×

พลังงานลมกำลังถูกทิ้งไว้ข้างหลัง? เมื่อหุ้นพลังงานลมระดับโลกกอดคอกันร่วง มาร์เก็ตแคปวูบเกือบ 3 พันล้านดอลลาร์ ยักษ์ใหญ่ Siemens ก็เกือบไม่รอด

16.11.2023
  • LOADING...
กังหันลม

ว่ากันว่าแสงแดดและลมกำลังเป็นเทรนด์พลังงานสีเขียวเพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าที่ดีที่สุดและถูกที่สุดในโลก และเพื่อทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ล่าสุดกลับเริ่มมีข้อสงสัยกันว่า เกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรมพลังงานลมที่ต่างกำลังเผชิญกับผลประกอบการที่ย่ำแย่ โดย Allianz Research รายงานว่า ขณะนี้บริษัทพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ของโลก 8 แห่ง มูลค่าสินทรัพย์ลดลงรวมกันเกือบ 3 พันล้านดอลลาร์ในช่วงครึ่งแรกของปี สาเหตุหลักมาจากอะไร?  

 

สำนักข่าว CNBC รายงานว่า จากเทรนด์พลังงานสะอาด ส่งผลให้ผู้ผลิตและบรรดาผู้เล่นรายใหญ่ภาคอุตสาหกรรมพลังงานต่างเร่งปรับตัวทุ่มลงทุนผ่านโครงการพลังงานหมุนเวียนเพื่อเศรษฐกิจยั่งยืน โดยเฉพาะพลังงานลมขนาดใหญ่มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการผลิตพลังงานลมในปัจจุบันกลับเผชิญกับสภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจนส่งผลลบต่อผลกำไร

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

โดยจะเห็นได้จากข้อผิดพลาดของการวางแผนการผลิตของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Siemens Energy ซึ่งมีบริษัท Siemens Gamesa ในเครือก็เผชิญกับต้นทุนในการสร้างกังหันที่มีการแข่งขันด้านความเร็วและขนาดที่มากขึ้น

 

ทำให้ Siemens Energy ยุติการคาดการณ์กำไรช่วงต้นปีนี้ จนกระทั่งเมื่อเดือนที่แล้วบริษัทได้ยื่นค้ำประกันจากรัฐบาลเยอรมนีสูงถึง 1.5 หมื่นล้านยูโร (หรือ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์)  

 

โดย Handelsblatt สื่อของเยอรมนีรายงานว่า รัฐบาลเยอรมนีจะให้เงินค้ำประกัน 7.5 พันล้านยูโรกับบริษัท ในขณะที่ธนาคารที่เกี่ยวข้องจะรับผิดชอบอีก 1.2 หมื่นล้านยูโร เพื่อดูแลคำสั่งซื้อ 

 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานลมมักเสนอราคาสูงกว่าใบอนุญาตทางทะเลจากบริษัทน้ำมันและก๊าซแบบดั้งเดิม หากเสนอราคาชนะ ราคาไฟฟ้ามักจะต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ส่งผลให้บริษัทต่างๆ มองหาการเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลในยุโรปและสหรัฐอเมริกาเพื่อรักษาสมดุลของตลาด แต่ด้วยหลายปัจจัยส่งผลให้สต๊อกพลังงานลมส่วนใหญ่ลดลงอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ช่วงเวลาเดียวกันจากปีที่แล้ว

 

เหตุจากอัตราเงินเฟ้อและตลาดผันผวน 

 

นอกจากนี้ Allianz Research ตั้งข้อสังเกตว่า จากข้อมูลพบว่าบริษัทพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่  8 แห่ง มูลค่าสินทรัพย์ครึ่งปีแรกลดลงรวม 3 พันล้านดอลลาร์ โดยหากลงรายละเอียดจะเห็นว่ามาจากโครงการพลังงานลมที่เผชิญกับสภาวะตลาดผันผวน ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์มองว่าฤดูกาลของผลประกอบการที่ผ่านมาถือเป็น “ช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้” สำหรับอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน

 

นักเศรษฐศาสตร์ของ Allianz Research วิเคราะห์ว่า “ทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรมกำลังเผชิญกับต้นทุนการก่อสร้างและเงินทุนที่เพิ่มขึ้นเพื่อควบคุมคุณภาพ บวกกับภาวะอัตราเงินเฟ้อและความผันผวนของราคาพลังงานทั่วโลก ล้วนมีผลต่อต้นทุนโครงการพลังงานลมที่ต้องใช้เงินในการลงทุนมหาศาล”  

 

นอกจากนี้ บางโครงการที่อยู่ในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร มีความเสี่ยงที่จะถูกลอยแพหากรัฐบาลไม่ให้การสนับสนุน เนื่องจากโครงการเหล่านี้ริเริ่มขึ้นก่อนเกิดวิกฤตพลังงาน โดยขณะนั้นมีการรับประกันอัตราภาษีที่ต่ำ แต่ปัจจุบันโครงการเหล่านี้ก็เริ่มขาดทุน เริ่มไม่มีกำไรมากขึ้นเรื่อยๆ 

 

Ørsted ของเดนมาร์กล้มแผนพัฒนา 2 โครงการในสหรัฐฯ 

 

แม้ว่างบดุลจะยังคงแข็งแกร่ง แต่บริษัทพลังงานหมุนเวียนก็ได้ระบุว่าสินทรัพย์และแนวโน้มกำไรลดลง อย่างบริษัท Ørsted ของเดนมาร์กก็ได้ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าจะยุติการพัฒนาโครงการนอกชายฝั่ง 2 โครงการในสหรัฐฯ รวม 5.6 พันล้านดอลลาร์ ด้วยเหตุผลว่าพบข้อบกพร่อง

 

Henrik Andersen ซีอีโอของบริษัท Vestas บริษัทผู้ส่งออกนวัตกรรมกังหันลม กล่าวว่า อุตสาหกรรมอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน และในที่สุด “ตลาดจะมีทั้งผู้ชนะและผู้แพ้” 

 

สาเหตุอีกด้านเขามองว่าสหรัฐฯ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับมุมมองทางการเมืองใหม่ เพื่อดูเกี่ยวกับต้นทุนของการเปลี่ยนแปลงพลังงาน เนื่องจากต้นทุนของกังหันลมมีราคาเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 20-30% นับตั้งแต่ปี 2020

 

เขาบอกอีกว่า การเปลี่ยนไปใช้พลังงานลมเพื่อเพิ่มพอร์ตพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของบริษัทต่างๆ ทั่วโลกกำลังมีราคาแพงขึ้น แต่อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ กำลังเป็นปัญหาใหญ่สำหรับอุตสาหกรรม จะทำอย่างไรให้สามารถปรับเงื่อนไขให้บริษัทต่างๆ สามารถสร้างผลกำไรในอนาคต

 

ขณะที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศแผนปฏิบัติการพลังงานลมฉบับใหม่เมื่อเดือนที่แล้ว โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งลมอย่างมีนัยสำคัญ แต่แน่นอนว่าแผนที่ว่านี้อาจไม่สามารถทำได้ในชั่วข้ามคืน เพราะต้องผ่านกระบวนการที่ต้องใช้เวลา ผู้ผลิตต้องลงทุนอย่างคุ้มค่าและผลิตเท่าที่จำเป็น อีกทั้งบริษัทต่างๆ อาจไม่มีกระแสเงินสดพอที่จะลงทุนได้ในขณะนี้

 

ส่องบริษัทพลังงานไทยที่ลงทุนพลังงานลม 

 

สำหรับบริษัทพลังงานของไทยที่ลงทุนพลังงานลมมีหลายบริษัท ไม่ว่าจะเป็นบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA และมีหลายบริษัทพลังงานของไทยที่ไปลงทุนพลังงานลมในต่างประเทศ เช่น บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ลงทุนในเวียดนาม, บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ลงทุนในเยอรมนี, บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ส่งบริษัทลูก GRSC, บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) และเอ็กโก กรุ๊ป หรือ EGCO ลงทุนในไต้หวัน, บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) รวมถึงบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ลงทุนในเวียดนาม

 

อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวล่าสุดระบุว่า EA ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เผชิญกับภาระหนี้ ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับลดลง 54% ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน และเป็นบริษัทที่ทำผลงานได้ย่ำแย่ที่สุดในดัชนีภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากมูลค่าตลาด บริษัทได้ทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อสร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่สำหรับแบตเตอรี่ รวมถึงรถโดยสารไฟฟ้า เรือเฟอร์รี และรถไฟ ทว่าการลงทุนก็ทำให้บริษัทเผชิญกับหนี้สินและการขายผลิตภัณฑ์ที่เป็นสินเชื่อเพิ่มขึ้น 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising