×

วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ประธาน ก.ล.ต. คนใหม่ มอบนโยบายเร่งด่วน สั่งปฏิรูปทั้งกระบวนการใช้กฎหมายและต้องทำคดีเร็วขึ้น เป็น KPI การทำงาน

24.07.2024
  • LOADING...

วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปัจจุบันนั่งเก้าอี้ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และเคยนั่งเก้าอี้ปลัดกระทรวงยุติธรรมมาแล้ว หลังจากได้รับแต่งตั้งจาก ครม. มานั่งประธาน ก.ล.ต. คนใหม่ แทน พิชิต อัคราทิตย์ ที่ครบวาระ 4 ปี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป ประกาศนโยบายเร่งด่วน สั่งลุยปฏิรูปกระบวนการบังคับใช้กฎหมายให้มีความชัดเจนและรวดเร็วขึ้น พร้อมเร่งเครื่องสะสางคดีเก่าใน 3-6 เดือนจากนี้ 

 

โดย วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ประธาน ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า หลังได้รับมอบหมายให้มาดำรงตำแหน่งประธาน ก.ล.ต. ในฐานะที่มีประสบการณ์ทำงานด้านกฎหมายที่สำคัญๆ ที่กระทรวงยุติธรรม มีความเห็นว่า กระบวนการขั้นตอนการกล่าวโทษในตลาดทุนบางเรื่องของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีการใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่จะเข้าช่วยขับเคลื่อนให้การทำงานในเรื่องดังกล่าวมีความรวดเร็วขึ้นจากเดิมได้ 

 

โดยหลังจากการหารือร่วมกับเลขาธิการ ก.ล.ต. กับกรรมการ ก.ล.ต. ท่านอื่นๆ มีความเห็นตรงกันว่าควรสร้างตลาดทุนให้มีความน่าเชื่อถือ โดยมีนโยบายสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการในระยะเวลา 6 เดือนจากนี้ 2 เรื่องหลักที่ต้องเร่งดำเนินการคือ 

 

  1. การปฏิรูปกระบวนการบังคับใช้กฎหมายให้มีความชัดเจนให้เพิ่มมากขึ้นทั้งกระบวนการ เริ่มตั้งแต่แนวทางการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจนถึงกระบวนการของศาล โดยสำนักงาน ก.ล.ต. ควรมี Synergy ในการระงับหรือป้องกันปัญหา โดยทำงานร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อให้เกิดการตรวจพบปัญหาตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น (Early Detection) โดยมีการสร้างกลไกกระบวนการทำงานร่วมกันให้มีประสิทธิภาพ 

 

โดยสำนักงาน ก.ล.ต. ควรเปลี่ยนบทบาทการทำงาน เริ่มตั้งแต่งานป้องกันปัญหาตั้งแต่จุดเริ่มต้น และหากเกิดกรณีปัญหาแล้วสามารถร่วมกันทำงานกับตลาดหลักทรัพย์ฯ จนปัญหายุติและประจักษ์ต่อสาธารณะได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยกระบวนการสืบสวนของสำนักงาน ก.ล.ต. ในคดีประเภท High Impact ซึ่งเป็นคดีที่มีผลกระทบต่อคนในวงกว้าง 

 

ทั้งนี้มีความเห็นว่า ตั้งแต่เริ่มกระบวนการสืบสวนและนำไปสู่การกล่าวโทษของสำนักงาน ก.ล.ต. ในกรณีของคดี High Impact คดีที่มีผลกระทบต่อคนในวงกว้าง ควรใช้ระยะเวลาดำเนินการเป็นหลักเดือนหรือไม่ควรเกิน 1 ปี ซึ่งจะมีการศึกษาหรือร่วมกันอีกครั้ง เพื่อกำหนดกรอบระยะเวลาการสืบสวนกับประเภทของคดีต่างๆ และนำไปสู่การกล่าวโทษของสำนักงาน ก.ล.ต. ที่มีความเหมาะสมและใช้ระยะเวลาสั้นลงจากในอดีต พร้อมทั้งจะมีการกำหนดออกมาเป็น KPI ของการทำงานของสำนักงาน ก.ล.ต. ต่อไปในอนาคต

 

  1. สำนักงาน ก.ล.ต. ควรมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาสินทรัพย์ลงทุนหรือตลาดใหม่ๆ เพื่อสร้างการเติบโต ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลกที่กำลังมุ่งเน้นไปที่สินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งมีความจำเป็นที่จะมาช่วยให้การดำเนินธุรกิจต่างๆ ทำได้สะดวกขึ้น สามารถช่วยลดการทุจริตได้ ซึ่งเสนอให้สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดออกมาเป็นแผนงานที่ชัดเจนในด้านการส่งเสริมในประเด็นนี้ โดยเฉพาะในกลุ่ม Digital Token ที่มีโอกาสการเติบโตสูง สามารถนำมาใช้ระดมเงินทุนในการขยายธุรกิจได้

 

วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

 

โดยจะนำนโยบาย 2 เรื่องเร่งด่วนดังกล่าวนี้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการพิจารณาเดือนสิงหาคมนี้

 

เล็ง Secondment บุคลากร กับ DSI และอัยการ

 

นอกจากนี้สำนักงาน ก.ล.ต. ควรสร้างกลไกการทำงานร่วมกับพนักงานสอบสวนและอัยการ กับสำนักงาน ก.ล.ต. ยกตัวอย่างเช่น การใช้วิธีการ Secondment บุคลากรของระหว่างทั้ง 3 หน่วยงาน เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ที่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องแก้กฎหมาย

 

อีกส่วนที่มีความสำคัญและจะมีนัยสำคัญในอนาคตคือ แนวทางในการลดระยะเวลาในการดำเนินการสอบสวนสำหรับในการดำเนินคดีบางประเภท โดยเสนอให้ปรับแก้กฎหมาย เพิ่มอำนาจให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจในการสอบสวนเองได้ในบางเรื่องได้ 

 

โดยในทางการสืบสวน การกระทำความผิดที่ผ่านมาสำนักงาน ก.ล.ต. แบ่งประเภทของคดีเป็น 3 ประเภท คือ

 

  1. High Impact คดีที่มีผลกระทบต่อคนในวงกว้าง 
  2. Medium Impact คดีที่มีผลกระทบระดับปานกลาง 
  3. Low Impact คดีที่มีผลกระทบเฉพาะกลุ่ม 

 

ด้านประสิทธิภาพการดำเนินคดีที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้รวดเร็วขึ้น โดยในอนาคตช่วง 3-6 เดือนข้างหน้านี้จะเห็นการดำเนินคดีที่ค้างในระบบการทำงานทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและทำความจริงให้ปรากฏออกมาสู่สาธารณะโดยเร็ว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X