พระพิฆเนศปางขี่เสือของ WK.studio ใครเห็นก็ว่ามู
อ้าว มันไม่มู?
อื้ม ใช่ ไม่มู ถูกแล้ว!
ขออภัยที่ดึงดันจะเล่นมุกหลวงปู่เค็มให้ได้แม้จะรู้ว่าฝืน แต่เพราะสินค้าของเขามันน่ารักจนใจเจ็บ แถมยังมีไวบ์ที่ชวนให้หลายคนคิดนำไปบูชาจริงๆ แบบนี้น่ะสิ เราเลยอดใจไม่อยู่
WK.studio คือแบรนด์ของตกแต่งบ้านของสองเพื่อนซี้ต่างภาควิชาอย่าง ตุ้ย-ภาคภูมิ นรังศิยา และ มี่-วาสิทธิ์ จินดาพร ที่นำความรู้ด้านเซรามิกและประยุกต์ศิลป์ที่ตัวเองร่ำเรียนมาผสมผสานกับสไตล์งานขลังๆ เวทๆ ที่ชื่นชอบ จนเกิดเป็นงานคาแรกเตอร์อาร์ตที่มีลักษณะเฉพาะตัว ดูเป็นของสายมูก็ไม่ใช่ แต่ถามว่าวางบูชาได้ไหมก็ไม่เชิง
ไม่เพียงแค่นั้น สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้คาแรกเตอร์เทพสุดกวน ยังเป็นที่มาของแบรนด์ ที่ก้าวกระโดดจากจุดเริ่มต้นแรกอย่างการเป็นแบรนด์กระถางต้นไม้หน้าตาแตกต่างไปจากกระถางต้นไม้ทั่วไปที่มีวางขายในยุคสมัยนั้นไปไกล นำความชอบที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ของทั้งสองคนมาพาให้งานปั้นที่เคยเป็นสินค้ารองกลายมาเป็นสินค้าหลักอย่างในปัจจุบัน
ถ้าอยากรู้ว่ามันกลายมาเป็นแบบนั้นได้อย่างไร ตั้งสมาธิให้มั่น ทำจิตให้ว่าง แล้วอ่านปฐมบทของการเกิดพระพิฆเนศปางขี่เสือ พญาเสือกวักหน้าตาตะมุตะมิ เทพแมวลั้ลลาเฮฮา on the Beach และเรียนรู้วิธีการทำงานที่ไม่ต้องมูก็สำเร็จได้ในแบบของ WK.studio ได้เลย
ก่อนจะสร้างชื่อว่าเป็นแบรนด์ของแต่งบ้านสายมู จุดเริ่มต้นของ WK.studio เคยทำกระถางต้นไม้ขายมาก่อน มันเกิดจากความชอบของทั้งสองคน หรือเป็นเทรนด์ในตอนนั้นพอดี
ตุ้ย: มันคือความชอบที่เราสามารถทำได้เลย ก่อนที่จะทำ WK.studio ด้วยกัน ผมอยากทำแบรนด์มานานแล้ว อยากทำเสื้อ อยากทำแหวน แต่ของพวกนั้นมันต้องศึกษาเยอะ พอคิดจะทำของขาย เราเลยเริ่มจากอะไรใกล้ตัวก่อน
ตอนนั้นเราปลูกต้นไม้กันอยู่แล้ว กระถางมันก็เลยเป็นโปรดักต์ที่ง่ายสุด ชัดสุด เพราะเรารู้กระบวนการทำ เลยคุยกันว่าถ้าอย่างนั้นเราก็เริ่มจากอันนี้แหละ อย่างน้อยถ้าขายไม่ออกก็ยังได้ใช้เอง ทำอย่างที่อยากทำ อยากได้อะไร อยากใช้กระถางแบบไหนก็ลองทำเลย ไม่ได้มีกรอบมาครอบว่ามันต้องขายได้
มี่: บางทีต้นไม้อยู่ได้หรือเปล่ายังไม่รู้เลย (หัวเราะ) เราทำไปตามที่คิดว่ามันสวย มันลงตัว เลยน่าจะทำให้กระถางต้นไม้ร้านเรามันแปลกว่ากระถางต้นไม้ร้านอื่นๆ ในตอนนั้น มีการใช้วัสดุต่างๆ เข้ามาผสมผสาน ช่วงนั้นสวนขวดดัง เราก็หาวิธีจัดองค์ประกอบให้มันเป็นกระถางในแบบที่เราอยากได้ เริ่มจากขายในงานคณะก่อน จนพี่ชารีย์ (เจ้าของ Uncle Ree Farm) มาเห็น แล้วมองว่างานของเรามันไปกับบูธของเขาได้ เขาเลยชวนไปขายในงานบ้านและสวนด้วยกัน
การได้ไปขายของในงานบ้านและสวนทั้งๆ ที่แบรนด์ยังเพิ่งตั้งไข่ ส่งผลต่อพวกคุณอย่างไรบ้าง
ตุ้ย: งานนั้นเหมือนเป็นจุดเปลี่ยนของเรา เราเข้าไปแบบไม่รู้อะไรเลย ไม่มีแผนการตลาด ไม่มีแผนการขายในหัว แค่ทำงานไปขายเอาสนุก เอามัน แต่พอลูกค้าชอบ ได้ฟีดแบ็กในด้านดีกลับมา ลูกค้ามาคุยแล้วเขารู้สึกเอ็นจอย เราก็เอ็นจอยกับเขา มีนิตยสารตามมาถ่าย มีงานต่อไปมาติดต่อ เราก็คิดว่าเฮ้ย งานเรามันไปได้ว่ะ มันเวิร์กกว่าที่คิดไว้ตอนแรก ถึงจบจากงานนั้นเราต้องกลับมาเรียน มาฝึกงานต่อ แต่ผมว่ามันฝังอยู่ในใจแล้วแหละ ลึกๆ เรารู้แล้วว่าเราอยากทำอย่างนี้ต่อ
ไปไงมาไง จากแบรนด์กระถางต้นไม้ ถึงเปลี่ยนมาเป็นแบรนด์ของแต่งบ้านอย่างในทุกวันนี้
มี่: จริงๆ ช่วงที่เราขายกระถางต้นไม้ เราก็ทำงานปั้นพวกของตกแต่งตัวเล็กๆ แปลกๆ มาตลอดอยู่แล้ว ถ้ามองเข้าไปในร้านจะเจอภาพประมาณนั้นอยู่
ตุ้ย: ภาพแบบร้านนี้ขายอะไรวะ มีทั้งกระถางต้นไม้ มีทั้งงานปั้น บางตัวก็ตั้งไว้เฉยๆ แต่ไม่ขาย (หัวเราะ) สินค้าหลักของเราตอนนั้นคือกระถางต้นไม้ งานปั้นที่เราทำเสริมมาเลยค่อนข้างมีอิสระ โจทย์คือปั้นไปก่อน ขายไม่ได้ก็ไม่เป็นไร คิดซะว่าตกแต่งบูธ แต่ปรากฏว่าทำมาแล้วคนชอบมาก ทุกครั้งเวลาจะไปออกบูธเราก็จะมานั่งปั้นกัน โดยไม่ได้วางแผนนะว่าต้องมีงานปั้นไปขาย แต่ก็ทำแบบนั้นมาเรื่อยๆ จนพอรู้สึกตัวอีกทีงานมันก็เริ่มเยอะขึ้น เริ่มรู้สึกว่าเวลาทำงานปั้นมันสนุกกว่า รีแล็กซ์กว่า
มี่: ตอนขายก็ง่ายกว่าด้วย เพราะกระถางมันต้องขายพร้อมต้นไม้ แล้วต้นไม้ก็ต้องอาศัยการดูแล เหมือนมาเริ่มชัดเจนตอนช่วงโควิดนี่แหละว่าถ้าอย่างนั้นทำแต่งานปั้นเลยดีกว่า เพราะช่วงนั้นเราไม่ได้ออกบูธเลยต้องทำสินค้าที่มันขายออนไลน์ได้ จึงมาเน้นเป็นทางนี้ แล้วเราก็เริ่มจากหยิบของที่เราเคยปั้นนี่แหละมาปรับ อย่างตุ้ยชอบปั้นเสือ เราก็ลองมาปรับท่าทางให้เป็นเสือกวักดูไหม หรือพระพิฆเนศ ผมก็ปั้นมาตั้งแต่ตอนเรียนแล้วเพราะเป็นตรามหาวิทยาลัย ลองตีความในรูปแบบของเราว่าเราอยากเห็นพระพิฆเนศเป็นอย่างนี้ เราก็ทำออกมา
ตอนที่อยู่ๆ ผลงานก็เกิดเป็นของมูโดยไม่ได้ตั้งใจ มีปรึกษากันว่าต้องปรับวิธีการทำงานให้ตอบโจทย์สายมูบ้างไหม
ตุ้ย: ปรับให้เขาเข้าใจว่าเราผลิตงานมาเพราะความชอบจริงๆ มากกว่า ให้เขารู้ว่าสไตล์งานของพวกเราเป็นแบบนี้ แต่เอาจริงๆ ตอนแรกก็เกร็งเหมือนกันนะ รู้สึกว่าเอ๊ะ เราควรต้องหาข้อมูลไหม แต่ถ้าทำแบบนั้นก็เหมือนเราไปสนับสนุนความคิด และการไม่หาข้อมูลมันจะทำให้งานยังมีอิสระด้วย ไม่ต้องกังวลว่าจะผิด หรือไม่ควร ไม่เหมาะ พอเราไม่ได้เอาสิ่งนั้นมาซีเรียส บวกกับวิธีการขายของเรา มีแต่งกลอน มีการพูดคุยให้เขารู้ว่าเราทำขึ้นมาเพราะอะไร คนเห็นงานก็จะเริ่มเข้าใจว่าของสิ่งนี้เราไม่ได้ตั้งใจทำมาเพื่อมูนะ
มี่: เราไม่ได้มองว่างานเราต้องมีอาจารย์ปลุกเสก ต้องมีมวลสาร แต่มองเป็นคาแรกเตอร์ที่ทำมาจากความชอบมากกว่า แต่ถ้าเขาอยากมูเพิ่ม หรือนำไปมู ก็แล้วแต่ความศรัทธาของลูกค้าได้เลย
แล้วการทำ WK.studio ทำให้พวกคุณมองการมูเปลี่ยนไปไหม
ตุ้ย: เมื่อก่อนการเข้าวัดนี่เป็นกิจกรรมที่ดูทางไหนเราก็เบื๊อเบื่อ แต่พอเรามาทำงานนี้ เรากลับเห็นความงามในบางอย่าง เห็นการจัดวางในพิธีกรรมว่า เฮ้ย ที่จริงมันก็เจ๋งดีนะ พระองค์เดียวตั้งโต๊ะหมู่ 15 ชุด หรือการไหว้ราหูตอนกลางคืน เราก็เริ่มมองว่ามันเท่ดีที่ต้องไหว้ตอนกลางคืนและบนโต๊ะก็มีแต่ของสีดำหมดเลย ยิ่งตี่จู่เอี๊ยะ หรือศาลพระภูมิที่เขาจัดวางของกันเต็มๆ มันยิ่งให้ความรู้สึกเซอร์เรียล เห็นแล้วเข้าใจได้ว่าทำไมคนถึงศรัทธา เพราะทั้งรูปแบบ การจัดวาง บรรยากาศ สี มันทำให้รู้สึกมีพลัง
มี่: ยิ่งทำเรายิ่งมองมันเป็นศิลปะมากขึ้นเรื่อยๆ มองด้วยความสนุกมากขึ้น รู้สึกว่าองค์ประกอบการตกแต่งจัดวางมันน่ารัก เลยเริ่มสังเกต เสพงาน เสพวัฒนธรรม เสพความเชื่อบ่อยขึ้น จากที่มองว่าน่าเบื่อหรือดูน่ากลัว ตอนนี้คือซี้กันแล้ว (หัวเราะ)
ทำไมถึงเปลี่ยนจากการปั้นมาเป็นการหล่อ และมองว่าสิ่งนี้มันลดเสน่ห์ของชิ้นงานไหมในสายตาของทั้งสองคน
ตุ้ย: ตอนแรกผมคิดนะ กลัวว่างานจะดูแมส ดูเป็นงานที่มีวางขายบนห้างทั่วไป แต่พอเปลี่ยนมาใช้การหล่อจริงๆ สุดท้ายเราก็ไม่ได้ทำแบบนั้น มันยังเป็นงานฝีมือนี่แหละ แค่สามารถเพิ่มจำนวนได้ แถมยังทำให้งานแต่ละชิ้นมันมีคุณภาพ มีรายละเอียดที่เท่ากันด้วย
มี่: เรายังทำงานให้สุดที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ มันก็เลยกลายเป็นงานหล่อที่ทำออกมายาก (หัวเราะ) เพราะพิมพ์เซรามิกมันมีข้อจำกัดในการทำงาน มันจะไม่สามารถดึงออกมาตรงๆ ได้ เราต้องดูตะเข็บหรือการแบ่งพิมพ์ว่าจะทำอย่างไรให้งานปลอดภัย รูปแบบของงานเลยจะเน้นไปที่การมองเส้น มองพิมพ์ว่าจะทำพิมพ์มาอย่างไรให้รายละเอียดของงานปั้นยังอยู่ครบ
ตุ้ย: จากเดิมที่คิดว่างานเราคงต้องตัดทอนรายละเอียดเยอะมาก เพื่อให้สามารถทำพิมพ์ที่ถอดชิ้นงานออกมาได้ง่ายๆ แต่สุดท้ายพอลองออกแบบ ลองทำพิมพ์ไปเรื่อยๆ เราถึงรู้ว่าไม่จำเป็นต้องไปตัดทอนรายละเอียดเพื่อรองรับความง่ายนั้นก็ได้ เราอยากให้มันเป็นอย่างไร เราก็ทำอย่างนั้นก่อน แล้วค่อยมาหาวิธีการทำ เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งสำคัญคือแค่ทำให้มันหล่อออกมาได้ก็พอ ซึ่งการวางแผนกระบวนการเหล่านั้นก็เป็นเรื่องที่สนุกแทบไม่ต่างจากการปั้นเลย มันเหมือนเป็นข้อจำกัด แต่ในมุมหนึ่งมันก็เป็นเหมือนโจทย์ที่คอยท้าทายเรา
มี่: นอกจากเปลี่ยนมาใช้วิธีนี้เพื่อให้เราทำขายได้ ผมว่าอีกเหตุผลคือถ้าเราปั้นเองทั้งร้อยชิ้น ผมว่ามันคงเป็นการทำงานที่น่าเบื่อมาก สุดท้ายเราก็จะเบื่อการปั้นไป แต่พอเราทำเป็นงานหล่อ โจทย์มันเลยเปลี่ยนใหม่ มันทำให้เราสนุกกับการได้คิดงานเป็นคอลเล็กชันด้วย
ทั้งๆ ที่บอกว่าเองว่าการทำแบบนี้มันยาก ทำไมถึงยังฝืน ยังสู้ที่จะทำ
ตุ้ย: มันเป็นความดันแหละ (หัวเราะ) เราสองคนมีความดันอยู่แล้ว ยิ่งตอนเรียน พลังมันยิ่งเยอะ ความคิดตอนนั้นมันแทบจะไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้เลย อยากทำ อยากได้อะไรจะหาทางทำออกมาให้ได้แทบทุกเรื่อง ตามทุน ตามปัจจัย ในความยากเราจึงเห็นความเป็นไปได้ เจอปัญหาก็แก้ด้วยเซนส์ ด้วยความรู้น้อยๆ ที่มีนี่แหละ ช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ แก้ได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่เราก็จะเอาให้ได้
ตอนผลิตล็อตแรกๆ เสียเยอะมาก แต่ก็ไม่มีความคิดว่าเฮ้ย ไม่ไหวว่ะ เลิก เรายังทำมาเรื่อยๆ ยิ่งพัง ก็ยิ่งทำอีก เสือเวอร์ชันแรกทำออกมาสมบูรณ์ได้ไม่ถึง 10 ตัว เผามาบางทีได้แค่ 3-4 ตัวเอง แต่เพราะทำมาเรื่อยๆ ไม่หยุด สุดท้ายมันจึงทำให้เรารู้ว่าอ๋อ ปัญหานี้มันแก้ตรงนี้นะ ทำแบบนี้แทนได้ ถอดพิมพ์ในครั้งเดียวไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นก็ทำพิมพ์แยกเฉพาะส่วนสิ
อะไรคือข้อดีของอีกฝ่ายที่คุณมองเห็นจากการทำงานร่วมกัน
มี่: เขามีจุดแข็งของเขา ผมก็มีของผม มันเลยเหมือนมาช่วยเติมเต็มให้กัน ทำให้งานออกมาลงตัว อย่างแทนที่จะเป็นงานเซรามิกล้วนๆ แบบที่ตุ้ยเรียนมา พอมีผมที่เรียนประยุกต์ศิลป์เข้ามาเติม ก็ทำให้งานมันมีวัสดุหลายๆ อย่าง ทั้งทองเหลือง ผ้า ไม้ มาผสมผสานกันให้ชิ้นงานมันลงตัวและได้ภาพตามที่เราอยากได้มากขึ้น
ตุ้ย: มี่เป็นคนคิดเก่ง ความคิดเขาค่อนข้างอิสระ กล้าคิด กล้าลองทำ ส่วนผมเป็นคนที่จะคิดอะไรค่อนข้างเซฟโซนหน่อยๆ ไม่ทำอะไรที่รู้สึกว่าไม่ปลอดภัย พอมาบวกกันมันเลยได้งานตรงกลางที่ดูอิสระ แต่ก็ยังเซฟอยู่ เช่น ถ้าผมคิดว่าฟอร์มไหนยาก ผมก็จะไม่คิดถึงมันเลย จะคิดถึงแต่อะไรที่เป็นไปได้ แข็งแรง มั่นคง แต่มี่จะไม่สนว่าเป็นไปได้ไหม แค่คิดออกมาก่อน หรืออย่างผมมีจุดอ่อนคือผมเป็นคนทำงานด้วยอารมณ์ ไม่ค่อยมีวินัยในชีวิต แต่มี่เขาก็จะเป็นอีกแบบ ความเป็นระบบของเขามันเลยช่วยทำให้ชีวิตผมค่อยๆ มีวินัยขึ้น โดยที่เขาก็ไม่ได้คาดหวังว่าผมต้องทำงานได้เป็นระบบเท่าเขา อีกอย่างที่น่าจะเป็นจุดแข็งของแบรนด์เราเลยคือ ตัววัดว่างานจบไม่จบ ยังไปต่อได้ไหม เราใกล้เคียงกัน มันสำคัญกับการทำแบรนด์ เพราะเราก็เคยเห็นมาหลายคนมากที่ไอเดียดีนะ แต่สุดท้ายเขาจบงานไม่ได้ หรือก็อาจจะมีคนที่จบงานได้แต่ไอเดียไม่ดี
จากวันแรกที่บอกว่าเริ่มต้นทำแบรนด์มาแบบไม่มีความรู้อะไรเลย วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง
ตุ้ย: อันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่ไม่รู้ว่าเป็นจุดแข็งหรือจุดอ่อน คือเราไม่รู้ว่าการสร้างแบรนด์ควรต้องมีอะไรบ้าง
มี่: เราไม่ได้เริ่มจากการมองมันเป็นธุรกิจ เราเริ่มจากความไม่รู้ แล้วความไม่รู้นี่แหละที่ค่อยๆ ทำให้เรารู้ไปเรื่อยๆ จากการที่เราลงมือทำ
ตุ้ย: ผมรู้สึกว่าบางทีเราไม่ต้องรู้มากก็ได้ สุดท้ายถ้าเราอยากทำแบรนด์ อยากผลิตชิ้นงานออกมา โจทย์แรกก็คือเราต้องทำงานออกมาให้ดี ทำงานที่เราชอบออกมาให้ได้ เราเลยเน้นไปที่การทำงานให้ได้อย่างที่เราชอบมากกว่า ส่วนเรื่องการขายเดี๋ยวค่อยไปคุยกันอีกที วิธีการที่เราทำกันมามันอาจจะไม่ใช่ความมั่วก็ได้ มันก็คือความรู้และประสบการณ์ทั้งหมดที่เราเรียนรู้มาแล้วประมวลออกมาเป็นวิธีการ
อะไรคือแรงขับเคลื่อนให้พวกคุณทำงานนี้อยู่ทุกวัน
มี่: มันยังมีภาพให้ไปต่อ เราอยากทำนิทรรศการ อยากโชว์ความเป็นตัวตนของเรา อยากให้คนเห็นองค์ประกอบทั้งหมดของ WK.studio ทั้งชิ้นงาน อาร์ตเวิร์ก บรรยากาศ คาแรกเตอร์นี้มันแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ และถ้าเป็นไปได้เราก็อยากพามันไปออกแฟร์ต่างประเทศด้วย
ตุ้ย: ฝันแหละ เรามีฝันอยู่ว่าอยากจะไปให้ถึงจุดไหน แล้วตอนนี้เราก็เห็นว่าพวกเรากำลังเดินไป หน้าที่ตอนนี้ก็คือทำอย่างไรก็ได้ให้แบรนด์มันยังวิ่งไปต่อ ดีขึ้น แข็งแรงขึ้น
ติดตามผลงานของพวกเขาได้ที่ https://www.facebook.com/WKstudio-108921668053031