×

ไข่ต้มครึ่งซีก และทำไมเด็กไทยขาดจินตนาการ

30.04.2023
  • LOADING...
ไข่ต้มครึ่งซีก

อ่านข่าว แบบเรียนภาษาพาที ระดับชั้น ป.5 ถึงโภชนาการของเด็ก โดยมีเนื้อหาว่า กินไข่ต้มครึ่งซีก เหยาะน้ำปลา หรือข้าวเปล่าคลุกข้าวผัด ผักบุ้ง ทำให้ตัวละครในหนังสือมีความสุข ถือเป็นความพอเพียง จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปสนั่นเมือง ทำให้นึกถึงการปฏิรูปการศึกษาของไทย

 

ตั้งแต่ผู้เขียนจำความได้ สังคมไทยพูดถึงการปฏิรูปการศึกษามาไม่ต่ำกว่า 50 ปี

ตั้งแต่เปลี่ยนระบบการศึกษาจาก ป.1-7, มศ.1-5 เปลี่ยนมาเป็น ป.1-6, ม.1-6  

 

เปลี่ยนหลักสูตรการศึกษามาหลายครั้ง เปลี่ยนโครงสร้างการบริหารมานับครั้งไม่ถ้วน

 

แต่คุณภาพเด็กไทยนับวันจะถอยหลังลงเรื่อยๆ

 

ครั้งหนึ่งแม่ยายของผู้เขียน คือ ม.ร.ว.สมานสนิท สวัสดิวัตน์ (พ.ศ. 2475-2546) เคยเล่าประสบการณ์การศึกษาในวัยเด็กที่ใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศอังกฤษมานานให้ฟังว่า เมื่อแรกเข้าโรงเรียน ครูไม่ได้สอนให้อ่านออกเขียนได้แบบที่สอนในโรงเรียนไทย

 

“โรงเรียนที่ฉันเรียน ตั้งแต่อายุห้าขวบ เริ่มแรกเขาสอนสามวิชา แต่ไม่ใช่วิชาอ่าน เขียน หรือเลข เขาสอนวิชาธรรมชาติ วาดเขียน และดนตรี แล้วจากสามอย่างนี้เด็กก็มีความสนใจ อยากอ่าน อยากเขียนกันเอง เพราะมันมีแรงจูงใจ”

 

ผมถามว่าทำไมไม่สอนอ่านตัวหนังสือแบบบ้านเรา

 

ท่านบอกว่า ครูสอนวาดรูปเพื่อให้เด็กเกิดจินตนาการ วาดรูปได้ทุกแบบ ระบายสีเท่าที่ใจอยาก สร้างสรรค์อะไรก็ได้อย่างไร้รูปแบบ ไร้ขีดจำกัด เปิดโลกจินตนาการแบบไปให้สุด 

 

สอนเล่นดนตรีเพื่อให้เด็กรับรู้ว่าเสียงมีความละเอียด มีความไพเราะอย่างไร ทำให้เด็กค่อยๆ ซึมซับผ่านเสียงดนตรี และค่อยๆ กลายเป็นคนมีจิตใจอันละเอียดอ่อน หัวใจไม่หยาบด้าน

 

สอนธรรมชาติ ท่านเดินป่าเป็นประจำ ทุกครั้งที่เดินป่า ครูจะสอนให้เราเปิดโลกมหัศจรรย์ของธรรมชาติ เห็นความงดงามของสรรพสิ่ง และที่สำคัญคือหัดให้เราเป็นคนช่างสังเกต มีสายตาที่จะเรียนรู้สิ่งรอบตัวได้ตลอดเวลาว่าทุกอย่างล้วนน่าสนใจไปหมด ตั้งแต่ดิน ก้อนหิน ลำธาร ใบไม้ ดอกไม้ สัตว์แต่ละชนิด

 

“เด็กๆ บ้านอยู่ติดป่า เลยโตในป่า ชอบเข้าป่าดูนกทำรัง หรือไปเก็บเห็ดมาทำกิน”

 

ท่านบอกว่า “พอเรียนสามวิชานี้แล้ว เด็กๆ จะอยากรู้อยากเห็นมากขึ้นโดยธรรมชาติ เกิดความอยากเรียนหนังสือ อยากอ่านออกเขียนได้ อยากรู้เรื่องขึ้นมาเองโดยไม่ต้องมีใครมาบังคับ ดังนั้นพอครูสอนให้เราอ่านหนังสือ เราจะมีแรงจูงใจในการเรียนหนังสืออย่างรวดเร็ว”

 

แต่ระบบการศึกษาไทยส่วนใหญ่จะสอนและบังคับให้เด็กต้องอ่านตัวหนังสือ เขียนตัวอักษรให้ได้ตั้งแต่แรก เด็กจึงไม่เข้าใจว่าจะอ่านหนังสือไปทำไม เพราะไม่มีแรงจูงใจ เด็กไทยจึงขาดทั้งจินตนาการ ความละเอียด และความกระหายใคร่รู้ตั้งแต่แรกเข้าโรงเรียน

 

ม.ร.ว.สมานสนิท สวัสดิวัตน์ ได้กลับมาเมืองไทย เป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เปิดสตูดิโอสอนการทำผ้าลายบาติก เป็นผู้เชี่ยวชาญเห็ดราคนสำคัญ มีความสามารถในการวาดภาพ ร้องเพลงและเล่นเปียโนได้เก่งมาก และเมื่อเห็นการทำลายป่าทางภาคเหนือมากขึ้น จึงได้ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิธรรมนาถ เพื่อร่วมกับชาวบ้านฟื้นฟูป่าต้นน้ำในอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ จนวาระสุดท้ายของชีวิต

 

พอผู้เขียนนำเรื่องนี้ลงในเฟซบุ๊ก มีคนอ่านแสดงความคิดเห็นอย่างน่าสนใจหลากหลาย เช่น

 

Piyapan Tantiwuttipong

“จากประสบการณ์ตรงนะคะ ตอนลูกเรียนอนุบาล 1-2 คุณครูพาดูดอกไม้ ให้เป่าสี และวาดรูป ถามลูกว่าเป่าสีแล้วเห็นเป็นอะไร คุณครูจดสิ่งที่ลูกบอก ส่งให้แม่ดู…คุณครูมีปลามาเปิดเหงือกให้ดูว่าปลาหายใจทางเหงือก ลูกตื่นเต้นมาก มีเอาผักไปโรงเรียน ช่วยกันทำสลัด ทำให้ชอบกินผักและรู้จักผักชนิดต่างๆ ที่ต่างคนต่างเอามาจากบ้าน…ทั้งหมดนี้สอนที่โรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด พอขึ้นชั้น ป.1 ทุกอย่างเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ก็เลยพาลูกออกจากระบบไป”

 

AorGilles in Canada

“ที่แคนาดาก็สอนแบบนี้ค่ะ ลูกชายห้าขวบเพิ่งจะเข้าอนุบาล ครูสอนให้ตัดกระดาษ ระบายสีล้วนๆ มีเขียนตามรอยประนิดหน่อย เน้นอ่านนิทานให้ฟังทั้งที่โรงเรียนและบ้าน ตอนนี้ลูกอยากหัดอ่านเขียนเอง เจอป้ายอะไรเขาจะถามว่าอ่านว่าอะไรตลอด ทำให้เขาช่างสังเกต มีจินตนาการ เชื่อมต่อความคิด มีตรรกะและเหตุผล เด็กๆ ที่นี่เท่าที่เจอจะพูดเก่ง กล้าแสดงออก เป็นตัวของตัวเองมากๆ ค่ะ”

 

Kay Jutamanee Nilthamrong

“ขนาดวาดรูปยังต้องลากตามเส้นประเลยค่ะ…ไม่ได้เริ่มจากจินตนาการ”

 

Supon Chatchaiyareak

“กระจายอำนาจให้ทุกจังหวัดจัดทำหลักสูตรของตัวเอง มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยกำหนดเรื่องที่ต้องเรียนรู้ ปล่อยให้แต่ละจังหวัดหาทางสอนเด็กเอาเอง ชุมชนเลี้ยงไหมสอนเด็กแบบหนึ่ง ชุมชนหมักสุราสอนเด็กอีกแบบ หมดเวลาหลักสูตรจากส่วนกลางแล้วครับ โครงการจากส่วนกลางเลือกแค่ 1-3 โครงการ ไม่อย่างนั้นครูไม่ต้องทำอะไรเลย แค่รับมือกับตัวชี้วัดบ้าบอจากส่วนกลาง”

 

เลิกสนใจไข่ต้มครึ่งซีก และมาปฏิรูปการศึกษาด้วยการเปลี่ยนวิธีคิดแบบง่ายๆ ดีกว่าไหม

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising