×

ทำไมวัคซีนไทยมาช้า กระทบงบแบงก์พาณิชย์มีหนี้เสีย-ตั้งสำรองฯ เพิ่มในไตรมาส 1/64

24.04.2021
  • LOADING...
ทำไมวัคซีนไทยมาช้า กระทบงบแบงก์พาณิชย์มีหนี้เสีย-ตั้งสำรองฯ เพิ่มในไตรมาส 1/64

HIGHLIGHTS

  • เมื่อโควิด-19 กลับมาระบาดเป็นระลอกที่ 3 ยังส่งผลกระทบให้ไตรมาส 1/64 หนี้เสียในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และแบงก์ยิ่งต้องตั้งสำรองฯ เพื่อรองรับหนี้เสียที่เกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อกำไรสุทธิของธนาคารในปีนี้
  • ธนาคารที่มีหนี้เสียมากที่สุดในไตรมาส 1/64 ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ มีมูลค่าหนี้เสีย 108,470 ล้านบาท ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ตั้งสำรองฯ ราว 10,008 ล้านบาท 
  • แนวโน้มผลประกอบการธนาคารปีนี้ยังขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การจัดหาและกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงเพื่อสร้างความเชื่อมั่น การบริหารคุณภาพหนี้ และการออกแบบกลไกช่วยลูกหนี้อย่างตรงจุด 

แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะอยู่กับเรามาตั้งแต่ปี 2563 ลากยาวเกินขวบปีไปแล้ว แต่ผลกระทบของโควิด-19 ในไทยก็ยังคงไม่ดีขึ้น เพราะพระเอกที่สร้างความเชื่อมั่นและสร้าง Herd Immunity ให้ประเทศอย่าง ‘วัคซีนต้านโควิด-19’ ยังล่าช้าและไม่เพียงพอ ย่อมส่งผลกระทบต่อทุกภาพส่วนของเศรษฐกิจไทย 

 

แต่การที่วัคซีนล่าช้า ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของธนาคารอย่างไร

 

โควิด-19 ไม่จบ-วัคซีนไม่ทั่วถึง กระทบธุรกิจแบงก์ระยะยาว 

 

ระยะนี้กำไรสุทธิของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในไทยร่วงลงมากเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะปี 2563 ในภาพรวมกำไรสุทธิลดลง 31.54% ต่ำสุดในรอบ 9 ปี ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวพันกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ในไทย ยังมีระลอกใหม่ซ้ำๆ อย่างชัดเจน 

 

สะท้อนจากกำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์ไทยลดลงมากที่สุดในช่วงไตรมาส 2/63 ที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ไปทั่วโลก และการล็อกดาวน์ทั่วประเทศทำให้เศรษฐกิจไทยและโลกหยุดชะงัก และกระทบกับรายได้คนไทย รวมถึงเศรษฐกิจในระดับประเทศ

 

ฝั่งธนาคาร เมื่อคนมีรายได้ลดลงหมายถึงกลุ่มเปราะบางที่รายได้หายไป ย่อมมีความสามารถในการชำระหนี้ลดลงด้วย และอาจกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อของธนาคารที่อาจมี ‘หนี้เสีย’ พุ่งสูงขึ้นอย่างฉับพลัน 

 

ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์ที่เสี่ยงจะต้องเจอหนี้เสียมากขึ้น ก็ต้องแบ่ง ‘กำไร’ ส่วนหนึ่งมาตั้งสำรองเผื่อหนี้ที่สงสัยจะสูญ (ตอนนี้มีการตั้งสำรองตามมาตรฐานใหม่คือ ECL หรือผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น) เป็นที่มาของกำไรสุทธิของแบงก์ที่ยังลดลงต่อเนื่องในปีก่อน และเมื่อเกิดการระบาดระลอกที่ 3 ก็ทำให้แบงก์ในไตรมาส 1/64 ยังตั้งสำรองมากขึ้น 

 

ทั้งนี้ ไตรมาส 1/64 การตั้งสำรองของธนาคารพาณิชย์ของไทยอยู่ที่ 49,329 ล้านบาท ซึ่งยังถือว่าการตั้งสำรองน้อยลงเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 และไตรมาส 1/63 ที่ผ่านมา โดยธนาคารที่มีการตั้งสำรองสูงสุดในไตรมาส 1/64 คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ตั้งสำรองฯ ราว 10,008 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 4/63 ที่ 14,234 ล้านบาท ตามมาด้วยธนาคารกสิกรไทย ที่ตั้งสำรองฯ ราว 8,650 ล้านบาท และธนาคารกรุงไทยที่ตั้งสำรองฯ 8,058 ล้านบาท 

 

 

NPL ไทยขาขึ้น จับตาการสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือการเงิน

 

ขณะที่ด้านหนี้เสีย (NPL) หรือสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารพาณิชย์ไทยไตรมาส 1/64 อยู่ที่ 543,999 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.37% จากสิ้นปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 9.54% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/63 โดยธนาคารที่มีหนี้เสียมากที่สุดได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ มีมูลค่าหนี้เสีย 108,470 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9% จากสิ้นปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 27.25% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

 

รองลงมาคือธนาคารกรุงไทย มีหนี้เสีย 105,981 ล้านบาท ลดลง 1.08% จากสิ้นปีที่ผ่านมา และลดลง 6.69% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/63 

 

และอันดับ 3 คือธนาคารไทยพาณิชย์ ที่มีหนี้เสียราว 104,332 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.83% จากสิ้นปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 24.77% จากไตรมาส 1/63

 

 

ทั้งนี้ หนี้เสียที่ทยอยเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่า ที่ยอดหนี้เสียยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังมีมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง เช่น การพักชำระหนี้ ฯลฯ รวมถึงการผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ แต่หากหมดมาตรการฯ อาจเห็นการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียบางส่วน และหนี้เสียยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นตามความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ

 

ขณะนี้ (21 เมษายน) ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า แม้สัดส่วนลูกหนี้เข้ามาตรการช่วยเหลือฯ จากสถาบันการเงินมีสัดส่วน 15.4% ของสินเชื่อรวมในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่จำนวนบัญชีลูกหนี้ที่เข้าสู่มาตรการช่วยเหลือ ทั้งแบงก์พาณิชย์และผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank) ยังเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.89 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 1.78 ล้านบัญชี

 

ดังนั้น ประเมินว่าจำนวนบัญชีลูกหนี้ฯ ที่ขอรับมาตรการช่วยเหลือฯ จะเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2/64 และจะกดดันรายรับของสถาบันการเงินในระยะถัดไป

 

 

‘วัคซีน-คุณภาพหนี้-กลไกช่วยลูกหนี้’ ทางออกธุรกิจแบงก์ปี 2564 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองทิศทางช่วงที่เหลือของปี 2564 ว่า จากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ระยะที่ 3 และประสิทธิภาพของการเร่งฉีดวัคซีน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยและผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ หากกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังลดลง จะส่งผลต่อรายรับค่าธรรมเนียมที่ลดลงเหมือนไตรมาส 1/64 

 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ ยังต้องติดตาม 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 

 

1. เมื่อสถานการณ์โควิด-19 รอบ 3 ยืดเยื้อ จะส่งผลให้การเปิดประเทศล่าช้า และสถาบันการเงินต้องเร่งแก้ไขปัญหาคุณภาพหนี้ในเชิงรุก ซึ่งเบื้องต้นน่าจะเห็นการแนวทางการตั้งสำรองฯ ที่สูงขึ้น (กำไรสุทธิอาจลดลงอีก) ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการหนี้มากขึ้น

 

2. การเติบโตของสินเชื่อที่เป็นรายได้หลักของธนาคารพาณิชย์ อาจต้องเพิ่มความระมัดระวังขึ้น เพราะต้องบริหารความเสี่ยงของลูกหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน

 

3. กลไกหรือมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ต้องปรับแก้ให้ตรงจุดอย่างเหมาะสม

 

สุดท้ายแล้วธุรกิจธนาคารที่เป็นเหมือนทัพหลังของเศรษฐกิจ ยังต้องรอแรงฟื้นตัวจากทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ ที่จะช่วยประคองทั้งลูกหนี้ ผู้ฝากเงิน และ Stakeholder ต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน 

 

แต่เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/64 จะฟื้นตัวหรือจะทรุดต่อเนื่อง คงต้องรอความชัดเจนเรื่องการจัดหาและกระจายวัคซีน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและผลักดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกภาคส่วนให้ขับเคลื่อนได้อย่างแท้จริง

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising