×

วิษณุเผย ยังไม่มีปัจจัยเสี่ยงให้ยุบสภา อย่างมากแค่สภาล่ม

โดย THE STANDARD TEAM
01.11.2022
  • LOADING...
วิษณุ เครืองาม

วันนี้ (1 พฤศจิกายน) ที่ทำเนียบรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความชัดเจน กรณีหากรัฐบาลอยู่ครบวาระถึงวันที่ 23 มีนาคม 2566 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หากย้ายพรรคจะต้องสังกัดพรรคใหม่ 90 วันโดยเริ่มตั้งแต่วันใดว่า หากอยู่ครบวาระไปถึงวันที่ 23 มีนาคม 2566 จะต้องนับระยะเวลา 90 วันไปจนถึงวันเลือกตั้ง 

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)​ ระบุว่า หากอยู่ครบวาระจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 นั้น จะต้องเริ่มนับเวลาจากนั้นลงมาใช่หรือไม่ วิษณุกล่าวว่า โมเดลของ กกต. ดังกล่าวเป็นการคิดเผื่อไว้เท่านั้น เพราะ กกต. ไม่ทราบว่าสภาจะสิ้นสุดเมื่อใด รวมถึงจะยุบสภาหรือครบวาระ 

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากสมมติการเลือกตั้งมีขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ส.ส. สามารถลาออกวันสุดท้ายในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ตามกรอบ 90 วันใช่หรือไม่ วิษณุกล่าวว่า ตนเองยังไม่เคยลองนับ 

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้สังคมเกิดความสับสนว่าวันสุดท้ายที่ ส.ส. จะลาออกได้ เพื่อให้ทันกรอบเวลา 90 วัน คือวันที่ 24 ธันวาคม 2565 วิษณุกล่าวว่า “ไม่มีอะไรสับสนหรอก เอาเป็นว่าเมื่อสภาเปิดแล้ว วันนี้ใครจะเริ่มคิดอ่านอย่างไรก็ควรเริ่มคิดได้ตั้งแต่วันนี้ เผื่อสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปได้หลายอย่าง”

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มีชุดความคิดหากมีการยุบสภาและกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งยังไม่ผ่าน รัฐบาลจะถืออำนาจรักษาการต่อไปอย่างยาวนานจนกว่าจะมีกฎหมายลูกหรือไม่ วิษณุกล่าวว่า อันนั้นเป็นเรื่องที่บางคนคิด แต่รัฐบาลก็ไม่รู้ หากเกิดเหตุอย่างนั้นขึ้นมาจะอยู่กันอย่างไร จะใช้กฎหมายอะไร เพราะรัฐบาลไม่ได้เป็นคนชี้เรื่องนี้ เป็นเรื่องของ กกต. ที่จะเป็นคนชี้ และถ้าใครไม่เชื่อก็ต้องไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ รัฐบาลไม่มีอำนาจไปกำหนดอย่างนั้น

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่ารัฐบาลไม่สามารถยื้อเวลารักษาการในช่วงที่ไม่มีเลือกตั้งใช่หรือไม่ เนื่องจากมีเงื่อนไขระยะเวลาในรัฐธรรมนูญบังคับอยู่ วิษณุกล่าวว่า ไม่ได้ อย่างไรก็ต้องมีการเลือกตั้งวันใดวันหนึ่ง เลือกผิดเลือกถูก ก็เลือกไปก่อน และให้ศาลไปชี้เอา และสุดท้ายหากไม่มีกฏหมายลูกก็ต้องหาทางร่วมกันจนได้ว่าจะเอากฎเกณฑ์อะไรมาจากไหน 

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้ากฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 2 ฉบับจะเป็นอย่างไร วิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ ขณะนี้อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ กำลังขอให้ กกต.ชี้แจงภายใน 15 วัน ซึ่งวันนี้ก็ยังไม่ครบ 15 วัน และหากชี้แจงแล้วศาลก็คงตัดสินได้ ซึ่งตนไม่คิดว่าจะช้า เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายไม่ต้องสืบพยาน

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า สุดท้ายแล้วกฎหมายเกิดอุบัติเหตุและเวลาของรัฐบาลเหลือน้อยไม่ทันพิจารณากฎหมายใหม่ จะทำอย่างไร วิษณุกล่าวว่าก็คงต้องคิดด้วยกัน ทั้งรัฐบาล และ กกต. แต่ กกต.จะได้เปรียบ เขาจะถือสิทธิอะไรมากกว่า ซึ่งสามารถออกกฎเกณฑ์อะไรออกไปได้ก่อน หากใครเห็นว่าผิดก็ไปฟ้องเอา 

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากไม่มีกฎหมายลูก รัฐบาลสามารถออกพระราชกำหนดการเลือกตั้งได้หรือไม่ วิษณุกล่าวว่า “ถ้าถามผมที่สุดของที่สุดจริงๆ ก็ต้องทำอย่างนั้น แต่มันไม่สมควร เพราะการออก พระราชกำหนดเป็นการใช้อำนาจฝ่ายเดียว”

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้รัฐบาลเริ่มคิดหรือยังหากกฎหมายลูกไม่ผ่าน วิษณุกล่าวยืนยันว่ารัฐบาลยังไม่ได้เริ่มคิด เพราะยังไม่มีเหตุอะไร เมื่อผู้สื่อข่าวถามอีกว่า จะเริ่มคิดได้หรือใด วิษณุกล่าวว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาไประยะหนึ่ง เราจะรู้แล้วว่าจะออกมาอย่างไร 

 

“วันนี้ศาลยังไม่ได้ทำอะไรเลย  วันนี้เราจะมาคิดก่อนไม่ได้ เพราะมีหลายทาง คิดแล้วก็จะบ้า วิกลจริตกันเปล่าๆ หากมี ก. และ ข. แต่ถ้ามี ก. ถึง จ.ก็อย่าไปคิดเลย ฟุ้งซ่าน และก็ไม่มีเหตุในสภาที่จะต้องมานั่งคิดเตรียมรับสถานการณ์ว่าจะมีการยุบสภา ซึ่งมันไม่มี เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติก็จะไม่เกิดขึ้น กฎหมายสำคัญรัฐบาลก็จะไม่เสนอ ดังนั้น ไม่มีอะไรที่เป็นปัจจัยเสี่ยง อย่างมากก็แค่สภาล่ม” วิษณุกล่าวทิ้งท้าย 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising