สืบเนื่องจากไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่ได้เขียนถึงเรื่องของ “อาเดรียโน จักรพรรดิลูกหนังผู้น่าเสียดาย” ก็อดคิดถึงเกมฟุตบอลระดับตำนานอย่าง “Winning Eleven” ขึ้นมาไม่ได้
เพราะในเกมช่วงยุคสมัยนั้น อาเดรียโนเป็นหนึ่งในผู้เล่นในเกมที่ขึ้นชื่อว่าเก่งจนใกล้โกงมากที่สุดคนหนึ่ง ด้วยสปีดความเร็ว ความแข็งแกร่ง และพลังการยิงที่เต็มหลอดที่สามารถทำประตูแบบแฟนตาซีให้เกิดขึ้นได้แบบสบายมาก (และตัวจริงก็ดันเก่งพอจะทำได้ในเกมด้วย!)
แต่อาเดรียโนไม่ได้เป็นความทรงจำเดียวของเกมนี้ครับ เพราะ Winning Eleven – หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า Pro Evolution Soccer (PES) – ยังมีเรื่องราวทำนองนี้อีกมากมายที่เกิดขึ้นตลอดช่วงระยะเวลาร่วม 30 ปีที่เกมออกวางจำหน่าย
และแต่ละสิ่งนั้นก็เป็นความทรงจำที่ถูกเก็บไว้อย่างดีสำหรับหลายคน
แต่ก่อนจะกดเข้ามาอ่านเรื่องราวกันต่อในลิงก์ พอจะนึกถึงเรื่องอะไรออกบ้างครับเกี่ยวกับ “วินนิ่ง”?
ไม่ว่าจะนึกอะไรออก ขออนุญาตเล่าความเป็นมาตามความเข้าใจที่พอรู้กันสักนิดนึงครับ
Winning Eleven (ウイニングイレブン) เป็นตระกูลเกมฟุตบอลที่มีประวัติความเป็นมายาวนานมากจนน่าตกใจครับ
เพราะเผลอไผลแค่แป๊บเดียวเกมในตระกูล “วินนิ่ง” นั้นกำลังจะอายุครบรอบ 30 ปีในปีนี้แล้ว หากเรานับต้นตระกูลของเกมในภาคแรกคือ J-League Jikkyō Winning Eleven (Jリーグ 実況ウイニングイレブン) ซึ่งออกวางจำหน่ายเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 1995 ซึ่งเป็นผลงานของค่ายเกม Konami หนึ่งในค่ายเกมที่ดีที่สุดตลอดกาลของญี่ปุ่น
ปกติแล้ว Konami ทำเกมหลากหลายนะครับ และมีเกมที่ได้รับความนิยมเยอะมากในช่วงยุค 80-90 เช่น TwinBee, Gradius, Akumajo Dracula (Castlevania หรือเกมแส้) Gambare Goemon (โกเอมอน) หรือ Metal Gear Solid ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกมแนว Action หรือ Shooting ตะลุยด่านเล่นเพลินๆ
แต่หนึ่งในตระกูลเกมที่ Konami ทำด้วยคือเกมกีฬา และเกมฟุตบอลเป็นหนึ่งในนั้น
ความจริงแล้วเกมแล้ว J-League Jikkyō Winning Eleven ไม่ใช่เกมฟุตบอลแรกของพวกเขาครับ เพราะต้นตระกูลของเกมตระกูล “Eleven” นั้นคือเกม “Jikkyō World Soccer Perfect Eleven” หรือที่จดกันง่ายๆ ว่า Perfect Eleven (และ International SuperStar Soccer หรือ ISS สำหรับภาษาอังกฤษ) ซึ่งออกวางจำหน่ายให้กับเครื่อง Super Famicom เมื่อปี 1994
ก่อนจะมีภาคต่อมาคือเกม Jikkyō World Soccer Fighting Eleven (พร้อมกับสูตรกรรมการเป็นน้องหมา) ที่ออกวางจำหน่ายในปีถัดมา
และหากจะย้อนกลับไปอีก Konami ก็เคยทำเกมฟุตบอลมาก่อนแล้วอย่าง Exciting Cup (1989) และ Hyper Soccer (1992) ซึ่งทำโดยทีมพัฒนาในยุโรป ซึ่งถือว่าเป็นต้นแบบให้ Perfect Eleven อีกที
แต่จุดเปลี่ยนสำคัญจริงๆคือการผลัดยุคสมัยของเครื่องเกมคอนโซล จาก Super Famicom มาสู่ยุคใหม่ของเกมที่เป็น Polygon ที่สามารถสร้างในรูปแบบ 3 มิติที่สมจริงขึ้น
โดยเกมแรกที่ออกมาในช่วงเวลานั้นก็คือ J-League Jikkyō Winning Eleven นั่นเองครับ ซึ่งถือเป็นการเปิดประตูเข้าสู่ยุคใหม่ของเกมฟุตบอลไปด้วย เพียงแต่เกมในเวอร์ชั่นเจลีก (ซึ่งออกมาเพื่อท้าชนกับ J-League Excite Stage จากค่าย Epoch ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในสมัยนั้น) เป็นเหมือนแค่การชิมลางมากกว่า เพราะทีมในนั้นมีแต่ทีมเจลีกซึ่งไม่กว้างมาก
เกมแรกที่ถือเป็นเกมที่ “แมส” จริงๆคือ “Goal Storm” ซึ่งเป็นเกมเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษที่ออกวางจำหน่ายในช่วงปลายปี 1995 ที่จับเอาเกม “วินนิ่งเจลีก” มาปัดฝุ่นแปลงโฉมใหม่ให้เป็นเกมทีมชาติที่เข้าถึงแฟนเกมทุกคนทั่วโลกได้
หลังจากนั้นก็ไม่ต่างอะไรจากสำนวนภาษาอังกฤษเลยครับ
The rest is history…
ความนิยมที่เกิดขึ้นทำให้ Konami พัฒนาเกม 2 ภาษาสลับกันมาเรื่อยๆ ระหว่างภาษาญี่ปุ่นกับภาษาอังกฤษ โดยในทุกปีก็จะมีการพัฒนาขึ้นมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันออกไป
แต่หัวใจคือการทำเกมฟุตบอลสนุกๆ มีเสียงพากย์ (Commentary) และเสียงบรรยากาศในสนามที่ตื่นเต้น (Ambience) และการเล่น (Gameplay) ที่สนุกเข้าใจง่าย แต่ก็พอมีอะไรให้ได้ชิงไหวชิงพริบในการเล่นกัน เช่น การจัดทีม จัดตัวลงเล่น ไปจนถึงระบบค่าความฟิตของผู้เล่นที่มีผลต่อการลงสนามไม่ต่างอะไรจากชีวิตจริง
สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ Konami ทำได้และคาดหวังได้ในฐานะค่ายเกม
แต่สิ่งที่ Konami ไม่ได้คาดหวังคือการที่เกมของพวกเขาอย่าง Winning Eleven (ในชื่อภาษาอังกฤษที่มีหลากหลายเหลือเกินตั้งแต่ ISS, Goal Storm ก่อนจะมาจบที่ PES) คือการที่เกมนี้ได้สร้าง Community ฟุตบอลให้เกิดขึ้น
ในยุคสมัยที่เรายังไม่ได้ติดอยู่กับอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียมากนัก หนึ่งในการใช้ยามว่างสำหรับเด็กๆ คือการจับกลุ่มไปนั่งเล่นเกมด้วยกัน จะเป็นที่ร้านเกมแถวบ้านบ้าง ร้านเกมแถวโรงเรียนบ้าง ร้านเกมในห้างสรรพสินค้าบ้าง หรือจะเป็นที่บ้านเพื่อนที่มีเครื่องเกมบ้าง
นั่นทำให้เด็กๆ หลายคนได้ใช้จ่ายวันเวลาไปด้วยกัน แข่งกันเองบ้าง ขิงกันบ้าง ข่มกันบ้าง ช่วยติวกันบ้างเวลาเจอคนเก่งๆ ไปจนถึงคิดค้นหาสูตรวิธีการเล่นต่างๆ มากมายไม่ว่าจะเพื่อไว้เอาชนะคนอื่น หรือเพื่อแบ่งปันกันก็ตาม หรือบางครั้งต่อให้มันจะมีบ้างที่ผิดใจกันซึ่งเป็นธรรมดาของวัยรุ่นที่เลือดยังร้อน แต่ทุกอย่างก็ผ่านไป
ความนิยมของเกมในหลายประเทศสูงขึ้นมากตามจำนวนภาคที่เกิดขึ้นของเกม โดยเฉพาะในช่วงเกม “วินนิ่ง 3” (1998) และ “วินนิ่ง 4” (1999) ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับฟุตบอลโลก 1998 ที่ประเทศฝรั่งเศสที่ความนิยมของเกมพุ่งสูงสุดทั่วโลก
ยอดนักเตะในยุคนั้นมากมายมีให้เลือกเล่นในเกม ไม่ว่าจะเป็น โรนัลโด, โรแบร์โต คาร์ลอส, ริวัลโด, ซีเนอดีน ซีดาน, ยูริ จอร์เกฟฟ์, ไมเคิล โอเวน หรือแม้แต่ตัวละครที่เป็นที่รักของคนเล่นเกมอย่าง โรเบิร์ต ยาร์นี, เอ็นวานโก คานู และตัวละครอีกมากมายหลายคน (ส่วนใหญ่จะเป็นพวกสปีด 9 ที่สร้างความแตกต่างได้ง่าย)
เกมวินนิ่งจึงฮิตติดลมบนตั้งแต่นั้น จนเหมือนสายลมที่ไม่เคยแผ่วเลย มีอะไรใหม่ๆ มาให้เล่นให้ลองกันเรื่อย ซึ่งรวมถึงโหมดการเล่นแบบ Master League ที่พูดง่ายๆ คือการจำลองการแข่งรายการฟุตบอลลีกยุโรปมาให้เราได้เติมเต็มจินตนาการกัน
จากทีมที่มีแต่นักเตะโนเนม ค่อยๆ เก็บสะสมเงินจากการเอาชนะคู่แข่ง เอาไปซื้อตัวผู้เล่นดีๆ เข้ามาเพื่อให้เอาชนะคู่แข่งได้ง่ายขึ้นโดยเฉพาะทีมใหญ่ที่หากไม่มีตัวทีเด็ดในทีมเลยก็ยากจะเอาชนะ ก็ทำให้คนเล่นติดกันงอมแงมมากขึ้น
ความฮิตนั้นยังทำให้ในบ้านเรามีช่วงนึงที่เกิดการแฮกดัดแปลงเกมได้ มี Mod เกมที่แต่งโน่นเติมนี่กันอย่างสนุกสนาน เช่น ใส่เสียงพากย์ไทยลงไป ซึ่งตอนนั้นถือเป็นเรื่องที่สุดยอดอย่างมากเพราะคนทำ Mod ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก (แม้จริงๆ มันจะเป็นเรื่องที่ผิดก็เถอะ)
เขียนมาถึงตรงนี้ก็ต้องบอกว่ายิ่งเขียนยิ่งคิดถึง
เพราะมันเป็นช่วงเวลาที่ดีและงดงามของชีวิตสำหรับหลายๆ คน ซึ่งก็รวมถึงตัวผมเองด้วย
ทั้งๆ ที่เกมวินนิ่งในยุคเก่านั้นก็ไม่ได้มีกราฟิกที่คมชัด สวยงาม สมจริงทั้งในเชิงของฟิสิกส์หรือแสงเงา ไม่ต้องกดปุ่มมากมายเพื่องัดลีลามหัศจรรย์ในการเลี้ยงบอล หรือโหมดการเล่นที่ซับซ้อน วางแผนกันละเอียดยิบยิ่งกว่าทำการบ้าน
แต่แค่เกมฟุตบอลที่เรียบง่าย จริงใจ สนุก และการได้เล่นด้วยกันกับคนจริงๆ นั่งข้างกัน สบตากัน เอาตัวบังจอยเวลาจะยิงลูกจุดโทษ สิ่งเหล่านี้คือ Human touch ที่ให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากการเล่นเกมแบบออนไลน์บ้านใครบ้านมันตามยุคสมัยปัจจุบัน (แต่ถ้าใครยังได้เล่นกับเพื่อนตัวเป็นๆ ก็ถือว่าดีมากเลย)
บางครั้งเด็กก็ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่านี้ครับ
แค่เพื่อนรู้ใจสักคน เวลาว่างสักชั่วโมงหลังเลิกเรียน
“วินนิ่งป่าว”
“เอาดิ๊”
อ้างอิง: