×

เจาะลึกเบื้องหลัง ทำไมทรัมป์ต้องล้มโต๊ะเจรจากับคิมจองอึน

25.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตัดสินใจยกเลิกกำหนดการประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์กับคิมจองอึนในวันที่ 12 มิถุนายนนี้
  • ท่ามกลางหลากหลายปัจจัย แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือการปรับเปลี่ยนท่าทีของเกาหลีเหนือ สืบเนื่องจากการซ้อมรบของสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ รวมไปถึงการที่สหรัฐฯ ต้องการให้เกาหลีเหนือเดินหน้ากระบวนการปลดอาวุธนิวเคลียร์ตามอย่างลิเบีย
  • ฟางเส้นสุดท้ายขาดสะบั้นลงเมื่อเกาหลีเหนือขู่ใช้อาวุธนิวเคลียร์กับสหรัฐฯ หากการประชุมไม่เกิดขึ้นหรือประสบความล้มเหลว

และแล้วการประชุมสุดยอดที่ทั่วโลกจับตามองและรอคอยมากที่สุดระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ และคิมจองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ก็ยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เมื่อทรัมป์ตัดสินใจขอยกเลิกการประชุมในเดือนหน้า เพราะเห็นว่ายังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมในการพูดคุยกับคิมจองอึน

 

แต่อะไรคือสาเหตุแท้จริงที่ทำให้ทรัมป์ตัดสินใจเช่นนั้น

 

โดนัลด์ ทรัมป์ เปรยก่อนหน้านี้แล้วว่าการประชุมครั้งหยุดโลกที่สิงคโปร์ในวันที่ 12 มิถุนายนอาจไม่เกิดขึ้น เนื่องจากมีหลายเรื่องที่ยังต้องรอสะสาง อีกทั้งเวลาก็กระชั้นชิดเกินไปจนเตรียมการไม่ทัน ไม่ใช่แค่การตระเตรียมสถานที่จัดการประชุมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการต่อรองที่ยังไม่ลงตัวในประเด็นการปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งเป็นวาระหลักของซัมมิตครั้งนี้

 

 

ในจดหมายเปิดผนึกที่จ่าหน้าถึงคิมจองอึนนั้น ทรัมป์ได้ให้เหตุผลถึงการยกเลิกนัดหมายครั้งนี้ว่าเป็นเพราะเกาหลีเหนือได้แสดงท่าทีที่ฉุนเฉียว เกรี้ยวกราด และเป็นปรปักษ์ต่อสหรัฐฯ อย่างเปิดเผย ซึ่งรวมถึงกรณีที่ เชวซอนฮี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีเหนือ ออกมาประกาศเตือนผ่านสื่อว่าเกาหลีเหนือพร้อมล้มโต๊ะประชุมและเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ ด้วยอาวุธนิวเคลียร์

 

แต่เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวเปิดเผยว่าปัจจัยสำคัญที่ทรัมป์ขอยกเลิกการประชุมคร้ังนี้มีหลายข้อ ไล่ตั้งแต่การที่เกาหลีเหนือแสดงจุดยืนคัดค้านการซ้อมรบประจำปีของสหรัฐฯ ในบริเวณคาบสมุทรเกาหลี รวมถึงความเคลือบแคลงของสหรัฐฯ ที่มีต่อความเต็มใจของเกาหลีเหนือในการปลดอาวุธนิวเคลียร์ ตลอดจนการที่เกาหลีเหนือแสดงท่าทีที่เฉยเมยในการผลักดันการเจรจาในช่วงหลัง

 

ก่อนการตัดสินใจในเช้าวันพฤหัสบดี (24 พ.ค.) ทรัมป์ได้เรียกประชุมคณะที่ปรึกษาระดับสูงหลายคนในคืนวันพุธ ประกอบด้วย ไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ, จอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ, ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และจอห์น เคลลี เสนาธิการทำเนียบขาว

 

การหารือเป็นไปอย่างเคร่งเครียด สืบเนื่องจากเกาหลีเหนือได้ออกแถลงการณ์เตือนสหรัฐฯ ในค่ำคืนวันนั้นว่าพวกเขาอาจยกเลิกการประชุมและพร้อมเผชิญหน้าด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้สหรัฐฯ ตัดสินใจอย่างเด็ดขาด

 

แต่ก่อนหน้านั้นชะตากรรมของซัมมิตก็แขวนอยู่บนเส้นด้ายอยู่แล้วท่ามกลางบรรยากาศการเมืองที่อึมครึม สืบเนื่องจากเกาหลีเหนือพยายามเบี่ยงเบนประเด็นหลักของการประชุม เริ่มด้วยการหยิบยกปัญหาการซ้อมรบของสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ขึ้นมาเป็นหัวข้อโจมตี อีกทั้งใช้เป็นข้ออ้างในการยกเลิกการประชุมระดับสูงกับเจ้าหน้าที่เกาหลีใต้เมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะที่ทรัมป์ได้แสดงความกังขาในตอนนั้นว่าการประชุมสุดยอดระหว่างเขากับคิมจองอึนจะเกิดขึ้นได้หรือไม่

 

อีกปัจจัยหนึ่งคือท่าทีที่เฉยเมยของเกาหลีเหนือในช่วง 5-10 วันที่ผ่านมา โดยมาร์กาเรต เบรนแนน ผู้สื่อข่าวของ CBS News รายงานว่าการสื่อสารโต้ตอบระหว่างเจ้าหน้าที่สองฝ่ายแทบจะหยุดชะงักลง แม้ว่าปอมเปโอและเกาหลีใต้จะพยายามติดต่อไปก็ตาม สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นได้จากการที่ประธานาธิบดีมุนแจอินของเกาหลีใต้ไม่มีข้อมูลความคืบหน้าอะไรใหม่ในตอนที่เดินทางไปประชุมกับทรัมป์ที่ทำเนียบขาวเมื่อไม่กี่วันก่อน

 

อีกสาเหตุสำคัญอาจมาจากการตีความผิดของเกาหลีเหนือ โดยสื่อสหรัฐฯ ตั้งข้อสังเกตว่า ‘โมเดลลิเบีย’ ที่เพนซ์กล่าวถึงในระหว่างให้สัมภาษณ์กับ Fox News ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่มีวาระซ่อนเร้นหรือมีเจตนาที่จะยั่วยุเกาหลีเหนือแต่อย่างใด เพราะเขาพยายามสร้างความเข้าใจและเลือกใช้ถ้อยคำแบบเดียวกับที่ทรัมป์เคยใช้เมื่อเอ่ยถึง ‘โมเดลลิเบีย’

 

ปฏิกิริยาโกรธเป็นฟืนเป็นไฟของเกาหลีเหนือมีชนวนเริ่มต้นมาจากโบลตันที่แสดงความเห็นในรายการ Face the Nationง CBS News เมื่อเดือนที่แล้วว่าเกาหลีเหนืออาจต้องใช้ ‘โมเดลลิเบีย’ ในการปลดอาวุธนิวเคลียร์เพื่อเปิดทางให้สหรัฐฯ เข้าไปตรวจสอบได้

 

แต่เกาหลีเหนือทราบดีถึงชะตากรรมของมูอัมมาร์ กัดดาฟี อดีตผู้นำเผด็จการของลิเบีย แม้ว่ากัดดาฟีจะยอมละทิ้งโครงการนิวเคลียร์ตามคำมั่นสัญญา แต่ท้ายที่สุดเขาก็ยังถูกฝ่ายกบฏที่หนุนหลังโดยชาติตะวันตกสังหาร พร้อมกับการถูกโค่นล้มระบอบการปกครอง ซึ่งทิ้งปัญหาขัดแย้งตามมาอย่างไม่จบสิ้น

 

 

อย่างไรก็ดี ทรัมป์ได้ออกมาชี้แจงในภายหลังว่าคิมจองอึนจะเผชิญกับภัยคุกคามแบบนั้นก็ต่อเมื่อคิมจองอึนไม่ยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรตามที่สัญญาไว้

 

ขณะที่ปอมเปโอได้ชี้แจงในระหว่างตอบข้อซักถามในสภาคองเกรสว่าคำพูดของโบลตันเกี่ยวกับลิเบียไม่มีจุดประสงค์ที่จะให้ตีความถึงการตายของกัดดาฟีเมื่อปี 2011 เพียงแต่จะยกตัวอย่างกระบวนการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของลิเบียในช่วงปี 2003-2004 ในยุคของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช เท่านั้น

 

แต่สองฝ่ายได้ทำสงครามน้ำลายผ่านสื่อจนเกิดความตึงเครียดขึ้น เมื่อเพนซ์ได้วิจารณ์เชวซอนฮีว่าโอหังและไม่ระงับอารมณ์ หลังจากที่เธอข่มขู่ว่าจะยกเลิกการประชุมจากปมปัญหาเรื่องโมเดลลิเบีย มิหนำซ้ำยังขู่หลังจากนั้นด้วยว่าเกาหลีเหนือพร้อมที่จะประจันหน้ากับสหรัฐฯ ด้วยอาวุธนิวเคลียร์หากการประชุมไม่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ

 

การเปลี่ยนแปลงสู่ท่าทีที่แข็งกร้าวของเกาหลีเหนือประกอบกับข้อพิพาทเรื่องการซ้อมรบ จึงทำให้สถานการณ์พลิกผันจนยากแก่การกอบกู้ภายในระยะเวลาอันสั้น

 

แต่นอกจากประเด็นเหล่านั้นแล้ว ทรัมป์ยังเกิดความระแคะระคายด้วยว่าจีนอาจอยู่เบื้องหลังการแทรกแซงกระบวนการทางการทูต โดยผู้สื่อข่าว CBS ได้สอบถามเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ ว่าประเด็นตึงเครียดเรื่องการค้ากับจีนเมื่อเร็วๆ นี้และการที่สหรัฐฯ ถอนคำเชิญไม่ให้จีนเข้าร่วมซ้อมรบทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง RIMPAC เป็นสาเหตุที่ทำให้เกาหลีเหนือเปลี่ยนท่าทีหรือไม่ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตอบว่า “มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน”

 

พลาดโอกาส แต่ดีกว่าคว้าน้ำเหลวในที่ประชุม

การที่ซัมมิตครั้งประวัติศาสตร์ยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ทำให้หลายฝ่ายอดวิตกและเสียดายไม่ได้ เพราะโอกาสเกิดสันติภาพถาวรบนคาบสมุทรเกาหลีมีอันต้องเลือนรางลง

 

วิลเลียม แกลดสตัน นักวิเคราะห์ด้านการเมืองแห่งสถาบัน Brookings Institution ให้ทัศนะว่า หากซัมมิตสามารถเดินหน้าต่อไปได้จะช่วยให้ความสัมพันธ์พลิกโฉมหน้าไปจากเดิมและนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่มีนัยสำคัญ แต่น่าเสียดายที่ยังไม่เกิดขึ้น

 

อย่างไรก็ดี วิธ ไอร์ส ที่ปรึกษาด้านการเมืองแห่ง North Star Opinion Research มองในแง่บวกว่าการที่ทุกอย่างยังไม่สุกงอมเต็มที่จะเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้การประชุมล้มเหลวไม่เป็นท่า ดังนั้นการยกเลิกซัมมิตที่ไม่ก่อเกิดผลลัพธ์ย่อมดีกว่าการมีซัมมิตที่ไม่เกิดผลลัพธ์ในทางที่ดี

 

 

โอกาสเกิดซัมมิตในอนาคต

กลายเป็นเครื่องหมายคำถามตัวโตๆ ไปแล้วว่าการยกเลิกซัมมิตครั้งนี้จะตัดโอกาสหรือช่องทางการเจรจาระหว่างกันในอนาคตหรือไม่

 

คำตอบคือไม่เสียทีเดียว

 

เพราะท่าทีที่เราได้เห็นจากทรัมป์และคิมจองอึนล่าสุดก็คือทั้งคู่ต่างยังไม่ปิดประตูเจรจาต่อกัน ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี โดยทรัมป์ยืนยันว่าการประชุมอาจเกิดขึ้นสักวันหนึ่งในอนาคต แต่เตือนว่าเกาหลีเหนืออย่าทำอะไรที่โง่เขลา เพราะอาจขัดขวางกระบวนการเจรจาสันติภาพไม่ให้เดินหน้าต่อไปได้

 

ขณะที่เกาหลีเหนือยืนยันเช่นกันว่าคิมจองอึนยังคงพร้อมเจรจากับทรัมป์ทุกเมื่อ เพราะเป้าหมายและเจตนารมณ์ของเกาหลีเหนือในการสร้างสันติภาพและเสถียรภาพให้กับคาบสมุทรเกาหลีและประชาคมโลกยังคงไม่แปรเปลี่ยน

 

อีกหนึ่งสัญญาณบวกที่ปรากฏให้เห็นก็คือการที่เกาหลีเหนือทำลายฐานทดสอบนิวเคลียร์ ‘ปุงกเยรี’ ในจังหวัดฮัมกยองเหนือ ซึ่งเป็นศูนย์ทดสอบอาวุธที่สำคัญที่สุดและใช้ในการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ 6 ครั้งในอดีต ซึ่งเราสามารถมองได้ว่าเป็นก้าวแรกสู่การปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรอย่างสมบูรณ์ตามที่คิมจองอึนเคยให้คำมั่นไว้ในระหว่างการประชุมสุดยอดกับผู้นำเกาหลีใต้เมื่อเดือนที่แล้ว

 

แต่นักวิเคราะห์มองว่าอุปสรรคสำคัญหลังจากนี้คือการปรับจูนทัศนคติให้ตรงกัน และสองฝ่ายควรสื่อสารกันให้มากขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดการตีความสาสน์ทางการทูตผิดเพี้ยนจนนำไปสู่การกระทบกระทั่งกันโดยไม่จำเป็น

 

นอกจากนี้สหรัฐฯ และเกาหลีเหนือยังต้องตกลงกันให้ได้ในเรื่องขอบเขตการปลดอาวุธนิวเคลียร์ (Denuclearization) โดย ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าสหรัฐฯ ต้องการเข้าไปตรวจสอบการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ โดยให้ทำลายระเบิดนิวเคลียร์ทิ้งทั้งหมดและยกเลิกโครงการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย ขณะที่เกาหลีเหนือต้องการเก็บอาวุธไว้เพื่อเป็นหมากต่อรอง แต่ยอมปิดฐานทดสอบและยุติโครงการนิวเคลียร์หลังจากนี้

 

จึงน่าจับตาดูกันชนิดวันต่อวันว่าท้ายที่สุดแล้วเกาหลีเหนือจะยอมรับเงื่อนไขทั้งหมดของสหรัฐฯ หรือไม่เพื่อกรุยทางสู่การประชุมซัมมิตที่อาจจะเกิดขึ้นจริงในอนาคต แต่การทูตระหว่างสองประเทศที่พลิกผันอยู่ตลอดเวลาเหมือนรถไฟเหาะตีลังกาเช่นนี้ทำให้คาดเดาสถานการณ์ได้ยากลำบาก

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X