วันนี้ (11 มกราคม) สภาผู้แทนราษฎรเริ่มพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการฝุ่น มลพิษ และอากาศ หรือที่เรียกกันว่ากฎหมายอากาศสะอาด วาระหนึ่งหรือขั้นรับหลักการ ซึ่งมีกฎหมายที่เสนอหลายฉบับในทำนองเดียวกันพิจารณาพร้อมกันรวม 7 ฉบับ
THE STANDARD ชวนอ่านสรุปการนำเสนอหลักการของ 7 ร่างกฎหมายอากาศสะอาด
ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ….
เสนอโดยคณะรัฐมนตรี
พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เป็นตัวแทนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการนำเสนอหลักการและเหตุผลของการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า หลักการคือให้มีกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด และระบุเหตุผลว่า โดยที่ปัจจุบันปัญหามลพิษทางอากาศกำลังทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงต้นปีและปลายปีของทุกปี จึงต้องมีการกำหนดกลไกในการบริหารจัดการมมลพิษทางอากาศทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ กำหนดให้มีการพัฒนาและบูรณาการการบริหารจัดการปัญหาของทุกภาคส่วนให้เป็นระบบ และเพื่อให้เป็นการสอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน
และกำหนดให้มีระบบการวางแผนการดำเนินงานและกำกับดูแล เพื่อลดสาเหตุการเกิดมลพิษที่แหล่งกำเนิด รวมทั้งป้องกันการปล่อยมลพิษ ฝุ่น ควัน และกลิ่น เข้าสู่สภาพแวดล้อมและชั้นบรรยากาศ พัฒนาระบบการประเมินคุณภาพอากาศ ระบบการเฝ้าระวัง ระบบการเตือนภัย และระบบการจัดการในสถานการณ์วิกฤตจากภาวะมลพิษทางอากาศ ตลอดจนการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อให้เกิดอากาศสะอาด และเพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีมีความปลอดภัยต่อสุขภาพ อันเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของประชาชน
ร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. ….
เสนอโดย คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 22,251 คน
คนึงนิจกล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีชื่อยาวเพื่อสื่อถึงความครอบคลุม โดยคำแรก กำกับดูแล คือเราต้องการให้มีหน่วยงานกำกับดูแลมากำกับดูแลผู้ที่มีหน้าที่ใช้กฎหมายเดิมที่มีอยู่ และให้ทำหน้าที่เข้มแข็งและดียิ่งขึ้น รวมถึงการเพิ่มเติมหน้าที่ใหม่ตามที่จะมีขึ้นในกฎหมายใหม่นี้
ส่วนการดูแลคือดูแลการจัดการอากาศสะอาด สิ่งที่ต้องการและอยากได้คืออากาศสะอาดที่มีประสิทธิภาพและเข้าถึงได้เพื่อสุขภาพ จึงเขียนกฎหมายมาแบบนี้ เพราะอากาศที่เป็นมลพิษนั้น เรามีกฎหมายเดิมอยู่แล้ว เว้นแต่บางประเด็นที่กฎหมายเดิมยังไม่มีหรือมีปัญหาอยู่ กฎหมายฉบับนี้ก็จะมาช่วยเติมเต็มให้
“ชื่อ พ.ร.บ. ก็จะเห็นว่ามีคำว่ากำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ ไม่ใช่การจัดการอากาศสะอาดเพื่อเหตุผลอื่น แต่เพื่อเหตุผลสุขภาพ ตามคำของ WHO ที่บอกว่า PM2.5 นั้นเป็นหนึ่งในสาเหตุของการตายก่อนวัยอันควร Premature Death นั่นหมายความว่าเราจะไม่แยกระหว่างมิติสิ่งแวดล้อมกับมิติด้านสุขภาพออกจากกัน”
คนึงนิจกล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์เหมือนภูเขาน้ำแข็งของการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยปัจจุบันเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงอีเวนต์ เป็นฤดู แล้วก็เลิก แล้วก็วนกลับมาใหม่ แต่การแก้ไขปัญหาบนยอดภูเขาน้ำแข็งนี้ยังไม่มากพอที่จะล้วงลึกลงไปใต้ภูเขาน้ำแข็งซึ่งเป็นรากเหง้าที่แท้จริงของปัญหา ดังนั้นรากเหง้าจึงยังอยู่ที่เดิม
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ทั้งสิทธิในชีวิต สิทธิในสุขภาพ สิทธิในสิ่งแวดล้อม รวมถึงสิทธิในอากาศ ปัจจุบันสิทธิในสิ่งแวดล้อม UN ประกาศให้เป็นสิทธิมนุษยชนประเภทหนึ่ง ดังนั้นสิทธิในอากาศสะอาดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิในสิ่งแวดล้อมถือเป็นสิทธิมนุษยชน
“การที่ร่างกฎหมายนี้เสนอและสถาปนาให้สิทธิในอากาศสะอาดถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจนว่าเป็นสิทธิชนิดหนึ่งจึงจำเป็นอย่างยิ่ง สิทธิในอากาศสะอาดมีทั้งสิทธิในเชิงเนื้อหา ซึ่งเป็นเงื่อนไขของสิทธิเชิงเนื้อหาตัวอื่นๆ เช่น สิทธิในสุขภาพที่จะไม่ป่วยจากสาเหตุที่สามารถป้องกันได้ อย่างการเป็นมะเร็งปอดของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ หรือสิทธิในชีวิตที่จะไม่ตายก่อนวัยอันควร”
นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งสิทธิเชิงกระบวนการ เช่น สิทธิในข้อมูลว่าอากาศวันนี้มีค่าฝุ่นเท่าไรแบบเรียลไทม์ เราต้องได้รู้ ค่าฝุ่นขนาดไหนอันตรายต่อกลุ่มเปราะบางหรือไม่ เราต้องทราบ
อีกทั้งในกฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดให้มีกองทุนอากาศสะอาด เพื่อที่จะเก็บเงินมาจากสิ่งที่อันควรเพื่อใช้ในเรื่องอันควร ซึ่งถือเป็นเรื่องที่กฎหมายนั้นประกอบด้วยบทลงโทษและรางวัล
ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. ….
เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย
อลงกต มณีกาศ สส. พรรคภูมิใจไทย เป็นตัวแทนนำเสนอหลักการ โดยกล่าวว่า หลักการคือให้มีกฎหมายอากาศสะอาดเพื่อประชาชน พร้อมระบุเหตุผลว่า โดยที่สถานการณ์ฝุ่นควันซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทุกๆ ชีวิต ซึ่งเกิดขึ้นติดต่อกันเป็นระยะเวลานานไม่ต่ำกว่า 10 ปีอย่างต่อเนื่อง และจากการติดตามศึกษา เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดของสถาบันวิจัยต่างๆ ชี้ให้เห็นว่าแนวโน้มของสถานการณ์มลพิษทางอากาศมีความรุนแรงมากขึ้น มีการขยายตัวของมลพิษครอบคลุมไปยังพื้นที่ต่างๆ กว้างขวางขึ้น ซึ่งส่งผลอันตรายต่อสุขภาพในพื้นที่ต่างๆ เป็นประจำทุกปี ประชาชนที่ตกอยู่ในพื้นที่ที่คุณภาพอากาศเป็นพิษต่างได้รับผลกระทบและก่อให้เกิดความเสียหาย และตกอยู่ในภาวะอันตรายทั้งในทางด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเด็ก ผู้สูงอายุ และสตรีมีครรภ์
นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ทั้งในด้านงบประมาณในการรักษาพยาบาล และความเสียหายต่อธุรกิจการท่องเที่ยว ภาพลักษณ์ของประเทศที่สะท้อนถึงความล้มเหลวในการจัดการของภาครัฐเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของประชาชนและการจัดการมลพิษ
สถานการณ์ฝุ่นควันอันเป็นพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นในประเทศไทยติดต่อกันมาเป็นเวลานาน นอกจากจะมีสาเหตุจากต้นกำเนิดระบบขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม เขตพื้นที่ก่อสร้าง การเผาในที่โล่ง หรือเผาตอซังของเกษตรกร ยังมีสาเหตุฝุ่นควันที่เกิดจากแหล่งกำเนิดที่อยู่ต่างประเทศด้วย
อลงกตกล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์ฝุ่นควันที่เกิดในประเทศไทยที่กำลังประสบเป็นสาธารณภัย ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาการปฏิรูประบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่การมีอากาศที่สะอาด ซึ่งสอดคล้องกับหลักการสำคัญในการที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชนที่จะมีสิทธิที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี และในขณะเดียวกันตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ในหมวดที่ว่าด้วยหน้าที่ของรัฐ ก็ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้สมดังสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเสนอให้มีกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาดเพื่อประชาชน
ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ….
เสนอโดยพรรคพลังประชารัฐ
ชัยมงคล ไชยรบ สส. พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาที่กล่าวขานกันมานาน รัฐบาลเองก็พยายามแก้ไข เพราะมีผลกระทบต่อชีวิตประชาชน ดังข้อมูลที่ทราบมาว่าปี 2564 PM2.5 อยู่ที่ 18-28 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ปี 2565 PM2.5 อยู่ที่ 19-24 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ปี 2566 PM2.5 อยู่ที่ 24-28 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งในปี 2566 มีการประกาศค่ามาตรฐานไว้ที่ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่แสดงได้ว่าสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 นั้นเกินมาตรฐาน เป็นภัยคุกคามสุขภาพพี่น้องประชาชน และเกี่ยวโยงอีกหลายเรื่อง ทั้งโรคภัยไข้เจ็บและค่ารักษาพยาบาล
“ด้วยความเป็นห่วงพี่น้องประชาชน พรรคพลังประชารัฐจึงได้รวบรวมพี่น้อง สส. เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ ด้วยได้แลเห็นว่าเกิดมาเป็นคนไทยนั้นควรได้รับอากาศบริสุทธิ์แบบเท่าเทียมกัน เราทราบว่าสาเหตุนั้นมีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเผาในที่โล่ง ยานพาหนะ อุตสาหกรรมการก่อสร้าง”
ชัยมงคลกล่าวต่อว่า เราจะเห็นว่าหลายรัฐบาลพยายามจะแก้ไข แต่ผลที่ปรากฏคือไม่สามารถแก้ไขได้ จึงยังเป็นภัยคุกคามต่อประชาชน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ มุ่งหวังให้กฎหมายฉบับนี้เป็นเครื่องมือลดมลภาวะให้กับประเทศไทย รวมทั้งโลกอีกด้วย
“วันนี้คนไทยทุกคนควรมีสิทธิที่จะได้รับอากาศบริสุทธิ์ เพื่อต่ออายุให้ยืนยาว กฎหมายฉบับนี้เป็นที่เห็นสอดคล้องต้องกันจากทั้งหมด 7 ร่าง นั่นแปลว่าทั้ง 7 ฉบับได้แลเห็นความจำเป็นและความสำคัญ จึงได้ร่างกฎหมายเพื่อให้ผลเกิดขึ้นกับประชาชน” ชัยมงคลกล่าว
ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ….
เสนอโดยพรรคเพื่อไทย
จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สส. เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนนำเสนอหลักการ กล่าวว่า หลักการของร่างกฎหมายฉบับนี้คือให้มีกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน
โดยระบุเหตุผลว่า จากสถานการณ์ฝุ่นควันซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตและเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดขึ้นติดต่อกันมาเป็นระยะเวลานานอย่างต่อเนื่องและมีความรุนแรงมากขึ้น โดยสาเหตุมาจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ซึ่งมีแหล่งกำเนิดมากมาย ทั้งจากการเผาในที่โล่ง การเผาตอซังของเกษตรกร การเผาพื้นที่ป่า กระบวนการผลิตจากอุตสาหกรรมต่างๆ ระบบการขนส่ง กระบวนการผลิตไฟฟ้า เขตพื้นที่ก่อสร้าง เขตที่พักอาศัย รวมถึงสาเหตุจากฝุ่นควันที่ลอยมาจากแหล่งกำเนิดที่อยู่ในต่างประเทศ
ปัจจุบันมีการขยายตัวของมลพิษครอบคลุมไปยังพื้นที่ต่างๆ กว้างขวางขึ้น และยังคงความเข้มข้นของมลพิษในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เป็นประจำทุกปี ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่คุณภาพอากาศเป็นพิษต่างได้รับผลกระทบ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายและตกอยู่ในภาวะอันตราย ทั้งในด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเด็ก ผู้สูงอายุ และสตรีมีครรภ์
อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ทั้งในด้านงบประมาณในการรักษาพยาบาล งบประมาณในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ความเสียหายต่อธุรกิจการท่องเที่ยว อีกทั้งภาพลักษณ์ของประเทศที่สะท้อนถึงความล้มเหลวในการจัดการเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของประชาชนและการจัดการมลพิษ
จำเป็นต้องพัฒนาปฏิรูประบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีการบริหารจัดการมลพิษอย่างเป็นระบบ อันจะนำไปสู่การมีอากาศสะอาด โดยส่งเสริมให้เกิดระบบการวางแผนเพื่อป้องกันการปล่อยมลพิษ ฝุ่น ควัน กลิ่น เข้าสู่สภาพแวดล้อมและชั้นบรรยากาศ การบูรณาการเชิงระบบของหน่วยงานต่างๆ ภาครัฐ ร่วมกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม การบริหารจัดการระบบงบประมาณเพื่อการมีอากาศสะอาด ระบบการบริหารราชการเชิงพื้นที่ที่เป็นแหล่งกำเนิดอากาศที่ไม่สะอาด การพัฒนามาตรฐานคุณภาพอากาศ ระบบการประเมินคุณภาพอากาศ ระบบเฝ้าระวัง ระบบเตือนภัยจากสถานการณ์อากาศที่ไม่สะอาด ระบบการจัดเก็บข้อมูล ระบบการจัดการในสถานการณ์วิกฤตจากสภาพอากาศ และระบบการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการให้เกิดอากาศสะอาด
ซึ่งสอดคล้องกับหลักสำคัญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่มีสิทธิที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี และในขณะเดียวกันตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในหมวดที่ว่าด้วยหน้าที่ของรัฐ ซึ่งกำหนดให้เป็นหน้าที่ที่รัฐต้องดำเนินการเพื่อให้สมดังสิทธิของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเสนอให้มีกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชน
จุลพันธ์อภิปรายเพิ่มเติมว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีหลักการและเหตุผลที่เหมือนกับฉบับที่คณะรัฐมนตรีได้นำเสนอ ต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่ตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ วันนี้ขอเรียนผ่านประธานไปยังสมาชิกว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้รีบเดินทางไปเชียงใหม่เพื่อรับฟังและดูปัญหาจากแหล่งที่เกิดไฟป่าจากบนดอย ไปดูกลไกภาครัฐในการแก้ไขปัญหาดับไฟต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาสถานการณ์ในภาคเหนือหนักขึ้นเรื่อยๆ หากปล่อยภาวการณ์เช่นนี้ไปเรื่อยๆ จะเป็นตราบาป และเป็นแบรนด์ภาคเหนือที่ทุกคนต้องเช็กอากาศก่อนไปเที่ยว
“กฎหมายที่เรากำลังทำกันอยู่จะเป็นเครื่องมืออันสำคัญ ไม่ว่ารัฐบาลใดก็ตามที่จะเดินหน้าในการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ เราพูดกันว่าโดยตลอดว่าในภาคเหนือตอนบน 17 จังหวัดมีปัญหาเรื่อง PM2.5 มาเป็นระยะเวลานาน”
ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ พ.ศ. ….
เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์
ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส. พรรคประชาธิปัตย์ ได้นำเสนอหลักการของร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า ให้มีกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ โดยระบุเหตุผลว่า เนื่องจากสถานการณ์ปัญหาฝุ่นควันและหมอกควันพิษ อันเป็นมลพิษทางอากาศได้เกิดขึ้นเป็นระยะเวลายาวนานต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะทวีคูณรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นขยายพื้นที่กว้างขวางมากขึ้น อันเป็นการส่งผลกระทบอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และสตรีมีครรภ์
อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ทั้งในด้านงบประมาณในการรักษาพยาบาล งบประมาณในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ความเสียหายซึ่งเกิดกับธุรกิจด้านการท่องเที่ยว รวมถึงยังส่งผลกระทบจากภาพลักษณ์ของประเทศที่สะท้อนถึงความล้มเหลวในการจัดการมลพิษทางอากาศ
ทั้งกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการป้องกัน ควบคุม และกำกับดูแลการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ จึงสมควรที่รัฐจะต้องบริหารจัดการ ควบคุม ดูแล ติดตามตรวจสอบ และแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างเป็นระบบ เพื่อให้คุณภาพอากาศเป็นอากาศที่สะอาด ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยดียิ่งขึ้น
“วันนี้เป็นวันหนึ่งที่สำคัญที่สภาแห่งนี้จะได้พิจารณากฎหมายหลายฉบับที่เรียกสั้นๆ ว่ากฎหมายอากาศสะอาด ถึงแม้แต่ละฉบับจะมีความแตกต่างในรายละเอียด แต่มีจุดประสงค์เดียวกันเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งห้วงเวลานี้เป็นห้วงเวลาสำคัญที่พี่น้องประชาชนรวมถึงตัวผมเองเฝ้ารอมานานหลายปีที่วันหนึ่งเราจะมีอากาศสะอาดให้หายใจได้จริงๆ” ร่มธรรมกล่าว
ร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน พ.ศ. ….
เสนอโดยพรรคก้าวไกล
ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส. พรรคก้าวไกล กล่าวว่า อากาศบริสุทธิ์เป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับ สิ่งนี้ควรบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป ไม่ใช่แค่ในพระราชบัญญัติ สิทธิของประชาชนที่จะฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐที่เพิกเฉยต่อการปฏิบัติหน้าที่จนทำให้มีผลกระทบทางด้านสุขภาพต่อประชาชน สิทธิของประชาชนที่จะเข้ารับการตรวจสุขภาพ สวัสดิการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพที่ประชาชนได้รับจากฝุ่นพิษ PM2.5
ภัทรพงษ์กล่าวต่อว่า กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดคณะกรรมการหลักจากคณะกรรมการที่มีอยู่แล้วคือ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 แต่เพิ่มอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และตั้งคณะกรรมการกำกับ เพื่อตรวจสอบและติดตามประเมินผลการดำเนินงานของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
นอกจากนี้ยังให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นหัวเรือในการขับเคลื่อนแผนงานระดับจังหวัด, มอบหมายให้กระทรวงดำเนินการให้เหมาะกับหน่วยงาน เช่น การประสานงานระหว่างประเทศ การทำระบบแจ้งเตือนระดับพื้นที่ รวมถึงการกำหนดบทลงโทษทางอาญาและทางสังคม