×

ศ.ดร.วรเจตน์ ชี้ เมื่อปิยบุตรเดินสู่สนามการเมืองถือว่าขาดจากนิติราษฎร์โดยสภาพ เชื่อมั่นเป็นตัวของตัวเอง

18.03.2018
  • LOADING...

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในสมาชิกทางวิชาการของ ‘กลุ่มนิติราษฎร์’ ได้ประกาศต่อสาธารณชนถึงเจตนารมณ์ที่จะเดินเข้าสู่ถนนการเมือง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนบทบาทจากนักวิชาการไปสู่นักการเมือง โดยร่วมกับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และคนรุ่นใหม่อีกหลายคนตั้งพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมา

 

ขณะที่ล่าสุดวันนี้ ในงานเปิดตัวหนังสือ ประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา ของ ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญของกลุ่มนิติราษฎร์ ได้กล่าวถึงปิยบุตรในช่วงตอบคำถามเกี่ยวกับการที่สมาชิกไปมีบทบาทในทางการเมืองว่า

 

โดยส่วนตัวนั้น ปิยบุตรถือเป็นลูกศิษย์ของตน และรู้สึกเสียดายความสามารถทางวิชาการของเขา แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อตัดสินใจแล้วก็ย่อมมีเหตุผล ซึ่งก่อนหน้าที่ปิยบุตรจะตัดสินใจในเรื่องนี้ก็ได้มีการพูดคุยกันและได้บอกเหตุผลให้ตัวเองทราบ ซึ่งเมื่อถามปิยบุตรถึงข้อจำกัดหรือเงื่อนไขต่างๆ เขาก็บอกว่าไม่ได้มีข้อจำกัดใดๆ ทำให้ส่วนตัวเชื่อมั่นว่าปิยบุตรจะสามารถเป็นตัวของตัวเองได้

 

ขณะที่ ศ.ดร.วรเจตน์ บอกอีกว่า ในช่วงที่ปิยบุตรประกาศจะเล่นการเมืองก็มีการนำเอานิติราษฎร์ไปเกี่ยวโยง เช่น การเรียกชื่อพรรค เป็นต้น ซึ่งต้องบอกว่าไม่เกี่ยวข้องกันเลย หลังรัฐประหาร ปี 2557 นิติราษฎร์ค่อนข้างได้รับผลกระทบ มีการสั่งปิดเว็บไซต์ และตัวเองก็ถูกดำเนินคดีในศาลทหารด้วย ซึ่งหากไปดูข้อเสนอของนิติราษฎร์จะเห็นว่ามี 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ การลบล้างผลพวงรัฐประหาร และการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

 

ศ.ดร.วรเจตน์ ชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่นิติราษฎร์พูดถึงนั้นเรียกว่า ‘ข้อเสนอ’ ซึ่งเป็นการทำโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน และเราต้องการเรียกร้องให้มีการพูดคุยกัน ดีเบตกันในสังคม อย่างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้เคยถูกแก้ไขมาแล้วเมื่อปี 2519 ในปัจจุบันสิ่งที่เราเสนอก็มีสัญญาณชี้ให้เห็นว่ากฎหมายดังกล่าวมีนัยที่เป็นปัญหา เพราะได้กำหนดให้อัยการสูงสุดเท่านั้นที่มีอำนาจสั่งฟ้อง ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากฎหมายดังกล่าวโดยเนื้อหามีปัญหาอย่างไร ฉะนั้นหากมีผู้ไม่เห็นด้วยก็ควรคัดค้านความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วย

 

ขณะที่การเสนอเรื่องมาตรา 112 ก็ได้ทำไปตามขั้นตอนทั้งหมดแล้ว เมื่อเสนอไปยังสภาและถูกปัดตกก็คือจบ แต่เรื่องนี้ก็ยังถูกพูดและถกเถียงในสังคม ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องว่าใครจะดำเนินการต่อไปอย่างไร เพราะนี่เป็นข้อเสนอในทางวิชาการ และ หากมีการพูดถึงประเด็นมาตรา 112 ควรที่จะโฟกัสมาที่กลุ่มของตนมากกว่าพรรคอนาคตใหม่ เพราะข้อเสนอมาจากนักวิชาการที่เป็นผู้เริ่มต้น

 

ศ.ดร.วรเจตน์ กล่าวถึงอนาคตของนิติราษฎร์ว่า เคยตอบคำถามสื่อไปแล้วก่อนหน้านี้ว่า ในสภาวการณ์นี้ก็เหมือนเรากำลัง deactivate ตัวเอง คือจะ deactivate ไปเลย หรือจะกลับมา activate อีกทีหนึ่งหรือไม่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในอนาคต และสภาวการณ์อย่างนี้ทำให้สมาชิกแต่ละคนต้องไปมีบทบาทของตนเอง

 

ขณะที่ปิยบุตร เมื่อตัดสินใจไปทำงานการเมืองก็ถือว่าได้ขาดจากการเป็นนิติราษฎร์โดยสภาพแล้ว ซึ่งต่อจากนี้ไปจะถือว่าเป็นบทบาทคนละส่วนกัน

 

ศ.ดร.วรเจตน์ ย้ำในตอนท้ายว่า เมื่อมีการตั้งพรรคอนาคตใหม่แล้วก็ขอสื่อว่าไม่ใช้คำว่าพรรคนิติราษฎร์ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกันตั้งแต่ต้นเลย เป็นความเข้าใจของสื่อบางส่วนที่นำเสนอไปเอง

 

ยืนยันว่าตนเองไม่ได้อยู่เบื้องหลัง ไม่ได้เป็นที่ปรึกษา แต่ในส่วนของความสัมพันธ์ส่วนตัวก็เป็นเรื่องที่มนุษย์มีอยู่ตลอด แต่ส่วนตัวก็มีจุดยืนของตัวเอง และข้อเสนอของนิติราษฎร์ต่อจากนี้ไปก็ไม่ได้เกี่ยวกับพรรคอนาคตใหม่ แต่หากพรรคอนาคตใหม่จะรับไปทำก็เป็นเรื่องของเขา รวมทั้งพรรคการเมืองอื่นๆ ที่จะรับไปทำ เพราะข้อเสนอของนิติราษฎร์ถือว่าเป็นสมบัติสาธารณะ ยืนยันอีกครั้งว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลังใคร และไม่มีใครอยู่เบื้องหลังตนเองได้

 

“สิ่งที่ปิยบุตรตัดสินใจแสดงให้เห็นถึงความกล้าที่จะออกไปเป็นนักการเมือง ไม่ใช่เอาสถานะความเป็นนักวิชาการไปเล่นการเมืองแบบที่มีบางส่วนใช้สถานะนี้ไปเล่นการเมือง ซึ่งได้ประกาศต่อสาธารณชนอย่างเปิดเผยด้วย”

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X