หลังจากช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ประกาศสั่งเลิกใช้พลาสติก 7 ชนิด ภายใต้กรอบระยะเวลา 7 ปี ล่าสุด ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประกาศข่าวดีว่า ตอนนี้ประเทศไทยสามารถควบคุมและยกเลิกการผลิตแคปซีลไปแล้ว 80% พร้อมคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะเลิกใช้แคปซีลได้ 100% ขณะที่พลาสติกประเภทไมโครบีดส์และพลาสติกที่มีส่วนผสมของสารอ็อกโซ ได้ออกประกาศห้ามนำเข้าและผลิตแล้ว
โดย วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติก เผยว่า ปัญหาขยะพลาสติกกลายเป็นวิกฤตการณ์ที่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก และตอนนี้มีหลายประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวแล้ว ส่วนประเทศไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีขยะพลาสติกเกิดขึ้นประมาณร้อยละ 12 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน แต่สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้เพียงเฉลี่ยปีละ 0.5 ล้านตันเท่านั้น
ซึ่งจากการดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้นในรูปแบบสมัครใจลดเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในอนาคต ภาพรวม 1 ปีที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนให้ความร่วมมือย่างดี ทั้งการเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม โดยได้ทำการร่วมมือกับผู้ผลิตน้ำดื่มรายใหญ่กว่า 5 ราย เพื่อร่วมกันเลิกใช้แคปซีลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 ซึ่งถือเป็นการเลิกใช้แคปซีลได้แล้วประมาณ 80% ส่วนที่เหลืออีก 20% อยู่ในกลุ่มผู้ผลิตรายย่อย พร้อมคาดการณ์ว่าภายในสิ้นปีนี้จะเลิกใช้แคปซีลได้ครบ 100%
อย่างไรก็ตาม นอกจากแคปซีลแล้ว ยังคงมีพลาสติกไมโครบีดส์ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ออกประกาศห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่ายเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของพลาสติกไมโครบีดส์ ภายใต้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข
สำหรับการควบคุมผลิตภัณฑ์พลาสติกไม่ให้มีส่วนผสมของสารอ็อกโซ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้ออกประกาศห้ามนำเข้า ผลิต และจำหน่ายสารอ็อกโซ ส่วนการลด เลิกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติก และหลอดพลาสติก ภายในปี 2565 โดยในเบื้องต้นดำเนินงานโดยสมัครใจทั้งในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น มาตรการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานภาครัฐ การลด เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านเครื่องดื่มชาหรือกาแฟ โดยมีรูปแบบกลวิธีที่หลากหลาย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: