×

ฝ่าวิกฤตขาดทุนแสนล้านเยน เจาะแผนใหม่ Nissan ทำไมถึงดัน ‘เมืองไทย’ ขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตของอาเซียน

โดย THE STANDARD TEAM
03.06.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • ชื่อของ ‘คาร์ลอส กอส์น’ อดีตผู้กอบกู้บริษัทถูกกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง หลังจาก Nissan แถลงผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2019 ระบุ การขาดทุนหนักถึงกว่า 672,000 ล้านเยน เรียกว่าเป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี 
  • ผลจากการขาดทุนดังกล่าวเนื่องจากยอดขายที่ลดลง ทำให้ Nissan Motor ประกาศปรับแผนการดำเนินงานใหม่ทั้งหมด เรียกว่า โละทิ้งแผนเดิม 6 ปี ที่เคยประกาศเอาไว้อย่างไม่เหลือคราบ และประกาศแผนใหม่ 4 ปี
  • แผนดังกล่าวมีสองเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเมืองไทยโดยตรง 1. การปิดโรงงานผลิตที่อินโดนีเซีย ย้ายมาที่ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตของอาเซียน และ 2. การปรับโมเดลไลน์อัพการขายใหม่ทั้งหมด
  • ทั้งหมดนี้คือการทำเพื่อลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ด้วยการออกสินค้าใหม่ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ส่วนจะถูกใจลูกค้าและสามารถกอบกู้วิกฤต พลิกกลับมาทำกำไรได้อีกครั้งหรือไม่ 18 เดือนข้างหน้าจะมีคำตอบ

“จากที่ผมได้ไปตรวจโรงงานมา Nissan ไทยมีการผลิตที่ยอดเยี่ยมมาก ตลาดไทยเองก็มีศักยภาพสูง แต่ยอดขายกลับน้อยมาก เทียบสัดส่วนแล้วเพียงแค่ 1% ของยอดขายรวม Nissan ทั้งโลก ดังนั้นต้องมีอะไรผิดปกติ” คาร์ลอส กอส์น กล่าวในการมาเยือนไทยครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2017

 

เมื่อเอ่ยถึงแบรนด์ Nissan ในเวลานี้ต้องเรียกว่า พระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรกพร้อมโดนราหูครอบเป็นแน่แท่ เพราะเต็มไปด้วยข่าวที่กระหน่ำซ้ำเติมอย่างไม่หยุดหย่อนในช่วง 2-3 ปีมานี้ จนกระทั่งล่าสุดกับการประกาศปรับแผนธุรกิจของบริษัทฯ ใหม่ทั้งหมด เนื่องจากผลประกอบการขาดทุนเป็นครั้งแรกในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ชื่อของ ‘คาร์ลอส กอส์น’ กลับมาเกี่ยวเนื่องกับ Nissan อีกครั้ง 

 

ถ้าจะให้กล่าวถึงกอส์นกับ Nissan เรื่องนี้คงเป็นมหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่และยาวนาน เรียกว่าสามารถนำไปสร้างภาพยนตร์ฮอลลีวูดแบบไตรภาคได้อย่างสบายๆ แต่จะสรุปแบบคัดย่อให้ทุกท่านได้ทราบพอสังเขป

 

‘คาร์ลอส กอส์น’ อดีตซีอีโอของ Nissan 

 

‘คาร์ลอส กอส์น’ (อดีต) วีรบุรุษของ ‘นิสสัน’

เริ่มจากในช่วงปลายทศวรรษ 90 Nissan ประสบปัญหาทางการเงิน และขาดทุนอย่างหนักจนถึงขั้นวิกฤตชนิดที่จ่อว่าจะล้มละลาย และยังหาทางออกไม่ได้ ทำให้ Renault ได้ยื่นข้อเสนอเข้ามา เพื่อให้ Nissan รอดพ้นการล้มละลาย

 

โดยเป็นการเสนอจัดการกับหนี้สินที่ค้างชำระทั้งหมด แลกกับหุ้นของ Nissan และ Renault ได้มอบหุ้นให้กับ Nissan ด้วยส่วนหนึ่ง เรียกว่าเป็นการถือหุ้นไขว้กันนั่นเอง (Renault ถือหุ้น Nissan ราว 44% และ Nissan ถือหุ้น Renault ราว 15%) ดีลนี้ดูผิวเผินแล้วเหมือนจะวิน-วินด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่

 

เนื่องจากหุ้นของ Renault ที่ Nissan ถือครองอยู่นั้น ไม่มีสิทธิ์ในการโหวตใดๆ ทั้งสิ้น ทำให้อำนาจในการบริหารยังคงเป็นของ Renault เต็มที่ โดย Renault ขณะนั้นมี คาร์ลอส กอส์น นั่งเป็นซีอีโออยู่ และเขาได้เข้ามาจัดการองค์กรของ Nissan ใหม่ทั้งหมด พร้อมกับการนั่งแท่นเป็นประธานและซีอีโอของ Nissan 

 

หลังการเข้ามาของกอส์นเพียงไม่กี่ปี Nissan สามารถพลิกกลับมามีกำไร และสร้างสถิติน่าทึ่งมากมาย เรียกว่าเป็นการพลิกฟื้นธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งของญี่ปุ่น จนทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นมอบเหรียญเกียรติยศเพื่อยกย่องการทำงานให้กับคาร์ลอส กอส์น ในปี 2004 จากผลงานการบริหารธุรกิจของ Nissan

 

 

ตลอดเวลาที่กอส์นบริหาร Nissan ผลกำไรเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทุกอย่างดูเหมือนมีแต่ภาพสดใส แต่ท่ามกลางความสวยงามมักมีเรื่องซุกใต้พรมอยู่เสมอ Nissan ก็เช่นเดียวกัน มีสิ่งที่ไม่พอใจซ่อนอยู่ 

 

โดย Nissan อึดอัดมานานกับการเปลี่ยนมาใช้ภาษาอังกฤษในองค์กรทั้งหมด การไร้อำนาจบริหารหรือต่อรองกับ Renault แม้จะถือหุ้นอยู่ 

 

ฟางเส้นสุดท้าย

จนมาถึงเหตุการณ์ล่าสุดที่น่าจะเป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายคือ แนวคิดของกอส์นที่จะควบรวมกิจการของทั้งสามแบรนด์ ได้แก่ Renault Nissan และ Mitsubishi (Renault ซื้อกิจการของ Mitsubishi Motor เข้ามารวมเป็นกลุ่มพันธมิตร) ให้เหลือเพียงแบรนด์เดียว

  

ทำให้ในช่วงปลายปี 2018 เกิดข่าวดังช็อกโลก คาร์ลอส กอส์น โดนจับกุมและถูกตั้งข้อหาทุจริต โดยถูกควบคุมตัวที่ญี่ปุ่น ทั้งนี้ ระหว่างการประกันตัว แม้จะถูกควบคุมตัวอย่างเข้มงวด กอส์นก็กลายเป็นข่าวครึกโครมอีกครั้งในปี 2019 เมื่อเขาหนีออกจากญี่ปุ่นกลับไปอยู่ที่ประเทศเลบานอน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา 

 

 

โดยกอส์นระบุว่า เขาหนีความอยุติธรรม มิใช่หนีความผิด นับเป็นการตบหน้าญี่ปุ่นครั้งใหญ่ที่สุด ทั้งเรื่องกระบวนการยุติธรรมและมาตรการรักษาความปลอดภัยว่า   กอส์นออกจากญี่ปุ่นได้อย่างไรทั้งที่พาสปอร์ตถูกยึดเอาไว้ทุกเล่ม

 

กอส์นหนีไปโดยวิธีใดและมีความผิดจริงหรือไม่ ยังคงเป็นปริศนาที่รอการพิสูจน์ความจริงอยู่ 

 

ส่วน Nissan ในวันที่ไร้กอส์นในเวลานี้ จากการแถลงผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2019 ระบุการขาดทุนหนักถึงกว่า 672,000 ล้านเยน (ราว 22,300 ล้านบาท) เรียกว่าเป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี แน่นอนว่าเป็นปีแรกที่ขาดทุน และเป็นปีแรก(เต็มปี) ที่ไม่มี ‘คาร์ลอส กอส์น’ บริหารงานอีกด้วย 

  

ปรับแผนใหม่หมด

ผลจากการขาดทุนดังกล่าวเนื่องจากยอดขายที่ลดลง ทำให้ Nissan Motor ประกาศปรับแผนการดำเนินงานของบริษัทฯ ใหม่ทั้งหมด เรียกว่า โละทิ้งแผนเดิม 6 ปี (แผนดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในยุคของคาร์ลอส กอส์น) ที่เคยประกาศเอาไว้อย่างไม่เหลือคราบ และประกาศแผนใหม่ 4 ปี (ดูแผนงานทั้งหมดตารางประกอบ) 

 

 

ทั้งนี้ มีประเด็นสำคัญใหญ่อยู่สองจุดที่น่าสนใจ และเกี่ยวเนื่องกับ Nissan Motor Thailand รวมถึงคนใช้รถ Nissan ในเมืองไทยโดยตรง 

 

ประเด็นแรกคือการประกาศปิดโรงงานที่อินโดนีเซีย และตั้งให้ไทยเป็นฐานการผลิตแห่งเดียวของอาเซียน ซึ่งถือว่าเกี่ยวเนื่องกับประเทศไทยโดยตรงแบบชัดเจนที่สุดโดยให้โรงงานของ Nissan Motor Thailand ทำการผลิตเพื่อส่งออกป้อนตลาดอาเซียนทั้งหมด 

 

ปัจจุบันโรงงานประกอบรถยนต์ของ Nissan ในประเทศไทยนั้น มีกำลังการผลิตสูงสุดถึงกว่า 370,000 คัน และส่งออกไปจำหน่ายยัง 150 กว่าประเทศทั่วโลก โดยมีไลน์การประกอบ 2 ไลน์ ที่ล่าสุดหลังจากต้องประกาศหยุดผลิตชั่วคราวไปตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ล่าสุดได้กลับมาเปิดไลน์ประกอบเรียบร้อยแล้วทั้ง 2 ไลน์ 

 

ตรงจุดนี้ถือว่าประเทศไทยได้รับประโยชน์เต็มๆ โดยตรงจากการปิดโรงงานที่อินโดนีเซีย เพราะไทยน่าจะมีการจ้างแรงงานมากขึ้น และยอดการส่งออกจะเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของตลาดอินโดนีเซีย โดย Nissan Motor Thailand ยืนยันเกี่ยวกับการลงทุนในไทยว่า ยึดตามแผนเดิมที่ประกาศไว้คือ 10,000 ล้านบาท ไม่มีการปรับเปลี่ยนใดๆ  

 

 

ประเด็นที่สองที่เกี่ยวเนื่องคือ การประกาศเปิดตัวรถใหม่ 12 รุ่น ในระยะเวลา 18 เดือน ซึ่งจุดนี้ถือว่าน่าสนใจ เนื่องจาก Nissan ได้ปล่อยคลิปรถรุ่นใหม่ที่จะทำตลาดแบบเป็นเงาให้สาวกของ Nissan ได้ชมแล้วบน YouTube โดยมีโมเดลที่เกี่ยวเนื่องกับประเทศไทยอย่าง Nissan Navara และ Nissan Terra

 

สำหรับ Nissan Navara ฐานการผลิตใหญ่และตลาดที่สำคัญอยู่ที่เมืองไทย ฉะนั้นแปลความแบบตรงตัว ภายในสิ้นปี 2021 เราจะได้เห็นรถกระบะ Navara โฉมใหม่จาก Nissan อย่างแน่นอน 

 

เช่นเดียวกับ Nissan Terra ที่แม้จะเพิ่งเปิดตัวมาได้ไม่นาน และไม่ประสบความสำเร็จด้านยอดขาย ทำให้ต้องมีการปรับโฉม คาดหมายว่าจะเป็นการปรับแบบไมเนอร์เชนจ์ที่จากเงาในคลิป จะเห็นชุดไฟหน้าใหม่และกระจังหน้าที่เปลี่ยนแปลงไปดูแล้วดุดันขึ้น 

 

 

สองหัวใจสำคัญที่ Nissan ทำในคราวนี้คือ การปรับโมเดลไลน์อัพการขายใหม่ทั้งหมด พร้อมกับการปรับโครงสร้างการผลิต มีการยุบโรงงาน ทั้งหมดคือการทำเพื่อลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ด้วยการออกสินค้าใหม่ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค 

 

ส่วนจะถูกใจลูกค้าและสามารถกอบกู้วิกฤต พลิกกลับมาทำกำไรได้อีกครั้งหรือไม่ 18 เดือนข้างหน้า จะมีคำตอบ 

 

และเแน่นอนว่า ชื่อของ ‘คาร์ลอส กอส์น’ เวลานี้ กลายเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบว่า ถ้าเขายังอยู่กับ Nissan เหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ และเขาจะแก้ไขสถานการณ์นี้ด้วยวิธีการใด

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising