×

‘เป็นพิษ’ ‘ติดโทรศัพท์’ ‘แชร์ข้อมูลผิดๆ’ ‘ใช้แล้วทิ้ง’ เว็บพจนานุกรมยกคำแห่งปีสะท้อนปัญหาโลก

13.12.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

2 Mins. Read
  • บรรดาเว็บไซต์พจนานุกรมต่างพากันยกคำต่างๆ ให้เป็นคำประจำปีเพื่อสะท้อนหรือผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในอนาคต
  • Oxford Dictionaries มอบให้คำว่า Toxic หรือ ‘เป็นพิษ’ โดยระบุว่าความหมายได้ขยายออกจากบริบทเดิมที่สื่อเพียงแต่สสารที่มีพิษเท่านั้น จนกลายเป็นคำที่ใช้ในการถกเถียงปัญหาสุขภาวะและสิ่งแวดล้อม
  • Collins ยกเอาคำว่า Single-use ที่แปลว่า ‘ใช้แล้วทิ้ง’ คำดังกล่าวมีความเชื่อมโยงต่อสถานการณ์ปัจจุบันอย่างยิ่งท่ามกลางปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เห็นผลกระทบหนักขึ้น
  • Cambridge Dictionary เปิดโพลให้คนลงคะแนน โดยยอดสูงสุดตกเป็นของ Nomophobia ที่ย่อมาจาก ‘No Mobile Phone Phobia’ ที่เรียกง่ายๆ ว่า อาการติดโทรศัพท์มือถือ
  • คำประจำปีของ Dictionary.com ตกเป็นของ Misinformation อันมีใจความคร่าวๆ ว่า ‘การเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ’

นับถอยหลังอีกไม่กี่สัปดาห์ วันสิ้นปีก็จะเวียนมาอีกครั้ง หลายคนเตรียมพลิกปฏิทินเข้าปี พ.ศ. 2562 (ค.ศ. 2019) อันเป็นที่คาดหวังว่าไทยจะเห็นการเปลี่ยนแปลงบางประการโดยเฉพาะเหตุบ้านการเมือง แต่กว่าเวลานั้นจะมาถึงผู้คนมากมายก็ใช้เวลาช่วงนี้เพื่อทบทวนเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปีนี้ เช่นเดียวกับบรรดาเว็บไซต์พจนานุกรมต่างพากันยกคำต่างๆ ให้เป็นคำประจำปีเพื่อสะท้อนหรือผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

 

เริ่มต้นคำประจำปีจากฝั่งเว็บไซต์ Oxford Dictionaries ที่มอบตำแหน่งให้คำที่มีรากศัพท์จากภาษาละตินและกรีกอย่างคำว่า Toxic หรือในภาษาไทยว่า ‘เป็นพิษ’ โดยระบุว่าความหมายของคำดังกล่าวได้ขยายออกจากบริบทเดิมที่สื่อเพียงแต่สสารที่มีพิษเท่านั้น จนกลายเป็นคำที่ใช้ในการถกเถียงปัญหาสุขภาวะและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังสามารถใช้บรรยายวัฒนธรรมหรือความสัมพันธ์อย่างที่ปรากฏในคำว่า ‘Toxic Masculinity’ อันสื่อถึงวัฒนธรรมความเป็นชายอันเป็นพิษ และคำว่า ‘Toxic Relationship’ ที่แปลว่าความสัมพันธ์อันเป็นพิษที่ไม่ได้เฉพาะเจาะจงแค่ความสัมพันธ์ระหว่างแฟนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความสัมพันธ์อื่นๆ ด้วย

 

อีกหนึ่งพจนานุกรมออนไลน์อย่าง Collins ยกเอาคำว่า Single-use ที่แปลว่า ‘ใช้ครั้งเดียว’ หรือ ‘ใช้แล้วทิ้ง’ ขึ้นแท่นคำประจำปี คำดังกล่าวมีความเชื่อมโยงต่อสถานการณ์ปัจจุบันอย่างยิ่ง ท่ามกลางปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เห็นผลกระทบหนักขึ้น และผู้คนเองก็ตระหนักถึงความสำคัญมากขึ้นเช่นกัน

 

เว็บไซต์ Collins ระบุว่า คำว่า Single-use มักถูกใช้ควบคู่กับผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะพลาสติก ซึ่งเป็นการยากจะปฏิเสธว่า ‘Single-use plastic’ (พลาสติกใช้แล้วทิ้ง) อยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุในเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยมีขยะพลาสติกมากเป็นอันดับ 6 ของโลก โดยมียอดขยะสูงถึง 27,000 ล้านต่อปี

 

พร้อมกันนี้ ผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ ยังปรากฏอย่างต่อเนื่อง ช่วงปีที่ผ่านมา ปรากฏข่าวพบเต่าทะเลตายในประเทศไทยอย่างน้อย 30 ตัว ล่าสุด (12 ธ.ค.) ยังมีรายงานถึงการพบถุงพลาสติกในสิ่งปฏิกูลของช้างที่เขาใหญ่ด้วย

 

ทางฝั่ง Cambridge Dictionary เปิดโพลให้คนลงคะแนนเฟ้นหาคำศัพท์ประจำปี โดยยอดสูงสุดตกเป็นของ Nomophobia แม้อาจฟังดูยากแต่ที่มาของมันไม่ใช่คำศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ที่สื่อถึงอาการกลัวบางสิ่งบางอย่าง (Phobia) จริงๆ แต่เป็นการสร้างคำที่ย่อมาจาก ‘No Mobile Phone Phobia’ ที่เรียกง่ายๆ ว่า อาการติดโทรศัพท์มือถือ

 

แม้คำนี้อาจไม่ได้สะท้อนเอกลักษณ์ของสถานการณ์ในปีนี้อย่างชัดเจน แต่ยังคงเกี่ยวพันต่อชีวิตประจำวันของคนสมัยนี้ได้อย่างดี รายงานของเว็บไซต์ระบุต่ออีกว่า Nomophobia ไม่ได้ปรากฏขึ้นเร็วๆ นี้ แต่มีมาอย่างน้อย 10 ปีแล้ว โดยพบบนรายงานของบริษัททำผลสำรวจอย่าง YouGov เมื่อปี 2008 และหลังจากนั้นก็เริ่มมีการใช้แพร่หลายมากขึ้นในสื่อ

 

ส่วนตำแหน่งคำประจำปีของ Dictionary.com ตกเป็นของ Misinformation อันมีใจความคร่าวๆ ว่า ‘การเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ’ ซึ่งทางนักภาษาศาสตร์ประจำเว็บไซต์อย่าง Jane Solomon มองว่า มีการชั่งใจระหว่างคำนี้กับคำว่า Disinformation ที่ความหมายออกจะคล้ายคลึงกัน แต่ชี้ว่าเหตุผลที่เลือกคำดังกล่าวอยู่บนฐานของเจตนารมณ์ในการเผยแพร่ข้อมูล

 

นิยามของ Misinformation บนเว็บระบุว่า ‘ข้อมูลเท็จที่ถูกแพร่กระจายออกไปโดยไม่สนว่าจะเป็นไปเพื่อบิดเบือนความจริงหรือไม่’ ในส่วน Disinformation ได้รับการตีความว่าสื่อถึง ‘ข้อมูลที่สอดแทรกอคติหรือข้อมูลมีเจตนาเผยแพร่ไปเพื่อการสร้างความเข้าใจผิดๆ’ โดยนักภาษาศาสตร์รายนี้ระบุว่า คำที่ชนะได้รับเลือกเพราะต้องจุดประกายเรียกร้องการต่อต้านและลดกระแสข่าวปลอมที่ปรากฏในสังคม

 

นี่คือบางส่วนของ ‘คำประจำปี’ ที่ได้รับการยกขึ้นมาพูดถึง แม้จะมีอีกหลายเว็บพจนานุกรมที่ยังไม่ได้ประกาศออกมา แต่ก็มีคำที่น่าสนใจที่เคยเป็นคำประจำปีในปีก่อนๆ ที่ยังคงปรากฏตัวอยู่ต่อเนื่อง รวมถึงคำว่า ‘Brexit’ (การที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป) ‘Fake News’ (ข่าวปลอม) นอกจากนี้ ยังมีคำที่ได้รับความนิยมอีกมากมายในปีนี้ อย่างคำว่า ‘Representation’ (ภาพตัวแทน) อันสืบเนื่องจากกระแสของภาพยนตร์ Black Panther และ Crazy Rich Asians ด้วย

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X