ประเด็นที่ไม่เคยหล่นหายไปจากเวทีโลกคือเรื่องของ ‘พลังงานหมุนเวียน’ จากแหล่งธรรมชาติ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานที่เกิดจากขยะมูลฝอย โดยเฉพาะพลังงานลม ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทนกลายเป็นกลุ่มที่มีการแข่งขันกันสูง ถ้าได้ถือครองสัดส่วนการผลิตมาก ก็ยากที่ใครจะโค่นแชมป์ได้
อย่างประเทศไทย บริษัทที่ถือครองสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมมากถึง 42% คือบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (WEH) ผู้นำด้านพลังงานลมในประเทศไทย รายใหญ่ที่สุดในอาเซียนนั่นเอง
นับตั้งแต่ พ.ศ. 2552 วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง เป็นบริษัทแรกที่เป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมพลังงานลมในประเทศไทย จนถึงปัจจุบันดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าจากพลังงานลมรวมทั้งสิ้น 8 โครงการ เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และผลิตไฟฟ้าพลังลมเข้าระบบต่อปีกว่า 1,800 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกำลังการผลิตประมาณ 717 เมกะวัตต์
เป้าหมายของวินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง คือการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนชั้นนำของโลก และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ ชิว-ณัฐพศิน เชฎฐ์อุดมลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด บอกกับ THE STANDARD ถึงกลยุทธ์ แนวคิด และองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยผลักดันและขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย จะเร็วกว่ากำหนดหรือช้ากว่าที่หวัง ไม่สำคัญเท่า ‘ความยั่งยืน’
ชิว-ณัฐพศิน เชฎฐ์อุดมลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด
กลยุทธ์เสริมความแข็งแกร่งให้กับองค์กร: ขยายกำลังการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพองค์กร
“วิธีโตในธุรกิจพลังงานคือการเพิ่มโรงไฟฟ้า” ณัฐพศินบอกว่า ถ้ามองจากภายนอกอาจจะเห็นวิธีการเติบโตของธุรกิจพลังงานในมิตินี้เท่านั้น แต่กลยุทธ์ของวินด์มองกว้างในหลากมิติ “เราเน้นการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต จริงอยู่ที่ว่าวิธีโตในธุรกิจของเราคือการเพิ่มโรงไฟฟ้า แต่การวางกลยุทธ์ก็สำคัญ จะเพิ่มอย่างไรให้พอร์ตของเรามีความหลากหลายและความเสี่ยงอยู่ในระดับที่พอเหมาะ เราจึงมองการลงทุนเป็นสองขา ขาแรกในประเทศไทยและอีกส่วนต้องไปเติบโตต่างประเทศ”
ปัจจุบันโรงไฟฟ้าพลังงานลมทั้ง 8 โครงการของวินด์ ตั้งอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในจังหวัดนครราชสีมาและชัยภูมิ เมื่อไรที่ความแรงลมและกำลังลมในโซนนั้นไม่เสถียร ย่อมส่งผลต่อการผลิตพลังงานไฟฟ้า แผนการขยายโรงไฟฟ้าในประเทศไทยจึงมองไปที่การหาโลเคชันในภูมิภาคอื่น หรือถ้าออกอยู่อีกซีกโลกเลยยิ่งดี อยู่ที่ศักยภาพกำลังลมในที่นั้นๆ เรามองประเทศเพื่อนบ้านไว้บ้าง อย่างเวียดนามก็เป็นประเทศที่เราสนใจ ยิ่งตอนนี้รัฐบาลทั่วโลกเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน เพิ่มสัดส่วนพลังงานลม ในต่างประเทศยังมีที่เหลือให้เราเข้าไปตั้งโรงไฟฟ้า เมื่อรัฐบาลต้องการพลังงานกลุ่มนี้ เขาจะยิ่งซัพพอร์ต” ณัฐพศินกล่าว
แต่การฝากความหวังไว้ที่การเพิ่มโรงงานไฟฟ้าอย่างเดียวไม่ใช่วิธีคิดในสไตล์ของณัฐพศิน ซีอีโอหนุ่มที่มีประสบการณ์การทำงานในทีมออกแบบกลยุทธ์องค์กร กลยุทธ์การฟื้นฟูกิจการ และการปฏิบัติงานจริงให้กับภาครัฐและเอกชนทั้งในไทยและต่างประเทศ
“ถ้ามองเรื่องอัตรากำไร แค่ธุรกิจพลังงานคงไม่พอ เพราะตอนนี้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในประเทศ เราถือครองมากที่สุดคือ 42% ถ้าดูในตลาดตอนนี้ไม่มีใครได้มากกว่านี้แล้ว เราจึงมีการเริ่มวางกลยุทธ์ข้ามไปยังธุรกิจอื่น ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของปีนี้เช่นกัน ข้อดีคือเราเป็น Holding Company เรามีระบบต่างๆ ซึ่งมองมันเป็นกลยุทธ์หลักเลย เช่น ถ้าเราจับธุรกิจที่มีโมเดลธุรกิจใกล้เคียงกัน เราก็แค่นำแพลตฟอร์มที่มี ไม่ว่าจะเป็นระบบหลังบ้าน ระบบการจัดการ ไปเพิ่มประสิทธิภาพให้การโมเดลนั้นๆ
“สุดท้ายแล้วการที่วินด์จะเติบโตโดยมีรากฐานที่แข็งแกร่ง จึงต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรภายในองค์กร เลยเป็นโจทย์ให้กับทีมบริหารและพัฒนาองค์กรที่ต้องช่วยกัน”
Innovative Thinking และ Strategic Execution ส่วนผสมที่นำไปสู่ความสำเร็จ
Innovative Thinking และ Strategic Execution เป็น 2 องค์ประกอบสำคัญที่ณัฐพศินมองว่า หากสร้างความแข็งแกร่งให้กับทั้ง 2 องค์ประกอบนี้ ไม่ว่าองค์กรจะเติบโตไปตามกลยุทธ์ไหน ก็สามารถเติบโตได้แบบยั่งยืน
“Innovative Thinking สำคัญมากสำหรับธุรกิจนิ่งๆ ผมมองว่าธุรกิจพลังงานเป็นธุรกิจนิ่งๆ ถ้าเทียบกับธุรกิจของสตาร์ทอัพ ดังนั้นจะทำอย่างไรถึงจะคิดค้นแนวคิดใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบหลังบ้าน แผนธุรกิจใหม่ๆ หรือนวัตกรรมการจัดการเงินทุน แล้วเอาสิ่งเหล่านี้ไปคิดโครงสร้างใหม่ให้กับองค์กร ย่อมมีโอกาสที่จะทำให้องค์กรเติบโตต่อเนื่องได้
“Strategic Execution ก็สำคัญ คิดได้แล้วก็ต้องนำกลยุทธ์เหล่านั้นไปใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ เช่น ทีมฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ต้องคิดแล้วว่าจะบริหารจัดการบุคลากรอย่างไร จึงจะสามารถเพิ่มทักษะหรือดึงศักยภาพคนในองค์กรได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงดึงดูดคนที่มีความรู้ ความสามารถ ให้เข้ามาทำงานกับเรา”
ณัฐพศินยังบอกอีกว่า แนวคิดแบบเดิมๆ ที่เชื่อว่าพนักงานไม่สามารถเติบโตไปสู่ตำแหน่งที่สูงกว่าได้หากเจ้าของตำแหน่งเดิมยังอยู่ จะต้องหมดไป “ที่นี่คุณต้องวางแผนว่าจะเติบโตในองค์กรเราอย่างไร แล้วแต่ละคนต้องมาคุยแผนของตัวเอง และจะทำอย่างไร ย้ายสายงานหรือจะเติบโตไปทางไหน เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายของเขา ดังนั้นทุกคนที่วินด์ต้องมีเป้าหมายชัดเจน เมื่อคนในองค์กรมีเป้าหมายชัดจะทำให้วันที่องค์กรขับเคลื่อนไปข้างหน้า พวกเขาจะเดินไปพร้อมกับเรา
“นั่นแปลว่าคุณต้องไม่หยุดพัฒนา นี่เป็นสิ่งที่เราพยายามปลูกฝังให้กับพนักงานในองค์กร ถ้าคนในองค์กรหยุดเรียนรู้ เราจะไม่มีทางสร้าง Innovative Thinking ได้เลย”
ตลอดเวลาที่ผ่านมา วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง ปรับตัวให้เข้ากับยุค Digital Transformation สร้างต้นแบบขององค์กรที่แวดล้อมไปด้วย Innovative Thinking อยู่เสมอ ไล่มาตั้งแต่การจัดเก็บข้อมูลทั้งหมดเข้า Cloud สามารถตรวจดูกระแสลมจากโรงงานทั้ง 8 โครงการจากที่ไหนก็ได้ จนถึงช่วงที่ Work from Home เราสามารถก้าวไปสู่จุด Work from Anywhere ได้เกือบทุกส่วนงาน เว้นแต่ทีมหน้างานที่เราต้องมีความพร้อมอยู่ตลอด 24 ชั่วโมงในการเข้าไปแก้ปัญหา รวมถึงมีการนำระบบ Real-Time Tracking มาช่วย เช่น การส่งช่างเข้าไปซ่อมที่ไซต์งาน จากเดิมที่ต้องมีทีมงานคอยประกบ แต่ระบบดังกล่าวสามารถแทร็กข้อมูลจากช่างได้ทันที ทั้งนี้ เพื่อรองรับการทำงานที่เร็วขึ้นและ Lean มากยิ่งขึ้น
ในอีกมุม การเติบโตของธุรกิจพลังงานลมในประเทศไทยก็ดีหรือทั่วโลกก็ดี พิสูจน์ได้ว่าพลังงานสะอาดโดยเฉพาะพลังงานลมกำลังมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่ออนาคตของโลก ณัฐพศินก็เชื่อเช่นนั้น “ตอนนี้มันแทบจะเป็นมาตรฐานของรัฐบาลทั่วโลกไปแล้วที่จะวางแผนเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน ซึ่งพลังงานลมเป็นพลังงานหลักในกลุ่มนี้ เพราะเป็นพลังงานที่สะอาดและคุ้มค่า นวัตกรรมต่างๆ ที่มาช่วยซัพพอร์ตเรื่องนี้ก็พัฒนาแบบก้าวกระโดด อย่างโครงการแรกๆ เทียบกับโครงการหลัง กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2 เท่า ในขณะที่กำลังลมเท่าเดิม”
ณัฐพศินอธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า ด้วยเทคโนโลยีของพลังงานลมมันเป็นนวัตกรรมที่ล้ำสมัยมากๆ อยู่แล้ว เห็นได้จากความสามารถในการผลิตของกังหันลม ยิ่งเสาสูงขึ้นก็ยิ่งผลิตไฟได้มากขึ้น เช่น เสาสูง 100 เมตรจากพื้น ผลิตลมได้ประมาณ 20% ของความสามารถทั้งหมด ตอนนี้ผลิตเพิ่มได้เกือบ 40% ที่ความสูงของเสาเป็น 157 เมตร นั่นหมายความว่าถ้าอีกหน่อยความสูงของเสาเพิ่มขึ้น ก็ยิ่งรีดพลังงานจากกระแสลมได้มากขึ้น
เมื่อโลกขานรับพลังงานสะอาดมากขึ้น แล้วกระแส ‘พลังงานลม’ จะพัดพาไปทางไหน
“เทรนด์นี้ไปต่อได้ยาวๆ แน่นอน ในอนาคตอันใกล้เราจะเห็นพลังงานกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น รัฐบาลก็ยังคงเปิดโอกาสให้กับนักลงทุน เพราะอีก 50-100 ปีข้างหน้า กลุ่มพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วหมดไป มันจะหมดไปจากโลกนี้จริงๆ”
ถ้าเทรนด์มาแล้ว วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จะขยับตัวในท่าไหน? ณัฐพศินบอกว่า “เรามองตัวเองเป็น Operator เราเชื่อว่าทีมเทคนิคเรามีศักยภาพมากๆ ดังนั้นเมื่อมีเทคโนโลยีอะไรใหม่ๆ เข้ามา เราจะสามารถนำมาประกอบร่างกับศักยภาพที่มีได้
“แต่ผมกลับมีภาพในใจที่อยากเห็นนะ ผมอยากเห็นประเทศไทยเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเอง ทุกวันนี้เราซื้ออุปกรณ์ต่างๆ จากยุโรป อเมริกา เวลาเกิดเหตุขัดข้องบางครั้งต้องหยุดผลิตกำลังไฟเป็นเดือนเพื่อรออุปกรณ์ มันคงจะมีประโยชน์กับทุกฝ่ายถ้าเราสามารถสร้างเทคโนโลยีขึ้นเอง กลุ่มธุรกิจพลังงานได้ประโยชน์แน่นอน เพราะต้นทุนถูกลง แต่สำคัญยิ่งกว่าผมมองไปถึง GDP ของประเทศ ถ้าเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถส่งออกได้ มันก็คือ GDP ของประเทศ เมื่อไรก็ตามที่เราเป็นเจ้าของเทคโลยีได้ นั่นคือความยั่งยืนที่แท้จริง”
‘ยั่งยืนทั้งระบบ’ แนวคิดที่ปลูกฝังให้ทุกที่ วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง ไปชุมชนแวดล้อมจะต้องดีขึ้น
“เราเน้นเรื่องความยั่งยืน แต่ไม่ใช่เพราะเราทำธุรกิจพลังงานสะอาด” ณัฐพศินบอกว่า ธุรกิจพลังงานสะอาดเป็นเพียงสารตั้งต้นให้การดำเนินธุรกิจของวินด์ขับเคลื่อนไปด้วยองค์ประกอบนี้ “ก่อนเริ่มโครงการในแต่ละโลเคชัน สิ่งแรกที่เราต้องทำคือ เข้าไปคุยกับผู้นำชุมชน เพื่อศึกษาซึ่งกันและกัน ดูว่าการมาตั้งโรงงานของเราสร้างผลกระทบอะไรกับคนในชุมชนหรือเปล่า มีการวางแผนระยะยาวเพื่อสร้างความเติบโต สร้างงาน สร้างความยั่งยืนไปด้วยกัน และไม่ใช่แค่การวางแผน แต่เป็นคำมั่นสัญญาที่เราให้ 20-30 ปีต่อจากนี้ เราจะให้อะไรกลับไปต่อชุมชนบ้าง”
ณัฐพศินเล่าถึงโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้น วินด์จับมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA ร่วมกันสนับสนุนโรงเรียนในจังหวัดนครราชสีมาและชัยภูมิจำนวน 4 โรงเรียน ในระยะที่ 1 ภายใต้โครงการใหญ่ ‘โครงการยกระดับโรงเรียนสู่การเรียนรู้ด้าน Coding, STEM, IoT และ AI’ โดยมีเป้าหมายสร้างพื้นที่การเรียนรู้ด้านดิจิทัลในโรงเรียน ทำให้เกิดความยั่งยืนด้านการศึกษา ด้วยการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานห้องเรียนด้าน Coding ในพื้นที่ให้กับโรงเรียน ชุมชน และสังคมในท้องถิ่น ให้เกิดการพัฒนานักเรียน ให้มีทักษะและเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้นักเรียน ครู รวมถึงคนในชุมชนได้มีการเรียนรู้และมีโอกาสเข้าถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่จะก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว สู่การต่อยอดแนวคิดอื่นๆ เช่น แนวคิดพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) หรือการทำเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm) เพื่อการบูรณาการความรู้ให้กับนักเรียนและประชาชนในพื้นที่เพิ่มขึ้น
“เรายังจัดตั้งกองทุนเพื่อซัพพอร์ตชุมชนในด้านต่างๆ เพราะเรามองว่าชุมชนคือพาร์ตเนอร์หลักของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจ เรื่องการศึกษาในชุมชน หรือเรื่องสุขภาพในช่วงโควิด-19 สำคัญที่สุดคือเรื่องสิ่งแวดล้อม มีการทำวิจัยทุกปี เสียงของกังหันลมดังเกินไปหรือเปล่า หรือจังหวะหมุนตัดแสงมองแล้วไม่สบายตาหรือไม่ ทุกสิ่งที่ทำเราอยากให้เขารู้รับรู้ว่าที่ไหนที่วินด์เข้าไปสร้างโครงการ ชุมชนแวดล้อมจะต้องดีขึ้น”
เมื่อสเกลของชุมชนแวดล้อมดีขึ้น วินด์มองภาพใหญ่กว่านั้น และหวังว่าจะได้เป็นส่วนหนึ่งในสเกลระดับประเทศ สร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นพร้อมกันทั้งระบบ “ผมอยากเห็นความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ทุกวันนี้ค่าใช้จ่ายในการซื้อเทคโนโลยีเข้ามาสูงมาก ถ้าเกิดความร่วมมือสร้างเทคโนโลยีของตัวเอง เงินก็ยังหมุนเวียนในประเทศ และถ้ามันถูกพัฒนาต่อจนสามารถส่งออกได้ ก็สร้างเม็ดเงินมหาศาลไหลกลับเข้ามาในประเทศ ในมิติที่เล็กไปกว่านั้นมันคือการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับชุมชน ให้กับประชาชน
“สิ่งสำคัญที่ซ่อนอยู่คือ เรื่องของการส่งต่อองค์ความรู้ภายในประเทศ ผมเชื่อว่าเทคโนโลยีมันข้ามสายได้ วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง พร้อมที่จะซัพพอร์ตทั้งเรื่องกำลังคน องค์ความรู้ ถ้าภาครัฐหรือเอกชนรายอื่นอยากให้เข้าไปช่วย เราก็พร้อม
“เพราะปลายทางคือความยั่งยืนของทั้งประเทศ เราโตคนเดียวไม่ได้ ต้องไปพร้อมๆ กัน”