วันนี้ (1 พฤศจิกายน) วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 สำหรับผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้นำเข้าสินค้าสุรา ว่า เป็นกฎหมายเดิมที่มีชื่อว่า พ.ร.บ.สรรพสามิตที่ออกมาเมื่อปี 2560 ต่อมาได้มีการร้องเรียนจากชาวบ้านว่ากฎหมายมีความรัดกุมมากเกินไป จึงมีการออกกฎหมายใหม่เพื่อให้ผ่อนคลายลง อย่างฉบับของพรรคก้าวไกลที่ได้เสนอไปก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ ต่อมารัฐบาลได้รับมาพิจารณา พบว่ากฎหมายเมื่อปี 2560 มีความเข้มงวดมากเกินไป และกฎหมายของฝ่ายค้านหย่อนมากเกินไป นั่นคือความอันตรายต่อผู้บริโภค อันตรายต่อผู้ผลิต และกระทบต่อภาษีรายได้ของประเทศ จึงหาวิธีมาพบกันครึ่งทาง ทางกฤษฎีกาจึงแนะว่า ไม่ต้องออก พ.ร.บ. ให้ออกเป็นกฎกระทรวงได้ ซึ่งมีความเข้มงวดน้อยลงเกือบจะเท่ากับหลักเกณฑ์ที่พรรคก้าวไกลเสนอ
ดังนั้นกรมสรรพสามิตจึงได้ยกร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา ซึ่ง ครม. ได้พิจารณาแล้ว และส่งต่อไปยังกฤษฎีกา ซึ่งให้กฤษฎีกาไปดูและมีความเห็นว่ายังไม่รัดกุม จึงออกเป็นกฎกระทรวงฉบับที่ 2 วันนี้ ครม. จึงได้เห็นชอบแล้ว และจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ซึ่งกฎหมายของฉบับพรรคก้าวไกลถือว่าไม่มีความจำเป็น เพราะว่ามีสิ่งที่ดีที่เกือบจะเท่าเทียม
วิษณุยืนยันว่า ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาชิงไหวชิงพริบ และไม่ใช่การแก้เกม หรือตัดหน้าอะไรกับสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้กฎหมายฉบับนี้มากว่า 6 เดือนแล้ว ก่อนหน้าพรรคก้าวไกลจะเสนอเข้ามา ซึ่งหากมองเป็นเรื่องการเมืองก็เป็นการชิงไหวชิงพริบได้ทุกเรื่อง แต่จุดประสงค์ต้องการให้มีกฎเกณฑ์เพื่อผ่อนปรน เพื่อส่งผลให้สุราที่ไม่มีทางการค้า อย่างสุราพื้นบ้านที่มีอยู่ 3 เหตุผลคือ
- เป็นการรักษาภูมิปัญญาชาวบ้าน
- ไม่ได้ทำให้รายได้รัฐบาลลดลง
- เพื่อทำให้ผู้ประสงค์ที่จะผลิตสุราสามารถทำได้โดยที่ไม่ต้องขออนุญาต สร้างภาระแก่ประชาชน
ซึ่งวิษณุย้ำว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวหย่อนลงกว่าครึ่งของฉบับปี 2560
“ก็ไม่จำเป็น เพราะว่ามันจะมีสิ่งที่ดีเกือบเท่าเทียม อาจจะไม่เท่าหรอก แต่ว่าเกือบเท่าเทียม แต่ว่าหย่อนลงจากกฎหมาย พ.ร.บ. ปี 2560 เยอะมากกว่าครึ่งหนึ่ง ไม่ใช่แก้เกม เพราะร่างกฎกระทรวงเขาร่างมา 6 เดือนแล้ว ก่อนที่พรรคก้าวไกลเสนออีก” วิษณุกล่าวในที่สุด