×

การกลับมาของ ‘วงศ์เทวัญ’ ในการขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในรอบ 15 ปี

03.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

12 Mins. Read
  • การขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกของ พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ จากนายทหารสายวงศ์เทวัญ (กองพลที่ 1 รักษาพระองค์) ถือเป็นการได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งนี้ครั้งแรกในรอบ 15 ปี ในการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี 2561
  • หลังตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกถูกผูกขาดจากนายทหารสายบูรพาพยัคฆ์และทหารเสือราชินีมา 5 คน ระหว่างปี 2547-2548 และ 2550-2559 และรบพิเศษ 2 คน ระหว่างปี 2548-2550 และ 2559 ถึงปัจจุบัน

ธรรมเนียมปฏิบัติที่สำคัญของกองทัพบกที่มีการจัดทำขึ้นทุกๆ ปีคือ การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี ซึ่งภายใน 1 ปีมีการโยกย้ายนายทหาร 2 ช่วงเวลาที่สำคัญ ได้แก่ การแต่งตั้งโยกย้ายกลางปี (เม.ย.) และการแต่งตั้งโยกย้ายปลายปี (ส.ค.)

 

การแต่งตั้งโยกย้ายที่เกิดขึ้นก็เพื่อให้มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนการดำรงตำแหน่งของนายทหารในกองทัพบก โดยเฉพาะนายทหารชั้นนายพลเข้าสู่ตำแหน่งสูงขึ้น เพื่อเตรียมเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน หรือขยับเข้าสู่ตำแหน่งระดับสูงในกองทัพบกช่วงแต่งตั้งโยกย้ายปลายปี เช่น ผู้บัญชาการทหารบกและแม่ทัพภาค รวมถึงหน่วยคุมกำลัง เช่น ผู้บัญชาการกองพลทหารราบ, ผู้บัญชาการกองพลทหารม้า และผู้บัญชาการกองพลทหารปืนใหญ่

 

ตำแหน่งสำคัญที่ถูกจับตามองในการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปีในเดือนสิงหาคมของทุกปี ได้แก่ ผู้บัญชาการทหารบก ตำแหน่งสูงสุดในกองทัพบกที่เปรียบเสมือนนายกรัฐมนตรีเงา มีอำนาจทางการเมืองและการทหาร สามารถกำหนดทิศทางการเมืองไทยว่าควรจะออกมาทิศทางใด

 

ภาพที่ 1: จากซ้ายไปขวา จอมพล ป. พิบูลสงคราม, จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์, จอมพล ถนอม กิตติขจร, พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ และ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตผู้บัญชาการทหารบกที่ควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกตำแหน่ง ที่มาของภาพ www.rta.mi.th

 

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา ผู้บัญชาการทหารบกมีบทบาทสำคัญในทางการเมืองและการทหาร โดยเฉพาะบทบาททางการเมืองมีส่วนในการสนับสนุนและสร้างเสถียรภาพให้กับรัฐบาลพลเรือน และสามารถเข้ายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนได้ในเวลาเดียวกัน

 

การยึดอำนาจในแต่ละครั้งส่วนใหญ่เป็นผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้า นอกจากนี้ ยังมีผู้บัญชาการทหารบกบางคนเข้าไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกตำแหน่ง ได้แก่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม, จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์, จอมพล ถนอม กิตติขจร, พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ และ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

ภาพที่ 2: จากซ้ายไปขวา พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา, พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พลเอก อุดมเดช สีตบุตร และ พลเอก ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบกจากบูรพาพยัคฆ์และทหารเสือราชินี ที่มาของภาพ www.rta.mi.th

 

ย้อนดูเส้นทางการเติบโตของ ‘ผู้บัญชาการทหารบก’

สำหรับเส้นทางการเติบโตของผู้บัญชาการทหารบกสามารถแบ่งออกเป็น 2 สายหลัก ได้แก่ เติบโตจากสายคุมกำลัง (Command) และเติบโตจากสายเสนาธิการ (Staff)

 

สายคุมกำลังเติบโตจากเหล่าคุมกำลังรบของกองทัพบก ได้แก่ เหล่าทหารราบ, เหล่าทหารม้า และเหล่าทหารปืนใหญ่ ส่วนสายเสนาธิการเติบโตจากเหล่าสนับสนุนกำลังรบของกองทัพบก เช่น เหล่าทหารช่างและเหล่าทหารสื่อสาร

 

แต่ภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนถึงปัจจุบัน เส้นทางการเติบโตขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเป็นการแข่งขันระหว่างกลุ่มย่อยภายในกองทัพบกระหว่างวงศ์เทวัญ (กองพลที่ 1 รักษาพระองค์) บูรพาพยัคฆ์และทหารเสือราชินี (กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์) และรบพิเศษ (หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ)

 

ซึ่งตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกถูกผูกขาดโดยบูรพาพยัคฆ์และทหารเสือราชินีมาตลอด ระหว่างปี 2547-2548 และ 2550-2559 ผู้บัญชาการทหารบกมาจากนายทหารบูรพาพยัคฆ์และทหารเสือราชินี 5 คน ได้แก่

 

  1. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 34 ระหว่างปี 2547-2548
  2. พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 36 ระหว่างปี 2550-2553
  3. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 37 ระหว่างปี 2553-2557
  4. พลเอก อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 38 ระหว่างปี 2557-2558
  5. พลเอก ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 39 ระหว่างปี 2558-2559

 

 

ผบ.ทบ. ปี 2561 ได้ ‘วงศ์เทวัญ’ ในรอบ 15 ปี

อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี 2561 เป็นอีกครั้งที่ผู้บัญชาการทหารบกไม่ได้มาจากกลุ่มบูรพาพยัคฆ์ ภายหลังสื่อต่างๆ ได้นำเสนอเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี 2561 โดย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นัดเชิญประชุมร่วมกับผู้บัญชาการเหล่าทัพในวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 เพื่อหารือการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี 2561

 

ข่าวในสำนักข่าวออนไลน์ระบุตรงกันว่า โผแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารปีนี้ ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 41 ต่อจาก พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท ที่จะเกษียณอายุราชการวันที่ 30 กันยายน 2561 เป็นนายทหารที่มาจากวงศ์เทวัญ (กองพลที่ 1 รักษาพระองค์) ได้แก่ พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก อดีตแม่ทัพภาคที่ 1 และผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งเติบโตในกองพลที่ 1 รักษาพระองค์มาตลอด และได้รับการคาดหมายว่าจะขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกตั้งแต่เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก

 

นับเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปีที่นายทหารจากวงศ์เทวัญกลับมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก หลังจาก พลเอก สมทัต อัตตะนันทน์ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 32 ระหว่างปี 2545-2546 และเป็นอีกครั้งที่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกถูกกระจายมาสู่นายทหารที่ไม่ได้มาจากบูรพาพยัคฆ์และทหารเสือราชินี

 

กล่าวได้ว่าเป็นช่วง 10 ปีที่ผู้บัญชาการทหารบกมาจากสายบูรพาพยัคฆ์และทหารเสือราชินี ไม่มีทหารจากสายอื่นๆ คือ วงศ์เทวัญและรบพิเศษ สามารถแข่งขันขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกได้เลย อย่างน้อยที่สุดสามารถขึ้นสู้ได้เพียงตำแหน่งระดับสูงของกองทัพบก เช่น รองเสนาธิการทหารบก แม่ทัพภาคที่ 1 เสนาธิการทหารบก ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และรองผู้บัญชาการทหารบก

 

เส้นทางขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกของวงศ์เทวัญ

ก่อนที่ พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกจะสามารถขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 41 ในอดีตเคยมีผู้บัญชาการทหารบกที่มาจากวงศ์เทวัญ ซึ่งวงศ์เทวัญคือกลุ่มนายทหารที่รับราชการอยู่ในกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ มีหน่วยขึ้นตรงหลักคือกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์

 

แต่เดิมวงศ์เทวัญเป็นการเรียกกลุ่มทหารจากต่างจังหวัดในสมัย จอมพล ประภาส จารุเสถียร ผู้บัญชาการทหารบก และ พลเอก ประเสริฐ ธรรมศิริ ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ที่มีมุมมองต่อบุตรหลานของนายทหารระดับสูงในกองทัพบกที่เข้ารับราชการในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์เป็นหน่วยที่มีความใกล้ชิดกับผู้บังคับบัญชาระดับสูงในกองทัพบก ซึ่งบุตรหลานของนายทหารระดับสูงได้รับการอุปถัมภ์ให้เติบโตในเส้นทางการรับราชการ ส่วนกลุ่มนายทหารต่างจังหวัดขาดโอกาสในการโยกย้ายเข้ารับราชการอยู่ในหน่วยทหารรักษาพระองค์ โดยผู้บัญชาการทหารบกจากวงศ์เทวัญมีทั้งสิ้น 8 คน ได้แก่

 

 

จากซ้ายไปขวา

  1. จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 16 ระหว่างปี 2497-2506
  2. จอมพล ถนอม กิตติขจร ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 17 ระหว่างปี 2506-2507
  3. จอมพล ประภาส จารุเสถียร ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 18 ระหว่างปี 2507-2516
  4. พลเอก กฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 19 ระหว่างปี 2516-2518

 

 

จากซ้ายไปขวา

  1. พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 24 ระหว่างปี 2525-2529
  2. พลเอก อิสระพงศ์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 27 ระหว่างปี 2535-2535
  3. พลเอก เชษฐา ฐานะจาโร ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 30 ระหว่างปี 2539-2541
  4. พลเอก สมทัต อัตตะนันทน์ ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 32 ระหว่างปี 2545-2546

 

เส้นทางหลักการขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกของนายทหารจากสายวงศ์เทวัญ ได้แก่ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์/กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ > ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ > แม่ทัพภาคที่ 1 > 4 เสือกองทัพบก > ผู้บัญชาการทหารบก

 

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์, จอมพล ถนอม กิตติขจร, จอมพล ประภาส จารุเสถียร, พลเอก กฤษณ์ สีวะรา และ พลเอก สมทัต อัตตะนันทน์ มีเส้นทางขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในรูปแบบดังกล่าว

 

พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ดำรงตำแหน่งในกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ได้แก่ รองผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ก่อนจะข้ามไปดำรงตำแหน่งผู้บังคับกรมผสมที่ 23 และผู้บัญชาการกองพลที่ 3 และกลับมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ > แม่ทัพภาคที่ 1 > 4 เสือกองทัพบก > ผู้บัญชาการทหารบก

 

พลเอก อิสระพงศ์ หนุนภักดี ดำรงตำแหน่งในกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ได้แก่ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ข้ามไปดำรงตำแหน่งผู้บัญชากองพลทหารราบที่ 6 และกลับมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ก่อนข้ามไปดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 2 ขึ้นสู่ตำแหน่ง 4 เสือกองทัพบก และผู้บัญชาการทหารบก

 

พลเอก เชษฐา ฐานะจาโร ดำรงตำแหน่งในกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ได้แก่ ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ผู้บังคับกองทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ และรองผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ก่อนข้ามไปดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 11 และกองพลทหารราบที่ 6 และกลับมาดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 > 4 เสือกองทัพบก > ผู้บัญชาการทหารบก

 

ภาพตึกกองบัญชาการกองทัพบก จากประชาสัมพันธ์กองทัพบก

 

4 เหตุผล 3 ปัจจัยการเมือง ส่งวงศ์เทวัญขึ้น ผบ.ทบ.

องค์ประกอบสำคัญที่สนับสนุนให้นายทหารจากวงศ์เทวัญสามารถขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกได้เป็นครั้งแรกในปี 2497 จนถึงก่อนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 และสามารถกลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้งภายหลังพฤษภาทมิฬ 2535 ได้แก่

  1. รับราชการในหน่วยทหารรักษาพระองค์
  2. จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าได้คะแนนลำดับต้นๆ ของรุ่น ทำให้มีสิทธิ์เลือกลงในหน่วยทหารรักษาพระองค์ โดยเฉพาะหน่วยทหารรักษาพระองค์เหล่าทหารราบ
  3. การเป็นเครือญาติหรือลูกหลานของนายทหารที่รับราชการอยู่ในหน่วยรักษาพระองค์ โดยเฉพาะกองพลที่ 1 รักษาพระองค์, กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์
  4. รับราชการอยู่ในหน่วยรบของกองทัพบก คือ เหล่าทหารราบ

 

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางการเมืองที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทำให้นายทหารจากวงศ์เทวัญสามารถดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกได้อย่างต่อเนื่อง ดังนี้

  1. การขึ้นมามีบทบาททางการเมืองและการทหารของนายทหารจากกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ที่นำกำลังเข้าร่วมทำรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490
  2. การดำรงตำแหน่งคุมกำลังในกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งมีหน่วยขึ้นตรงหลัก ได้แก่ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ เป็นฐานสะสมอำนาจทางการเมืองและการทหารที่สำคัญในการขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก
  3. การขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในปี 2497 ของ จอมพล สฤษดิ์ สามารถวางตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกให้แก่นายทหารในกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ได้แก่ จอมพล ถนอม, จอมพล ประภาส และ พลเอก กฤษณ์

 

มีเหมือนกันที่ ผบ.ทบ. ไม่ได้มาจากบูรพาพยัคฆ์หรือวงศ์เทวัญ

อย่างไรก็ตาม มีบางช่วงที่นายทหารจากกลุ่มอื่นๆ ที่สามารถขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้น ได้แก่ การรัฐประหาร กบฏ และการเปลี่ยนผ่านจากระบอบประชาธิปไตยมาสู่ระบอบเผด็จการทหาร หรือจากระบอบเผด็จการทหารมาสู่ระบอบประชาธิปไตย เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519, กบฏเดือนเมษายน 2524, กบฏเดือนกันยายน 2528, รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534, เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535, รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

 

โดยเฉพาะภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในกองทัพบกครั้งใหญ่ คือ นายทหารที่เติบโตในกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ถูกโยกย้ายออกจากตำแหน่งคุมกำลังในกองทัพบกเกือบทั้งหมด ทำให้นายทหารกลุ่มอื่นๆ เริ่มเข้าสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

 

องค์ประกอบสำคัญซึ่งสนับสนุนนายทหารที่มีความเหมาะสมจะได้เข้ามารับตำแหน่งดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม กล่าวคือ

  1. นายทหารที่เติบโตจากกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ถูกลดบทบาทลง
  2. ไม่จำเป็นต้องจบการศึกษาที่ได้คะแนนสูงลำดับต้นๆ จากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
  3. สภาวะสุญญากาศในกองทัพบกหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เป็นการเปิดโอกาสให้นายทหารกลุ่มอื่นๆ เข้าสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก
  4. นายทหารที่เติบโตจากกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ไม่ได้ผูกขาดตำแหน่งคุมกำลังและระดับสูงของกองทัพอีกต่อไป

 

ทำให้นายทหารจากสายเสนาธิการ นายทหารจากรบพิเศษ และนายทหารจากบูรพาพยัคฆ์และทหารเสือราชินีสามารถขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกได้เช่นเดียวกัน นายทหารจากสายเสนาธิการที่ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ได้แก่

 

 

จากซ้ายไปขวา 1-5

  1. พลเอก บุญชัย บำรุงพงศ์ ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 20 ระหว่างปี 2518-2519
  2. พลเอก เสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 21 ระหว่างปี 2519-2521
  3. พลเอก ประยุทธ จารุมณี ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 23 ระหว่างปี 2524-2525
  4. พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 25 ระหว่างปี 2529-2533
  5. พลเอก สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 26 ระหว่างปี 2533-2535
  6. พลเอก ประมณฑ์ ผลาสินธุ์ ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 29 ระหว่างปี 2538-2539

 

นายทหารจากรบพิเศษ (หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ) ที่ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ได้แก่

 

 

จากซ้ายไปขวา

  1. พลเอก วิมล วงศ์วานิช ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 28 ระหว่างปี 2535-2538
  2. พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 31 ระหว่างปี 2541-2545
  3. พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 35 ระหว่างปี 2548-2550
  4. พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 40 ระหว่างปี 2559 ถึงปัจจุบัน

 

นายทหารจากบูรพาพยัคฆ์ (กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์) และทหารเสือราชินี (กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์) ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ได้แก่

 

 

จากซ้ายไปขวา

  1. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 34 ระหว่างปี 2547-2548
  2. พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 36 ระหว่างปี 2550-2553
  3. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 37 ระหว่างปี 2553-2557
  4. พลเอก อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 38 ระหว่างปี 2557-2558
  5. พลเอก ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 39 ระหว่างปี 2558-2559

 

 

วงศ์เทวัญคนสุดท้ายเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ทักษิณตั้ง

พลเอก สมทัต อัตตะนันทน์ เป็นนายทหารจากวงศ์เทวัญคนสุดท้ายที่ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

 

พลเอก สมทัต ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2545-2546 ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่ใช้อำนาจทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปีที่เรียกว่า การนำทหารกลับสู่การเมืองอีกครั้ง (Repoliticization of the Military)

 

โดยทักษิณได้เข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี ต้องการมีอำนาจเหนือทหารด้วยการนำทหารกลับสู่การเมืองมาเป็นฐานอำนาจทางการเมืองทักษิณ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและลดโอกาสการทำรัฐประหาร ซึ่งเป็นความพยายามของทักษิณที่ต้องการสร้างความร่วมมือกับทหารและหลีกเลี่ยงการท้าทายอำนาจของทหาร ความเกี่ยวโยงที่แนบแน่นระหว่างทหารกับรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งผลักดันให้ทักษิณนำทหารเข้ามาอยู่ภายใต้รัฐบาลและเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล ด้วยการใช้อำนาจทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี

 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นช่วงที่วงศ์เทวัญไม่สามารถขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก มีเพียงนายทหารบูรพาพยัคฆ์และทหารเสือราชินีกับรบพิเศษที่สามารถขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก แต่ภายหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน

 

การผูกขาดตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกจากบูรพาพยัคฆ์และทหารเสือราชินีเริ่มถดถอย เมื่อ พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท จากรบพิเศษขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในปี 2559 และ พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ จากวงศ์เทวัญ ซึ่งจะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปีที่นายทหารจากวงศ์เทวัญได้รับความไว้วางใจให้กลับมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกอีกครั้ง ภายใต้รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องการพักยกระหว่างบูรพาพยัคฆ์-วงศ์เทวัญ เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพภายในกองทัพบกเพื่อเตรียมรับการเลือกตั้งในปี 2562

 

ภาพ: เฟซบุ๊ก วาสนา นาน่วม

 

ย้อนดูเส้นทาง ผบ.ทบ. ป้ายแดง พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์

สำหรับ พลเอก อภิรัชต์ เป็นนายทหารจากวงศ์เทวัญที่เติบโตในกองพลที่ 1 รักษาพระองค์มาตลอด ผ่านการดำรงตำแหน่งสำคัญ ได้แก่ ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์, ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ และผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ก่อนขึ้นสู่ตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และเตรียมขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 41 ในการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี 2561 ที่มีเส้นทางการเติบโตตามแบบของนายทหารจากวงศ์เทวัญ ได้แก่

 

ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์/กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ > ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ > แม่ทัพภาคที่ 1 > 4 เสือกองทัพบก > ผู้บัญชาการทหารบก

 

และนี่คือการขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกจากวงศ์เทวัญ (กองพลที่ 1 รักษาพระองค์) ซึ่งได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกครั้งแรกในรอบ 15 ปี ในการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี 2561 ภายหลังตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกมาจากบูรพาพยัคฆ์และทหารเสือราชินี 5 คน ระหว่างปี 2547-2548 และ 2550-2559 และรบพิเศษ 2 คน ระหว่างปี 2548-2550 และ 2559 ถึงปัจจุบัน

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • โยชิฟุมิ ทามาดะ. (2557). รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารในกองทัพบกกับการแทรกแซงการเมืองในประเทศไทย. ฟ้าเดียวกัน 12, ฉ.2-3 (พฤษภาคม-ธันวาคม 2557): 194.
  • วันวิชิต บุญโปร่ง. (2554). เส้นทางสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในรอบ 4 ทศวรรษ. รวมบทความวิชาการและงานวิจัย การประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 12 (พ.ศ. 2554). เชียงใหม่. คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 562.
  • ธนากิต (2545). ประวัตินายกรัฐมนตรีไทย. กรุงเทพฯ: ปิรามิด, 504-506. : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. (2557). ประเมิน ‘ประยุทธ์’ 4ปีบนเก้าอี้ ผบ.ทบ. www.bangkokbiznews.com/news/detail/608121
  • วันวิชิต บุญโปร่ง. (2556). บทบาททางการทหารและทางการเมืองของ “กลุ่มนายทหารบูรพาพยัคฆ์” พ.ศ.2524-2554. วารสารสหวิทยาการวิจัย: ฉบับบัณฑิตศึกษา, 2 (2). 1-15.
  • ไทยโพสต์ออนไลน์. (2561). 5 เสือทบ.ลงตัว ‘บิ๊กแดง’ ผงาดคุมทบ.ตามคาด. www.thaipost.net/main/detail/13702 
  • ไทยรัฐออนไลน์. (2561). โผทหาร ปี 61 ลงตัว! ‘บิ๊กแดง’ มาตามคาด ผงาด ผบ.ทบ.คุมกองทัพบก. www.thairath.co.th/content/1337519
  • มติชนออนไลน์. (2561). เปิดโผทหาร เสือทบ.ลงตัว ‘บิ๊กแดง’เต็งผบ.ทบ. ‘บิ๊กป้อม’เรียกผบ.เหล่าทัพถก25ก.ค.นี้. www.matichon.co.th/politics/news_1049227 
  • กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. (2561). เปิดโผแต่งตั้ง ‘บิ๊กแดง’ ผงาดผบ.ทบ. ‘บิ๊กลือ’ผบ.ทร.-‘บิ๊กต่าย’ผบ.ทอ. www.bangkokbiznews.com/news/detail/808081
  • ไทยรัฐออนไลน์. (2561). แล้วก็มาถึง ‘บิ๊กแดง’ ขุนทหาร สาย ‘วงศ์เทวัญ’ กับวันมีชื่อติด ว่าที่ผบ.ทบ. www.thairath.co.th/content/1337614
  • Thaiquote. (2561). ส่องว่าที่ ผบ.ทบ. ทำไมต้อง ‘อภิรัชต์.’ www.thaiquote.org/content/37499
  • ปิยะภพ มะหะมัด. (2559). กลุ่มทหารบูรพาพยัคฆ์ในฐานะกลุ่มทางการเมือง ศึกษาระหว่างปี พ.ศ. 2544 จนถึงรัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  • วันวิชิต บุญโปร่ง. (2554). เส้นทางสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในรอบ 4 ทศวรรษ, 576. นอกจากกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ เป็นหน่วยขึ้นตรงหลักของกองพลที่ 1 รักษาพระองค์แล้ว ยังมีหน่วยขึ้นตรงหลักอีก 2 หน่วย คือ กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ และกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์
  • วิเชียร ตันศิริคงคล, (2558, 20 กรกฎาคม). ประธานหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา. สัมภาษณ์.
  • สุรชาติ บำรุงสุข. (2543). ทหารกับการเมืองไทยในศตวรรษหน้า: พัฒนาการและความเปลี่ยนแปลง. กรุงเทพฯ: สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 29. : Wanwichit Boonprong. (2000). The Thai Military Since 1957: The Transition to Democracy and the Emerging of the Professional Soldier. Master’s diss., University of Adelaide, 51
  • วิเชียร ตันศิริคงคล, (2558, 20 กรกฎาคม). ประธานหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา. สัมภาษณ์.
  • Duncan McCargo and Ukrist Pathmanand. (2005). The Thaksinization of Thailand. Copenhagen: NIAS Press, 134.
  • คมชัดลึกออนไลน์. (2561). พักยก “วงศ์เทวัญ-บูรพาพยัคฆ์” เอกภาพกองทัพสู้การเมือง. www.komchadluek.net/news/scoop/317963
  • ไทยรัฐออนไลน์. (2561). แล้วก็มาถึง ‘บิ๊กแดง’ ขุนทหาร สาย ‘วงศ์เทวัญ’ กับวันมีชื่อติด ว่าที่ผบ.ทบ. www.thairath.co.th/content/1337614
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising