×

ศาลอาญาระหว่างประเทศมีอำนาจแค่ไหน ปูตินจะถูกจับจริงหรือไม่

18.03.2023
  • LOADING...

ในที่สุดศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ได้ออกหมายจับ วลาดิเมียร์ ปูติน เมื่อวันที่ 17 มีนาคม จนเป็นข่าวใหญ่ครึกโครมไปทั่วโลก ส่งผลให้ประธานาธิบดีรัสเซียผู้นี้ถูกตีตราว่า ‘อาชญากรสงคราม’ อย่างเป็นทางการ หลังสงครามในยูเครนดำเนินสู่ปีที่ 2

 

อย่างไรก็ตาม ความผิดที่ปูตินถูกออกหมายจับนั้นยังไม่ใช่เรื่องที่เขาส่งทหารเข้ารุกรานยูเครนจนเป็นเหตุให้มีพลเรือนเสียชีวิตจำนวนมาก และทำให้ประชาชนกว่า 8 ล้านคนแตกซ่านกระเซ็นหนีออกนอกประเทศ แต่เป็นเพราะความผิดที่ปูตินมีส่วนเกี่ยวข้องในการสั่งการให้เนรเทศและส่งตัวเด็กๆ ชาวยูเครนไปยังรัสเซีย ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หลายคนอาจสงสัยว่าการออกหมายจับในครั้งนี้จะนำไปสู่อะไร ปูตินจะถูกจับจริงหรือไม่ และศาลโลกที่หลายคนปรามาสว่าเป็นแค่ ‘เสือกระดาษ’ มีอำนาจทำได้เช่นนั้นจริงหรือ

เกิดอะไรขึ้น? เด็กๆ ที่ถูกบังคับย้ายถิ่นฐานเป็นใคร

วันที่ 17 มีนาคม ICC ได้ออกหมายจับปูติน พร้อมกับ มาเรีย ลโววา-บีโลวา ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิเด็กของรัสเซีย ฐานมีส่วนร่วมในการก่ออาชญากรรมสงคราม เนื่องจากบุคคลทั้งสองเป็นผู้สั่งการให้มีการเนรเทศและย้ายถิ่นฐานของเด็กๆ ชาวยูเครนหลายพันคนไปอยู่ที่รัสเซีย

 

สำนักข่าว The Guardian รายงานว่า เด็กที่ถูกบังคับย้ายถิ่นฐานกลุ่มดังกล่าว ครอบคลุมถึงเด็กๆ ที่ถูกพาตัวไปจากสถาบันของรัฐบาลยูเครนซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่ถูกรัสเซียยึดครองไว้ได้ ตลอดจนเด็กๆ ที่ผู้ปกครองส่งไป ‘ค่ายฤดูร้อน’ ตามโครงการของรัสเซียและไม่ได้กลับมาในประเทศอีกเลย รวมถึงเด็กๆ ที่พ่อแม่ของพวกเขาถูกทหารรัสเซียจับกุม และเด็กที่กำพร้าเพราะพ่อแม่เสียชีวิตจากสงคราม ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่อยู่ในพื้นที่ของเมืองเคอร์ซอน คาร์คิฟ ซาปอริซเซีย โดเนตสก์ ลูฮันสก์ และมิโคลาอีฟ 

 

นับตั้งแต่สงครามเปิดฉากขึ้น รัสเซียเปิดเผยข้อมูลว่ามีเด็กกำพร้าชาวยูเครนอย่างน้อย 400 คนที่มีครอบครัวรัสเซียรับไปอุปการะดูแลแล้ว ขณะที่มีอีกราว 1,000 คนที่กำลังรอคิวอยู่ แม้ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ดี แต่รายงานจากฝั่งยูเครนระบุว่า เด็กเหล่านี้หลายคนยังมีญาติพี่น้องที่มีชีวิตอยู่ในยูเครน ส่วนการตามหาเด็กก็เป็นเรื่องยาก เพราะรัสเซียไม่ปริปากบอกเลยว่าเด็กแต่ละคนชื่ออะไร ถูกพาตัวมาจากพื้นที่แห่งใด และตอนนี้ย้ายไปอยู่ที่ไหนในรัสเซีย

 

แม้รัสเซียจะอ้างว่าการกระทำดังกล่าวเป็นโครงการด้านมนุษยธรรมเพื่อปกป้องเด็กกำพร้าและเด็กๆ ที่ถูกทอดทิ้งในพื้นที่ขัดแย้ง แต่การเนรเทศหรือบังคับโยกย้ายประชากรถือเป็นอาชญากรรม หากพิจารณาตามธรรมนูญกรุงโรม (Rome Statute) ว่าด้วยการก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศแห่งนี้ 

ศาลอาญาระหว่างประเทศมีอำนาจแค่ไหน

 ICC ก่อตั้งเมื่อปี 2002 โดยมีอำนาจตัดสินคดีอาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และอาชญากรรมการรุกราน เมื่อชาติในภาคีไม่เต็มใจหรือไม่สามารถกระทำได้ด้วยตนเอง โดย ICC สามารถดำเนินคดีต่ออาชญากรสงครามที่เป็นพลเมืองของรัฐสมาชิกทั้ง 123 ประเทศ  

 

ในอดีต รัสเซียเคยเป็นชาติที่ลงนามในธรรมนูญกรุงโรมด้วยเช่นกัน ก่อนที่จะตัดสินใจถอนตัวออกไปในปี 2016 เพราะรัสเซียมองว่า ICC ทำงานแบบเลือกข้างและไร้ประสิทธิภาพ

อาชญากรรมสงครามคืออะไร

แม้การทำสงครามที่เข่นฆ่าเอาชีวิตผู้คนจะดูเลือดเย็นและมุ่งหมายทำลายล้างอย่างไร้ขีดจำกัด แต่ถึงเช่นนั้น วิถีแห่งสงครามก็มีกฎเกณฑ์ของมัน

 

อาชญากรรมสงคราม หมายถึงกระทำที่ละเมิดกติกาที่สังคมโลกตั้งไว้ ไม่ว่าจะเป็น การจงใจโจมตีพลเรือน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อการอยู่รอดของพลเรือน, การใช้อาวุธต้องห้าม เช่น ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล และอาวุธเคมี หรืออาวุธชีวภาพ, การทรมานและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ตลอดจนความผิดร้ายแรงระหว่างสงคราม เช่น ฆาตกรรม การข่มขืน หรือการกดขี่ข่มเหงหมู่ ซึ่งถือเป็น ‘อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ’

ปูตินจะถูกจับจริงหรือ

อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า ปัจจุบัน ICC มีประเทศในภาคีทั้งสิ้น 123 ประเทศ และรัสเซียก็ไม่ใช่หนึ่งในนั้น เนื่องจากได้ตัดสัมพันธ์ไปตั้งแต่ปี 2016 แล้ว ฉะนั้น รัสเซียจึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาล รวมถึงไม่จำเป็นต้องส่งตัวปูตินและบีโลวาให้กับ ICC ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน ทำให้บุคคลทั้งสองอาจไม่ถูกพิจารณาโทษในเร็ววันนี้

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าการออกหมายจับดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อตัวปูตินเลย ประการแรกคือ การออกหมายจับครั้งนี้ถือเป็นการส่งสัญญาณแรงๆ ไปให้กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซียทั้งในภาคการทหารและพลเรือนว่า พวกเขากำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่อาจถูกดำเนินคดีได้ทุกเมื่อเฉกเช่นผู้นำของตนเอง และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ปูตินอาจไม่สามารถเดินทางไปเยือนประเทศที่อยู่ในภาคีของ ICC ทั้ง 123 ประเทศได้ รวมไปถึงการประชุมผู้นำต่างๆ เพราะประเทศเหล่านี้จะมีสิทธิจับกุมตัวเขาส่งไปยังศาลกรุงเฮก ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้กดดันให้ปูตินกลายเป็นบุคคลที่โดดเดี่ยวจากสังคมโลกหนักกว่าเดิมด้วย

ประมุขแห่งรัฐมีสิทธิได้รับการคุ้มกันไม่ให้ถูกฟ้องร้องได้หรือไม่  

แม้ ICC จะไม่ยอมรับหลักการคุ้มกันประมุขแห่งรัฐมิให้ถูกฟ้องร้องในกรณีที่พวกเขามีส่วนพัวพันกับอาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่มีกรณีในอดีตที่น่าสนใจคือเคสของแอฟริกาใต้ที่ THE STANDARD จะอธิบายเพิ่มเติม

 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2015 ICC เคยออกหมายจับ โอมาร์ อัล บาชีร์ ผู้นำเผด็จการชาวซูดาน ฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในสงครามดาร์ฟูร์ ในเวลานั้น อัล บาชีร์ ได้เดินทางเยือนแอฟริกาใต้ซึ่งเป็นสมาชิกในภาคีของ ICC แต่ผลปรากฏว่า ทางการแอฟริกาใต้ปฏิเสธที่จับกุมผู้นำซูดาน พร้อมออกแถลงการณ์แย้งว่า “ประเทศของตนเองไม่มีหน้าที่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและธรรมนูญกรุงโรมที่จะต้องจับกุมผู้นำประเทศที่อยู่นอกภาคีของ ICC อย่าง โอมาร์ อัล บาชีร์” ขณะที่อีกหลายประเทศที่อัล บาชีร์เดินทางเยือนนั้นก็ปฏิเสธที่จะจับกุมตัวเขาเช่นกัน

 

หรืออย่างกรณีของ ออกุสโต ปิโนเชต์ อดีตประธานาธิบดีชิลีที่ถูกจับกุม ณ กรุงลอนดอน เมื่อปี 1998 ในข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชน ตามหมายจับนานาชาติที่ออกโดยผู้พิพากษาชาวสเปน ก็เป็นอีกหนึ่งกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า หลักกฎหมายการคุ้มกันประมุขของรัฐเป็นอุปสรรคสำคัญในการลงโทษผู้กระทำความผิดที่มีอำนาจสูงสุดของประเทศใดประเทศหนึ่ง 

 

ในเวลานั้น ปิโนเชต์ได้อ้างสิทธิว่าเขาได้รับความคุ้มกันตามกฎหมายดังกล่าวในฐานะประมุขของชาติ แม้ในเวลาต่อมาของอังกฤษจะปัดตกคำร้องดังกล่าว แต่ในที่สุดแล้ว แจ็ค สตรอว์ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของอังกฤษ ก็อนุญาตให้ปิโนเชต์กลับบ้านได้เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ

ยังมีความเป็นไปได้อื่นๆ อีกหรือไม่

หากพิจารณาจากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น อาจดูเหมือนว่าปูตินจะปลอดภัยจากหมายจับดังกล่าว และอาจรอดจากการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนด้วย แต่บนโลกกลมๆ ใบนี้ อะไรๆ ก็ไม่แน่นอน เพราะไม่แน่ว่าผู้นำเครมลินคนถัดไปอาจตัดสินใจส่งตัวปูตินไปรับโทษย้อนหลังเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการเมืองก็เป็นได้

 

เพราะในประวัติศาสตร์ก็เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้มาแล้ว โดย สโลโบดัน มิโลเซวิช อดีตประธานาธิบดีของยูโกสลาเวีย ถูกตั้งข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามโดยคณะตุลาการอาญาระหว่างประเทศสำหรับอดีตยูโกสลาเวีย (ICTY) จากสงครามในโคโซโวเมื่อปี 1999 ก่อนที่ต่อมาในปี 2001 โซแรน จินดิช อดีตนายกรัฐมนตรีเซอร์เบีย จะสั่งการให้มีการส่งตัวมิโลเซวิชไปยังศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยระบุว่า หากไม่ร่วมมือกับศาล ‘ทางออกอื่นๆ จะพาประเทศไปสู่หายนะ’

 

รายงานระบุว่า ตอนที่มีการจับกุมมิโลเซวิชนั้น ประชาชนได้ออกมากดรัฐบาลยูโกสลาเวียให้กักขังอดีตประธานาธิบดีด้วย เพราะกลัวว่าประเทศจะตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ รวมถึงไม่ได้รับเงินกู้จาก IMF หรือธนาคารโลก

 

แต่คำถามที่ว่าเรื่องราวในกรณีของปูตินนั้นจะจบลงเช่นใด คงยากเกินไปที่จะคาดเดาในเวลานี้

 

แฟ้มภาพ: Contributor / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X