ่งขึ้น ก็จะยิ่งกระตุ้นกระแสประชานิยมปีกขวาหรือกระตุ้นความรู้สึกของกลุ่มชาตินิยมใหม่ในยุโรปให้เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย และยิ่งกระแสชุดนี้เคลื่อนที่ไปปรากฏอีกลักษณะหนึ่งในยุโรปตะวันออกอย่างฮังการีและโปแลนด์ที่ค่อนข้างเผด็จการพอสมควร ก็จะยิ่งทำให้กระแสประชานิยมปีกขวาที่เกิดขึ้นดูรุนแรงมากยิ่งขึ้น


“ในขณะที่กระแสเสรีนิยมเองก็ไม่ได้ล้มหายตายจากไปไหน แม้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 2016 อาจสะท้อนถึงการสิ้นสุดของกระแสเสรีนิยมในเวทีโลก แต่โดยชุดความคิดแล้วเป็นไปไม่ได้ขนาดนั้น เหมือนกับเวลาที่ยุคสังคมนิยมล่มสลายลงหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองชุดใหญ่ทั้งในยุโรปและสหภาพโซเวียต เอาเข้าจริงกระแสสังคมนิยมไม่ได้หมดไปเลย เพียงแต่ชุดความคิดเปลี่ยนรูปไปโดยไม่จำเป็นต้องยึดถือตำรามาร์ก หรือยังต้องยืนอิงกับเลนินในโซเวียต แต่เป็นสังคมนิยมที่อาจจะขยายความถึงการทำงานเพื่อสังคมชนชั้นล่าง”

 

 

2. การก่อการร้าย ‘หมาป่าตัวเดียว’ ที่อาจออกล่าเหยื่อในเอเชีย

สงครามในเวทีโลกไม่ใช่เรื่องของรัฐสู้กับรัฐอีกต่อไปแล้ว แต่สงครามกำลังจะเป็นเรื่องของรัฐสู้กับตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ เช่น ขบวนการก่อการร้ายที่ทำให้กลายเป็นสงครามที่ไม่มีขีดจำกัด อีกฝ่ายหนึ่งสามารถรบได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงเงื่อนไขและข้อจำกัดใดๆ ดังนั้นการเรียกร้องให้ผู้ก่อการร้ายเคารพกติกา คำตอบจึงเป็นไปไม่ได้

 


‘เหตุวินาศกรรม 9/11’ เมื่อปี 2001 คือหมุดหมายสำคัญที่เปิดฉากการก่อการร้ายครั้งใหญ่ของโลก ก่อนที่การปรากฏตัวขึ้นของ ‘กลุ่มรัฐอิสลาม’ หรือ ‘ไอเอส’ ในโลกมุสลิมเมื่อปี 2015 จะกลายเป็นกระแสก่อการร้ายชุดใหญ่ที่เข้าไปปะทะยุโรปและสั่นสะเทือนระเบียบโลก จนกระทั่งเริ่มมีการปราบปรามกลุ่มก่อการร้าย ภาพที่เราเห็นในปี 2017 คือฐานที่มั่นสำคัญของกลุ่มไอเอสทั้งในอิรักและซีเรียอย่างเมืองโมซุลและรักกาแตกพ่าย และปิดท้ายด้วยชัยชนะของกองกำลังรัฐบาลอิรักและซีเรีย รวมถึงแรงสนับสนุนจากกลุ่มพันธมิตรที่ร่วมรบตลอดหลายปีที่ผ่านมา

 


“สิ่งที่น่าสนใจคือกลุ่มไอเอสตายจริงหรือไม่ ผมตอบได้เลยว่าไม่ตาย แม้ผู้นำของกลุ่มจะตายก็ตาม การพ่ายแพ้ที่โมซุลและรักกาไม่ได้แปลว่ากระแสความคิดและอุดมการณ์จะไม่หายไปภายในระยะเวลาอันสั้น กระแสชุดนี้ไปไกลมากกว่ากระแสของอัลกออิดะห์ในสมัยของโอซามา บิน ลาเดน เนื่องจากกระบวนการทำสื่อของคนในยุคนั้นยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ และทีมสื่อที่ใช้ผลิตโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มไอเอสก็มีฝีมือ เหมือนกับกลุ่มไอเอสกำลังตั้งสำนักข่าวต่างประเทศเป็นของตัวเอง

 

 

“ชุดความคิดนี้จะไปปรากฏตัวหรือขับเคลื่อนที่ไหน ส่วนหนึ่งอาจเป็นที่ยุโรปที่เดิม และอาจขับเคลื่อนมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2017 เราเห็นเหตุระเบิดในกรุงจาการ์ตา การจับกุมกลุ่มแนวร่วมขบวนการไอเอส และเหตุความรุนแรงในมาราวีที่กำลังส่งสัญญาณว่าการขยายตัวของไอเอสในภูมิภาคนี้อาจมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในปี 2018 โดยเฉพาะในพื้นที่ของคนที่นับถือศาสนาอิสลามอย่างในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งโยงไปถึงอีกจุดหนึ่งที่หลายคนอาจจะไม่คาดคิด นั่นคือ ‘กรณีของยะไข่’ ถ้าสถานการณ์ในยะไข่บานปลาย ยะไข่จะเป็นเหมือนตัวจุดชนวนในบริบทของเมียนมาหรือไม่ แต่ถ้ายะไข่เป็นตัวจุดชนวนจริง เราก็จะเห็นปัญหาชัดขึ้น หนึ่งในนั้นคือพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย


“ทุกวันนี้เราเห็นรูปแบบความรุนแรงที่หลากหลาย ทั้งขับรถไล่ชน ใช้มีดไล่แทง กราดยิง และวางระเบิด ที่บ่อยครั้งมักจะปรากฏในรูปแบบที่ผมเรียกว่า ‘หมาป่าตัวเดียว’ (Lone Wolf) ซึ่งพวกเขามักจะลงมือเพียงลำพัง และไม่ได้อยู่ในเครือข่ายของกลุ่มก่อการร้ายโดยตรง ไม่มีประวัติอาชญากรรม แต่เป็นคนกลุ่มที่รับสารผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต พวกเขาทำงานภายใต้ช่องโหว่ที่จะยิ่งทำให้เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงทำงานได้ยากขึ้น เวลาเราเห็นตัวแบบในยุโรป เราต้องคิดเผื่อทันทีว่าหมาป่าตัวเดียวก็อาจออกล่าเหยื่อในเอเชียได้เช่นกัน เพราะตัวแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วโลก


“ดังนั้นกระแสสุดโต่งของโลกอิสลามที่เดินทางมาสู่พื้นที่แถบนี้มากยิ่งขึ้นจะทำให้ปี 2018 เป็นปีที่ท้าทายสำหรับคนในภูมิภาคนี้อย่างแน่นอน”

เราจะเห็นสถานการณ์โลกที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในปี 2018 สิ่งนี้ตอบเราว่าโลกกำลังหมุนไป สิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจคือ เวลาเราเห็นโลก เราต้องยอมรับที่จะเห็นโลกที่มีความขัดแย้ง ไม่มีโลกที่ไม่มีความขัดแย้ง ในชีวิตจริงโลกไม่ได้สันติตลอดเวลา เพียงแต่ต้องคุมความขัดแย้งไม่ให้ขยายตัวเป็นสงครามใหญ่ อยู่บนโลกด้วยความเข้าใจโลก เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลก และอย่ากลัวความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น

 

3. อเมริกา-จีน-รัสเซีย ความสัมพันธ์สามเส้าที่เข้มข้นกว่าเดิม

ตลอดปี 2017 ที่ผ่านมาเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายในความสัมพันธ์สามเส้าระหว่างชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา จีน และรัสเซีย นับตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียที่เคยเป็นไม้เบื่อไม้เมากันในสมัยรัฐบาลก่อนหน้าก็มีท่าทีปรับตัวดีขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนเองก็เป็นไปในทิศทางบวก ภายหลังจากที่ทรัมป์เดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แม้ว่ากระแสการแย่งชิงมหาอำนาจหมายเลข 1 ของโลกจะยังไม่หายไป ในขณะที่ผู้นำจีนและรัสเซียต่างก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันเพื่อใช้ถ่วงดุลอำนาจกับสหรัฐฯ

 


ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวว่า “ในปี 2018 การสู้กันของประเทศมหาอำนาจน่าจะเข้มข้นมากยิ่งขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ยิ่งมองผ่านบริบทของทรัมป์ วันนี้สังคมอเมริกันอาจจะกำลังเผชิญวิกฤตด้านตัวผู้นำ (Leadership Crisis) ขึ้นอยู่กับว่าความสัมพันธ์ระหว่างทรัมป์และรัสเซียที่ถูกสอบสวนจะจบลงหรือไม่ และจะเป็นไปในทิศทางใด แต่คำตอบที่เห็นได้ชัดจากวิกฤตซีเรียกำลังบอกเราว่า 25 ปีที่รัสเซียไม่ได้หวนกลับมาเกี่ยวข้องกับการเมืองในตะวันออกกลางชี้ให้เห็นว่ารัสเซียกลับมาแล้วและฟื้นตัวในการเมืองโลกอีกครั้ง รวมถึงวันนี้ การพุ่งทะยานขึ้นของจีน (The Rise of China) ในเวทีโลกก็เป็นอีกประเด็นที่คนส่วนใหญ่ยอมรับ ความพยายามที่จะสร้างจีนเชิงรุกในทั้งมิติการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร จะยิ่งทำให้การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ของ 3 มหาอำนาจใหญ่ในปี 2018 เป็นอะไรที่น่าจับตามอง


“โอกาสที่จีนจะกลายเป็นมหาอำนาจเดี่ยวในเวทีโลกอาจจะยังคงเป็นไปไม่ได้ วันนี้รัสเซียก็ฟื้นตัวและขยับตัวเยอะขึ้น สหรัฐฯ เองก็ยังมีบทบาทและมีอิทธิพลอย่างมากในเกมการเมืองโลก โลกในยุคที่เป็นอินเทอร์เน็ตอย่างทุกวันนี้ทำให้ระเบียบโลกเป็นไปในลักษณะที่กระจายออก (Diffusion of Power) ซึ่งไม่มีรัฐมหาอำนาจใดมหาอำนาจหนึ่งจะคุมอำนาจได้ทั้งหมด เราต้องยอมรับว่าโลกในปัจจุบันยังคงถูกขับเคลื่อนด้วยรัฐมหาอำนาจใหญ่อย่างสหรัฐฯ รัสเซีย และจีน ในขณะเดียวกันเราก็คงจะตัดยุโรป ญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งบทบาทของตัวแสดงใหม่ๆ อย่างอินเดีย หรือเกาหลีใต้ออกไปไม่ได้เช่นกัน”

 

 

4. วิกฤตขีปนาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีที่ยังคงร้อนระอุ

ปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือที่คาราคาซังอยู่ในขณะนี้จะเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ทำให้การเมืองบนคาบสมุทรเกาหลีร้อนแรงยิ่งขึ้นในปี 2018 โดยมีรายงานว่า ตลอดปีที่ผ่านมา กองทัพโสมแดงยิงทดสอบขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์รวมกันอย่างน้อย 16 ครั้ง ในจำนวนนี้มีขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) ที่ยิงได้ไกลถึงแผ่นดินสหรัฐฯ รวมอยู่ด้วย นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของเกาหลีเหนือ

 


ศ.ดร.สุรชาติ ยอมรับว่า “ในปีที่ผ่านมา เกาหลีเหนือประสบความสำเร็จในการผลิตหัวรบนิวเคลียร์แล้วจริงๆ แต่คำถามคือ เป็นไปได้หรือไม่ที่ในอนาคตสหรัฐอเมริกาจะยอมเห็นเกาหลีเหนือเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มประเทศโลกนิวเคลียร์ (Nuclear Club) ที่แต่เดิมมีประเทศสมาชิกเพียง 5 ประเทศ นั่นคือกลุ่มประเทศสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ก่อนที่จะเพิ่มอินเดียและปากีสถานเข้ามา ซึ่งในปัจจุบันยังมีข้อถกเถียงกันว่าเกาหลีเหนือและอิหร่านจะได้ถูกจัดรวมไว้ในกลุ่มนี้ด้วยหรือไม่ ถ้าท้ายที่สุดสหรัฐฯ ไม่ยินยอม คำถามสำคัญคือจะเกิดอะไรขึ้นในปี 2018”


สำหรับคำถามที่ใครหลายคนอาจจะอยากรู้คำตอบว่าสุดท้ายแล้วสงครามนิวเคลียร์จะเกิดขึ้นหรือไม่ ศ.ดร.สุรชาติ แสดงความคิดเห็นว่า “ผมยังคงหวังว่าสิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้น ต้องยอมรับว่าคิมจองอึนไม่ใช่คนโง่ หากเราเชื่อว่าสงครามจะเกิดขึ้น ทุกฝ่ายกังวลว่า สหรัฐฯ อาจจะเปิดการชิงโจมตีก่อน (Pre-emptive Strike) และคิมจองอึนก็จำเป็นที่จะต้องใช้อาวุธนิวเคลียร์ตอบโต้ ซึ่งความโหดร้ายจะเกิดขึ้นกับประชากรของเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอาจรวมถึงจีนด้วย และถ้าสงครามนิวเคลียร์เกิดขึ้นจริง ความขัดแย้งนี้จะดึง 3 มหาอำนาจใหญ่ที่เราพูดถึงไปเมื่อสักครู่นี้เข้ามาในสงครามด้วยหรือไม่ และอนาคตของสงครามจะจบลงอย่างไร”

 


ด้วยบุคลิกลักษณะของผู้นำทั้งสองประเทศที่คาดเดาได้ยาก รวมถึงการซ้อมรบ การยั่วยุ และสงครามน้ำลายที่เกิดขึ้นบนเวทีโลกจะยิ่งทำให้หนทางที่จะนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาเป็นไปอย่างยากลำบากมากยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมามีประเทศนอกความขัดแย้งที่พยายามจะเข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือหลายครั้งหลายคราว

 


“วิกฤตการณ์อาวุธนิวเคลียร์ที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันแตกต่างจากยุคสงครามเย็นที่รัฐมหาอำนาจใหญ่ทั้งคู่ต่างมีกลไกของการจัดการร่วมกัน สิ่งที่น่าคิดต่อคือรัฐเล็กๆ ที่ไม่ได้เป็นมหาอำนาจใหญ่จะใช้กลไกอย่างนั้นได้หรือไม่ หรือรัฐมหาอำนาจใหญ่จะยินยอมใช้กลไกนั้นกับรัฐขนาดเล็กได้หรือไม่ ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือ ‘วิกฤตการณ์คิวบา’ (Cuban Missile Crisis) ซึ่งวิกฤตการณ์ในครั้งนั้นจบลงด้วยการต่อสายตรงระหว่างกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กับกรุงมอสโก เพื่อให้ผู้นำได้สื่อสารกันก่อนโดยไม่ต้องหาช่องทางอื่น ซึ่งเราไม่อาจคาดเดาได้ว่าวิกฤตการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีรอบนี้จะจบลงอย่างวิกฤตการณ์ที่คิวบาหรือไม่”

 

 

การจะให้เกาหลีเหนือละทิ้งโครงการอาวุธนิวเคลียร์แต่โดยดีเป็นไปได้ยาก เนื่องจากอาวุธนิวเคลียร์เป็นเพียงหลักประกันเดียวที่จะช่วยปกป้องผลประโยชน์สูงสุดของเกาหลีเหนือไว้ได้ อีกทั้งผู้นำเกาหลีเหนือก็ยังเห็นบทเรียนครั้งสำคัญจากกรณีของอดีตผู้นำคนสำคัญของอิรักอย่างซัดดัม ฮุสเซน และมูอัมมาร์ กัดดาฟี อดีตผู้นำเผด็จการของลิเบีย ที่ยอมล้มเลิกโครงการดังกล่าวและยินยอมให้สหรัฐฯ เข้าไปจัดระเบียบ แต่สุดท้ายพวกเขาก็ต้องพบกับจุดจบของชีวิตด้วยน้ำมือของตะวันตก ซึ่งผู้นำเกาหลีเหนืออย่างคิมจองอึนคงจะไม่มีวันปล่อยให้ตนเองและประเทศเดินไปถึงจุดนั้นโดยเด็ดขาด

 

 

5. วิกฤตผู้อพยพในยุโรป สายธารมนุษย์ที่ยังไม่หยุดหลั่งไหล

กระแสผู้อพยพและผู้ลี้ภัยที่เริ่มไหลทะลักเข้าไปในยุโรปนับตั้งแต่ปี 2015 แม้เวลาผ่านไปกว่า 2 ปีแล้ว แต่ก็ยังคงมีผู้คนจำนวนมากพร้อมที่จะเสี่ยงชีวิตเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมายังยุโรป โดยหวังว่าจะมีที่หลบภัยและสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าที่เคย ปี 2017 เราจะเห็นโจทย์คู่ขนานเรื่องวิกฤตผู้อพยพในยุโรปที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมจากทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้

 

 

ในขณะเดียวกัน วิกฤตนี้ก็เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน ปัญหาชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ของเมียนมาถูกยกระดับให้กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ประชาคมโลกเฝ้าจับตามอง ในปัจจุบันมีชาวโรฮีนจากว่า 620,000 คนที่เดินทางอพยพไปยังบังกลาเทศนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หลังถูกกองทัพเมียนมาปราบปรามอย่างรุนแรงจนสหประชาชาติกล่าวว่า ‘สิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮีนจาไม่ต่างอะไรกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ ซึ่งวิกฤตเหล่านี้จะรุนแรงขึ้น หากปะทะกับกระแสปีกขวาที่ต่อต้านมุสลิม (Anti-Muslim Movement) หรือกระแสต่อต้านกลุ่มผู้อพยพ (Anti-Immigration Movement) ที่เคลื่อนตัวอยู่ในหลายภูมิภาคทั่วโลก


ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวว่า “วิกฤตผู้อพยพในยุโรปยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง เนื่องจากปัญหาความยากลำบาก สงครามกลางเมือง และความแห้งแล้ง ยังคงดำเนินต่อไปแม้ว่าสงครามกับกลุ่มก่อการร้ายในบางพื้นที่จะจบลงก็ตาม ในขณะที่วิกฤตโรฮีนจาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็มีความพยายามที่จะทำให้สภาพปัญหาเบาบางลง ซึ่งปัญหานี้ในที่สุดจะต้องไม่ถูกแปลงให้เป็นเงื่อนไขของการก่อการร้ายในหลายจุดสำคัญของเอเชียอย่างซินเจียง ยะไข่ สามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย รวมถึงภาคใต้ของฟิลิปปินส์ที่ยังคงเป็นจุดที่มีความเปราะบาง”

 

 

6. การแข่งขันสร้างรัฐให้ทันสมัย เกมการเมืองครั้งใหม่ในตะวันออกกลาง

ปี 2018 จะเป็นปีของความผันผวนครั้งใหญ่ และอาจจะใหญ่กว่าที่เราคาดคิด เพราะปีที่ผ่านมาบทบาทใหม่ของซาอุดีอาระเบียและการขึ้นสู่อำนาจของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารพระองค์ใหม่ที่เร่งเดินหน้าปฏิรูปประเทศตามวิสัยทัศน์ 2030 ที่ได้วางเอาไว้ รวมถึงความพยายามที่จะสร้างให้ซาอุดีอาระเบียเป็นเสมือนผู้นำของโลกมุสลิมทั้งหมด โดยเฉพาะในมิติทางการเมือง จะส่งผลให้แรงปะทะระหว่างซาอุดีอาระเบียและอิหร่านทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น


“ความขัดแย้งภายในภูมิภาคที่ผูกโยงอยู่กับปัญหาสงครามในหลายพื้นที่ที่ทั้งซาอุดีอาระเบียและอิหร่านเข้าไปเกี่ยวข้องหรือหนุนหลังจะทำให้ภาพรวมของปี 2018 เป็นปีแห่งความผันผวนของโลกในตะวันออกกลางที่ทับซ้อนด้วยเงื่อนไขของการก่อการร้าย และถูกทับซ้อนอีกชั้นหนึ่งด้วยการแข่งขันของบรรดาชาติมหาอำนาจที่จะเข้าไปเล่นเกมการเมืองในภูมิภาคนี้”


สภาพสังคมซาอุดีอาระเบียที่เคร่งครัดในหลักศาสนากำลังจะค่อยๆ เปลี่ยนโฉมไป ผู้หญิงเริ่มมีสิทธิและบทบาทเพิ่มมากขึ้น มีการอนุญาตให้ผู้หญิงมีใบขับขี่ สามารถเข้าชมการแข่งขันกีฬาได้ รัฐบาลยินยอมให้มีการจัดแสดงคอนเสิร์ตเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษในช่วงการเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการของผู้นำสหรัฐฯ หรือแม้แต่การยินยอมให้ธุรกิจเกี่ยวกับโรงภาพยนตร์กลับมาเปิดฉายภายในซาอุดีอาระเบียได้อีกครั้ง


สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนสะท้อนความพยายามให้การสร้างรัฐให้ทันสมัยและโน้มเอียงหาทางโลกมากยิ่งขึ้น ด้านหนึ่งอาจจะก่อให้เกิดแรงปะทะกับกลุ่มนักการศาสนาภายในประเทศ อีกด้านหนึ่ง ซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านก็พยายามสร้างฝ่ายการเมืองของตัวเอง โดยดึงบรรดาประเทศมุสลิมและอาหรับในตะวันออกกลางเข้ามาในหมากกระดานนี้

 

 

7. กาตาลุญญา เสียงเรียกร้องเอกราชที่เดิมพันด้วยความฝันอันสูงสุด

ผลประชามติเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ผลักดันไปสู่การประกาศเอกราชแต่เพียงฝ่ายเดียวของสภาแคว้นกาตาลุญญา และบีบบังคับให้รัฐบาลกลางที่กรุงมาดริดประกาศใช้อำนาจตามมาตรา 155 ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยประกาศยุบสภากาตาลุญญา ปลดบรรดาผู้นำและคณะรัฐบาลท้องถิ่น พร้อมประกาศจัดการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา แม้พรรค Pro Unity อย่าง Ciudadanos จะได้รับเสียงโหวตมากที่สุด แต่ก็อาจเผชิญกับความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก เนื่องจากกลุ่มพรรคฝ่ายขวาที่ Pro-Independence สนับสนุนให้กาตาลุญญาแยกตัวเป็นเอกราชจากสเปนกวาดที่นั่งในสภาไปเกินกว่ากึ่งหนึ่ง (70 จากทั้งหมด 135 ที่นั่ง) วิกฤตการเมืองสเปน-กาตาลุญญาอาจจะเดินไปสู่จุดต่ำสุดอีกครั้งในปีนี้ นับตั้งแต่ระบอบเผด็จการฟรังโกสิ้นสุดลงเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา

 

 

“โจทย์ของกาตาลุญญาเป็นโจทย์ที่น่าสนใจในโลกสมัยใหม่ หลายคนคิดว่าแทบจะไม่ต้องพูดถึงเรื่องรัฐแล้ว รัฐน่าจะตายไปแล้ว แต่ถ้าเราดูประชานิยมปีกขวาในโลกตะวันตกให้ดี ผู้นำอย่างทรัมป์ หรือมารีน เลอ แปน ยังคงพูดเน้นถึงรัฐและชูประเด็นนี้ไม่น้อย แต่ในกรณีกาตาลุญญาเป็นปัญหารัฐที่ต้องการแยกตัวออกมาเป็นรัฐเอกราชภายใต้เงื่อนไขอัตลักษณ์เฉพาะของตน การเข้าใกล้ความสำเร็จของกาตาลุญญากำลังจะเป็นแรงกระตุ้นคนทั่วโลกที่ฝันอยากจะมีรัฐที่เป็นอัตลักษณ์ของตนเอง ถ้าท้ายที่สุดกาตาลุญญากลายเป็นรัฐเกิดใหม่ได้สำเร็จ คำถามคือสหภาพยุโรปจะเป็นอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเพียงปัญหาภายในสเปนเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่ต้องการแยกตัวเป็นรัฐเอกราชทั่วโลก จะเกิดการแตกตัวเป็นรัฐใหม่ในอีกหลายพื้นที่ตามมา โดยเฉพาะในยุโรปที่ถือว่ามีความหลากหลายทางอัตลักษณ์เฉพาะสูงมาก รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เราจะเห็นตัวแบบก่อนหน้านี้คือ ชัยชนะของประชามติในติมอร์ตะวันออก


“วิกฤตของยุโรปปี 2018 จะเป็นวิกฤตของสหภาพยุโรป ภูมิภาคนี้กำลังถูกซ้อนทับด้วยกระแสชาตินิยม 2 ชุดคือ กระแสชาตินิยมชุดเก่าที่สนับสนุนการแยกตัวเป็นรัฐเอกราช และกระแสชาตินิยมชุดใหม่ หรือกระแสชาตินิยมปีกขวานั่นเอง ซึ่งในอนาคต กระแสปีกขวาในยุโรปจะแพร่มายังเอเชียหรือไม่ ถ้าสมมติโรดริโก ดูเตร์เต คือตัวแบบของประชานิยมปีกขวาในเอเชีย แต่สังคมไทยยังอยู่ในบริบทของขวาแบบเก่า ปีกขวาไทยจะปรับตัวเข้ากับกระแสขวาในเวทีโลกหรือไม่ หรือขวาไทยจะยังคงเป็นขวาที่ล้าหลังบนเวทีโลกต่อไป”

 

 

เราจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและอยู่ร่วมกันท่ามกลางความขัดแย้งได้อย่างไร

ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวว่า “สิ่งที่สังคมไทยต้องเรียนรู้ คนไทยมักจะมีจินตนาการชุดหนึ่งว่าการเมืองต้องนิ่ง ซึ่งในความเป็นจริง ในทางรัฐศาสตร์ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าการเมืองนิ่ง เพราะการเมืองโดยระบบมันไม่นิ่ง แต่การไม่นิ่งคือโอกาสที่ก่อให้เกิดการต่อสู้ทางการเมืองแบบเปิดเผย แต่เมื่อไรก็ตามที่คุณพยายามจะคุมการเมืองโดยหวังว่าการเมืองจะนิ่ง นั่นแปลว่ามีการเมืองฝ่ายหนึ่งถูกกด และถ้ากดหนักที่สุด ถ้าเป็นในโลกสมัยเก่า การเมืองชุดนั้นจะลงใต้ดิน แล้วมันจะกลายเป็นปัญหาที่ยุ่งยากมากขึ้น


“ประชานิยมปีกขวาวันนี้ ต่อให้ขวายังไงก็รู้อย่างหนึ่งว่าเส้นทางสู่อำนาจทางการเมือง มาจากรถหาเสียง ไม่ใช่รถถัง ไม่มีใครเกาะรถถังเข้าสภาอีกแล้ว แต่จินตนาการในบ้านเรา เรายังเชื่อว่าวิธีที่ดีที่สุดคือต้องให้ทหารคุม และคุมให้ได้ทุกอย่าง แต่ในโลกสมัยใหม่ที่เป็นดิจิทัล เป็นโลกที่กระจายออก (Diffusion) การควบคุมทางสังคมทำได้ยากขึ้น อีกทั้งสังคมตะวันตกยอมให้มีความขัดแย้ง ในขณะที่เสถียรภาพของเราคือ ต้องไม่ขัดแย้ง หากเรายังมีความคิดชุดเดิม เราจะอยู่ในโลกสมัยใหม่ด้วยความกลัว จะถวิลหาโลกเก่าที่ไม่เป็นจริง สุดท้ายความกลัวชุดนี้จะกลายเป็นความกลัวทางการเมือง ทำให้การเมืองไทยในระบบเปิดเดินต่อไปไม่ได้”

 


ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวทิ้งท้ายกับ THE STANDARD ว่า “เราจะเห็นสถานการณ์โลกที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในปี 2018 สิ่งนี้ตอบเราว่าโลกกำลังหมุนไป สิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจคือ เวลาเราเห็นโลก เราต้องยอมรับที่จะเห็นโลกที่มีความขัดแย้ง ไม่มีโลกที่ไม่มีความขัดแย้ง ในชีวิตจริงโลกไม่ได้สันติตลอดเวลา เพียงแต่ต้องคุมความขัดแย้งไม่ให้ขยายตัวเป็นสงครามใหญ่ อยู่บนโลกด้วยความเข้าใจโลก เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลก และอย่ากลัวความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น

 

 

Photo: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม, AFP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising