×

วิษณุ ตอบคำถาม 3 ข้อเรียกร้องผู้ชุมนุม ให้นายกฯ ลาออก-ยุบสภา-ปฏิรูปสถาบัน บอกอยากฟังรัฐสภาอภิปราย

โดย THE STANDARD TEAM
26.10.2020
  • LOADING...
วิษณุ ตอบคำถาม 3 ข้อเรียกร้องผู้ชุมนุม ให้นายกฯ ลาออก-ยุบสภา-ปฏิรูปสถาบัน บอกอยากฟังรัฐสภาอภิปราย

วันนี้ (26 ตุลาคม) ที่อาคารรัฐสภา วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมว่า มีอยู่ประมาณ 6-7 ข้อ เช่น เรียกร้องอิสรภาพให้ฮ่องกง เรียกร้องขอให้เปิดรัฐสภาสมัยวิสามัญ ซึ่งก็ได้เปิดแล้ว นอกจากนี้ยังขอให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง และขอให้เร่งดำเนินการเแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้อยู่ในการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว โดย 6 ฉบับที่ค้างอยู่ ความจริงก็ควรจะพิจารณาตั้งแต่วันที่ 1-2 พฤศจิกายน แต่ก็ต้องเข้าใจว่าร่างฉบับไอลอว์อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายชื่อ เสร็จเมื่อไรก็ขึ้นอยู่ที่ความกรุณาของประธานรัฐสภาจะสั่งบรรจุวาระพิจารณาในคราวเดียวกันหรือไม่ก็แล้วแต่ 

 

“เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ก่อนประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีได้เชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค และรัฐมนตรี 10 กว่าคน หารือว่าร่างรัฐธรรมนูญควรเดินหน้าต่อไปโดยเร็ว มีคนถามว่าจะส่งสัญญาณไปถึง ส.ว. และฝ่ายค้านอย่างไรได้บ้าง นายกรัฐมนตรีบอกว่า สัญญาณก็ไปอยู่ดี แต่ถ้าจะเรียกหรือเชิญคงไม่เหมาะสม และความจริงสื่อมวลชนหลายที่เสนอไปแล้วว่านายกรัฐมนตรีได้ส่งสัญญาณอย่างไรไปยังพรรคร่วมรัฐบาลในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีได้ให้ผมทำไทม์ไลน์การแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าตามกฎหมายจะเดินอย่างไร นับแต่ที่เปิดสภาสมัยที่สอง ส่วนเหตุแทรกซ้อนไม่อาจคาดคิด เมื่อเปิดสมัยประชุมในเดือนพฤศจิกายน ก็รับหลักการวาระที่หนึ่ง ตั้งคณะ กมธ. ส่วนสภาจะตั้ง กมธ. เต็มสภาหรือไม่ก็แล้วแต่” วิษณุ กล่าว  

 

ขณะที่ระหว่างวิษณุกำลังชี้แจง อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นประท้วงวิษณุให้ถอนคำพูดที่ระบุว่า ผู้ชุมนุมมีการเรียกร้องอิสรภาพให้ฮ่องกง เพราะไม่เป็นความจริง ถือเป็นการใส่ร้ายผู้ชุมนุม โดยขอให้ถอนคำพูด พร้อมตำหนิว่าวิษณุจะพูดมั่วๆ ซั่วๆ อย่างนี้ไม่ได้   

 

ส่งผลให้ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ประท้วงว่า อมรัตน์ออกมาเรียกร้องเหมือนกับเป็นหัวหน้าม็อบ จึงทำให้ พรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภาทำหน้าที่ประธานการประชุม ขอให้ชัยวุฒิถอนคำพูด ซึ่งชัยวุฒิก็ยอมถอน แต่ขอเปลี่ยนเป็นผู้ควบคุมม็อบที่อยู่บนหลังคารถ พร้อมระบุว่าตัวเองมีคลิปยืนยันหากประธานจะยอมให้เปิด แต่อมรัตน์ไม่ยินยอม จะให้ชัยวุฒิถอนคำพูดอีกครั้ง แต่พรเพชรพยายามไกล่เกลี่ยจนสำเร็จ และให้วิษณุชี้แจงต่อจนจบ

 

จากนั้น วิษณุ ได้กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อว่า เมื่อตั้ง กมธ. อาจตั้งเต็มสภาเพื่อเป็นทางออกหนึ่ง ซึ่ง กมธ. พิจารณาไม่เกิน 45 คน ประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว. เท่านั้น เสร็จแล้วต้องทิ้งไว้ 15 วัน ก็คงจะในช่วงเดือนธันวาคม เชื่อว่า 3 วาระก็น่าจะเสร็จสิ้นได้ แต่ยังประกาศใช้ไม่ได้อยู่ดี เพราะต้องมีการออกเสียงประชามติ โดยต้องเป็นไปตามที่ พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ โดยร่าง พ.ร.บ. ที่ กกต. ร่าง และส่งมาเมื่อเช้า ตนทราบว่ามีการตรวจเสร็จสิ้นทุกมาตราแล้ว น่าจะส่งเข้าสภาได้ในสัปดาห์หน้า โดยจะขอพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันสองสภา ซึ่งจะเร่งรัดตัดขั้นตอนไปได้ คงใช้เวลาช่วงเดือนพฤศจิกายนคู่ขนานไปกับการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ หากเสร็จในธันวาคมหรือมกราคม จากนั้นนำร่างกฎหมายออกเสียงประชามติ ที่สภาเห็นชอบขึ้นทูลเกล้าฯ ทรงมีเวลาพิจารณา 90 วัน จากนั้นจึงเอาร่างรัฐธรรมนูญไปสู่การทำประชามติ ซึ่งเป็นไปตามกรอบเวลาในการทำกฎหมายประชามติ แต่หากว่าจะมีการตั้ง สสร. ก็ต้องดำเนินการคัดเลือกแล้ว แต่รูปแบบจะอย่างไรก็แล้วแต่ กมธ. จะพิจารณาในวาระ 2 กันต่อไป ข้อเสนอนี้อยู่ระหว่างการเดินทางที่จะไปสู่จุดหมายปลายทาง 

 

วิษณุกล่าวต่อว่า ส่วนข้อเสนอ 3 ข้อที่ยังไม่มีการดำเนินการคือ การลาออกของนายกรัฐมนตรี การยุบสภา และการปฏิรูปสถาบัน ซึ่งการปฏิรูปสถาบันนั้นคืออะไร หมายความว่าอย่างไร รัฐบาลไม่ทราบและไม่เข้าใจจริงๆ จึงอยากฟังการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาในส่วนนี้เหมือนกัน

 

ส่วนการยุบสภานั้นรัฐบาลก็ได้มีการพิจารณาเหมือนกัน แต่ก็มาใคร่ครวญว่าสภามีความผิดอะไรถึงจะต้องไปยุบสภา เพราะจะต้องเกิดจากความขัดแย้งอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นถึงจะยุบสภาได้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้เห็นเรื่องอย่างนั้น แต่ถ้าเป็นความประสงค์และเจตนาร่วมจากหลายฝ่าย นายกรัฐมนตรีคงต้องหารือผู้เกี่ยวข้องต่อไป

 

ส่วนประเด็นที่จะให้นายกรัฐมนตรีลาออก ทางฝ่ายกฎหมายได้ทำข้อเสนอมาว่า หากลาออกแล้วจะหานายกรัฐมนตรีคนใหม่จากขั้นตอนใด ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 มีเงื่อนไขว่า นายกรัฐมนตรีคนใหม่ต้องมาจากรายชื่อที่เสนอเอาไว้ตั้งแต่ครั้งเลือกตั้ง ขณะนี้มีอยู่ 5 คน จากเดิม 7 คน โดยตัด ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และ พล.อ. ประยุทธ์ ออกไป แต่คนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภาที่มีอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเมื่อเช้าประธานได้รายงานว่า ที่ประชุมมีสมาชิกที่สามารถใช้สิทธิออกเสียงได้ 732 คน ซึ่งกึ่งหนึ่งก็คือ 366 เสียง ต่อให้ ส.ว. งดออกเสียงทั้งหมดตามที่หลายคนเรียกร้อง ก็ต้องหากันมาให้ได้ 366 เสียง หากไม่ได้ก็ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ก็จะเป็นข้อกฎหมายว่าหากถึงทางตันแล้วจะทำอย่างไร 

 

“หลายคนเสนอว่าขอให้พรรคพลังประชารัฐเทเสียงให้ร่วมกับฝ่ายว่าค้าน แล้วยกใครสักคนขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็สามารถทำได้ แต่ก็ต้องคำนึงเรื่องสิทธิของแต่ละฝ่ายด้วย เพราะนายกรัฐมนตรีก็ได้รับเสียงเรียกร้องเหมือนกันว่าอย่าออก ก็ต้องพิจารณาว่าจะอย่างไรต่อไป 

 

ส่วนอีกข้อเสนอที่ทั้งสามฝ่ายเสนอมาในที่ประชุม ที่นายกรัฐมนตรีก็ใคร่ครวญอยู่เหมือนกัน คือการทำประชามติถามประชาชน ก็ต้องถามว่าจะถามอย่างไร เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 บัญญัติห้ามทำประชามติออกเสียงเรื่องตัวบุคคล แต่หากจะหาช่องทางอื่นที่แยบคายและแนบเนียนก็น่าจะพิจารณาได้ หากว่าเป็นข้อเสนอของรัฐสภา โดยนายกรัฐมนตรีก็คงจะมีการนำเรียนต่อประธานสภาในตอนท้ายว่ามีความเป็นไปได้อย่างไร” วิษณุ กล่าว

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X