เนื่องในวันสตรีสากล 8 มีนาคม แกรนท์ ธอนตัน อินเตอร์เนชันแนล ผู้ให้บริการด้านที่ปรึกษาทางธุรกิจและบริการตรวจสอบบัญชี เผยผลสำรวจพบว่า มีผู้หญิงนั่งตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงมากขึ้นทั่วโลก รวมทั้งในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะในอาเซียนที่หลายตัวชี้วัดมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก โดยร้อยละ 94 ของบริษัททั่วอาเซียนที่ทำการสำรวจมีผู้หญิงเป็นผู้บริหารระดับสูงอย่างน้อย 1 คน สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 87
ส่วนในประเทศไทยก็พบสัญญาณที่น่ายินดี เพราะมีผู้หญิงรั้งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร/กรรมการผู้จัดการถึงร้อยละ 33 สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอาเซียน (ร้อยละ 21) และสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก (ร้อยละ 15) กว่าเท่าตัว นอกจากนี้ผู้หญิงยังครองตำแหน่งสำคัญอื่นๆ เช่น ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (ร้อยละ 26) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (ร้อยละ 17) และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด (ร้อยละ 16)
จากผลสำรวจนี้ เมเลีย ครูซ หุ้นส่วนของแกรนท์ ธอนตัน ประเทศไทย มองว่า “ถึงแม้ว่าจะยังไม่เห็นสัดส่วนตัวเลขที่เท่าเทียมกันระหว่างเพศเท่าที่ควร แต่ก็เห็นแนวโน้มว่าบทบาทของผู้หญิงในวงการธุรกิจของไทยนั้นแซงหน้าวงการการเมืองเป็นอย่างมาก ซึ่งในรัฐบาลชุดปัจจุบันไม่พบผู้หญิงเป็นรัฐมนตรีเลย และสัดส่วน ส.ส.หญิงในสภาฯ ก็มีแค่ร้อยละ 5 จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามกันต่อไปว่าแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านเชิงวัฒนธรรมด้านความเท่าเทียมทางเพศในช่วงที่ผ่านมาจะสะท้อนกับผลการเลือกตั้งรอบที่จะถึงนี้หรือไม่”
ผลการสำรวจของแกรนท์ ธอนตัน อินเตอร์เนชันแนลในปีนี้ครอบคลุมผู้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้จัดการ ประธานบริษัท และตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงอื่นๆ เกือบ 5,000 คนทั่วโลก ซึ่งสะท้อนภาพอย่างเด่นชัดว่า ผู้หญิงได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทในฐานะผู้นำในโลกการทำงานกันมากขึ้น
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังบ่งชี้ถึงแนวทางที่องค์กรภาคธุรกิจใช้ในการขับเคลื่อนให้เกิดความเสมอภาคทางเพศในกลุ่มผู้บริหารอีกด้วย ซึ่งในประเทศไทยพบว่ามีแนวทางหลักๆ อยู่ 3 แนวทางด้วยกัน ได้แก่ การสร้างวัฒนธรรมที่เปิดกว้างเพื่อการมีส่วนร่วมของทุกเพศ (ร้อยละ 37) การส่งเสริมการทำงานที่ยืดหยุ่น (ร้อยละ 28) และการทบทวนวิธีการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่ง (ร้อยละ 22) ส่วนแนวทางอื่นๆ ที่ใช้รองลงมา ได้แก่ การกำหนดสัดส่วนเพศของผู้ดำรงตำแหน่ง การให้รางวัลการทำงานที่บรรลุเป้าหมาย และการใช้ระบบพี่เลี้ยงผู้ให้คำปรึกษา อย่างไรก็ตาม พบว่ามีบริษัทถึงร้อยละ 13 ที่ไม่ดำเนินการใดๆ เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศในองค์กร
ผู้หญิงที่สวมบทบาทผู้นำยังเผชิญอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในการทำงาน ซึ่งอุปสรรคที่พบคล้ายๆ กัน ได้แก่ ภาระหน้าที่ดูแลครอบครัวนอกเวลางาน (ร้อยละ 31) ปัญหาการจัดสรรเวลาในการทำงาน (เกือบร้อยละ 29) และการขาดโอกาสในการสร้างเครือข่าย (ร้อยละ 24)
ประเด็นเกี่ยวกับสตรีที่อภิปรายกันอย่างกว้างขวางในโลกปัจจุบันและตามสื่อต่างๆ ได้รับแรงกระตุ้นสำคัญมาจากกระแสการเคลื่อนไหว #MeToo องค์กรธุรกิจในหลายประเทศเริ่มหันมาใส่ใจปัญหาความไม่เสมอภาคทางเพศในที่ทำงาน โครงการริเริ่มเพื่อสร้างความเท่าเทียมนี้ไม่เพียงช่วยเสริมภาพลักษณ์ให้องค์กรเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อธุรกิจขององค์กรอีกด้วย
เมเลีย ครูซ พูดถึงประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับว่า “การส่งเสริมความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งดีที่ควรทำ และมันยังส่งผลดีกับธุรกิจด้วย ข้อมูลยังชี้ชัดว่า ความหลากหลายทางความคิดและนวัตกรรมจะช่วยหนุนให้ธุรกิจมีผลประกอบการที่ดีขึ้น ภูมิหลังและประสบการณ์ที่แตกต่างกันยังทำให้ผู้หญิงและผู้ชายมีมุมมองต่อสิ่งต่างๆ ไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์หรือการดำเนินการ การเพิ่มผู้บริหารที่เป็นผู้หญิงในบอร์ดผู้บริหารของบริษัทไม่เพียงเพิ่มจุดแข็งด้านบุคลากรเท่านั้น แต่ยังช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ ที่หลากหลาย และขยายกรอบแนวคิดให้กว้างขวางเพื่อนำพาองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้า”
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า