เมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา สมาคมอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศและสมาคมอู่ต่อเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสององค์กรเอกชนที่รวมสมาชิกเป็นบริษัทในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและอุตสาหกรรมต่อเรือของไทย ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจทางวิชาการ เพื่อผลักดันให้โครงการจัดหาเรือฟริเกตของกองทัพเรือจำนวน 2 ลำ มูลค่า 3.8 หมื่นล้านบาทของกองทัพเรือที่จะเสนอของบในปี 2569 นั้นผ่านการอนุมัติ และเมื่อผ่านการอนุมัติจนได้งบประมาณแล้ว ต้องดำเนินการต่อในประเทศไทย
เรือฟริเกตคืออะไร?
เรือฟริเกตเป็นรูปแบบหนึ่งของเรือรบที่มีมาตั้งแต่อดีตในยุคที่ใช้เรือใบในการรบ และพัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันด้วยขีดความสามารถที่สูงขึ้น โดยทั่วไปแล้วเรือฟริเกตจะมีขนาดระวางขับน้ำตั้งแต่ 1,000-5,000 ตัน มีขีดความสามารถในการรบได้ทั้งผิวน้ำ อากาศ และใต้น้ำ หรือมีขีดความสามารถในการรบแบบสามมิติ ซึ่งสำหรับประเทศขนาดไม่ใหญ่นักอย่างประเทศในอาเซียน เรือฟริเกตจะเป็นเรือรบหลักและเป็นเรือรบที่ดีที่สุดที่กองทัพเรือแต่ละชาติจะมี
สำหรับประเทศไทย เรือฟริเกตที่มี ยกตัวอย่างเช่น เรือหลวงภูมิพล เรือหลวงตากสิน และเรือหลวงนเรศวร นั่นเอง
เรือฟริเกตเป็นเรือรบที่มีความซับซ้อนสูงทั้งในแง่เทคโนโลยีและการออกแบบ รวมถึงการต่อเรือที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีการต่อเรือฟริเกตในประเทศไทยมาก่อน โดยจะเป็นการสั่งต่อจากต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น เรือหลวงภูมิพลที่ต่อจากประเทศเกาหลีใต้
น่านน้ำไทยกว่า 3.2 แสนตารางกิโลเมตรนั้น กองทัพเรือกำหนดว่าจะต้องมีเรือฟริเกตจำนวน 8 ลำ เพื่อดูแลรักษาน่านน้ำให้ได้อย่างครอบคลุม เพราะโดยทฤษฎีเรือรบในกองเรือจะไม่สามารถพร้อมรบพร้อมกันได้ทั้งหมด จะต้องมีช่วงที่ผลัดกันเข้าซ่อมปรับปรุง ดังนั้นเรือฟริเกตจำนวน 8 ลำอาจจะมีเรือที่พร้อมปฏิบัติงาน ณ เวลาหนึ่งๆ ได้ราว 4-6 ลำเท่านั้น
แต่ในปัจจุบันไทยมีเรือฟริเกตจริงๆ ที่มีขีดความสามารถที่พอรบได้เพียงแค่ 3 ลำเท่านั้น คือ เรือหลวงภูมิพล เรือหลวงตากสิน และเรือหลวงนเรศวร โดยมีเพียงลำเดียวคือเรือหลวงภูมิพลที่มีอายุไม่เกิน 10 ปี อีก 2 ลำมีอายุเกือบ 40 ปีแล้ว และเมื่อพิจารณาว่าจะต้องมีเรือเข้าซ่อม นั่นหมายถึง ณ เวลาหนึ่งๆ น่านน้ำไทยจะมีเรือฟริเกตดูแลเพียง 1-2 ลำเท่านั้น
ดูแล้วอย่างไรก็ไม่เพียงพอที่จะใช้งานได้แน่นอน ดังนั้นความจำเป็นในการต้องมีเรือฟริเกตเพิ่มเติมจึงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้
แต่การที่เรือฟริเกตเป็นเรือรบที่มีความซับซ้อนสูงและมีราคาสูง ตัวอย่างเช่น เรือหลวงภูมิพลที่ต่อเมื่อเกือบสิบปีก่อนมีราคาลำละ 1.5 หมื่นล้านบาท ดังนั้นในปัจจุบันเรือฟริเกต 1 ลำควรจะมีราคาราว 1.7-2 หมื่นล้านบาทแน่นอน
เงินจำนวนนี้ถือเป็นเงินที่มหาศาลมากถ้าต้องจ่ายเพื่อต่อเรือจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ แต่ถ้าเปลี่ยนมาต่อเรือฟริเกตในไทยก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะจะเป็นการรักษาการใช้จ่ายงบประมาณในประเทศไทยได้บางส่วน เช่นเดียวกับการสร้างรถไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและรักษาตำแหน่งงานให้กับคนไทยได้ และทำให้เงินที่ใช้จ่ายในประเทศหมุนเวียนอยู่ในประเทศจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะในภาวะปัจจุบันที่อุตสาหกรรมอู่ต่อเรือของไทยซบเซามานาน เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและกองทัพ ทำให้มีหลายอู่ต้องปิดตัวลงไป
ดังนั้นทางเดียวที่กองทัพเรือจะได้อาวุธที่สำคัญที่สุดอย่างเรือฟริเกตมาใช้งานโดยไม่รบกวนงบประมาณมากจนเกินไป และไม่กลายเป็นการเอาเงินภาษีคนไทยไปกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับต่างประเทศอย่างจีนหรือเกาหลีใต้ การต่อเรือฟริเกตในไทยจึงเป็นทางเลือกเดียวเท่านั้น
การก้าวไปต่อเรือฟริเกตนั้น แม้ว่าจะมีความซับซ้อนสูง และการต่อครั้งแรกอาจยังมีอุปกรณ์ที่ทำในประเทศไทยไม่มากนัก แต่ถ้าไทยเริ่มต่อได้ ก็จะเป็นการดึงงบประมาณบางส่วนเข้ามาในประเทศไทยได้ ซึ่งจากประมาณการก็คือ ในการต่อเรือฟริเกตนั้นจะมีวัสดุ อุปกรณ์ วัตถุดิบ แรงงาน และกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดในประเทศไทย และเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของไทยราว 30% ของมูลค่าเรือที่จะต่อ
อธิบายให้เห็นภาพก็คือ ถ้าเรือฟริเกต 1 ลำมีมูลค่าลำละ 1.8 หมื่นล้านบาท ดังนั้นเรือ 2 ลำก็มีมูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท นั่นจะทำให้เกิดเงินเข้าระบบ ซึ่งจะถึงมือคนไทยอย่างน้อย 1.08 หมื่นล้านบาท นอกจากนั้นจะทำให้เกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรม และการลงทุนต่อเนื่องในอุตสาหกรรมต่อเรือได้อีกมาก ทำให้ตัวเลขจริงที่จะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจอาจมากกว่า 2 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว
การต่ออาจจะดำเนินการในพื้นที่อู่ราชนาวีมหิดลซึ่งเป็นพื้นที่ของกองทัพเรือ โดยอาจมีบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของกองทัพเรือ เป็นแกนนำในการต่อเรือ ภายใต้ข้อตกลงที่ว่าทุกอู่ในประเทศไทยที่มีศักยภาพจะมีส่วนร่วมในการต่อเรือลำนี้ทั้งสิ้น เนื่องจากในปัจจุบันการต่อเรือจะต่อเป็นบล็อกย่อยๆ และมาประกอบเป็นลำเรือ ทำให้สามารถแบ่งงานไปหลายอู่ได้ ซึ่งการแบ่งงานในลักษณะนี้จะทำให้อู่ในไทยได้งานกันอย่างทั่วถึง เป็นการรักษาขีดความสามารถของอู่ จนถึงเพิ่มขีดความสามารถ ประสบการณ์ และเทคโนโลยี ที่อู่ต่อเรือของไทยจะได้รับจากการต่อเรือลำนี้ในประเทศไทย
หมดเวลาแล้วที่กองทัพไทยจะนำเงินภาษีของคนไทยไปช้อปปิ้งอาวุธจากต่างประเทศอย่างเดียว เพราะในปัจจุบันหนทางเดียวที่สังคมจะยอมรับให้นำงบประมาณที่มีอยู่น้อยนิดไปซื้ออาวุธแทนที่จะไปพัฒนาการศึกษา สาธารณสุข หรือคมนาคม ก็คือการจัดหาอาวุธจากในประเทศเท่านั้น
ภาพ: Royal Thai Navy Cmdr. Kamchai Charoenpongchai