×

ทำไมทรัมป์อยากได้กรีนแลนด์? เมื่อดินแดนน้ำแข็งซีกโลกเหนือกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจ

22.08.2019
  • LOADING...
greenland

HIGHLIGHTS

4 MINS. READ
  • กรีนแลนด์ตั้งอยู่บนซีกโลกเหนือ โดย 80% ของพื้นที่ขนาด 2,100,480 ตารางกิโลเมตรปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง แต่อุดมไปด้วยทรัพยากรมหาศาลที่รอการสำรวจยืนยัน ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน แร่หายาก น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ดังนั้นจึงดึงดูดความสนใจจากบรรดาประเทศมหาอำนาจ รวมถึงสหรัฐฯ และจีน โดยที่รายหลังพยายามเข้ามาลงทุนผ่านโครงการต่างๆ ซึ่งสร้างความหวาดระแวงให้กับสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก
  • โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่อจาก แฮร์รี ทรูแมน ที่แสดงความประสงค์ขอซื้อเกาะกรีนแลนด์ ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าการที่เขาเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มาก่อนจึงมองเห็นโอกาสที่ได้จากการครอบครองกรีนแลนด์ โดยเฉพาะความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจากดินแดนแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้เส้นทางเดินเรือสินค้าในแอตแลนติกเหนือ

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หนึ่งในข่าวที่สร้างความฮือฮาไปทั่วโลกหนีไม่พ้นข่าวที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แสดงความสนใจอยากซื้อเกาะกรีนแลนด์ ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลกของเดนมาร์ก

 

แน่นอนว่าไอเดียนี้ถูกต่อต้านเป็นวงกว้างจากผู้นำและประชาชนเดนมาร์ก โดย เมตเต เฟรเดอริกเซน นายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก ถึงกับบอกว่าเป็นความคิดที่ ‘ไร้สาระ’

 

แต่ทำไมทรัมป์จึงอยากได้กรีนแลนด์หนักหนา ถึงขนาดเอ่ยปากหลายครั้ง 

 

greenland

 

ความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น

เกาะกรีนแลนด์ตั้งอยู่เหนือสุดของโลกในมหาสมุทรอาร์กติก เป็นเกาะใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นดินแดนปกครองตนเองของเดนมาร์กมาตั้งแต่ปี 1979 โดยปัจจุบันมีประชากรอาศัยราว 58,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเดนมาร์ก

 

นักวิเคราะห์มองว่าความสนใจที่ทรัมป์มีต่อเกาะกรีนแลนด์เป็นเครื่องบ่งชี้แล้วว่าเกาะดังกล่าวมีความสำคัญในแง่ภูมิรัฐศาสตร์มากแค่ไหน และไม่ใช่แค่สหรัฐฯ เท่านั้นที่ให้ความสนใจ แต่จีนเองก็เล็งเห็นความสำคัญของดินแดนที่ปกคลุมไปด้วยหิมะและน้ำแข็งแห่งนี้เช่นกัน

 

กรีนแลนด์มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เนื่องจากเชื่อมต่อกับเส้นทางเดินเรือใหม่ๆ ในแอตแลนติกเหนือ หลังพืดน้ำแข็งขั้วโลกละลายจนเกิดเส้นทางเดินเรือใหม่ๆ ที่ช่วยร่นระยะเวลาเดินเรือเพื่อขนส่งสินค้าทางน้ำ จากเดิมที่เส้นทางเดินเรือโดยมากต้องผ่านคลองปานามาหรือคลองสุเอซเพื่อแล่นไปยังท่าเรือจุดหมายทั่วโลก

 

เหตุผลที่ภูมิรัฐศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญ เพราะทรัมป์เป็นมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยมาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก่อนที่จะผันตัวมาลงเล่นการเมือง ด้วยเหตุนี้ทรัมป์จึงวิเคราะห์ประเด็นปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ผ่านมุมมองของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อยู่บ่อยครั้ง ยกตัวอย่างในปี 2018 ตอนที่เขาพบกับ คิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ทรัมป์ก็เคยพูดถึงความเป็นไปได้ในการสร้างคอนโดมิเนียมและโรงแรมริมหาดในเกาหลีเหนือ ซึ่งสำหรับกรีนแลนด์ก็คงไม่แตกต่างกันนัก

 

เมื่อเรามองลักษณะทางภูมิประเทศจะพบว่ากรีนแลนด์ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอาร์กติก ใกล้กับมหาสมุทรแอตแลนติกที่คั่นกลางระหว่างแผ่นดินทวีปอเมริกากับยุโรป ขณะที่จีนพยายามแผ่อิทธิพลเข้ามาในบริเวณนี้มากขึ้นผ่านทางโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งสร้างความหวาดระแวงให้กับสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก เพราะที่ตั้งของกรีนแลนด์เปรียบเหมือนประตูหน้าบ้านสู่อเมริกาเหนือ

 

เมื่อปีที่แล้ว จีนรุกพื้นที่นี้อย่างหนักด้วยการเสนอแนวคิดพัฒนา ‘เส้นทางสายไหมขั้วโลก’ ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าผ่านทางแอตแลนติกเหนือ โดยจีนเสนอโครงการสร้างสนามบินแห่งใหม่และโรงงานเหมืองแร่ แต่ท้ายที่สุดก็ถอนข้อเสนอกลับไป เพราะเดนมาร์กเองก็วิตกกังวลและไม่ต้องการให้จีนลงหลักปักฐานในกรีนแลนด์เช่นกัน

 

สหรัฐฯ อาจมองว่าอิทธิพลของพวกเขากำลังถูกท้าทายในบริเวณนี้ เพราะในกรีนแลนด์มีฐานทัพอากาศ Thule ของสหรัฐฯ ที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 1943 หรือในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นฐานทัพอากาศที่อยู่เหนือสุดของโลก นอกจากนี้ยังมีสถานีเรดาร์ ระบบเตือนภัยขีปนาวุธล่วงหน้า และระบบติดตามด้วยดาวเทียมที่ทันสมัย

 

รายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือเพนตากอน เมื่อปี 2018 เคยเตือนว่าความพยายามของจีนในการเข้ามาสำรวจทรัพยากรและวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในดินแดนแถบนี้จะส่งผลให้กองทัพจีนเข้ามามีบทบาทหรือขยายอิทธิพลในมหาสมุทรอาร์กติกมากขึ้น ซึ่งอาจรวมถึงการส่งเรือดำน้ำเข้ามาในบริเวณดังกล่าวเพื่อป้องกันการโจมตีจากอาวุธนิวเคลียร์  

 

greenland

 

แหล่งทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล

ถึงแม้ 80% ของพื้นที่ขนาด 2,100,480 ตารางกิโลเมตรของกรีนแลนด์จะปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง และพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของเกาะนี้คืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการประมง แต่จากการประเมินทางธรณีวิทยาคาดว่าดินแดนกรีนแลนด์อุดมไปด้วยถ่านหิน สังกะสี ทองแดง แร่เหล็ก และแร่หายากอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งแม้ที่ผ่านมาจะมีการสำรวจเพื่อประเมินขอบเขตของทรัพยากรไปแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการยืนยันถึงตัวเลขหรือปริมาณที่แท้จริง

 

นอกจากแร่ธาตุข้างต้นแล้ว ดินแดนแห่งนี้ยังอุดมไปด้วยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยกรีนแลนด์เป็นส่วนหนึ่งของอาร์กติก ซึ่งมีการประเมินว่าแหล่งน้ำมันที่ยังไม่ถูกขุดพบ 13% และแหล่งก๊าซที่ยังไม่ถูกขุดพบอีก 30% ของโลกอยู่ใต้อาร์กติกนี่เอง

 

เป็นที่ทราบกันดีว่าทรัมป์ส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล ซึ่งทำให้เขาหันหลังให้กับความตกลงปารีสที่ต้องการควบคุมการปล่อยมลภาวะจากเชื้อเพลิงดังกล่าว โดยในเดือนมีนาคม 2017 เขาลงนามในคำสั่งพิเศษเพื่อผ่อนปรนกฎเกณฑ์ข้อจำกัดเกี่ยวกับเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเปิดทางให้สามารถสำรวจเพื่อขุดเจาะหาแหล่งน้ำมันใหม่ๆ ในสหรัฐฯ

 

ไม่ใช่แค่ทรัมป์เท่านั้นที่แสดงความประสงค์อยากครอบครองดินแดนกรีนแลนด์ เพราะในอดีตประธานาธิบดีแฮร์รี ทรูแมน ก็เคยทาบทามขอซื้อเกาะกรีนแลนด์มาแล้วในปี 1946 ด้วยทองคำมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐในขณะนั้น และก่อนหน้านั้นก็เคยมีการติดต่อขอซื้อเกาะดังกล่าวสืบย้อนกลับไปได้ถึงปี 1867 หรือปีเดียวกับที่สหรัฐฯ ซื้ออะแลสกาจากรัสเซีย

 

แม้ไม่สามารถประเมินราคาของเกาะกรีนแลนด์ได้ในปัจจุบัน แต่เมื่อดูจากผลผลิตมวลรวมแล้ว ดินแดนแห่งนี้มีมูลค่า GDP มากกว่า 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2017 ขณะที่สหรัฐฯ ซื้ออะแลสกามาจากรัสเซียในปี 1867 เพียง 7.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเมื่อคำนวณอัตราเงินเฟ้อและปัจจัยต่างๆ แล้ว มูลค่า ณ ตอนนั้นเทียบเป็นราคาปัจจุบันได้เพียง 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

 

เมื่อกรีนแลนด์ถูกหมายปองจากบรรดาชาติมหาอำนาจที่ต้องการขยายอิทธิพลในบริเวณแอตแลนติกเหนือและอาร์กติก ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนออกมาเตือนถึงผลกระทบร้ายแรงที่อาจตามมา

 

ฮีเธอร์ เอ. คอนลีย์ รองประธานฝ่ายยุโรป ยูเรเชีย และอาร์กติก แห่งศูนย์ยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษาให้ทัศนะว่า “มีโอกาสทางเศรษฐกิจที่คล้ายกับกรีนแลนด์อยู่มากมายทั่วอาร์กติก แต่การสำรวจมีต้นทุนสูง ซึ่งเป็นต้นทุนต่อสิ่งแวดล้อมและผู้คนที่อาศัยอยู่ในอาร์กติกและกรีนแลนด์” 

 

greenland

 

คำถามที่ตามมาคือหากเดนมาร์กตกลงขายให้จริง ทรัมป์จะซื้อได้หรือไม่

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ราสมูส ลีนเดอร์ นีลเซน แห่งมหาวิทยาลัยกรีนแลนด์ ยืนยันว่ารัฐบาลเดนมาร์กไม่สามารถตัดสินใจขายกรีนแลนด์เองได้ เพราะกฎหมายปี 2009 บัญญัติไว้ชัดเจนว่าดินแดนกรีนแลนด์เป็นของชาวกรีนแลนด์ ซึ่งทรัมป์ได้แต่หวังว่าดินแดนกรีนแลนด์จะได้รับเอกราช และลงประชามติเลือกที่จะขายให้กับสหรัฐฯ ซึ่งในความเป็นจริงกรีนแลนด์ก็มีการพูดคุยถึงการแยกตัวเป็นอิสระจากเดนมาร์กอยู่เช่นกัน และก็มีคนบางส่วนที่มองว่ากรีนแลนด์ควรคบค้าสมาคมหรือมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับอเมริกาเหนือ ซึ่งอยู่ใกล้กับพวกเขามากกว่าเดนมาร์ก

 

สำหรับฝั่งสหรัฐฯ เมื่อดูจากรัฐธรรมนูญแล้ว สภาคองเกรสสามารถอนุมัติเงินงบประมาณเพื่อซื้อเกาะกรีนแลนด์ได้ เพียงแต่ที่ผ่านมาทรัมป์พยายามหลีกเลี่ยงไม่นำเรื่องเข้าพิจารณาในรัฐสภา หลังจากสภาคองเกรสเคยปฏิเสธที่จะจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับสร้างกำแพงกั้นชายแดนระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโก ซึ่งบีบให้ทรัมป์ต้องเจียดงบกระทรวงกลาโหมไปใช้ในโครงการดังกล่าว 

 

แม้ว่าทรัมป์จะมีโอกาสถกเรื่องนี้ต่อในระหว่างที่เขาเดินทางเยือนเดนมาร์กในเดือนกันยายนตามคำเชิญของสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แต่การที่ทรัมป์บอกเลื่อนทริปอย่างไม่มีกำหนดเท่ากับเป็นการปิดประตูเจรจาและดับความหวังไปโดยปริยาย 

 

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ที่รอการสำรวจขุดค้น บวกทำเลที่ตั้งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ทางทหารและการเดินเรือพาณิชย์ที่สำคัญ ย่อมเย้ายวนและทำให้ที่นี่อยู่ในเรดาร์ของบรรดาชาติมหาอำนาจ ไม่เพียงแต่ทรัมป์หรือผู้นำสหรัฐฯ คนต่อๆ ไปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงจีน รัสเซีย และยุโรป ที่ต่างจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

  

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising