×

ไม้เรียวสร้างคน? ทำไมครูต้องลงโทษเด็ก มองผ่านประวัติศาสตร์ของยุโรปยุคกลาง

09.10.2020
  • LOADING...
ไม้เรียวสร้างคน? ทำไมครูต้องลงโทษเด็ก มองผ่านประวัติศาสตร์ของยุโรปยุคกลาง

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • ดร.เบน พาร์สันส์ แห่งมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ ได้วิจัยเรื่องวินัยและความรุนแรงในห้องเรียนยุคกลาง ว่าทำไมครูถึงต้องลงโทษเด็กด้วยการตี (Beating) ซึ่งเขาพบว่าการลงโทษเด็กด้วยการตีสะท้อนถึงความใส่ใจของครูที่มีต่อนักเรียนอย่างสูง 
  • ครูในยุคกลางนั้นมีความเชื่อว่าการลงโทษประมาณหนึ่งด้วยการใช้ไม้เรียวอย่างถูกต้อง (The Rule of the Rod) จะช่วยเพิ่มความสามารถด้านความทรงจำของนักเรียน จนนำไปสู่การมีความฉลาดอย่างแท้จริง (True Wisdom)
  • ปัจจุบันหลายประเทศ เช่น แคนาดา อังกฤษ ยกเลิกเรื่องการลงโทษไปนานแล้ว เพราะคำนึงถึงสิทธิของเด็ก (Children Rights) มากขึ้น อีกทั้งยังตระหนักว่าการลงโทษเด็กนั้นอาจก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบมากกว่าเชิงบวก  
  • ในงานด้านการศึกษาก็มองว่า ไม่ใช่ว่าไม่ควรมีการลงโทษเด็กเลย หากแต่ต้องกระทำเฉพาะในกรณีที่เป็นการทำผิดขั้นรุนแรงเท่านั้น เมื่อลงโทษแล้วควรต้องอธิบายถึงเหตุผลที่ทำให้ถูกลงโทษ และพยายามลดการลงโทษทางกาย แต่ให้คิดวิธีการลงโทษที่สอนให้เขารู้จักคิดและเข้าใจว่าสิ่งใดนั้นผิดถูก

เวลาที่ครูตีเด็กทีไรก็มักจะอ้างเสมอว่า อยากให้เด็กเป็นคนดี หรือไม่ก็ต้องการให้เขาเป็นคนมีวินัย คำพูดแบบนี้คงใช้ได้เฉพาะคนรุ่นเก่า แต่สำหรับเด็กรุ่นใหม่นั้นเขาไม่ได้คิดแบบนี้แน่นอน เพราะการลงโทษทางกายนั้นสามารถก่อให้เกิดผลทางลบมากกว่าทางบวก แต่ความคิดเชิงศีลธรรมแบบนี้ไม่ได้ปรากฏเฉพาะในสังคมไทยเท่านั้น แต่พบได้ทั่วโลก แสดงว่ามันจะต้องมีความคิดร่วมกันบางอย่าง 

 

แต่เรื่องนี้ผมจะขอข้ามปัญหาทางจิตของครูออกไปก่อน เพราะถือเป็นเรื่องปัญหาเชิงปัจเจก (แต่บางทีก็กำหนดมาจากโครงสร้างทางสังคมด้วย) 

 

ย้อนกลับไปในยุคกลาง (Medieval Ages) ของยุโรป หรือบางคนก็เรียกว่ายุคมืดนั้น เป็นช่วงที่ศาสนจักรครอบงำความคิดและชีวิตของผู้คน มีประชากรจำนวนน้อยเท่านั้นที่สามารถอ่านออกเขียนได้ บางแหล่งว่ามีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เด็กนักเรียนจึงต้องเป็นเด็กที่รวยและมีฐานะเท่านั้น โดยแบ่งโรงเรียนออกเป็น 3 ประเภทคือ โรงเรียนประถมศึกษาสอนร้องเพลงศาสนา (Elementary-song School) โรงเรียนสงฆ์หรือโรงเรียนสอนศาสนา (Monastic School) และโรงเรียนศึกษาไวยากรณ์ละติน (Grammar School) ทั้งหมดมีเพียงผู้ชายเท่านั้นที่ได้เรียนหนังสือ และในขั้นตอนของการสอนหนังสือของโรงเรียนทั้งสามแบบนี้ การลงโทษ เช่น การตี การดุด่า ครูในยุคนั้นถือว่าเป็นสิ่งสำคัญของกระบวนการเรียนรู้ที่ต้องทำ

 

 

ดร.เบน พาร์สันส์ (Ben Parsons) แห่งมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ ได้วิจัยเรื่องวินัยและความรุนแรงในห้องเรียนยุคกลางว่าทำไมครูถึงต้องลงโทษเด็กด้วยการตี (Beating) ซึ่งเขาพบว่ามันไม่ใช่เพียงแค่ลงโทษเพราะเด็กทำผิด แต่มันมีความเชื่อมากกว่านั้น 

 

ในความคิดของครูยุคกลางต่างเชื่อว่าการลงโทษจะช่วยทำให้เด็กนั้นจดจำสิ่งที่ทำผิดพลาด, บ้างเชื่อว่าการลงโทษทางร่างกายจะช่วยยกระดับและพัฒนาจิตใจ บ้างเชื่อว่าการลงโทษจะช่วยพัฒนาความฉลาดทางปัญญาได้, การลงโทษจะช่วยยกระดับทางศีลธรรมให้กับเด็ก และบ้างเชื่อว่าเป็นวิธีการควบคุมเด็กให้เชื่อฟังครูอีกด้วย ดังนั้นการลงโทษเด็กด้วยการตีจึงสะท้อนถึงความใส่ใจของครูที่มีต่อนักเรียนอย่างสูง 

 

ทำไมคนในยุคกลางจึงมีความคิดเช่นนั้น ดร.เบน พาร์สันส์ จึงได้สืบย้อนไปว่า มันมีรากความคิดมาตั้งแต่ในสมัยกรีกแล้ว ดังเห็นได้จากแนวคิดของอริสโตเติลที่เชื่อว่า การฝึกฝนร่างกายอย่างเข้มงวดจะช่วยยกระดับจิตใจและสติปัญญาของนักเรียน 

 

แน่นอนอริสโตเติลไม่ได้เอ่ยถึงการลงโทษทางกายอย่างตรงไปตรงมา แต่มันก็เป็นแนวคิดที่สะท้อนว่า การกระทำต่อร่างกาย เช่น การลงโทษ ก็เป็นวิธีการฝึกฝนร่างกาย ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการของสติปัญญาอีกชั้นหนึ่ง 

 

นอกจากอริสโตเติล เพลโตเองก็เชื่อว่าการศึกษาในระดับปฐมภูมินั้นควรให้เด็กได้รับความเจ็บปวด (Pain) เพื่อให้เข้าใจถึงสิ่งที่ดีและชั่ว เช่นเดียวกับในยุคโรมัน พลิโล นักปรัชญา เชื่อว่า หากครูลงโทษเด็กจะช่วยทำให้จิตวิญญาณ (Soul) ของเด็กคนนั้นเกิดความสมบูรณ์แบบขึ้น อีกทั้งเชื่อด้วยว่าการลงโทษเป็นวิธีการฝึกความอดทนแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นการฝึกความเป็นผู้ใหญ่ให้กับเด็ก 

 

ในยุคกลางนั้น พวกครูและบาทหลวงต่างเชื่อว่าความเจ็บปวดและการลงโทษมีส่วนสำคัญต่อพัฒนาของเด็ก 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นแรก การลงโทษจะช่วยทำให้เข้าถึงความรู้สึกและจินตนาการ ขั้นต่อมาช่วยพัฒนาระบบเหตุผลให้กับเด็ก และขั้นสุดท้าย การลงโทษช่วยพัฒนาความฉลาดถึงขั้นยกระดับไปสู่ความเข้าใจ (หมายถึง ระดับความเข้าใจ ไม่ใช่ความจำ) เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงทำให้มีการตั้งกฎเกณฑ์ของการลงโทษ เพื่อให้การลงโทษช่วยทำให้เด็กเก่งขึ้น ด้วยความคิดแบบนี้เอง ที่บางครั้งทำให้มองว่าการลงโทษเป็นการให้รางวัล (Reward) แบบหนึ่งด้วย (วิธีคิดแบบนี้เองที่ทำให้ครูไทยตีเพราะบอกว่าหวังดีต่อเด็ก) 

 

ในงานเขียนเรื่อง The Craft of Thought (1998) ของ Mary Carruthers ได้ให้ข้อมูลว่า ครูในยุคกลางนั้นมีความเชื่อว่าการลงโทษประมาณหนึ่งด้วยการใช้ไม้เรียวอย่างถูกต้อง (The Rule of the Rod) จะช่วยเพิ่มความสามารถด้านความทรงจำของนักเรียน จนนำไปสู่การมีความฉลาดอย่างแท้จริง (True Wisdom) เพราะเมื่อเด็กถูกลงโทษในความผิดพลาดต่างๆ ก็จะจดจำและเรียนรู้ว่าอะไรเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ความเชื่อเช่นนี้พบว่าตกทอดลงมาจนถึงยุคโมเดิร์นสมัยต้นๆ ที่มองว่า การลงโทษให้ได้รับความเจ็บปวดนั้นจะช่วยพัฒนาเรื่องความทรงจำให้กับเด็ก ด้วยเหตุนี้เองจึงมีความเชื่อว่า การลงโทษเด็กเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนการสอนที่ดี เพราะถ้าอยากปรับปรุงสมอง วินัย และศีลธรรม ก็ต้องสร้างสิ่งเหล่านั้นให้ถูกต้องผ่านร่างกาย (Physical Correction) 

 

ครูในสมัยนั้นยังเชื่อว่าไม้เรียวเป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาด้านจิตวิทยาของเด็กได้อีกด้วย ในช่วงราวคริสต์ศตวรรษที่ 13 พบว่า หากเด็กหย่าขาดจากนมแม่แล้ว เมื่อมีอายุระหว่าง 7-13 ปี ถือเป็นวัยที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ความเป็นหนุ่มสาว ให้ถือว่าอยู่ในการดูแลของครู ซึ่งจะมีหน้าที่ในการฝึกวินัยให้เด็กนั้นเติบโต พัฒนาให้เป็นคนที่มีจิตใจเข้มแข็ง ไม่ตื่นตกใจหรือวิตกกังวลง่าย ซึ่งทั้งหมดนี้ทำได้ด้วยการใช้ไม้เรียวตีเด็ก เมื่อพวกเขาประพฤติตนไม่ถูกต้อง ดังนั้นการลงโทษทำให้เกิดผลกระทบทางบวกต่อจิตใจและสติปัญญาของเด็ก 

 

 

อย่างไรก็ตาม การลงโทษเด็กนั้นก็ย่อมมีปัญหา เพราะน้ำหนักมือของครูแต่ละคนไม่เท่ากัน และไม่ควรทำตามอำเภอใจ ทำให้นักวิชาการในยุคกลาง เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 12-14 เช่น Alexander of Neckam ถกเถียงกันว่า การลงโทษมากขนาดไหนจึงจะเป็นที่ยอมรับ ซึ่งในยุคนั้นได้ใช้หลักการว่า ในแง่ของเครื่องมือนั้นควรใช้ไม้เรียว ไม่ควรใช้แส้และเชือกมาตี และปริมาณการตีนั้นควรเป็นการตกลงกันระหว่างครูกับเด็กนักเรียนว่าควรลงโทษในจำนวนเท่าไร อีกทั้งต้องแจ้งให้ชัดเจนอย่างเป็นทางการด้วยว่าระดับของการลงโทษนั้นมาจากสาเหตุใด 

 

ในเมื่อมองว่าการลงโทษคือการสร้างสรรค์แบบหนึ่ง ทำให้การลงโทษของครูถูกเปรียบกับการสร้างสรรค์งานศิลปะหรือความสมบูรณ์แบบของสิ่งของต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง ตัวอย่างเช่น ถ้าเด็กไม่มีวินัยก็เปรียบเสมือนกับม้าที่ขาหัก ถ้าเด็กไม่มีครูคอยตีก็เหมือนแกะที่ไม่รู้จะวิ่งไปหาหญ้าทางไหนได้ การลงโทษเด็กก็คือวิธีการปั้นประติมากรรมขึ้นมาชิ้นหนึ่ง เป็นต้น เรื่องนี้ถ้าวิเคราะห์กัน อาจกล่าวได้ว่าในความคิดของคนในยุคโบราณนั้นมองว่า ร่างกายของเด็กนั้นเปรียบได้กับวัตถุหรือสัตว์ชนิดหนึ่ง การตีดูจะเป็นหนทางหนึ่งในการแยกภาวะดังกล่าวเพื่อทำให้เป็นคนโดยสมบูรณ์ (การเปรียบเทียบในทำนองนี้ก็พบได้ในสังคมไทย เช่นสำนวน รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี)

 

ในช่วงยุคกลาง โรงเรียนสอนศาสนาหลายแห่งมีวิธีการลงโทษแบบแปลกๆ เช่น การใช้ไม้กางเขนประทับลงไปบนลิ้นของนักเรียน เพื่อหวังให้นักเรียนพูดจาดี บ้างเชื่อว่าการตีเด็กจะช่วยทำให้พวกเขาระมัดระวังต่อการทำบาป ซึ่งการลงโทษด้วยการตีดังกล่าวนั้นก็ผ่านสายตาของพระเจ้า ครูจึงเป็นตัวแทนของพระเจ้า และการลงโทษเด็กนักเรียนนั้นก็เป็นการกระทำในนามของพระเจ้าไปด้วย ซึ่งการลงโทษในนามของพระเจ้านี้เองที่เชื่อว่าจะช่วยทำให้เด็กเกิดการพัฒนาทางด้านศีลธรรม (Moral Development) ในทางตรงข้ามหากไม่ได้รับการลงโทษก็จะทำให้จิตวิญญาณอ่อนแอ และยังอาจตกไปสู่อวิชชาได้อีกด้วย อีกทั้งความชอบธรรมของการลงโทษนั้นยังเป็นผลมาจากความคิดว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้นโน้มเอียงไปในทางชั่วร้ายมากกว่าจะไปในทางที่ดี ดังนั้นการลงโทษจะช่วยสร้างสำนึกที่ดีให้กับนักเรียน และช่วยกระตุ้นเตือนความจำถึงคำสอนของพระเจ้าที่มุ่งให้คนเป็นคนดี  

 

หลังจากผมอ่านข้อมูลการลงโทษนักเรียนในยุคกลางเสร็จ ผมว่ามันมีอะไรหลายๆ อย่างที่คล้ายกันกับสังคมไทยมากทีเดียว 

 

ยศวีร์ ศิริผลธันยกร อดีตนักศึกษาภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ค้นคว้าเรื่องการลงโทษนักเรียนในไทย ซึ่งได้พบข้อความในหนังสือ สยามและลาวในสายตาของมิชชันนารีอเมริกัน โดย เอส. จี. แมคฟาแลนด์ ที่เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยได้บันทึกไว้ว่า “คุณครูมักจะเฆี่ยนตี (นักเรียน) และเป็นสิ่งที่เรียกว่า สอนให้จำ (Son Hi Chum) สำหรับความผิดชั่วร้ายเนื่องจากการไม่เชื่อฟังและขาดความเคารพครูของเขา นักเรียนมักถูกมัดไว้กับเสาแล้วถูกโบย ซึ่งไม่ใช่เพียง 4-5 ครั้งเท่านั้น แต่จะถูกโบย 1 โหล 2 โหล หรือ 3 เท่าที่ครูต้องการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เข้าใจว่าเป็นความเอาใจใส่ครูต่อเด็ก”

 

นอกจากนี้ยังเล่าอีกว่า “วันหนึ่งมีชายคนหนึ่งนำบุตรชายมาเข้าโรงเรียนหลวง (King’s School) เขาร่ำลาบุตรชายและกลับมาหาครูใหญ่ว่า “กรุณาเฆี่ยนตีเขาให้มากๆ ผมต้องการให้เขาเรียนรู้ได้เร็ว ถ้าเวลาใดครูคิดว่าเขาควรถูกตี 1 โหล ขอให้ตีเขา 2 โหล” นอกจากนี้ยังมียายอีกคนหนึ่ง นำลูกมาส่งโรงเรียนเหมือนกัน และพูดกับครูว่า “ตีให้มากๆ” 

 

แมคแฟร์แลนด์ยังอธิบายอำนาจของครูในสังคมสยามว่า “ครูแต่ละคนมีอิสระในการทำตามความต้องการของตนทุกอย่าง” รวมทั้ง “การเรียนการสอนทั้งหมดเป็นไปตามอำเภอใจของครูผู้สอนโดยปราศจากการกำกับของครูใหญ่และกฎเกณฑ์ใดๆ ทั้งสิ้น” และเธอลงท้ายด้วยการสรุปว่า “แม้ว่าบรรดาครูใหญ่โรงเรียนแห่งศาสนาพุทธจะล้มเหลวในการสอนบทเรียนใดก็ตาม แต่มีอยู่บทเรียนหนึ่งที่เขาประสบความสำเร็จในการถ่ายทอดได้ดีกว่าประเทศอื่น นั่นคือความรู้สึกเคารพนับถือของนักเรียนที่มีต่อครูของพวกเขา”

 

ต้องบอกหน่อยว่า เรื่องการลงโทษที่เกิดขึ้นในยุโรปยุคกลางและไทยนี้ไม่ได้ต้องการให้ครูหรือผู้ปกครองบางคนเอาไปใช้อ้างความชอบธรรมและชี้ประโยชน์ของการลงโทษเด็กนักเรียนนะครับ เพราะมีงานศึกษามากมายว่าการลงโทษมันส่งผลกระทบในเชิงลบ ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป แต่มีเรื่องหนึ่งที่ผมว่ามันเป็นเรื่องน่าสนใจทีเดียวที่ความคิดและความเชื่อที่ว่า การลงโทษนักเรียนระหว่างยุโรปยุคกลางกับสยามในช่วงยุคต้นของรัฐสมัยใหม่ (กระทั่งทุกวันนี้) ยังมีความคล้ายคลึงกัน ไม่แน่ใจว่าเป็นการตีความของแมคแฟร์แลนด์ไปเองตามความเข้าใจแบบยุโรปหรือไม่ แต่เท่าที่ผมคิดได้ตอนนี้คือ สิ่งที่ทั้งสองซีกโลกนี้ (ถึงจะต่างเวลากันมาก) มีความคิดที่คล้ายกันได้นี้ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะอิทธิพลของวิธีคิดทางศาสนาที่ทำให้สถานะของครูเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง

 

ดังที่กล่าวมาข้างต้นว่า ในยุโรปยุคกลางที่มองว่าครูลงโทษในนามของพระเจ้า ผมว่าครูไทยก็มีสถานะเฉียดๆ แบบนั้นเช่นกัน ในสมัยโบราณ สถานะของครูนั้นเปรียบได้กับผีหรือเทวดาเลยทีเดียว แต่ครูที่คนในสมัยโบราณยกย่องกราบไหว้บูชานี้ไม่ได้หมายถึงครูมนุษย์ที่มีชีวิต หากแต่เป็นครูที่ตายไปแล้ว หรือเป็นเทพอันศักดิ์สิทธิ์ที่ทำหน้าที่ประสิทธิประสาทวิชา เช่น พระอิศวร พระคเณศ เป็นต้น

 

อย่างไรเสีย ด้วยการที่ครูมนุษย์เป็นผู้รับและส่งผ่านความรู้จากผีหรือเทพ (ความรู้จากอดีต) มาให้กับลูกศิษย์นี้เอง จึงทำให้สถานะของครูนั้นมีสถานะสูงขึ้นมา เพราะเป็นตัวแทนของความรู้ที่แนบไปพร้อมกับความศักดิ์สิทธิ์ ถ้าถามว่าแล้วความศักดิ์สิทธิ์ของครูในปัจจุบันนั้นมาจากไหน คำตอบง่ายๆ เลยก็คือ พิธีไหว้ครูในโรงเรียน ซึ่งความจริงแล้วก็เป็นพิธีกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2486 มานี้เอง ที่ มล.ปิ่น มาลากุล ได้กำหนดให้วันพฤหัสบดีแรกของเดือนมิถุนายนเป็นวันไหว้ครู (อ้าง ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ 2563) 

 

 

อย่างไรก็ตาม อยากให้สังเกตด้วยว่า วันไหว้ครูนี้เกิดขึ้นในสมัยชาตินิยม และในพิธีไหว้ครูมักจะมีองค์ประกอบของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์อยู่ในพิธีด้วย ซึ่งมันยิ่งเสริมสถานภาพอันศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นสิ่งที่ต่างไปจากยุโรปยุคกลางหรือในสังคมไทยสมัยจารีต

 

เมื่อเป็นเช่นนั้น การลงโทษนักเรียนจึงเป็นการกระทำในนามของอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ทั้งในด้านความเชื่อและชาติ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้ปกครองเชื่อว่าการลงโทษของครูนั้นมีความยุติธรรมและเป็นสิทธิอันพึงชอบธรรมอยู่แล้ว แต่นอกเหนือไปจากอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์บางอย่างของครูที่เชื่อว่าเป็นบุคคลที่มีความรู้มีเหตุผลมากกว่าคนทั่วไปแล้ว ปัญหาเรื่องอำนาจนิยมนั้นผมว่าก็เป็นเรื่องสำคัญของครูไทยเช่นกัน ซึ่งมันฝังอยู่ในวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับความสูง-ต่ำ ผู้ใหญ่-ผู้น้อย การลงโทษนักเรียนจึงกระทำการผ่าน ‘อำนาจ’ หลายๆ อย่างไปพร้อมกัน แต่การลงโทษดังกล่าว (ในกรณีที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ) นั้นก็สามารถอธิบายผ่านถ้อยคำต่างๆ เช่น ‘ไม้เรียวสร้างคน’ หรือ ‘รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี’ การปั้นเด็กผ่านไม้เรียวนี้เองที่ทำให้ครูมีสถานะเป็นเหมือนกับแม่พิมพ์ของชาติไปด้วย 

 

ปัจจุบันด้วยหลายๆ เหตุผลทำให้หลายประเทศๆ เช่น แคนาดา อังกฤษ ยกเลิกเรื่องการลงโทษไปนานแล้ว เพราะคำนึงถึงสิทธิของเด็ก (Children Rights) มากขึ้น อีกทั้งยังตระหนักว่าการลงโทษเด็กนั้นอาจก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบมากกว่าเชิงบวก บางกรณีทำให้เด็กเป็นคนก้าวร้าว โกหกเพื่อเอาตัวรอดจากการลงโทษ และเป็นปัญหาต่อกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก เพราะเด็กจะกลัวและไม่กล้าที่จะคิดอะไรนอกจากที่ครูสอน เพราะกลัวความผิด กล่าวได้ว่าการลงโทษนั้นส่งผลกระทบกับเด็กมากกว่าผลทางบวกครับ และนี่เองที่แมคแฟร์แลนด์เห็นว่าการศึกษาของไทยนั้น สิ่งที่ทำได้ผลที่สุดก็คือ การสร้าง ‘ความรู้สึกเคารพนับถือของนักเรียนที่มีต่อครูของพวกเขา’ ในขณะที่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษานั้นต่ำมากและสวนทางกับน้ำหนักของการลงโทษ 

 

 

อย่างไรก็ตาม ในงานด้านการศึกษาก็มองว่า ไม่ใช่ว่าไม่ควรมีการลงโทษเด็กเลย หากแต่ต้องกระทำเฉพาะในกรณีที่เป็นการทำผิดขั้นรุนแรงเท่านั้น เมื่อลงโทษแล้วควรต้องอธิบายถึงเหตุผลที่ทำให้ถูกลงโทษ และพยายามลดการลงโทษทางกายแต่ให้คิดวิธีการลงโทษที่สอนให้เขารู้จักคิดและเข้าใจว่าสิ่งใดนั้นผิดถูก ครูไทยและผู้ปกครองที่ยังเห็นด้วยกับการลงโทษต้องปรับตัวครับ เพราะโลกมันเปลี่ยนไปมากแล้ว ‘เรา’ จึงไม่ควรเอาความรู้สึกและชีวิตในยุคหนึ่งไปสวมทับให้กับเด็กครับ  

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X