บิล เนลสัน ผู้บริหารระดับสูงขององค์การ NASA กล่าวว่า สหรัฐอเมริกากำลังแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศกับจีน เพื่อเดินทางกลับไปยังดวงจันทร์อีกครั้ง พร้อมทั้งเน้นย้ำว่าเขาจะเดินหน้าผลักดันโครงการด้านอวกาศที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายนี้อย่างเต็มกำลัง เพื่อสร้างหลักประกันว่าสหรัฐฯ จะเดินทางไปถึงจุดนั้นได้สำเร็จ (อีกครั้ง) ก่อนจีน
บรรยากาศการแข่งขันกันด้านเทคโนโลยีอวกาศของชาติมหาอำนาจในปัจจุบัน ชวนให้ย้อนนึกถึงบรรยากาศลักษณะเดียวกันนี้ในช่วงยุคสงครามเย็นที่องค์การ NASA แข่งขันกับหน่วยงานด้านอวกาศของสหภาพโซเวียต (USSR) อย่างจริงจัง ซึ่งความสำเร็จในอดีต ทั้งจากการพุ่งทะยานท่องอวกาศเป็นคนแรกของโลกโดย ยูริ กาการิน นักบินอวกาศชาวโซเวียต หรือการฝากรอยเท้าของมวลมนุษยชาติไว้บนพื้นผิวของดวงจันทร์โดย นีล อาร์มสตรอง นักบินอวกาศชาวอเมริกัน ล้วนแล้วแต่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศในปัจจุบันนี้ทั้งสิ้น
เนลสันระบุว่า ขณะนี้องค์การ NASA ได้ประสานความร่วมมือกับองค์กรเอกชนมากมาย เพื่อแชร์ความคิดและความสามารถด้านเทคโนโลยีอวกาศร่วมกัน โดย SpaceX ของ อีลอน มัสก์ เป็นหนึ่งในองค์กรเอกชนชั้นนำที่บรรลุข้อตกลงมูลค่ากว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.1 แสนล้านบาท) กับ NASA ในปี 2021 เพื่อสร้างยานลงจอดบนดวงจันทร์และพัฒนาจรวดที่ทรงพลังที่สุดเท่าที่เคยสร้างมา
นอกจากนี้ Blue Origin ภายใต้การนำของ เจฟฟ์ เบโซส์ ผู้ก่อตั้ง Amazon และมหาเศรษฐีที่มั่งคั่งเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เพิ่งจะบรรลุข้อตกลงมูลค่ากว่า 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.24 แสนล้านบาท) กับองค์กร NASA ในช่วงต้นปี 2023 นี้ เพื่อสร้างยานลงจอดและช่วยเหลือหน่วยงานของสหรัฐฯ ในการทำให้เป้าหมายใหญ่ในครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ
แม้ว่าในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หน่วยงานด้านอวกาศของอินเดียจะประสบความสำเร็จในการนำยานลงจอดบนพื้นผิวของดวงจันทร์ได้สำเร็จเป็นชาติที่ 4 ของประชาคมโลก ต่อจากสหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกา และจีน แต่ดูเหมือนว่าโครงการอวกาศของจีนยังคงเป็นโครงการที่ NASA จับตาดูอย่างใกล้ชิดต่อไป
ขณะนี้โครงการอวกาศของจีนถือว่ามีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยจีนเป็นเพียงประเทศเดียวในขณะนี้ที่มีสถานีอวกาศเป็นของตนเองและได้นำตัวอย่างที่พบบนพื้นผิวของดวงจันทร์กลับมายังโลกแล้ว อีกทั้งจีนยังมีแผนการที่จะกลับไปให้ถึงพื้นที่บริเวณขั้วใต้ของพื้นผิวดวงจันทร์ให้ได้อีกด้วย
เนลสันกล่าวว่า สิ่งที่ทำให้ผมกังวลใจคือ เราค้นพบน้ำที่บริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ จีนไปถึงที่นั่น และอาจอ้างกรรมสิทธิ์ว่าเป็นพื้นที่ของตน เหมือนกับกรณีที่จีนพยายามจะอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ ในขณะที่ทางการจีนก็ยังคงยืนยันว่าจีนจะยึดถือแนวทางการสำรวจอวกาศอย่างสันติ
การแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีอวกาศที่เข้มข้นขึ้นนี้กระตุ้นให้ NASA ทุ่มงบประมาณมหาศาล โดยก่อนปิดปีงบประมาณในปี 2021 องค์การ NASA เผยว่า ตนมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 7.12 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.6 ล้านล้านบาท) ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นถึง 10.7% จากปีก่อนหน้า ขณะที่ข้อมูลจาก Euroconsult ระบุว่า ในปี 2022 โครงการอวกาศของจีนได้รับงบประมาณสนับสนุนราว 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (4.4 แสนล้านบาท) และเตรียมทุ่มงบกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.65 ล้านล้านบาท) นำนักบินอวกาศจีนเดินทางไปดวงจันทร์ภายในปี 2030
THE STANDARD ได้ถามความเห็น ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยการบินและอวกาศปักกิ่ง (มหาวิทยาลัยเป่ยหัง) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยหลักของจีนในการวิจัยและพัฒนาด้านการบิน อวกาศ และการทหาร
ทำไมสหรัฐฯ-จีน ถึงหันมาแข่งขันกันทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ
ภากรระบุว่า “ถ้าว่ากันตามตรง มันคือเรื่องของการเป็นมหาอำนาจโลก ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เพราะมันจะบ่งบอกได้ถึงศักยภาพทางด้านเทคโนโลยี และสร้างภาพลักษณ์ให้กับประเทศตนเองเหมือนในสมัยที่สหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียตแข่งขันกันในเรื่องนี้ พร้อมๆ กับประเด็นสงครามเย็นทางการเมืองในขณะนั้น และเราจะเห็นได้ว่าประเด็นที่สหรัฐฯ ส่งนักบินอวกาศไปถึงดวงจันทร์ได้ ยังคงเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ นำหน้าจีนอยู่ เราจึงได้เห็นจีนประกาศจุดยืนอย่างแน่วแน่สำหรับโครงการไปดวงจันทร์
“ก่อนหน้านี้มีการส่งยานไปดวงจันทร์แล้ว แต่เป้าหมายที่จีนพยายามทำให้บรรลุผลคือ การส่งนักบินอวกาศไปดวงจันทร์ให้สำเร็จ ตอนนี้มีการเปิดเผยการศึกษาถึงความเป็นไปได้สำหรับการตั้งฐานบนดวงจันทร์ด้วย โดยจะใช้ท่อลาวาบนดวงจันทร์เป็นจุดตั้งฐาน และถ้าเรามองดีๆ สิ่งที่เราเห็นอยู่นี้ก็คือ ‘การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์’ (Geopolitical Competition) แค่เปลี่ยนจากบนโลกไปอยู่ในห้วงอวกาศ จะเห็นได้จากการที่ทางการสหรัฐฯ ได้ออกกฎหมายห้ามองค์การ NASA แบ่งปันข้อมูลด้านเทคโนโลยีอวกาศให้กับจีน เราเลยไม่เห็นจีนได้เข้าร่วมโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) จีนจึงนำจุดนี้มาเป็นแรงผลักดันสำคัญในการสร้างโครงการอวกาศของตนเอง โดยเฉพาะโครงการสถานีอวกาศของจีน ซึ่งประกอบโมดูลหลักเทียนเหอเข้ากับโมดูลห้องปฏิบัติการเวิ่นเทียนและเมิ่งเทียนได้สำเร็จแล้ว และขณะนี้มีนักบินอวกาศจีน 3 นายที่เดินทางไปกับยานเสินโจว-16 ปฏิบัติการอยู่
“ถ้าเราได้ติดตามข่าวสารในจีน เราจะเห็นว่ามีข่าวเกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศของจีนประกาศออกมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของดาวเทียม ซึ่งตอนนี้เริ่มมีดาวเทียมเชิงพาณิชย์ที่ร่วมมือกับทางภาครัฐจีนเพิ่มมากขึ้น โครงการส่งนักบินอวกาศจีนไปประจำสถานีอวกาศของตนเอง ซึ่งจะผลัดเปลี่ยนทุกๆ 6 เดือน รวมถึงโครงการสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคารที่ประกาศโรดแมปออกมาและดำเนินไปแล้วด้วยเช่นกัน ทำไมจีนถึงทุ่มเทกำลังและทรัพยากรมากขนาดนี้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อเอาชนะการกีดกันของสหรัฐฯ และสร้างภาพลักษณ์การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีให้กับประเทศของตนเอง”
การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอวกาศโลก สำคัญต่อสหรัฐฯ-จีนอย่างไร
ภากรกล่าวว่า “การแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศเกี่ยวพันกับการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ เพื่อก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจโลก และแน่นอนว่าการแข่งขันนี้แฝงประเด็นด้านความมั่นคงของประเทศด้วย โดยเฉพาะเรื่องของดาวเทียม เนื่องจากเกี่ยวข้องกับสำรวจและจัดเก็บข้อมูลต่างๆ และแน่นอนว่ามีดาวเทียมที่ใช้ประโยชน์ทางด้านการทหารด้วย ดังนั้น การที่ปล่อยให้ประเทศที่ตนเองกำลังแข่งขันอยู่ด้วยนั้น เป็นผู้นำและรุดหน้าไปฝ่ายเดียวอาจไม่เป็นผลดีแน่
“โดยเฉพาะในกรณีของจีนที่มองว่าการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางอวกาศอาจนำไปสู่การขับเคลื่อนเทคโนโลยีในมิติอื่นๆ เช่นเดียวกัน อาทิ การพัฒนาเทคโนโลยีการบินของจีน นอกจากนี้ จีนยังมองว่าการแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศเป็นเทรนด์แห่งอนาคตที่ต่อไปจะมีการแข่งขันกันทางด้านอวกาศมากขึ้นอย่างแน่นอน จีนเลยต้องพยายามกรุยทางและรุกทางนี้ให้ไว เหมือนที่สหรัฐฯ ทำได้ในอดีต จีนจึงพยายามสร้าง Ecosystem และระบบต่างๆ รวมถึงสร้างพันธมิตรและเพิ่มระดับความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ เพื่อสร้างภาพลักษณ์และสร้างภาพจำใหม่ในฐานะผู้นำในด้านนี้ ที่พร้อมสร้างความร่วมมือกับทั่วโลก โดยไม่มีการกีดกันใดๆ ดังเช่นที่จีนเคยประสบมาเมื่อครั้งอดีต นี่คือการตอบโต้กลับแบบจีน”
ภาพ: Blue Planet Studio / Shutterstock
อ้างอิง:
- https://www.nbcnews.com/science/space/russia-india-china-us-are-heading-lunar-south-pole-rcna100495
- https://www.space.com/china-moon-landing-before-2030
- https://www.bbc.com/news/business-66753675
- https://www.euroconsult-ec.com/press-release/new-record-in-government-space-defense-spendings-driven-by-investments-in-space-security-and-early-warning/
- https://payloadspace.com/china-to-invest-heavily-in-its-race-to-the-moon/