×

สาธารณสุขเผย ห้องน้ำหญิงควรมีเยอะกว่าห้องน้ำชาย 2 เท่า

27.05.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • จากการเก็บสถิติของสถิติประชากรศาสตร์ ประชากรและเคหะของประเทศไทย ในปี 2560 มีพลเมืองชาย 32,464,906 คน พลเมืองหญิง 33,723,597 คน นั่นแปลว่ามีประชากรหญิงชาวไทยมากกว่าชายอยู่ราวๆ 1,258,691 คนด้วยกัน ต่อสัดส่วนห้องน้ำที่เท่ากัน
  • ขณะที่ในปี 2554 มีรายงานผลดำเนินงานพัฒนาห้องน้ำสาธารณะไทย และพบว่ามีห้องน้ำสาธารณะสะอาด พอเพียง ปลอดภัย เพียง 55.47% เท่านั้น
  • รายงานของอังกฤษระบุว่า สาเหตุที่จำต้องเพิ่มจำนวนห้องน้ำหญิงนั้นมาจากปัจจัยที่ว่าเพศหญิงใช้เวลามากกว่าในการทำกิจ อันเกิดจากสิ่งที่สวมใส่ รอบเดือน และความแตกต่างทางกายวิภาค

“ทำไมห้องน้ำหญิงแถวยาวกว่าผู้ชายตลอด”

 

คำถามตลอดกาลที่ผู้หญิงหลายคนพึงถามในใจ ซึ่งอาจมาพร้อมความน้อยเนื้อต่ำใจว่าเหตุไฉนประชากรหญิงในโลกเยอะแล้ว แต่ห้องน้ำกลับมีเท่ากับของเพศชายเสียอย่างนั้น

 

การสำรวจด้านสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะในสหราชอาณาจักรล่าสุด พบว่าห้องน้ำหญิงมีน้อยกว่าความต้องการถึง 2 เท่าด้วยกัน โดยราชสมาคมเพื่อการสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร (RSPH) แนะนำว่าควรมีมาตรการใหม่สำหรับการจัดทำห้องน้ำหญิงในเครือจักรภพ โดยเสนอแนะให้ใช้กฎหมายแบบบางพื้นที่ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ที่กำหนดให้มีจำนวนห้องน้ำหญิงมากกว่าห้องน้ำชายที่อัตราส่วน 2 ต่อ 1

 

 

ซึ่งสัดส่วนดังกล่าว รายงานระบุว่ามาจากปัจจัยที่ว่าเพศหญิงใช้เวลามากกว่าในการทำกิจ อันเกิดจากสิ่งที่สวมใส่ รอบเดือน และความแตกต่างทางกายวิภาค ซึ่งสัดส่วนห้องน้ำของประเทศอังกฤษตามมาตรฐานอยู่ที่ 1 ต่อ 1

 

ทั้งยังระบุอีกว่าห้องน้ำแบบควบชายหญิงยังมีความจำเป็น เพื่อความสะดวกสบายใจสำหรับกลุ่มคนข้ามเพศ โดยผลการรายงานชิ้นนี้ยังแสดงถึงความกังวล เนื่องจากจำนวนห้องน้ำสาธารณะในอังกฤษลดลง โดยมีคนจำนวนถึง 74% จาก 2,089 คนที่เผยว่าห้องน้ำสาธารณะในย่านที่อยู่อาศัยมีไม่มากพอ

 

1 ใน 5% ยังบอกอีกว่าพวกเขาไม่อยากออกจากบ้านไปไหน เนื่องจากกังวลว่าจะไม่มีห้องน้ำสาธารณะให้เข้า ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ด้วยโรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับลำไส้ หรือคนจำต้องเข้าห้องน้ำบ่อย ขณะที่มีคนจำนวนถึง 56% ที่ยอมไม่ดื่มน้ำเท่าที่ควร เนื่องจากกลัวว่าจะต้องปัสสาวะ อันก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพตามมา

 

 

เชอร์ลี เครเมอร์ ผู้เขียนรายงานนี้และซีอีโอของราชสมาคมเพื่อการสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร เผยถึงความกังวลอีกว่าส่งผลให้คนออกจากบ้านไปทำกิจกรรมกันน้อยลง และไม่ช่วยเรื่องปัญหาน้ำหนักเกินของชาวอังกฤษ “รายงานนี้แสดงให้เห็นถึงปัญหาจำนวนห้องน้ำที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้ในสหราชอาณาจักร ซ้ำยังลดลงอย่างต่อเนื่องจนอาจก่อผลเสียต่อสุขภาพ การคมนาคม และส่งผลให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันแบบที่ไม่ควรปล่อยปละละเลยได้

 

“แม้จะดูไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญ แต่ห้องน้ำสาธารณะเป็นสิ่งจำเป็นอย่างขาดไม่ได้ และถือเป็นความต้องการพื้นฐานของทุกชุมชน” โทนี ไรน์เบิร์ก ผู้จัดการด้านการดูแลสุขภาพและการตลาดเชิงพาณิชย์ของสุขภัณฑ์ Armitage Shanks ของอังกฤษเสริม

 

 

ขณะที่ในประเทศไทย จากการเก็บสถิติของสถิติประชากรศาสตร์ ประชากรและเคหะ ในปี 2560 มีพลเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมายและตามหลักฐานในทะเบียนราษฎรอยู่ที่ 66,188,503 คน โดยเป็นชาย 32,464,906 คน และเป็นหญิง 33,723,597 คน นั่นแปลว่ามีประชากรหญิงชาวไทยมากกว่าชายอยู่ราวๆ 1,258,691 คนด้วยกันต่อสัดส่วนห้องน้ำที่เท่ากัน

 

เมื่อดูจากกฎกระทรวง ฉบับที่ 63 (พ.ศ. 2551) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคารแล้ว พบว่าในประเทศไทยมีการกำหนดสัดส่วนห้องน้ำชายหญิงในประเทศไทยโดยมีสัดส่วนของเพศหญิงมากกว่าอยู่แล้ว อาทิ หอประชุมหรือโรงมหรสพ ที่สัดส่วนห้องน้ำ ผู้ชาย 1 และผู้หญิง 3, อาคารพาณิชย์ 200 ตารางเมตรขึ้นไป ผู้ชาย 1 ต่อผู้หญิง 3, สถานีขนส่งมวลชน 200 ตารางเมตร ผู้ชาย 2 ต่อผู้หญิง 6 เป็นต้น กระนั้นกลับยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการเท่าใดนัก

 

ในปี 2552 กระทรวงสาธารณสุขได้ทำการประเมินห้องน้ำสาธารณะในประเทศไทย และพบว่าผ่านเกณฑ์เพียง 40.37% จากมาตรฐานประเมินเรื่องความสะอาด (Healthy) เพียงพอ (Accessibility) และปลอดภัย (Safety) โดยห้องน้ำที่ผ่านมาตรฐานสามารถแบ่งได้ดังนี้

 

    • ห้างสรรพสินค้า 88.52%
    • โรงพยาบาล 83.11%
    • ห้องน้ำริมทาง 67.02%
    • แหล่งท่องเที่ยว 62.91%
    • สวนสาธารณะ 60.06%
    • ตลาดสด 48.6%
    • สถานที่ราชการ 47.28%
    • โรงเรียน 44.45%
    • ปั๊มน้ำมัน 44.07%
    • สถานีขนส่ง 41.4%
    • ร้านอาหาร 36.15%
    • วัด 11.75%

 

ขณะที่ในปี 2554 มีรายงานผลดำเนินงานพัฒนาห้องน้ำสาธารณะไทย และพบว่ามีห้องน้ำสาธารณะสะอาด พอเพียง ปลอดภัย เพียง 55.47% เท่านั้น

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

 

  •  
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X